วันพฤหัสบดี, มกราคม 16, 2563

ความเฉยเมยต่อฝุ่นพิษกำลังคร่าชีวิตเด็กแบบผ่อนส่ง




ความเฉยเมยต่อฝุ่นพิษกำลังคร่าชีวิตเด็กแบบผ่อนส่ง/ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน
ผู้จัดการออนไลน์
15 ม.ค. 2563

จำได้ว่าเมื่อปีที่แล้วเคยเขียนเรื่องฝุ่นพิษ PM2.5 ผ่านคอลัมน์นี้ว่า “นับจากนี้ไปเราต้องเจอปัญหาเยี่ยงนี้ในทุกปี เพราะถ้าไม่มีการจัดการที่ดี เราคงต้องเผชิญปัญหานี้แบบแสนสาหัสกันทีเดียว” !

และช่วงเวลาที่ผ่านมาก็เป็นเช่นนั้น...

ตอนนี้เรากำลังวนกลับมาเผชิญกับปัญหาเรื่องฝุ่นพิษกันอย่างหนักหนาสาหัสอีกครา

จริงอยู่ปัจจุบันนี้สังคมตื่นตัว ประชาชนหันมาให้ความสนใจเรื่องมลพิษในอากาศอย่างจริงจัง และติดตามอย่างใกล้ชิด ยิ่งมีแอพลิเคชั่นให้ผู้คนได้มีโอกาสเข้าไปเช็คสภาพอากาศกันได้เท่าที่อยากเช็ค ก็ยิ่งทำให้ตรวจสอบกันถี่ขึ้น

แต่ก็ไม่อยากให้ความตื่นตัวหรือความตระหนักต่อเรื่องฝุ่นมลพิษจะกลายเป็นเรื่องปกติหรือเรื่องที่ชินชาไปเหมือนกับอีกหลาย ๆ เรื่อง

ตอนนี้ในส่วนของภาคพลเมือง ผู้คนตระหนักรู้มากขึ้น มีการเตรียมป้องกันดูแลตัวเองเบื้องต้น ทั้งเรื่องการหลีกเลี่ยงไม่อยู่กลางแจ้ง และเมื่อต้องเดินทางก็จะใช้หน้ากากอนามัย ซึ่งก็ทำให้รู้จักหน้ากากอนามัยที่มีอยู่หลายแบบ รวมถึงวิธีใส่อย่างไรให้ถูกวิธี ฯลฯ

แต่ในส่วนของภาครัฐเองที่ยังไม่ได้ดำเนินการแก้ปัญหาแบบองค์รวมเป็นรูปธรรมและชัดเจน มีที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ก็คงเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและระยะสั้นเท่านั้น

ยิ่งทำให้น่าเป็นห่วงยิ่งนัก เพราะนอกจากภัยธรรมชาติที่กำลังโหมกระหน่ำทั่วโลก แต่ภัยจากน้ำมือมนุษย์ที่ทำร้ายทำลายสภาพแวดล้อม จนกลายเป็นมลพิษในอากาศ กำลังคร่าชีวิตมนุษย์รายวัน ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือลูกหลานของเรา

เด็กตัวน้อยที่เกิดมาก็ต้องมารับผลกรรมจากผู้ใหญ่ในยุคก่อนหน้านี้จนมาถึงยุคปัจจุบัน

ถ้าเราไม่ลงมือทำสิ่งใด ก็คิดภาพไม่ออกเหมือนกันว่าเด็กยุคต่อไปจะเติบโตท่ามกลางมลพิษในอากาศแบบนี้ต่อไปได้อย่างไร !

