วันพุธ, เมษายน 17, 2562
#บิ๊กโจ๊ก บทเรียนตำรวจ ยุค คสช.
https://www.youtube.com/watch?v=Tp_1CtIMoiI
...
“บิ๊กโจ๊ก”หมองูตายเพราะงู ภาพสะท้อนตำรวจยุคคสช.
พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล (ภาพจากแฟ้ม)
9 เม.ย. 2562
โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม
MGR Online
การประชุมครม. เมื่อช่วงเช้าวันที่ 9 เม. ย. มีมติรับทราบ การโอนย้าย “บิ๊กโจ๊ก”พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาประจำที่ สำนักนายกรัฐมนตรีในตำแหน่ง ที่ปรึกษาพิเศษ ยังไม่ระบุหน้าที่ สำหรับที่บอกไว้แล้วในคำสั่ง คือบิ๊กโจ๊กต้องถูกสอบสวนความผิดต่อไป คงต้องติดตามกันต่อว่า เจอแจ๊คพ็อตเรื่องอะไร
ไม่ว่าโชคชะตา “บิ๊กโจ๊ก”จะออกมาอย่างไร หัวหรือก้อย ดีหรือร้ายแต่วิบากกรรมครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนต้องจดจำไปตลอดชีวิต
หากย้อนหลังกลับไปดูบทบาทที่โลดแล่นแบบเหนือยุทธภพของเขา ประชาชนที่ไม่เข้าใจลักษณะงานของตำรวจก็อาจจะมองว่าพล.ต.ท.สุรเชษฐ์ มีความสามารถโคตรเหนือชั้น มีความขยันทุ่มเทยากจะมีตำรวจคนใดทำได้เหมือน และผลงานมากมายหลายด้านคงไม่ต้องพูดถึง
เรียกว่า เป็นที่ถูกอกถูกใจของคอหนังบู๊ ประเภทระเบิดภูเขาเผากระท่อม
แต่สำหรับภาพรวมขององค์กร ภาพบริหารงานภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถ้าฟันธงกันอย่างตรงไปตรงมานี่คือความล้มเหลว
เพราะเนื้อแท้ปัญหาอาชญากรรมต่างๆในสังคมไทยนั้นมีอยู่มากมาย คดีลัก วิ่ง ชิง ปล้นที่ไม่เป็นข่าวดังกลับถูกหมก ถูกเป่า
ประชาชนที่เคยคาดหวังว่าเมื่อเข้าสู่ยุค คสช.องค์กรตำรวจจะต้องเป็นที่พึ่ง มีความขยันขันแข็งมีประสิทธิภาพแต่เอาเข้าจริงเปล่าเลย ระบบดีงามอันพอมีอยู่บ้างในสังคมสีกากีกลับถูกกระทำจนอ่อนแอ หมดสิ้นศรัทธราจากชาวบ้าน จะเห็นจากคลิปถกเถียงด่าทอระหว่างประชาชน กับตำรวจเป็นประจำ
ชาวบ้านใช้มือถือถ่ายภาพ ตำรวจก็ใช้มือถือถ่ายภาพ เป็นการเผชิญหน้าแบบไม่เคยมีมาก่อน
องค์กรตำรวจถูกสังคมจับผิด ความร่วมมือค่อยๆถอยห่างจนกลายเป็นมีเส้นขีดยืนคนละข้าง
ความพิกลพิการถึงขั้นวิปริตผิดเพี้ยนเหตุผลสำคัญที่สุดคือระบบคุณธรรมในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจแทบไม่มีเหลือ หรือเหลือน้อยมาก นับตั้งแต่ปี 2557 ผ่านการแต่งตั้งโยกย้ายมาหลายครั้งคนที่ใกล้ชิดอำนาจ หรือมีความสามารถในการวิ่งเต้นต่างขยับเติบโตได้ดิบได้ดี
แน่นอนว่าพล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ก็คือ 1 ในตำรวจเหล่านั้น
ปรากฏการณ์ “บิ๊กโจ๊ก”ตั้งแต่เริ่มจนถึงวันจบหากถอดรหัสกันแล้วสังคมไทย สังคมตำรวจได้บทเรียนอะไรกันบ้าง
ทันทีที่อำนาจอยู่ในมือ คสช.พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้มอบหมายให้พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ดูแลรับผิดชอบบริหารงานความมั่นคงทั้งหมด
