วันศุกร์, กรกฎาคม 05, 2562

ต้องใช้คนธรรมดามากแค่ไหน ถึงทำให้การประท้วงได้ผล





จากกระบวนการทั้งหมด 323 เหตุการณ์ ของการเคลื่อนไหวแบบสันติและแบบรุนแรง ตีพิมพ์ในหนังสือ "Why Civil Resistance Works: The Strategic Logic of Nonviolent Conflict"

พบว่า

เห็นชัดจากตัวเลข

โดยรวมแล้ว การเคลื่อนไหวแบบสันติมีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จกว่าการเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงถึง 2 เท่า

53 เปอร์เซ็นต์ของการเคลื่อนไหวแบบสันตินำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ในขณะที่การเคลื่อนไหวแบบรุนแรงประสบความสำเร็จคิดเป็นสัดส่วนแค่ 26 เปอร์เซ็นต์

เชโนเว็ธ เชื่อว่า การเคลื่อนไหวแบบสันติมีแนวโน้มประสบความสำเร็จมากกว่าเพราะสามารถดึงดูดคนจากหลายภาคส่วนมากกว่า ซึ่งจะนำไปสู่การหยุดชะงักทำให้ชีวิตสังคมเมืองไม่สามารถดำเนินไปอย่างปกติได้

จากการเคลื่อนไหวที่ใหญ่ที่สุด 25 เหตุการณ์ มีถึง 20 เหตุการณ์ที่เป็นการเคลื่อนไหวที่เป็นไปอย่างสันติ ในจำนวนนั้น มี 14 เหตุการณ์ที่ถือว่าเป็นชัยชนะอย่างสมบูรณ์

โดยรวมแล้ว การเคลื่อนไหวแบบสันติดึงดูดผู้เข้าร่วมได้มากกว่าการเคลื่อนไหวแบบรุนแรงถึง 4 เท่า

ยกตัวอย่างเช่น การเคลื่อนไหว "พลังประชาชน" ต่อต้านนายพลมาร์กอสในฟิลิปปินส์ดึงดูดคนให้มาเข้าร่วมได้ถึง 2 ล้านคน ในขณะที่ การลุกฮือในบราซิลระหว่างปี 1984 และ 1985 มีคนเข้าร่วมถึงหนึ่งล้านคน ส่วนการปฏิวัติกำมะหยี่ในเชโกสโลวาเกียในปี 1989 ที่ดึงดูดคนได้ถึง 5 แสนคน

"ตัวเลขผู้ชุมนุมสำคัญมากในการสร้างฐานอำนาจที่จะสามารถท้าทายและข่มขู่ผู้มีอำนาจได้อย่างจริงจัง" ชโนเว็ธ กล่าว

เมื่อมีผู้ชุมนุมคิดเป็นสัดส่วน 3.5 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งหมดก็ดูเหมือนว่าการเคลื่อนไหวในครั้งนั้น ๆ จะประสบความสำเร็จ

ชโนเว็ธบอกว่า ไม่มีการชุมนุมเคลื่อนไหวครั้งไหนที่ล้มเหลวหลังจากมีผู้ชุมนุมเข้าร่วมถึง 3.5 เปอร์เซ็นต์จากประชากรทั้งหมด นี่ทำให้เธอเรียกทฤษฎีนี้ว่า "กฎ 3.5%"


GETTY IMAGES
คำบรรยายภาพการปฏิวัติกำมะหยี่ในเชโกสโลวาเกียในปี 1989 ที่ดึงดูดคนได้ถึง 5 แสนคน


เหตุใดการชุมนุมแบบสันติจึงประสบความสำเร็จ

ชโนเว็ธ ยอมรับว่าแปลกใจกับผลการวิจัย แต่ตอนนี้ก็เข้าใจแล้วว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้การเคลื่อนไหวลักษณะนี้ประสบความสำเร็จ ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ การประท้วงรุนแรงมักทำให้กลุ่มผู้คนที่รังเกียจและกลัวการนองเลือดไม่เข้าร่วม

ชโนเว็ธ บอกอีกว่า การประท้วงแบบสันติมีข้อจำกัดทางร่างกายน้อยกว่า คุณไม่ต้องมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงก็เข้าร่วมได้ ในขณะที่การประท้วงรุนแรงต้องอาศัยคนวัยหนุ่มสาวที่แข็งแรง เธอยังบอกอีกว่า โดยทั่วไปแล้ว มีการพูดคุยเรื่องการประท้วงแบบสันติได้ง่ายกว่า นั่นหมายความว่าข่าวคราวเรื่องการเคลื่อนไหวจะไปถึงหูคนได้กว้างกว่า

ในทางตรงข้าม การเคลื่อนไหวแบบรุนแรงต้องใช้อาวุธ และต้องใช้การวางแผนเคลื่อนไหวแบบใต้ดินซึ่งยากที่จะเข้าถึงประชากรโดยทั่วไป

นอกจากนี้ การเคลื่อนไหวแบบสันติมีแนวโน้มจะได้แรงสนับสนุนจากตำรวจและทหารอีกด้วย ระหว่างการชุมนุมในลักษณะนี้ กองกำลังความมั่นคงมักกังวลว่าจะมีครอบครัวหรือเพื่อนของพวกเขาเองอยู่ในกลุ่มผู้เข้าร่วม

ในเชิงยุทธศาสตร์ การประท้วงหยุดงานเป็นหนึ่งในการประท้วงต่อต้านแบบสันติที่ทรงพลังที่สุด

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าการประท้วงแบบสันติจะมีแนวโน้มประสบความสำเร็จมากกว่าการประท้วงแบบรุนแรงถึง 2 เท่า ต้องอย่าลืมว่าสัดส่วนความล้มเหลวก็มีถึง 47 เปอร์เซ็นต์ ยกตัวอย่างเช่น การประท้วงต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์ในเยอรมนีตะวันออกในช่วงปี 1950 มีผู้เข้าร่วมถึง 4 แสนคนแต่ก็ไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้



GETTY IMAGESคำบรรยายภาพแกนนำกลุ่มผู้ประท้วงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Extinction Rebellion เองก็บอกว่าได้อิทธิพลโดยตรงจากผลการวิจัยของเชโนเว็ธ


มีปัจจัยอื่นด้วย

อิซาเบล แบรมเซ็น ซึ่งเป็นผู้ศึกษาด้านความขัดแย้งนานาชาติที่มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน บอกว่า ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างผู้ชุมนุมประท้วงก็เป็นส่วนสำคัญ เธอยกตัวอย่างการลุกฮือในบาห์เรนในปี 2011 ในตอนแรกมีผู้เข้าร่วมกันชุมนุมจำนวนมาก แต่ไม่นานก็มีการขัดแย้งแตกเป็นกลุ่มย่อยมาแข่งขันกันเอง และการสูญเสียความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนี้เองที่แบรมเซ็นมองว่าทำให้การเคลื่อนไหวล้มเหลว

ในช่วงที่ผ่านมา เชโนเว็ธ ให้ความสนใจการชุมนุมประท้วงอย่างกลุ่มเพื่อสิทธิคนผิวดำในสหรัฐฯ Black Lives Matter และกลุ่มสิทธิสตรี Women's March ในปี 2017 รวมถึง Extinction Rebellion

"พวกเขาต้องต่อสู้กับความรู้สึกเฉยชา ฉันคิดว่าพวกเขามีแกนนำที่ทั้งมีความคิดความอ่านและมียุทธศาสตร์ที่ดี และดูเหมือนพวกเขาจะมีสัญชาตญาณที่ดีว่าจะพัฒนาและถ่ายทอดความรู้ผ่านการชุมนุมต่อต้านแบบสันติ"

ที่สุดแล้ว เชโนเว็ธอยากให้หนังสือประวัติศาสตร์สนใจการเคลื่อนไหวแบบสันติมากกว่าสงครามที่รุนแรง เธอบอกว่า เหตุการณ์ประวัติศาสตร์หลายเหตุการณ์ที่คนบอกเล่ากันมุ่งเน้นไปที่ความรุนแรง และถึงแม้ว่ามันจะลงเอยด้วยหายนะ คนก็ยังหาวิธีค้นหาแง่มุมที่เป็นชัยชนะจากสิ่งเหล่านั้นได้ และเราก็มักจะไม่ใส่ใจความสำเร็จของการเคลื่อนไหวแบบสันติ

"คนธรรมดากำลังมีส่วนร่วมกับการเคลื่อนไหวที่กล้าหาญซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลงโลกจริง ๆ อยู่ตลอดเวลา และคนเหล่านี้สมควรจะได้รับความสนใจและการสรรเสริญเช่นกัน"

อ่านบทความเต็มได้ที่
https://www.bbc.com/thai/international-48852287