ล่าสุดมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งจากประเทศเบลเยียมพบอนุภาคฝุ่นจากมลพิษทางอากาศ ในรกของมารดาด้านที่ติดกับตัวเด็กทารก ถือเป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่แสดงให้เห็นว่าอนุภาคฝุ่นจากมลพิษทางอากาศที่ผู้เป็นแม่สูดเข้าไปทางลมหายใจ สามารถทะลุผ่านผนังของรกในครรภ์ไปยังตัวเด็กได้ โดยงานวิจัยชิ้นดังกล่าวนี้พบอนุภาคฝุ่นนับหมื่นชิ้นต่อเนื้อเยื่อรก 1 ลูกบาศก์มิลลิเมตร

ศาสตราจารย์ทิม นาว์รอต (Tim Nawrot) จากมหาวิทยาลัยฮาสเซลท์ในเบลเยียม หัวหน้าโครงการศึกษาวิจัยกล่าวว่า “ช่วงที่อยู่ในครรภ์ถือเป็นช่วงที่ทารกเปราะบางที่สุด อวัยวะทุกระบบยังคงอยู่ในช่วงการพัฒนา เพื่อเป็นการปกป้องคนรุ่นต่อๆ ไป เราต้องทำให้ทารกในครรภ์สัมผัสกับฝุ่นพิษเหล่านี้น้อยลง”

อย่าลืมว่าเด็กเป็นวัยที่เสี่ยงต่อมลพิษทางอากาศมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากปอดของเด็กกำลังเติบโต และระบบภูมิคุ้มกันของเด็กยังอยู่ในระยะที่กำลังพัฒนา การเผชิญกับมลพิษในอากาศจะขัดขวางการเจริญเติบโตของปอดในเด็กวัยเรียน และสมองของเด็กๆ ยังคงพัฒนา ฉะนั้น สารพิษต่อประสาทในมลพิษทางอากาศ สามารถส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็ก

สถาบัน The Southern California Children's Health ศึกษาผลกระทบในระยะยาวของมลพิษทางอากาศต่อสุขภาพของวัยรุ่น โดยได้ติดตามเด็กจำนวน 1,759 คน ที่มีอายุระหว่าง 10-18 ปีที่เกิดในปี 1993-2001 ผลการวิจัยพบว่า เด็กที่เติบโตในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศมากกว่า จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการลดลงของเจริญเติบโตของปอด ซึ่งปอดอาจไม่สามารถกลับคืนสภาพเดิมได้เต็มประสิทธิภาพ และการทำงานของปอดที่ลดลงโดยเฉลี่ยนั้น คล้ายกับผลกระทบของการเติบโตขึ้นในบ้านที่มีผู้ปกครองที่สูบบุหรี่

ยิ่งเห็นข้อมูลมากมายที่ส่งผลกระทบต่อเด็ก อย่างเช่น องค์การอนามัยโลกประมาณการว่ามี
ประชากรที่ต้อง “ตายก่อนวัยอันควร” เนื่องจากมลพิษในอากาศทั่วโลกมากกว่า 6 ล้านคนในแต่ละปี และในจำนวนนี้ เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5-6 ปี ราวร้อยละ10 คือประมาณ 600,000 คน เมื่อคุณภาพอากาศแย่ลง อัตราการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจะสูงขึ้น

ขณะเดียวกัน เราก็ยังมองไม่เห็นมาตรการระยะกลางและระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรมในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ในบ้านเราเลย !

ทำให้ดิฉันคิดถึงประเทศจีน

ถ้าใครได้เคยติดตามเรื่องมลพิษในประเทศจีน คงจะรู้ดีว่าจีนต้องเผชิญปัญหานี้หนักหนาเพียงใด

ดิฉันเองก็จำได้ว่าเมื่อราว6 ปีที่แล้ว ได้เดินทางไปมหานครปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมกับลูกชาย 2 คน ซึ่งไปเรียนภาษาจีนภาคฤดูร้อนที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ตอนแรกที่ไปถึงตกใจมากแม้จะเตรียมใจไว้แล้วว่าจะต้องเจอมลพิษ แต่เมื่อเจอสภาพจริงของอากาศก็ไม่คิดว่าจะหนักหนาขนาดนั้น ซึ่งเหมือนกับหมอกปกคลุมทั่วเมืองเหมือนบ้านเราในขณะนี้

