วันพุธ, มกราคม 15, 2563

เกาหลีใต้โมเดล บทเรียนที่ควรเอาอย่าง เฉลยปริศนาเหตุใดเกาหลีใต้สามารถลากคอ "ประธานาธิบดี" เข้าคุกได้เป็นว่าเล่น




เฉลยปริศนาเหตุใดเกาหลีใต้สามารถลากคอ "ประธานาธิบดี" เข้าคุกได้เป็นว่าเล่น

โดย รศ.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์
Sanook.com
13 ม.ค. 63

สาธารณรัฐเกาหลี หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า เกาหลีใต้ เป็นประเทศในเอเชียตะวันออก มีพื้นที่ครอบคลุมส่วนใต้ของคาบสมุทรเกาหลี พรมแดนทางเหนือติดกับประเทศเกาหลีเหนือ และมีประเทศญี่ปุ่นอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีทะเลญี่ปุ่นและช่องแคบเกาหลีกั้นไว้ มีพื้นที่ทั้งหมด 100,363 ตารางกิโลเมตร ประชากรประมาณ 51,709,098 คน จัดเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งๆ ที่เพิ่งได้รับเอกราชเมื่อปี พ.ศ. 2491 หรือเพียง 71 ปีเท่านั้น

ปัจจุบันเกาหลีใต้มีการพัฒนาทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็งที่สุดในทวีปเอเชีย โดยมีการประกาศให้ประเทศเกาหลีใต้เป็นสาธารณรัฐที่ 6 เมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งล่าสุดขึ้นในปี พ.ศ. 2530 โดยที่พรรคการเมืองทั้งหลายของเกาหลีใต้ได้เรียกร้องให้รัฐบาลของประธานาธิบดีชอน ดู-ฮวาน จัดการลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงจากประชาชน โดยประธานาธิบดีจะอยู่ในตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว (5 ปี) และให้มีการจัดระบบการปกครองท้องถิ่นอิสระเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญที่ได้รับการแก้ไข ยังได้ยกเลิกอำนาจการยุบสภาของประธานาธิบดี และให้รัฐสภามีอำนาจหน้าที่ดูแลและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล รวมทั้งระบุว่ากองทัพต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง

เชื่อไหมครับว่าหลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2530 แล้ว มีอดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ถึง 5 คนถูกจับกุมฟ้องร้องด้วยคดีอาญา ต้องติดคุกหรือฆ่าตัวตายจากจำนวนประธานาธิบดีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมารวม 7 คน และปัจจุบันนี้มีอดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ที่ยังมีชีวิตอยู่ 4 คนแต่กลับต้องอยู่ในคุกยาว 15-24 ปี ถึง 2 คน แบบว่าครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว

รายนามของอดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ที่ต้องติดคุกและฆ่าตัวตายเพื่อหนีคดีมีดังนี้

1. อดีตประธานาธิบดีชอน ดู-ฮวาน เป็นนายทหารระดับนายพล ทำรัฐประหารและสั่งการสังหารหมู่ที่นครกวางจู (สถานที่ที่ไผ่ ดาวดิน ได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน) ครั้งแรกเขาได้รับโทษถึงประหารชีวิตจากศาลชั้นต้น แต่ในที่สุดศาลฎีกาลงโทษให้เขาถูกจำคุกตลอดชีวิต ต่อมาว่าที่ประธานาธิบดีคิม แด-จุงที่เคยถูกชอน ดู-ฮวานตัดสินประหารชีวิตมาก่อน ขอให้ประธานาธิบดีคิม ยอง-ซัมอภัยโทษปล่อยตัวให้ชอน ดู-ฮวานออกจากคุก แต่ยังคงโทษปรับจากทรัพย์สินที่โกงรัฐไป ทำให้ชอน ดู-ฮวานและครอบครัวยังต้องถูกตามค้นหาทรัพย์มาชดใช้ให้กับรัฐจนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2563 ที่จะถึงนี้เป็นปีสุดท้าย

