วันเสาร์, มกราคม 11, 2563

คุณภาพอากาศกรุงเทพฯ แย่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก แพทย์และนักสิ่งแวดล้อมวิตกไทย ทำไมไม่ปรับเพดานวัด PM2.5 ตามมาตรฐานโลก




คุณภาพอากาศกรุงเทพฯ แย่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก

เว็บไซต์ AirVisual รายงานเมื่อเวลา 10.50 น.วันนี้ (10 ม.ค.) ว่าคุณภาพอากาศในกรุงเทพฯ และปริมณฑลจัดอยู่ในระดับที่แย่ที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก โดยมีค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI)ของสหรัฐฯ อยู่ที่ 187 ส่วนปริมาณฝุ่น PM2.5 มีค่าเฉลี่ยที่ 124.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

5 อันดับเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่สุดของโลกวันนี้ ได้แก่ อันดับ 1 กรุงธากาของบังกลาเทศ อันดับ 2 เมืองกัลกัตตาของอินเดีย อันดับ 3 เมืองบิชเคกในคีร์กีซสถาน และอันดับ 4 คือ อูลันบาตอร์ ของมองโกเลีย

ส่วนกรมควบคุมมลพิษรายงานข้อมูลคุณภาพอากาศในกรุงเทพฯ และปริมณฑลจาก 50 สถานี เมื่อเวลา 7.00 น. ตรวจวัดค่าได้ 42 – 109 มคก./ลบ.ม. (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม) โดยปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลายพื้นที่เมื่อเทียบกับช่วงเช้าของเมื่อวาน โดยพบพื้นที่มีปริมาณฝุ่นละอองเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 42 พื้นที่ และมีผลกระทบต่อสุขภาพ 6 พื้นที่

ประชาชนควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น และติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองอย่างใกล้ชิด






...

ฝุ่น : แพทย์และนักสิ่งแวดล้อมวิตกไทยไม่ปรับเพดานวัด PM2.5 ตามมาตรฐานโลก



GETTY IMAGES

ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
23 มกราคม 2019


เกือบ 10 ปีแล้ว ที่ไทยตั้งค่าความปลอดภัยด้านปริมาณฝุ่นละอองสูงกว่านานาชาติ ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านตื่นตัวแก้ปัญหามลพิษทางอากาศอย่างต่อเนื่อง ด้านเอ็นจีโอระบุว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการเสียประโยชน์ของภาคอุตสาหกรรมเหนือสุขภาพของประชาชน

เขตสีส้ม เขตสีเหลือง คำที่ถูกพูดถึงมากขึ้นนับแต่วันที่ 14 ม.ค. เพราะ "สี" เป็นสัญลักษณ์แทนระดับฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 สีเหลืองคือคุณภาพอากาศปานกลาง ส่วนสีส้มคืออากาศพิษที่เริ่มมีผลต่อสุขภาพ แต่หากเทียบค่ามาตรฐานสากลแล้ว พื้นที่สีเหลืองบางเขตของกรุงเทพฯ อาจเข้าข่ายพื้นที่ "สีแดง" หรือ มีผลกระทบต่อสุขภาพ

จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่า 9 ปีมานี้ เพดานมลพิษ PM2.5 ของไทยนิ่งมาตลอด ไม่เปลี่ยนแปลง

GETTY IMAGES
คำบรรยายภาพปัญหาหมอกควันพิษยังเป็นที่พูดถึง

"เพดานยิ่งสูง เหมือนยิ่งเพิกเฉย ไทยคุ้มครองคนที่ปล่อยมลพิษมากกว่าประชาชนของตัวเอง" จริยากล่าว



องค์การอนามัยโลกตั้งมาตรฐานฝุ่นละออง PM2.5 เฉลี่ย 1 ปีไว้ที่ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และเฉลี่ย 24 ชั่วโมงไว้ที่ 25 มคก./ลบ.ม. แต่กรมควบคุมมลพิษของไทย กำหนดเพดานฝุ่นละอองเฉลี่ย 1 ปี ที่ 25 มคก./ลบ.ม. และเฉลี่ย 24 ชั่วโมงที่ 50 มคก./ลบ.ม.



