ขณะเขียนนี่หลายพื้นที่ในอีกซีกโลกรวมทั้งไทยผ่านเวลาเที่ยงคืน
เส้นแบ่งปีเก่าและปีใหม่ไปแล้ว ในที่นี้จึงขอนำข่าวสารบางอย่างมาสะท้อนว่า ‘คนไทย’ จะได้เจอะเจออะไรบ้างบางสิ่ง ตั้งแต่ปี ๒๕๖๓
เป็นต้นไป
สิ่งที่นำมาเสนออาจจะไม่เป็นที่เจริญใจ สำหรับหลายๆ
คน ดั่งคำอวยพรปีใหม่ที่ให้กันทั่วๆ ไป หากแต่ถ้าเป็นความกังวลก็จะทำให้รับรู้และตั้งตารับมือ
หรือต่อสู้ได้ดีกว่าไม่รู้อิโหน่อิเหน่ เพราะการวางเฉย หรือ ‘inert’
ไม่ช่วยนำชีวิตไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้
แม้กระทั่งในบริบทของชีวิตความเป็นอยู่ ตามสภาพดินฟ้าอากาศและธรรมชาติรอบตัว
ซึ่งมีข่าวออกมาแล้วว่าในอนาคตอันใกล้แล้งนี้ ทีท่าจะแล้งหนักงมากขึ้นไปอีก
สำนักข่าวเอพีนำเสนอเรื่องนี้ลงลึกละเอียดขึ้นไปหน่อย
ท่ามกลางสภาพย้อนแย้ง ‘ตื้นเขิน’ ของลำน้ำโขง
อันมีผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินชีวิตของคนไทยในภาคพื้นอีสาน
และปริมาณน้ำในแม่น้ำลำคลองอันต่อเนื่องกับ ‘แม่โขง’ เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมที่จะถึง สำนักบริหารจัดการน้ำเตือนระวัง
นอกจากน้ำตามลำน้ำต่างๆ
จะมีปริมาณน้อยลงยิ่งกว่าที่น้อยมากแล้วในปีที่ผ่านมา เดือนมีนาและเมษาซึ่งอากาศร้อนสูงสุดก็จะเผชิญปัญหาขาดแคลนน้ำที่สุดได้ด้วย
รวมทั้งริมตลิ่งแม่น้ำโขงบางแห่งจะพังทลายลง เพราะระดับน้ำจะต่ำลงถึง ๑ เมตร
ทั้งนี้เป็นผลโดยตรงจากการทดลองเก็บกักน้ำของเขื่อนจินฮอง
(ใหม่สุดในจำนวนนับสิบเขื่อนของจีนตามลำน้ำโขง) ระหว่างวันที่ ๑ ถึง ๓ มกราคม แม่น้ำ
๘ สายในไทยที่ต่อเนื่องกับลำน้ำโขงจะเจอผลกระทบนี้โดยตรง
กรมชลประทานเพิ่งประกาศตอนปลายเดือนธันวาคมนี้เอง
ให้ชาวบ้านระมัดระวังการใช้น้ำ ว่าน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์และจุฬาภรณ์สงวนไว้ใช้ได้สำหรับการบริโภคและระบบนิเวศน์เท่านั้น
ปริมาณน้ำจะน้อยเกินไปสำหรับการปลูกพืชพันธุ์เกษตรกรรม
คณะกรรมการลุ่มน้ำโขงเตือนว่าสภาพแล้งในบริเวณลุ่มน้ำโขงตอนล่าง
ที่เป็นอยู่ขณะนี้ในพื้นที่ประเทศไทยและกัมพูชา จะเรื้อรังต่อไปไม่น้อยกว่า ๓๐ ปี
อาจถึง ๖๐ ปี ๙๐ ปีก็ได้ เพียรพร ดีเทศน์ ผู้ประสานงานองค์การแม่น้ำนานาชาติเตือน
“ไม่เพียงภาวะแห้งแล้งอันเกิดจากเขื่อนแล้ว
ระบบนิเวศน์วิทยาของลุ่มน้ำโขงก็กำลังถูกทำลายไปด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพน้ำที่ไม่เป็นไปตามฤดูกาล...ทำให้ระบบนิเวศน์ตามลุ่มน้ำต้องเปลี่ยนไปอย่างไม่เคยมาก่อน”
เห็นได้จากปรากฏการณ์น้ำโขงเปลี่ยนเป็นสีครามเมื่อเดือนที่แล้ว
ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ แห่งคณะมนุษยศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยสารคามเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ‘น้ำหิวโหย’ อันจะ “ยิ่งทำให้เกิดตลิ่งพัง
ต้นไม้ล้มตามชายฝั่ง และสิ่งก่อสร้างพังทะลายมากขึ้นไปอีก”
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าปกติน้ำโขงจะต้องมีสีปูนขุ่นอันเต็มไปด้วยฝุ่นผงซึ่งเป็นสารอาหารเลี้ยงปลาและพืชพันธุ์ตลอดลุ่มน้ำ
อาการน้ำโขงไม่ขุ่นนี้เป็นผลจากเขื่อนไซยะบุรีของจีนในลาว
ซึ่งกักน้ำเพื่อใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้า เขื่อนกรองเอาผงตะกอนอาหารของปลาและพืชเอาไว้ไม่ไหลมากับน้ำดังก่อน