2. อดีตประธานาธิบดีโน แท-อู ผู้เป็นนักเรียนนายร้อยทหารบกรุ่นเดียวกับชอน ดู-ฮวาน ถูกฟ้องร้องกล่าวโทษพร้อมกัน แต่โน แท-อูถูกตัดสินจำคุก 22 ปี 6 เดือน ต่อมาก็ได้รับการอภัยโทษปล่อยตัวพร้อมกับชอน ดู-ฮวาน แต่ยังคงโทษปรับจากทรัพย์สินที่โกงรัฐไป ทำให้โน แท-อูและครอบครัวยังต้องถูกตามค้นหาทรัพย์มาชดใช้ให้กับรัฐจนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2563 ที่จะถึงนี้เป็นปีสุดท้าย


อดีตประธานาธิบดีโน มู-ฮยอน (กลาง) คิม แด-จุง (ซ้าย) คิม ยอง-ซัม (ที่ 2 จากซ้าย) และชอน ดู-ฮวาน (ขวา)

3. อดีตประธานาธิบดีโน มู-ฮยอน หลังสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งได้เพียง 14 เดือนก็ถูกอัยการสอบสวนว่ารับสินบน แต่ระหว่างการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้นเขาก็ไปกระโดดหน้าผาฆ่าตัวตายเสียก่อน

4. อดีตประธานาธิบดีลี มยอง-บัก หลังสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่ง ก็ถูกจับกุมเพื่อฟ้องศาลฐานรับสินบนและฉ้อโกงรัฐระหว่างดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และถูกตัดสินจำคุก 15 ปี ปัจจุบันยังคงรับโทษอยู่


อดีตประธานาธิบดีลี มยอง-บัก

5. อดีตประธานาธิบดีปาร์ก กึน-ฮเย ผู้เป็นลูกสาวของจอมเผด็จการปาร์ก จอง-ฮี ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีเมื่อปี พ.ศ. 2556 และดำรงตำแหน่งอยู่จนถึงปี พ.ศ. 2560 ก็ถูกรัฐสภาฟ้องร้องกล่าวโทษ และศาลรัฐธรรมนูญลงมติเป็นเอกฉันท์ปลดเธอออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีและจำคุกเธอ 24 ปีจากความผิดฐานคอร์รัปชันหลายกระทง ปัจจุบันยังคงรับโทษอยู่




อดีตประธานาธิบดีปาร์ก กึน-ฮเยเหตุผลที่อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ต้องติดคุกกันเป็นว่าเล่น เนื่องจากประชาชนเกาหลีใต้ตระหนักได้ดีถึงความจริงที่ประจักษ์แจ้งในตัวของมันเองว่า “อำนาจเป็นของแปลก หากใครได้อำนาจมากๆ และนานๆ แล้วจะเป็นบ้าไปทุกคน” ดังนั้นจึงพร้อมใจกันร่างรัฐธรรมนูญในแบบที่ให้มีการคานอำนาจกันระหว่างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ให้สอบทานกันได้อยู่ตลอดเวลา และผู้ที่จะเข้าอยู่ในอำนาจทั้งสามนี้ต้องมีที่มาที่ไปอันยึดโยงกับประชาชนผ่านการเลือกตั้ง ส่วนอำนาจตุลาการนั้นผู้พิพากษา/ตุลาการจะได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี แต่ต้องได้รับการรับรองจากรัฐสภา

นอกจากนี้ ประธานาธิบดีผู้มีอำนาจมากกว่าใครเนื่องจากเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่มีอำนาจเต็มนั้น ให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงสมัยเดียวคือ 5 ปีเท่านั้น โดยการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างกันก็ส่งผลให้เกิดประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริง และนำพาประเทศเกาหลีให้รุ่งเรืองก้าวหน้าดังปาฏิหาริย์ในช่วง 32 ปีของการใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2530

ครับ! ต้องแก้ไขที่รัฐธรรมนูญก่อนเป็นอันดับแรก หากต้องการให้ประเทศชาติพัฒนาเจริญก้าวหน้าไปได้ดั่งบทเรียนจากเกาหลีใต้นั่นเอง

ขอขอบคุณ
ภาพ :AFP