ขณะนั้นปักกิ่งกำลังเผชิญกับสภาพปัญหามลพิษทางอากาศในระดับวิกฤติ ระดับทุกลมหายใจเข้าออกก็จะแสบจมูกทีเดียวและยังไม่มีสัญญาณใดบ่งบอกว่าจะคลายตัวสู่ภาวะใกล้ปกติเมื่อใด ถึงขนาดตอนที่ไปจตุรัสเทียนอันเหมินก็แทบมองไม่เห็นตัวแลนด์มาร์คที่เป็นจตุรัสเทียนอันเหมินเลย

และจากสภาพอากาศที่ย่ำแย่มากในครั้งนั้น จึงตัดสินใจเบนเข็มย้ายเป้าหมายของลูกชายไปเรียนที่เซี่ยงไฮ้แทน เพราะแม้จะมีปัญหาเหมือนกัน แต่เบากว่า

จากวันนั้นถึงวันนี้ ดิฉันก็ยังคงติดตามข่าวสารข้อมูลว่ารัฐบาลจีนจะแก้ปัญหานี้อย่างไร เพราะมันหนักหน่วงมาก ส่งผลกระทบต่อคนในชาติอย่างมาก คนอยู่อาศัยในเมืองแม้จะอยู่ในพื้นที่ปิดขนาดไหน ก็ยังยากที่จะหาอากาศบริสุทธิ์หายใจได้ บ้านที่มีกระจกหน้าต่าง 2 ชั้นก็ยังเอาไม่อยู่

จนกระทั่งเมื่อต้นปีดิฉันไปเซี่ยงไฮ้ ก็ต้องตะลึงเพราะสภาพอากาศดีกว่าบ้านเราขณะนี้

ขออ้างอิงเพจ “อ้ายจง”บางส่วนที่เล่าเรื่องราวจากเมืองจีน เขียนถึงเรื่องจีนแก้ปัญหามลพิษทางอากาศอย่างไร จนทำให้กรุงปักกิ่งมีค่า PM2.5ลดต่ำลงเป็นประวัติการณ์

…..ย้อนกลับไปเมื่อปี 2017 ทางกรุงปักกิ่งประกาศทุ่มงบ 1.82 หมื่นล้านหยวน หรือประมาณ 9.1 หมื่นล้านบาท แก้ไขปัญหาหมอกควันพิษ

- ยกเลิกเผาถ่านหินใน 700 หมู่บ้าน

- โละรถยนต์เก่า 300,000 คัน ที่ปล่อยควันมาก

- สั่งปิด/ปรับปรุงโรงงานเก่า

-ปรับปรุงกฎหมายพร้อมจัดตั้งหน่วยตำรวจพิทักษ์สิ่งแวดล้อม

- จับและปรับจริง โดยปี 2016 ปรับกว่า 200 ล้านบาท จาก 1,400 คดีมลพิษทางอากาศ

และเพิ่มประสิทธิภาพมาตรการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศด้วยการเปลี่ยนจากการใช้พลังงานถ่านหิน มาใช้พลังงานอื่นที่สะอาดกว่าตามที่พักอาศัย โดยเฉพาะในย่านตัวเมือง จะไม่ให้มีการเผาถ่านหิน

ส่วนการคมนาคมก็ออกนโยบายใช้พลังงานสะอาด ได้แก่ พลังงานไฟฟ้า แทนพลังงานเดิม โดยสนับสนุนให้ประชาชนใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งรัฐบาลสร้างจุดชาร์จแบตอย่างเพียงพอ

ขนส่งมวลชนสาธารณะก็ถูกสนับสนุนให้มีการ Transform มาใช้พลังงานไฟฟ้าเช่นกัน อย่างรถเมล์ไฟฟ้า และแท็กซี่ โดยเมื่อปี 2017 ปักกิ่งออกนโยบายเปลี่ยนรถแท็กซี่รุ่นเก่ากว่า 70,000 คัน แทนที่ด้วยรถแท็กซี่ไฟฟ้า