ไม่เพียงเท่านั้น เกณฑ์ดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ของไทยกำหนดระดับ 101-200 อยู่ในระดับสีส้ม แต่หากเปรียบเทียบกับข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) หากค่ามลพิษทางอากาศเกิน 150 จะถือเป็นพื้นที่สีแดง หรือมีผลกระทบต่อสุขภาพ

บีบีซีไทยพยายามติดต่อขอความเห็นเรื่องนี้จากกรมควบคุมมลพิษ แต่ยังไม่สามารถติดต่อได้

"ไทยยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา"

WHO กำหนดค่ามาตรฐานฝุ่นละออง เพื่อเป็นข้อแนะนำให้หลายประเทศปฎิบัติตาม โดยคำนึงถึงต้นทุนสุขภาพที่แต่ละชาติต้องจ่าย โดยเฉพาะการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชาชน

จริยาเปิดเผยว่า กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมกับภาคประชาชน พยายามต่อสู้มา 3 ปีแล้ว เพื่อผลักดันให้กรมควบคุมมลพิษปรับลดเพดานค่ามาตรฐานมลพิษ

GETTY IMAGES
คำบรรยายภาพไทยยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา เหตุผลที่ไม่ปรับลดเพดานฝุ่นละอองพิษ?


"อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษให้เหตุผลกับเราเพียงว่า เพราะประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา" แต่เธอมองว่าคำตอบเช่นนี้ "หมายถึงการยอมรับการเสียชีวิตของประชาชนในประเทศของตนเอง"

การปรับเพดานมาตรฐานฝุ่นละออง PM2.5 เป็นก้าวแรกสู่การแก้ปัญหามลพิษอย่างยั่งยืน เพราะกระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ จะต้องดำเนินมาตรการในส่วนรับผิดชอบของตนเอง เพื่อควบคุมการปล่อยมลพิษไม่ให้เกินมาตรฐานที่กำหนด อาทิ การติดเครื่องวัดมลพิษปลายปล่องโรงงานอุตสาหกรรม และลดการเผาขยะในที่โล่งให้เข้มงวดมากขึ้น

GETTY IMAGES

คำบรรยายภาพโรงงานอุตสาหกรรมควรรายงานข้อมูลการปล่อยมลพิษ เปิดเผยสู่สาธารณะชน

"ตัวเลขสะท้อนมาตรการของรัฐ ถ้าตั้งเพดานของการวัดมลพิษไว้สูง มาตรการก็ไม่มีประสิทธิภาพ" จริยาบอกกับบีบีซีไทย

สิ่งแวดล้อม = อุปสรรคการพัฒนา

สถานการณ์ฝุ่นละอองพิษที่เกิดขึ้น ทำให้ประชาชนตั้งคำถามว่า ฝุ่น PM2.5 มาจากไหน? ใครควรรับผิดชอบ? ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสันนิษฐานไปไกลถึงว่า การปิ้งย่างหมูกะทะ ก็เป็นต้นตอ

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่เรียกร้องความเป็นธรรมให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษและสารอันตราย ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยผ่านโทรศัพท์ว่า การคาดเดา ข่าวลือ ข่าวเท็จที่กระจายอยู่ในโลกออนไลน์แบบนี้ เป็นเพราะรัฐบาลไทยขาดแหล่งข้อมูลที่จะมาชี้ชัดถึงต้นตอของมลพิษ ถือเป็นความล้มเหลว



"หว่านไปมั่วเลย เหมือนคลำหาเข็มในมหาสมุทร" เธอเปรียบเปรย "ไทยไม่มีกฎหมายกำกับโรงงานอุตสาหกรรมให้รายงานข้อมูลการปล่อยมลพิษ กี่ชนิด ปริมาณเท่าไหร่ ถ้าเรามีข้อมูล จะได้ย้อนไปแก้ที่ต้นทางได้"


ฝุ่น : วิธีแก้ปัญหามลพิษทางอากาศของเมืองใหญ่ทั่วโลก
ฝุ่น : ผลวิจัยเผย มลพิษอากาศทำให้เสี่ยงแท้งพอ ๆ กับสูบบุหรี่


