“ซาเล้ง” ประท้วงรัฐบาลหยุดนำเข้าขยะพิษ
24 ธันวาคม 2562
Thai PBS
แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายลดการนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศ แต่ดูเหมือนว่าไม่ได้ทำให้ปัญหาราคาขยะรีไซเคิลของประเทศไทยทุกชนิดราคาสูงขึ้น เพราะตั้งแต่ต้นปี 2562 ผู้ประกอบการธุรกิจรับซื้อขยะขนาดเล็ก-ใหญ่ หรือ แม้แต่กลุ่มซาเล้ง ที่มีอาชีพหาของเก่าขายมานานหลายสิบปี ต้องเผชิญกับปัญหาไม่มีมีเงินเลี้ยงปากท้องเหมือนเดิม
วันนี้ (24 ธ.ค.2562) ทีมข่าวไทยพีบีเอสไปสำรวจโรงรับซื้อขยะทั้งรายเล็กและใหญ่ในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายก่อนสิ้นปี 2562 พบว่าธุรกิจรับซื้อขยะประสบปัญหาไม่ต่างกัน บรรยากาศการรับซื้อดูเงียบเหงาแม้จะเป็นช่วงเทศกาลใกล้ปีใหม่ ซาเล้ง รถกระบะเก็บของเก่าเก็บของมาขายน้อยลงไม่คึกคักเหมือนแต่ก่อน
แม้แต่บริษัทรับซื้อขยะวงษ์พาณิชย์ สุวรรณภูมิ ก็ต้องจำกัดปริมาณการซื้อขยะให้น้อยลง เพราะซื้อมาก็ต้องเจอกับขยะต่างประเทศ กว่า 80 ชาติ ข้ามน้ำข้ามทะเลนับร้อย-นับพันตู้คอนเทนเนอร์ รอจ่อเข้าโรงงานหลอมในไทย ทั้งที่ขยะในไทยก็มีมากพอ...
นายอิทธิกร ศีรีจันบาล กรรมการผู้จัดการสถานีรีไซเคิล วงษ์พาณิชย์สุวรรณภูมิ เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการธุรกิจรับซื้อขยะจะต้องไปง้อเพื่อขอขายกระดาษและขยะพลาสติก เพราะโรงหลอมในไทยจะให้สิทธิขยะนำเข้า เข้ามาขายในโรงงานก่อน แต่ปัญหาใญ่ที่จะตามมาแต่ละตู้คอนเทน์เนอร์ที่บรรทุกกระดาษ ขยะรีไซเคิลมาส่งไม่ได้มีแค่ขยะที่รีไซเคิลได้ เพราะยังมีขยะอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถรีไซเคิลเล็ดรอดมาด้วย และขยะเหล่านั้นก็ต้องมาอยู่ในผืนแผ่นดินไทย
ราคากระดาษเหลือเพียง 40 สตางค์
พื้นที่โซนด้านหลังของวงษ์พาณิชย์ สุวรรณภูมิ ปกติแล้วจะเป็นที่รวมกระดาษลูกฟูก หลากหลายชนิดความสูงเท่าตึก 3 ชั้น ได้ แทบจะไม่พอส่งให้โรงหลอม แต่ทุกวันนี้กระดาษประเภทนี้ กลับแทบไม่มีให้เห็น เพราะซาเล้งไม่เก็บไม่ขายแล้ว ราคาเหลือเพียง 40 สตางค์เท่านั้น
“ตั้งแต่ต้นปีราคากระดาษยิ่งต่ำลง เช่นกระดาษย่อยจากกิโลกรัมละ 3 บาท เหลือ 40 สตางค์ กระดาษเอ4 ขาวดำจาก 10 บาท เหลือ 3 บาท ทั้งที่เป็นกระดาษเกรดเอ ต้องนำไปรีไซเคิลทำหนังสือเรียน ทำกระดาษทิซซู่ แต่ตอนนี้แทบไม่มีกระดาษเข้ามาที่ร้านรับซื้อ ”
ราคาขยะที่ตกต่ำลงเรื่อยๆ ยิ่งทำให้ผู้ประกอบการไม่มั่นใจรัฐบาล ว่ามีการลดปริมาณนำเข้ายะจริงหรือไม่ เพราะปี 2557 รัฐบาลกำหนดให้ขยะเป็นวาระแห่งชาติ แต่ดูเหมือนจะสวนทางกับปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น เพราะสังคมหมุนเวียนกำลังขาดสะบั้น ซาเล้ง หรือแม้แต่ประชาชนตามบ้านเรือน เริ่มไม่มีแรงจูงใจคัดแยกขยะ ในขณะที่ต้นปี 2563 ห้างสรรพสินค้าจะงดแจกถุงพลาสติก กระตุ้นให้ประชาชนคัดแยกขยะ ตามนโยบาย 3 Rs ( Reduce -Reuse –Recycle ) แต่วงจรการคัดแยกขยะกลับกำลังถูกทำลาย