จริง ๆ แล้ว นอกจากที่ปักกิ่ง ในจีนมีการใช้รถแท็กซี่ไฟฟ้า มาหลายปีแล้ว เช่น เซินเจิ้น,เซี่ยงไฮ้,หังโจว

สำหรับรถยนต์เก่าหลายแสนคัน (ข้อมูลเมื่อปี 2017 มีประมาณ 300,000คัน) ที่ก่อให้เกิดมลพิษสูง จะถูกจำกัดการนำมาใช้งาน รวมถึงโรงงานเก่าที่มีปัญหาด้านมลพิษกว่า 2,500 แห่ง ก็จะถูกสั่งปิดถาวรหรือให้ปรับปรุง

นอกจากนี้ในปี 2018 ได้วางแผนเพิ่มพื้นที่ป่าในเมืองจีน 5 พื้นที่ รวมถึงพื้นที่สีเขียวระดับย่อม เช่น สวนสาธารณะ/สวนหย่อม 21แห่ง โดยพื้นที่สีเขียวที่ถูกเพิ่มขึ้นมาในปักกิ่งตอนนี้เพิ่มขึ้นมาเกือบทะลุ 50%ของพื้นที่กรุงปักกิ่งเรียบร้อยแล้ว (ปี 2018 พื้นที่สีเขียวในปักกิ่งกินพื้นที่ 48.3% ตามข้อมูลจาก ChinaDaily)

ไม่ใช่แค่ปักกิ่งนะ แต่นโยบายการเพิ่มพื้นที่สีเขียว-พื้นที่ป่า เป็นหนึ่งในนโยบายแก้ปัญหาควันพิษอย่างยั่งยืนในจีน จากข้อมูลของ People’s Daily สื่อทางการจีน ระบุว่า "นับตั้งแต่ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนในปีค.ศ.1949 ซึ่ง ณ ตอนนั้นจีนมีพื้นที่ป่าเพียง 8.6%ของพื้นที่ทั้งประเทศ แต่ตอนนี้ผ่านไป70ปี จีนมีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นเป็น 21.66% ของพื้นที่จีนทั้งหมด คิดเป็นพื้นที่ 208ล้านเฮกเตอร์ (ประมาณ1,300ล้านไร่) โดยพื้นที่ป่า 69.33ล้านเฮกเตอร์ (ประมาณ 433ล้านไร่) เป็นผืนป่าที่ปลูกขึ้น ทำให้จีนเป็นเบอร์1 ของประเทศที่ปลูกป่ามากที่สุดในโลก ณ ตอนนี้" พื้นที่ป่าที่ปลูกขึ้น ส่วนใหญ่จะเน้นพื้นที่แห้งแล้งและทะเลทราย ที่ตอนนี้มีความเป็นสีเขียวเพิ่มขึ้น

รวมถึงยังปรับปรุงกฎหมายสิ่งแวดล้อม และจัดตั้งหน่วยตำรวจที่ดูแล-บังคับใช้กฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศโดยเฉพาะ โดยจะปรับจริง จับจริง สำหรับผู้ที่กระทำผิดที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ

นอกจากมาตรการแก้ปัญหาในปักกิ่ง มาดูวิธีการแก้ปัญหาที่เป็นนโยบายกลางบ้าง

หนึ่งในนโยบายที่แก้ปัญหามลพิษทางอากาศในจีนแบบระยะยาว คือ การปลูกจิตสำนึกและสร้างกฎระเบียบแก่คนในประเทศให้ช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ "ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม" โดยทางการจีนให้สิทธิ์เจ้าหน้าที่ในสำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อมในเขต หรือในเมืองนั้นมีสิทธิ์ลงโทษโรงงาน-ผู้ประกอบการ ที่ก่อให้เกิดภาวะมลพิษทางอากาศในพื้นที่ แต่ถ้ามลพิษทางอากาศในพื้นที่นั้นสูงเกินกว่ากำหนด เจ้าหน้าที่จะต้องรับโทษด้วยเช่นกัน