มูลนิธิบูรณะนิเวศ ร่วมกับมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม เคยร่างกฎหมายฉบับประชาชนชื่อ "กฎหมายว่าด้วยการรายงานข้อมูลการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม" เสนอให้รัฐบาลพิจารณา เพราะเป็นกฎหมายที่กว่า 50 ประเทศทั่วโลกใช้ และเห็นผลจริง

แต่จนถึงวันนี้ รัฐบาลไทยยังไม่พิจารณาออกกฎหมายดังกล่าว

GETTY IMAGES
คำบรรยายภาพนักเคลื่อนไหวเดินขบวนทวงสิทธิอากาศสะอาด


"ภาครัฐกลัวนักลงทุนหนี เพราะจับผิดมากไป ทั้งที่กฎหมายนี้จะช่วยให้อุตสาหกรรมอุดรอยรั่วค่าใช้จ่าย แก้ปัญหามลพิษ และสุขภาพคนจะดีขึ้น"

"ทัศนคติของภาครัฐตอนนี้ คือ การควบคุมสิ่งแวดล้อม เป็นภาระของการพัฒนาประเทศ" เธอแสดงความเห็นส่วนตัว

เพื่อนบ้านตื่นตัว ไทยนิ่งเฉย

จากการตรวจสอบค่ามาตรฐานฝุ่นละอองพิษ PM2.5 ในหลายประเทศพบว่า ไทยตั้งค่าฝุ่นละอองที่ยอมรับได้สูงกว่าข้อแนะนำของ WHO มาก ทั้งค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง และค่าเฉลี่ย 1 ปี



ประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างมาเลเซียและสิงคโปร์ ปรับลดเพดาน PM2.5 ลงต่อเนื่อง นับแต่ปี 2558 และมีเป้าหมายระยะยาวที่ชัดเจน ที่จะปรับลดค่ามาตรฐานให้เท่ากับข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก

รัฐบาลไทยลงนามในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals) โดยมีหัวข้อที่ 3 คือ มีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี หรือ Good Health and Well-Being ด้วยหัวข้อย่อย 3.3 ระบุถึงการลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อ 1 ใน 3 ผ่านการป้องกันและการรักษาโรค ภายในปี 2573

"ไทยลงนาม แต่ยังไม่กำหนดเป้าหมายเรื่องนี้เลย ทั้งที่ PM2.5 เป็นสาเหตุการตายก่อนวัยอันควรของคนไทยเกือบ 4 หมื่นคน" จริยาอ้างอิงข้อมูลที่กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สำรวจมา

GREENPEACE
คำบรรยายภาพคนไทยเสียชีวิตจากผลกระทบ PM2.5 กว่า 37,000 คน


ขณะเดียวกันข้อมูลจาก Institute for Health and Evaluation มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ชี้ว่ามลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยร่วมที่เป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ เนื่องจากมีส่วนประกอบของสารเคมีหลายชนิด ทั้งที่เป็นสารระคายเคืองไปจนถึงสารก่อมะเร็ง จึงเป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรค ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหลอดเลือดในสมอง โรคหัวใจขาดเลือด โรคมะเร็งปอด และโรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจส่วนล่าง ก่อให้เกิดการตายก่อนวัยอันควรในประเทศไทย ประมาณ 50,000 คนต่อปี

ส่วน State of Global Air เปิดเผยผลกระทบจาก PM 2.5 ทำให้คนไทยเสียชีวิตอย่างน้อย 37,000 คนต่อปี

State of Global Air เป็นเว็บไซต์ที่เกิดจากการ่วมมือกันของสามองค์กรที่ทำงานด้านมลพิษทางอากาศ คือ สถาบันผลกระทบต่อสุขภาพ, สถาบันมาตรวัดทางสุขภาพและการประเมิน และมหาวิทยาลัยแห่งบริติชโคลัมเบีย ที่ตั้งอยู่ในแคนาดา

