No Country for Young Man
ติดตามข่าวสารบ้านเมืองหลังเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 แล้วเกิดความสงสัยว่า ประเทศไทยคงจัดตั้งรัฐบาลใหม่เรียบร้อยแล้ว มีธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นนายกรัฐมนตรี ควบตำแหน่ง รมว.กลาโหม มีปิยะบุตร แสงกนกกุล เป็นรองนายกรัฐมนตรี ควบตำแหน่ง รมว.มหาดไทย
เพราะแทนที่พรรคอันดับ 1 , 2 ที่ชิงเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลจะถูกโจมตี กล่าวหา กลายเป็นว่าพรรคอันดับ 3 พรรคหน้าใหม่ที่ยังไม่เคยบริหารประเทศมาก่อน กลับเป็นศัตรูหลักของประเทศ ถูกโจมตีชนิดสหบาทาแสนสาหัส ด้วยคลิป ข่าว บทวิเคราะห์ในหน้ากระดาษ จอทีวี เฟซบุ๊ค ไลน์ ฯลฯ ด้วยข้อกล่าวหาที่มีโทษ “ถึงตาย”
บรรยากาศแบบนี้ จึงทำให้คิดถึงและอยากบอกเล่าเรื่องการเลือกตั้งครั้งที่ 12 ของไทยเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2518 (ที่จำได้ดี เพราะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในชีวิตของผู้เขียนและอารมณ์อาจจะประมาณกับพวก New Voter สมัยนี้)
การเลือกตั้ง 26 มกราคม 2518 เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 (ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2517)
1 ปี 3 เดือน (ตุลาคม 2516 – มกราคม 2518) ก่อนการเลือกตั้ง มีการปะทุของปัญหาร้อยแปดที่ถูกกดทับไว้นานกว่า 15 ปี เฉพาะการนัดหยุดงานของกรรมกร 3 เดือนหลัง 14 ตุลาคม คือ ตุลาคม – ธันวาคม 2516 มีการนัดหยุดงาน 501 ครั้ง ตลอดปี 2517 มี 357 ครั้ง
ที่สำคัญคือแนวคิดสังคมนิยม เริ่มเผยแพร่ กว้างขาง และนำมาสู่การจัดตั้งพรรคการเมืองแนวทางสังคมนิยมเพื่อต่อสู้ตามระบอบประชาธิปไตย บนเวทีเปิดของระบบรัฐสภา หรืออีกความหมายหนึ่ง คือการเปิดพื้นที่การเมืองให้กับ “การต่อสู้ทางความคิดด้วยสันติวิธี” และทำให้ทุกความคิดถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากประชาชน (ในเวลาเดียวกันนี้ พรรคประชาธิปัตย์ก็ประกาศนโยบายว่าตนเองเป็น “สังคมนิยมอ่อนๆ”)
แต่แนวคิดอนุรักษ์นิยมที่เหนียวแน่นในสังคมไทย ก็เริ่มก่อกระแสต่อต้านสังคมนิยมเช่นกัน..
การเลือกตั้งวันที่ 26 มกราคม 2518 สภาผู้แทนราษฎร มี สส. รวม 269 คน พรรคประชาธิปัตย์ได้ สส.มากสุดคือ 74 คน รองลงมาคือพรรคธรรมสังคม (ทวิช กลิ่นประทุม 45 คน) ชาติไทย (พลตรีประมาณ อดิเรกสาร 28 คน) ฯ แต่พรรคปีกสังคมนิยมและเสรีนิยมก้าวหน้า 3 พรรค ได้ สส.รวม 37 คน ประกอบด้วยพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย (พ.อ.สมคิด ศรีสังคม 15 คน) พรรคพลังใหม่ (น.พ.กระแส ชนะวงศ์ 12 คน) พรรคแนวร่วมสังคมนิยม (แคล้ว นรปติ 10 คน) คิดเป็นจำนวน สส. ร้อยละ 13.7 ของสภาผู้แทนราษฎร
แต่พรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ เพราะได้เสียงสนับสนุนเพียง 111 เสียง
พรรคกิจสังคม 18 เสียง จึงเป็นแกนรวบรวม 8 พรรค จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จด้วย สส.สนับสนุน 140 เสียง
พรรคปีกก้าวหน้า 3 พรรค 37 เสียง มีมติไม่สนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลของทั้งสองฝั่ง แต่มี สส.พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย 3 คน แหกมติ ยกมือสนับสนุน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี จึงถูกขับออกจากพรรคทั้ง 3 คน คือ เปรม มาลากุลฯ (สส.อุตรดิตถ์) สม วาสนา, เติม สืบพันธุ์ (สส.อุดรธานี)
แต่ถึงจะไม่ร่วมรัฐบาลกับปีกใด แต่ด้วยจำนวน สส.37 คน (รวมกันเท่ากับเป็นพรรคอันดับ 3 ในสภา) ทำให้ฐานะของ 3 พรรคนี้ มีความสำคัญโดดเด่น และถูกทาบทาบให้ร่วมรัฐบาลและล้มรัฐบาลทุกครั้ง ทั้งจากพรรคกิจสังคมในเดือนมีนาคม 2518 และพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงต้นปี 2519
แต่ความโดดเด่นที่น่ากลัวสำหรับอำนาจเก่าขณะนั้น ก็คือ แนวคิด “สังคมนิยม” ที่แพร่หลายอย่างกว้างขวางในสังคมไทย ขณะที่สหรัฐก็กำลังเพลี่ยงพล้ำอย่างหนักในอินโดจีน ทำให้ “ทฤษฎีโดมิโน” ถูกนำมาใช้อธิบายอนาคตของประเทศไทย และสร้างความแตกตื่น หวาดกลัว และความรังเกียจเดียดฉันท์อย่างรุนแรง จนนำไปสู่การขยายวาทกรรม “ขวาพิฆาตซ้าย” “สังคมนิยมทุกชนิด คือคอมมิวนิสต์” “คอมมิวนิสต์คือศัตรูของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” จนถึง “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป”
จะเรียกว่าเป็นเรื่องชวนเศร้า หรือเรื่องตลกร้ายก็ได้ เพราะ..
พรรคการเมือง 37 เสียง ที่ไม่มีอำนาจใดๆ ในมือ กลายเป็นศัตรูตัวร้ายของสังคมไทย
และตลอดปี 2518 ขณะที่เกมการแย่งชิงอำนาจและต่อรองผลประโยชน์ในสภาและคณะรัฐบาล ดำเนินไปอย่างเข้มข้น บรรยากาศนอกสภา การไล่ล่าผู้คน “คิดต่าง” ด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์ก็ดำเนินไปอย่างรุนแรง เด็ดขาด อำมหิต โดยใช้กลไกรัฐทุกระดับชั้น สื่อสารมวลชนทุกแขนง มวลชนจัดตั้งทุกรูปแบบ และ พรบ.คอมมิวนิสต์ฯ ที่ให้อำนาจครอบจักรวาล เป็นเครื่องมือ
ความพ่ายแพ้ในอินโดจีน ตั้งแต่ 17 เมษายน 2518 (พนมเปญแตก) 30 เมษายน 2518 (ไซ่ง่อนแตก) กรณีเรือมายาเกซ (12 – 16 พฤษภาคม 2518) และชัยชนะของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว ในวันที่ 2 ธันวาคม 2518 ยิ่งทำให้พลังอนุรักษ์สามัคคีกัน มุ่งทำลายล้างขบวนการประชาชนและพรรคการเมืองปีกสังคมนิยมด้วยข้อหา “คอมมิวนิสต์” และในที่สุด “การลอบสังหาร” ก็ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือ
แม้เมื่อ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ประกาศยุบสภาในวันที่ 12 มกราคม 2519 เหตุผลหนึ่งที่ยกมาอ้างนอกจากเรื่องความไร้เอกภาพและความอ่อนแอของรัฐบาลผสม 8 พรรคแล้ว ก็คือเพื่อสกัดกั้นพรรคฝ่ายค้านที่กำลังรวบรวมจัดตั้งรัฐบาลโดยดึงพรรคฝ่ายซ้าย (37 เสียง) เข้าร่วมรัฐบาล
(ข้อมูลบอกเล่าจากอดีตสมาชิกพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยท่านหนึ่ง ยืนยันว่า พรรคฯได้รับการติดต่อให้ร่วมรัฐบาลจากพรรคประชาธิปัตย์ จึงเปิดประชุมขยายวง โดยมี สส.และกรรมการบริหารเข้าร่วมตัดสินใจ แต่มติพรรคเสียงข้างมาก ปฏิเสธการเข้าร่วมรัฐบาล)
จากกระบวนการทำลายล้างตลอด 1 ปี เลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน
ก็ถูกลอบสังหาร เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2519
4 เมษายน 2519 การเลือกตั้งครั้งที่ 13 ของประเทศไทย พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ได้รับเลือก 2 คน (จากเดิม 15 คน) พรรคพลังใหม่ได้รับเลือก 2 คน (จากเดิม 12 คน) พรรคแนวร่วมสังคมนิยม ได้รับเลือก 1 คน (จากเดิม 10 คน และแคล้ว นรปติ หัวหน้าพรรคก็สอบตก)
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ได้ สส. 114 คน (จากเดิม 74) พรรคชาติไทยได้ 56 คน (จากเดิม 28) พรรคกิจสังคม ได้ 45 คน (จากเดิม 18 แต่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรค สอบตกในเขตดุสิต)
20 เมษายน 2519 พรรคประชาธิปัตย์ ก็เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล “จตุรพรรค” (ประชาธิปัตย์ ชาติไทย ธรรมสังคม สังคมชาตินิยม) มี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี
อีก 6 เดือนต่อมา ทุกอย่างก็เข้าสู่จุดจบในวันที่ 6 ตุลาคม 2519
มาลองดูกันว่า ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยหรือไม่...
(บันทึกไว้ ณ วันที่ 2 เมษายน 2562
ประสบการณ์การเลือกตั้งครั้งแรกในชีวิตเมื่อ 44 ปีที่แล้ว
จากความจำส่วนหนึ่งและข้อมูลบางส่วนจากเอกสาร
เรื่อง”วิชาการเมืองไทยสมัยใหม่”
ของ ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต)
Anun Han