เมื่อเริ่มมีปัญหาหมอกควันเกิดขึ้น ทางการจีนจะสั่งปิดโรงงานอุตสาหกรรมในเมืองที่มีปัญหาหมอกควันเป็นการชั่วคราว แต่ก็ไม่ใช่ว่าปิดหมด เพราะในบางอุตสาหกรรมก็ยังจำเป็นในการผลิตสินค้า-ผลผลิตต่างๆ

และจีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการทำฝนเทียมมากที่สุด โดยมีการนำฝนเทียมมาแก้ปัญหาภัยแล้งในประเทศ และสำหรับการแก้ปัญหาหมอกควัน-มลพิษทางอากาศ ซึ่งจีนก็เคยนำมาใช้เพื่อเคลียร์ท้องฟ้าให้ใส และล้างหมอกควันออกไปในช่วงก่อนที่โอลิมปิกเกมส์ 2008 ณ กรุงปักกิ่งจะเริ่มขึ้น

เวลาที่มีการแจ้งเตือนปัญหาหมอกควัน ตั้งแต่ระดับสีเหลืองเป็นต้นไป (AQI >300) ทางการจีนมักจะนำนโยบายเลขตัวสุดท้ายของทะเบียนรถ เลขคู่-เลขคี่ มาใช้ เพื่อจำกัดปริมาณรถให้ลดลงครึ่งหนึ่ง เพื่อที่จะได้ไม่ปล่อยให้ควันเพิ่มขึ้นไปมากกว่าเดิม

รวมถึงสั่งหยุดการทำงานในเขตก่อสร้างต่างๆ โดยเฉพาะในเขตก่อสร้างที่ไม่ได้รับมาตรการในการควบคุมปริมาณฝุ่น และห้ามจุดประทัด พลุ ในช่วงที่เริ่มมีปัญหาควันพิษ และพื้นที่เสี่ยง

เมื่อปี 2017 ทางปักกิ่งตั้งเป้าว่า จะควบคุมค่าเฉลี่ย PM2.5 ให้ไม่เกิน 60 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งปี2016 มีค่า PM2.5เฉลี่ยทั้งปี อยู่ที่ประมาณ 73 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร แล้วตอนนี้ก็เป็นไปตามเป้า เมื่อปี2019 ค่าPM2.5 เฉลี่ยทั้งปีในปักกิ่งอยู่ที่ 42 ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่จีนเจอวิกฤติอากาศหนักสุดเมื่อ2013 หรือราว6ปีก่อนหน้า แต่ก็ยังไม่ใช่ว่าสำเร็จ100% จีนก็ยังเจอปัญหาควันพิษ-อากาศแย่ในหลายพื้นที่อยู่ก็ต้องแก้ไขกันต่อไป…..

เรื่องฝุ่นพิษ PM2.5 เป็นเรื่องที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ในระยะสั้น และไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ดั่งใจ

แต่อย่างน้อยก็ควรมีมาตรการและนโยบายที่เป็นรูปธรรม มิใช่ปล่อยให้ผู้คนในชาติเผชิญปัญหากันเอาเองแบบตามบุญตามกรรม กลายเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องดำเนินการเอาตัวรอดกันเอง

ประมาณว่าใครมีโอกาสก็ดูแลตัวเองได้มากกว่า ใครมีข้อจำกัดก็รับฝุ่นพิษมากหน่อย

เรามาถึงจุดความเหลื่อมล้ำแม้แต่อากาศที่ใช้หายใจกระนั้นหรือ !

อย่าปล่อยให้ความเฉยเมยคร่าชีวิตผู้คนไปเรื่อย ๆ บางคนก็ฉับพลัน บางคนก็เรื้อรัง

แต่ที่แน่ๆ สำหรับเด็กแล้วเสมือนชีวิตต้องตายแบบผ่อนส่งเลย