สถานการณ์มลพิษ กทม. วันนี้

ผ่านมากว่า 1 สัปดาห์ วันนี้ ค่ามลพิษในพื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงเทพลดลงมาอยู่ระดับสีเหลือง หรือคุณภาพอากาศปานกลางแล้ว และมีพื้นที่สีเขียว หรือคุณภาพอากาศดีปรากฎ 1 จุด คือ แขวงพญาไท

กรมควบคุมมลพิษ วันที่ 23 ม.ค. 2563
คำบรรยายภาพพื้นที่ส่วนใหญ่กลับสู่สีเหลือง มีพื้นที่สีเขียวปรากฏ


จากรายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน เวลา 7 นาฬิกา (23 ม.ค.) มีพื้นที่สีส้ม หรือคุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 14 แห่ง อาทิ ริมถนนลาดพร้าว ถนนพระราม 3 และถนนพหลโยธินเป็นต้น

ประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทย เมื่อวันที่ 14 ม.ค. ว่า แนวโน้มคุณภาพอากาศจะดีขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งภายหลังสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ ทางกรมฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะประเมินข้อมูล เพื่อยกระดับแนวทางแก้ปัญหาต่อไปในอนาคต

แต่ความเห็นของกรีนพีชเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาตรการต่าง ๆ ที่เห็นตอนนี้ ล้วนเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ หากไทยไม่เริ่มที่การออกกฎหมายและลดเพดานค่าฝุ่นละออง วงจรมลพิษจะเกิดขึ้นต่อเนื่องไม่สิ้นสุด

ราชกิจจานุเบกษา
คำบรรยายภาพเพดานฝุ่นละออง PM2.5 ไม่เปลี่ยนแปลงมา 9 ปีแล้ว


"ถ้าวันนี้เราไม่ให้ความสำคัญ ไม่เปลี่ยนค่ามาตรฐาน มาตรการแก้ปัญหาก็จะไม่ถูกยกระดับ" จริยา ฝากถึงภาครัฐ

มูลนิธิบูรณะนิเวศประเมินว่า หากรัฐบาลเด็ดขาด ใช้กฎหมายควบคุมมลพิษอย่างจริงจังกับภาคอุตสาหกรรม แม้จะบีบให้เอกชนต้องลงทุนเพิ่มในช่วง 2-3 ปีแรก แต่ระยะยาวจะคุ้มทุน ภาพลักษณ์โรงงานจะดีขึ้น โรงงานอุตสาหกรรมกับชุมชนอยู่ร่วมกันได้มากขึ้น

"ส่วนภาคราชการจะมีข้อมูลกำกับโรงงานได้แม่นยำ ไม่ต้องเสียงบประมาณมหาศาลไปตรวจสอบทุกครั้งที่เกิดปัญหา" เพ็ญโฉม ระบุ

ไม่บอกความจริงกับประชาชน

"ความจริงก็คือ ไม่มีเซฟตี้โซนสำหรับฝุ่นละอองเหล่านี้ แต่ WHO ตัดสินใจที่จะใช้ เฉลี่ย 24 ชั่วโมงไว้ที่ 25 มคก./ลบ.ม. และอื่น ๆ ก็เพราะต้องการที่จะทำให้เป็นมาตรฐานความเสี่ยงที่น้อยที่สุดสำหรับบรรดาประเทศสมาชิก" ศ. นพ. ชายชาญ โพธิรัตน์ หัวหน้าหน่วยวิชาโรคระบบการหายใจ เวชบำบัด วิกฤตและภูมิแพ้ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าวกับบีบีซีไทย

ศ. นพ. ชายชาญ ได้เคยทำการวิจัยว่าด้วยการเพิ่มขึ้นของฝุ่นละออง PM10 และ PM 2.5 นั้นมีผลต่อความเสี่ยงต่ออัตราการตายของผู้ป่วยในโรงพยาบาลเพียงไร โดยได้เก็บข้อมูลทั้งที่กรุงเทพฯ ตัวเมืองเชียงใหม่ และที่อ. เชียงดาว ซึ่งผลที่ได้ก็คือความเสี่ยงต่ออัตราการตายของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นตามปริมาณของฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ

GETTY IMAGES
คำบรรยายภาพไม่เพียงกรุงเทพฯ แต่อีกหลายจังหวัดของไทย รวมถึงเชียงใหม่ ประสบปัญหาหมอกควันเช่นกัน


เขากล่าวว่ามีหลายประเทศในโลกนี้มีมลพิษทางอากาศสูงมาก อย่างเช่น จีน อินเดีย เนปาล ฯลฯ ทาง WHO ก็แนะนำให้ตั้งเพดานมลพิษให้สูงไว้ก่อนแล้วค่อยตั้งเป้าหมายปรับลดลงมา เพื่อให้เวลาในการปรับตัวโดยเฉพาะกับอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะจีนก็ได้ปรับลดเพดานมลพิษทางอากาศของตนเองลงมาทุกปี

"แต่ไทยไม่เคยลดเพดานลงมาเลย ในภูมิภาคนี้มีเรากับฟิลิปปินส์เท่านั้นที่ยังได้ระดับนี้อยู่ ซึ่งน่าเป็นห่วงสำหรับพลเมืองของประเทศมาก" ศ. นพ. ชายชาญกล่าว


องค์การอนามัยโลก: ประชากรโลก 9 ใน 10 คนหายใจอากาศปนเปื้อน


เขายังได้ยกตัวอย่างอีกว่าก่อนหน้านี้สหรัฐ ฯ ก็เคยมีปัญหาอากาศย่ำแย่จากอุตสาหกรรมมาก่อน "แต่ในสมัยของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน มีการจัดตั้งองค์กรที่ชื่อว่า องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ขึ้นมาและกำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองในอากาศ เช่น ถ้าอยู่ระหว่าง 12-25 จะถือว่าปานกลาง 25-35 อากาศแย่ มากกว่า 35 วิกฤต"

GETTY IMAGES
คำบรรยายภาพปัญหาหมอกควันในนครลอสแองเจลิสของสหรัฐฯ


หากเมื่อเทียบกับมาตรฐานของไทยจะเห็นว่าห่างกันไกลมาก โดยที่มาตรฐานของไทยที่ทางกรมควบคุมมลพิษเป็นผู้ดูแล ก็คือ ต่ำกว่า 50 ไม่มีผลต่อสุขภาพ มากกว่า 90 ถึงจะมีผลกระทบกับสุขภาพ

"เหมือนว่าปอดคนไทยแข็งแกร่งกว่าคนที่สหรัฐหรือที่ยุโรป ซึ่งผมคิดว่าไม่ถูกต้อง"

ศ. นพ. ชายชาญเพิ่มเติมว่า "ผมคิดว่ากำหนดค่ามาตรฐานฝุ่นละอองในอากาศโดยใช้เหตุผลหลาย ๆ ด้านประกอบกัน อย่างเช่น มาตรฐานสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม อย่างที่รัฐบาลไทยใช้ตอนนี้ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ต้องไม่อำพรางประชาชนว่าผลกระทบของมันมีเป็นเงาตามตัว"

GETTY IMAGES
คำบรรยายภาพเราคงไม่อยากเห็นภาพลูกหลานออกกำลังกาย แต่ต้องใส่หน้ากากอยู่บ่อย ๆ


ดังนั้น เมื่อจะเตือนประชาชนก็ควรจะใช้มาตรฐานที่ได้รับการศึกษาว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างแท้จริง อย่างเช่น มาตรฐานของสหรัฐฯ

เขายังได้แนะนำอีกด้วยว่า หากเราไม่สามารถจะบริหารจัดการคุณภาพอากาศตามที่ WHO กำหนด ก็ควรจะตั้งเป้าหมายปรับลดลงตามลำดับเหมือนประเทศอื่น ๆ "การวางแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีก็ไม่ได้พูดเรื่องนี้ไว้เลย และการเตือนสุขภาพประชาชนไม่ควรใช้ว่า 50-90 เริ่มมีผลกระทบ ในขณะที่ที่อื่นนั้นเกิน 35 ก็อันตรายต่อสุขภาพขั้นวิกฤตแล้ว"