กลุ่มซาเล้งนับหมื่นคนล่ารายชื่อ จี้รัฐฯ หยุดนำเข้าขยะ
นายชัยยุทธิ์ พลเสน ผู้ประสานงานกลุ่มซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า เปิดเผยว่าการออกมาเคลื่อนไหวของพี่น้องซาเล้ง รถปิกอัพ ร้านรับซื้อของเก่า เพราะทนรับสภาพปัญหาราคาขยะตกต่ำไม่ไหว ขยะนำเข้านอกจากจะทำให้คนจน และธุรกิจรับซื้อของเก่าปิดตัวไปกว่าร้อยละ 30 แล้ว ยังจะทำให้ไทยเกิดปัญหาขยะล้นเมือง เกิดมลพิษทางอากาศเพราะหากซาเล้งไม่เก็บขยะ รัฐบาลต้องสูญเสียงบประมาณในการหาที่ดินฝังกลบ หรือ สร้างเตาเผามูลค่าหลายแสนล้านบาท เกิดปัญหามลพิษฝุ่น PM 2.5 พวกเขาจึงรวมตัวกันไปยื่นหนังสือให้ต่อนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกและ รมว.พาณิชย์ ในวันที่ 24 ธ.ค.62 นี้
“พวกผมไมไหวแล้ว ไม่รู้จะไปพึ่งใคร อยากให้ไปดูหน้าโรงหลอมมาก เพราะมีแต่ตู้คอนเทนเนอร์ขยะนำเข้าทั้งนั้น”
สำหรับข้อเรียกร้อง 6 ข้อที่ต้องการให้ภาครัฐดำเนินการแก้ไขด่วนที่สุดดังนี้ หยุดนำเข้าขยะจากต่างประเทศชนิดคัดแยกแล้วเข้ามาชั่วคราว เป็นระยะเวลาสั้นๆ 6 เดือน เพื่อให้ทางโรงงานใช้กระดาษที่ตนเองสต็อกให้เหลือน้อยและสามารถรับซื้อกระดาษในเมืองไทย ต้อง “จำกัดโควตาการนำเข้า” ให้มีความเหมาะสมกับปริมาณกระดาษที่มีอยู่เดิมภายในประเทศ
ตรวจสอบขยะที่มาจากประเทศต้นทางโดยมีใบรับรองคุณภาพสิ่งเจือปน ไม่เกิน 0.05 เปอร์เซ็นกำกับมาด้วย และมีการตรวจสอบ(QC) พร้อมออกใบรับรองในประเทศไทย เมื่อมีการตรวจสอบเสร็จแล้วว่าสิ่งเจือปนไม่เกินค่ามาตราฐานตามข้อตกลงเหมือนประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย
ตั้งตัวแทนจากสาขาอาชีพหรือหน่วยงานที่เป็นที่ยอมรับเชื่อถือได้ เข้าไปตรวจสอบเพิ่มเติมในระหว่างการตรวจสอบขยะที่นำเข้ามาในประเทศไทย เก็บภาษีหรืออากร ขยะนำเข้าชนิดคัดแยกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกระดาษ พลาสติก หรืออื่นๆ ที่อยู่ในวงจรกระบวนการนำมารีไซเคิล
ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงทรัพยากรแห่งชาติสิ่งแวดล้อมเข้าตรวจสอบพื้นที่บริเวณรอบๆ ทั้งหมดของโรงงานหลอมกระดาษทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่โดยเร่งด่วน เนื่องจากมีชาวบ้านร้องเรียนมาว่าเห็นวัสดุถูกกองขนาดมหึมาสูงเหมือนภูเขา ตากแดดตากฝนอยู่ในบริเวณโรงงานและมีจำนวนกับปริมาณเพิ่มขึ้นมากเรื่อยๆ เมื่อมีรถตู้คอนเทนเนอร์เข้าไปส่งสินค้าภายในโรงงานดังกล่าว
ขณะที่ สมาคมการค้าผู้ประกอบการรีไซเคิลไทย ระบุว่าไม่นิ่งนอนใจ เตรียมยื่นหนังสือ ถึงกระทรวงที่เกี่ยวข้องให้เร่งแก้ไขปัญหาภายใน 3-6 เดือน เป็นการเร่งด่วน เพื่อไม่ให้ซาล้ง หรือ แรงงานนอกระบบนับล้านคนตกงาน ที่สำคัญเพื่อพยุงสนับสนุนวงจรการสร้างสังคมรีไซเคิล สังคมทรัพยากรหมุนเวียน ให้เกิดความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน