วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 11, 2562

วงเสวนาชี้คำสั่ง 'ทวงคืนผืนป่า' คนจนถูกกระทำจากแผนทวงคืนผืนป่า และเป็นส่วนหนึ่งของการสยายปีกกองทัพ เข้าควบคุมทรัพยากรและจัดการความมั่งคั่ง ขณะที่ภาคประชาสังคมไร้ที่ยืน(มีคลิป)





ชี้คำสั่ง 'ทวงคืนผืนป่า' คือการขยายอาณาเขตอำนาจ 'กองทัพ'


July 10, 2019
Voice TV


วงเสวนาชี้ คนจนถูกกระทำจากแผนทวงคืนผืนป่า โดยกรณีไทรทอง จ.ชัยภูมิ สะท้อนความผิดพลาดการทำรังวัด และเป็นส่วนหนึ่งของการสยายปีกกองทัพ เข้าควบคุมทรัพยากรและจัดการความมั่งคั่ง ขณะที่ภาคประชาสังคมไร้ที่ยืน


เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ร่วมกับ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ หรือ UNOHCHR, วิทยาลัยนวัตกรรมสังคมมหาวิทยาลัยรังสิต และองค์กรภาคีเครือข่ายหลายองค์กร จัดเสวนา “ปฏิบัติการทวงคืนผืนป่ากับผลกระทบต่อคนจน: กรณีอุทยานแห่งชาติไทรทอง” ที่ห้องประชุมออดิทอเรียม ชั้น 1 อาคารรัตนคุณากร มหาวิทยาลัยรังสิต

โดยงานครั้งนี้สืบเนื่องจาก “มาตรการทวงคืนผืนป่า” ตามคำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 ประกอบคำสั่ง ที่ 66/2557 แม้กำหนดการดำเนินการว่าต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้, ผู้ที่มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่ดินทำกิน แต่ในทางปฏิบัติ ได้ส่งผลกระทบและสร้างความเดือดร้อนอย่างหนักต่อชาวบ้านทั่วประเทศ โดยยกกรณีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง เข้ามาปฏิบัติการจับกุม และยื่นฟ้องดำเนินคดีกับชาวบ้านซับหวาย ตำบลห้วยแย้ อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ จำนวน 14 ราย รวม 19 คดี ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุกจำเลยครบทั้ง 14 รายแล้ว มาเป็นหัวข้อการสนทนาครั้งนี้

เธรีส บียอร์ก จาก UNOHCHR กล่าวนำการจัดงานระบุถึง ความเหลื่อมล้ำในการถือครองถือดินในไทย ที่กระจุกตัวอยู่กับนายทุนใหญ่และนักการเมือง ขณะที่กฎหมายที่ดินและป่าไม้ที่เกี่ยวข้องภายใต้ข้ออ้างการอนุรักษ์ ทำให้เกิดความตึงเครียดและข้อพิพาทระหว่างรัฐกับชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมตลอดมา และยิ่งหนักขึ้นหลังการรัฐประหารปี 2557 ที่มีนโยบายทวงคืนผืนป่าและการจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน มีการจับกุม ดำเนินคดีชาวบ้านจำนวนมาก โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคอีสาน

บียอร์กกล่าวด้วยว่า การบังคับใช้กฎหมายของรัฐไทยตามคำสั่ง คสช.ดังกล่าวยังละเมิดสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ไทยเป็นสมาชิก ซึ่งครอบคลุมสิทธิในที่ดินทำกินและอยู่อาศัยด้วย นักปกป้องสิทธิเผชิญความเสี่ยงด้านต่างๆ มีการคุกคาม อุ้มหายและโดนสังหารมาแล้วหลายราย ขณะที่ทางการไม่สามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ และไม่มีมาตรการดูแลในเรื่องนี้ นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่า การตัดสินคดีที่เกี่ยวข้องของศาลไทย ไม่ได้เป็นไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านเลย

นายไพโรจน์ วงงาน ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบ กล่าวว่า "ไทรทอง" เดิมเป็นป่าสงวนก่อนประกาศเป็นอุทยาน และมีชุมชนอยู่อาศัยมาก่อน ซึ่งได้รับผลกระทบจากโครงการ คจก.ราวปี 2534 อพยพชาวบ้านรอบหนึ่ง แต่มีปัญหา และทางการให้ย้ายกลับมาที่อยู่ที่เดิมหลังจากนั้นไม่นาน แต่ปัจจุบันตกอยู่ในสถานะผู้บุกรุกป่า โดยมองว่า ปัญหาเกิดจากความผิดพลาดของการจับพิกัด, ตีแปลง จากการอิงตามมติ ครม.วันที่ 30 มิถุนายน 2541 ที่เกิดพื้นที่ ทับซ้อนทั้งระหว่างชาวบ้านกับอุทยาน และระหว่างชาวบ้านด้วยกันเอง บางรายพบว่าแผนที่คลาดเคลื่อน หรือ "แผนที่กระโดด" เป็น 10 กิโลเมตร ทำให้ประชาชนต้องพบกับหายนะ แม้เป็นเจ้าของใช้ประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องนานมาก็ตาม

นายไพโรจน์ ยืนยันถึงข้อเสนอและการดำเนินการของชาวบ้าน 5 ชุมชน รวมพื้นที่ 5,000 กว่าไร่ ในการร่างแผนจัดการที่ดินและทรัพยากรโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งจะแบ่งพื้นที่เป็นหลายส่วนทั้งป่าทำกินปลาริมห้วยป่าวัฒนธรรมป่าตรวจยึดและพื้นที่ชุมชน ซึ่งจะช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าถึง 79 เปอร์เซ็นต์ เป็นพื้นที่ทำกินเพียง 13 เปอร์เซ็นต์และวัฒนธรรมอีก 4 เปอร์เซ็นต์ และเชื่อว่าเป็นทางออกที่ดีต่อทั้งชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติด้วย

นายปราโมทย์ ผลภิญโญ ผู้แทนจากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน กล่าวว่า แม้มีการยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่เกี่ยวข้องกับการทวงคืนผืนป่าแล้ว แต่ยังทิ้งบาดแผลและคดีความไว้ให้กับชาวบ้าน จากกรณีชาวบ้านจังหวัดชัยภูมิ มีบทเรียนคือ 1) ความผิดพลาดและบกพร่องในระดับปฏิบัติการที่ใช้ฐานจากมติ ครม. เดือนมิถุนายน 2541 มาสำรวจพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านเดิมกลายเป็นผู้บุกรุกรายใหม่และหลายครอบครัวยังตกสำรวจอีกด้วย

2) ปัญหาทางปฏิบัติด้านเทคนิคสารสนเทศเกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อน โดยไม่รู้ว่าใครบุกรุกใคร แต่คนแบกรับปัญหากลายเป็นชาวบ้านต้องเผชิญหน้ากัน

3) ความล่าช้าของการแก้ปัญหาในระดับนโยบาย ทั้งที่มีการตั้งคณะกรรมการและมีแผนงานร่วมระดับจังหวัดแล้ว ทำให้ไม่สามารถปลดล็อกคดีความระหว่างที่อัยการยังไม่สั่งฟ้องชาวบ้านได้

นายปราโมทย์ ย้ำว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นสะท้อนการจัดกการทรัพยากรในลักษณะอำนาจนิยม ผูกขาดการตัดสินใจโดยระบบราชการตลอดมา และปัจจุบันทุกอย่างรวมศูนย์ ที่ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยหวังว่า บทเรียน "กรณีไทรทอง" น่าจะเป็นหมุดหมายให้ทุกฝ่ายช่วยกันพิจารณาหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน ให้ได้ทางออกที่ดีที่สุด

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและการพัฒนา กล่าวว่า การจับกุมและดำเนินคดีกับชาวบ้านมีมานานหลาย 10 ปีแล้ว ขนาดที่นโยบายทวงคืนผืนป่า แม้ระบุชัดว่าไม่ให้กระทบชาวบ้านโดยเฉพาะที่ทำกินมาก่อน แต่คนได้รับผลกระทบล้วนเป็นคนยากจน พร้อมกันนี้ได้ยกกรณีที่ศาลตัดสินให้ชาวบ้านเป็นฝ่ายชนะคดี คือ กรณีศาลฎีกาตัดสินเมื่อเดือนมีนาคม 2561 และมีแนวทางที่วางไว้สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง 3 รายที่ถูกกรมอุทยานยื่นฟ้อง โดยที่ชาวบ้านชนะ เพราะทนายความยกข้อเท็จจริงมาต่อสู้ เนื่องจากกรมอุทยานอ้างผลงานวิจัยเก่า, ระบุประเภทป่าและการเรียกร้องค่าเสียหายไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริง อีกทั้งไม่ปฏิบัติตามมติ ครม.และกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย

อีกกรณีคือ คดีบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน แก่งกระจาน หรือ "คดีปู่คออี้" ที่ ถูกเจ้าหน้าที่กรมอุทยาน รื้อถอน เผาทำลายทรัพย์สินชาวบ้าน โดยศาลปกครองสูงสุด ตัดสินว่าเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม การกระทำของเจ้าหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น เชื่อว่าชาวบ้านมีช่องทางชนะคดี หากชี้ให้ศาลเห็นข้อเท็จจริง

นายสุรพงษ์ เสนอการแก้ปัญหา"อุทยานทับที่ทำกินชาวบ้าน" 5 ข้อคือ

1)​เปลี่ยนวิธีคิดเรื่องคนกับป่า ว่าคนอยู่ร่วมกับป่าได้ เพราะวิธีคิดเดิมที่ว่าต้องแยกคนออกจากป่านั้นผิด

2) ต้องทำความเข้าใจเรื่องรัฐกับชาติ ซึ่ง เจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ได้หมายถึง "รัฐ" ขณะที่ "ชาติ" คือประชาชน ดังนั้นเจ้าหน้าที่รัฐ จึงต้องทำเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน

3)​ หน้าที่ของรัฐ คือ การทำให้ประชาชนมีความสุข และหนึ่งในนั้นคือต้องหาที่ทำกินและที่อยู่อาศัยให้ชาวบ้านด้วย

4)​ กระบวนการยุติธรรม ต้องทำให้เกิดความยุติธรรมอย่างแท้จริงๆ

5)​ ต้องดำเนินกระบวนการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจรัฐโดยเร่งด่วน

ศาสตราจารย์ คณิต ณ นคร อดีตประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่ากระบวนการยุติธรรมไทยมีปัญหาเยอะและจำเป็นต้องปฏิรูปซึ่งได้เคยเสนอและผลักดันมานานแล้วแต่ยังไม่สำเร็จ ที่สังเกตได้คือคล้ายกับดำเนินคดีผิดตัวโดยเฉพาะในทางอาญา ซึ่งตามหลักต้องมีกระบวนการสืบสวนไต่สวนความจริงอย่างกระตือรือร้น แต่ศาลและอัยการไม่ได้ดำเนินการอย่างที่ควรจะเป็น

พร้อมยืนยันว่า อัยการและศาลต้องสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น เพราะการดำเนินคดีอาญาต้องเป็นเรื่องของการอำนวยความยุติธรรม ไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างคู่ความ 2 ฝ่าย ต่างจากคดีแพ่งซึ่งสามารถยอมความกันได้ ศาสตราจารย์คณิต เสนอหลักนิติธรรมที่เกี่ยวข้องกับพนักงานอัยการ 3 อย่างคือ

1) ต้องดูแลความสงบเรียบร้อยและในขณะเดียวกันก็มีหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

2)​ มีความเป็นกลางและความเป็น"ภาวะวิสัย" หรืออิงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไม่ใช้ความเห็นส่วนตัวในการปฏิบัติหน้าที่

3)​ ต้องมีความรับผิดชอบต่อองค์กรอื่นในกระบวนการยุติธรรมและความรับผิดชอบต่อประชาชนด้วย

โดยเห็นว่า คดีอาญาที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน หากอัยการทำงานตามหลักการที่ควรจะเป็น สามารถไม่สั่งฟ้องชาวบ้านได้ หรือแม้แต่ศาลเอง ก็มีอำนาจสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้อง เพื่อพิสูจน์ตามข้อเท็จจริงก่อนมาดูข้อกฎหมาย ซึ่งย้อนศาลชั้นก่อนหน้า อัยการและการสืบสวนของตำรวจด้วย และหากพิจารณาถี่ถ้วนแล้วศาลอาจยกฟ้องคดีได้เช่นกัน

ศาสตราจารย์ อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ไม่ขอพูดในฐานะนักสิทธิมนุษยชน เพราะรัฐบาลไม่ค่อยชอบ แต่ขอคุยในฐานะนักมานุษยวิทยาที่เคยศึกษาและทำงานกับชาวบ้านมา พร้อมยืนยันว่า คนอยู่กับป่าได้ และคนอยู่กับป่ามาตั้งนานแล้ว ส่วนกฎหมายป่าไม้ที่เกี่ยวข้องออกมาทีหลัง

อย่างไรก็ตาม หากพูดถึงสิทธิตามกติการะหว่างประเทศมีหลายมิติ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับคนและป่านั้น ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งสิทธิชุมชน ที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย สิทธิทางการเมืองและอื่นๆ ด้วย

รองศาสตราจารย์อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า กรณี "ไทรทอง" เป็นส่วนหนึ่งของรูปธรรมแห่งการ "สยายปีกกองทัพ" สู่กิจการสาธารณะเพื่อคุมทรัพยากร โดยร่วมมือกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องและยังอาจยืมกลไกของกระทรวงยุติธรรมในการฟ้องชาวบ้านด้วย โดยตั้งข้อสังเกตไปถึงอำนาจของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน หรือ กอ.รมน.ที่ก่อตั้งในยุคปราบภัยคอมมิวนิสต์ และหลังยุคสงครามเย็น ภัยความมั่นคงกลายเป็นประชาชนในรัฐ

โดยล่าสุดหลังการเลือกตั้ง หัวหน้า คสช.ได้โอนภารกิจให้ กอ.รมน.ซึ่งจะทำให้การละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนและการควบคุมทรัพยากร ถูกรองรับด้วยกฎหมาย มีงบประมาณและโครงสร้างควบคุมสั่งการหน่วยงานพลเรืิอนและกลไกรัฐต่างๆ ซึ่งได้มี พ.ร.บ.ความมั่นคง ออกมาในรัฐบาลจากการรัฐประหารปี 2549 รองรับไว้ก่อนแล้วด้วย

รองศาสตราจารย์อนุสรณ์ กล่าวด้วยว่า การสถาปนาการจัดสรรทรัพยากรและความมั่งคั่งผ่าน กอ.รมน. ทำให้ภาคประชาสังคมไทยไร้ที่ยืน อย่างไรก็ตามภาพประชาสังคมบางส่วน โดยเฉพาะ "ตระกูล ส." ยังสมาทานเอานโยบายประชารัฐ หลังจากเรียกร้องบทบาทกองทัพ และส่งสัญญาณให้ทหารเข้ามายุ่งกับการเมืองหลังจากกลับเข้ากรมกองแล้วเมื่อปี 2535 โดยมองว่า จากนี้ภาคประชาสังคมเองก็ต้องตระหนักถึงบทบาทที่ควรจะเป็นและเริ่มฟื้นฟูแนวทางการกระจายทรัพยากรอย่างทั่วถึง
..



https://www.facebook.com/DeluxProduction/videos/322390995313601/



https://www.facebook.com/117863168369376/videos/328896468054262/