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใต้ร่มเงาของ “บิ๊กป้อม”จุดที่มีปัญหามากมายและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักก็คือการแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจ ไล่ทั้งระดับนายพัน ยันนายพล โดยหลักการที่ได้วางไว้เพื่อไม่ให้องค์กรตำรวจถูกอำนาจภายนอกแทรกแซงปรากฏว่ากำแพงตัวนี้ถูกพังทะลายจนหมดสิ้น
การโยกย้ายตำรวจยุคอำนาจเต็มมือกลับผิดเพี้ยน เอาชื่อคนตายย้ายแทนคนเป็น บางกรณีย้ายซ้ำ 1 ตำแหน่งมี 2 คนเมื่อมั่วจนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงผ่าทางตันด้วยการใช้ ม.44 ตามคำสั่ง คสช.ที่ 21/2559 รายละเอียดคำสั่งอ้างถึงเรื่องการปฏิบัติราชการของ สตช.จากสถานการณ์การกระทำความผิดและอาชญากรรมในปัจจุบัน ส่งผลต่อปริมาณงานและภารกิจของ สตช.ทำให้ สตช.ต้องกำหนดหรือปรับระดับตำแหน่งให้สอดคล้องกับปริมาณงานและคุณภาพของสถานีตำรวจ
”นอกจากนี้ยังมีจำนวนข้าราชการตำรวจที่มีอาวุโส ผลการปฏิบัติงานและความรู้ความสามารถในส่วนราชการต่างๆในสัดส่วนแตกต่างกัน ดังนั้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชนด้านอำนวยความยุติธรรม ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ให้เป็นที่ไว้ใจและเชื่อถือ ศรัทธาของประชาชน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปในด้านบริหารราชการแผ่นดินและกระบวนการยุติธรรม
จึงมีคำสั่งให้ ผบ.ตร.เป็นคนกำหนดหลักเกณฑ์เอง !!!???
อารัมภบทอย่างสวยหรูแต่จบลงแบบ “ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่”
กฎระเบียบ หรือกระทั่ง “ตรายาง”เช่นคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)ไม่มีความหมายอีกต่อไป
และนี่คือต้นทางของปัญหาทั้งหมด
โครงสร้าง สตช.ปัจจุบัน ออกแบบโดยผู้มีอำนาจ เป็นแบบที่ยึดระบบอุปถัมภ์เป็นหลัก
พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ซึ่งดูยิ่งใหญ่มีภาพน่าเกรงขามและน่าชื่นชมในเวลาเดียวกันนั้น แท้จริงแล้วก็คือคนในบ้านผู้มีอำนาจ ผลงานที่ผ่านมามีทั้งเพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคมและตาม “ใบสั่ง”
อย่างไรก็ตามแม้มีภาพความไม่ถูกต้องในระบบบริหารมาทับอยู่แต่เขาคือนายตำรวจเพียงคนเดียวที่มีความโดดเด่น สามารถสนองความต้องการของอำนาจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผลงานขุดรากถอนโคนแก๊งทัวร์ศูนย์เหรียญ ตามคำขอจากรัฐบาลจีน ผลงานปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่จัดการอย่างราบคาบทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยเดินทางประสานกับประเทศเพื่อนบ้านเช่น กัมพูชา มาเลเซีย ไต้หวัน และสหรัฐอาหรับเอมิเรต เป็นต้น
นอกจากนั้นยังมีแก๊ง “ลวงให้รักทางออนไลน์”หรือ โรแมนซ์สแกม ขบวนการเงินกู้นอกระบบ สามารถจับกุมและยึดคืนโฉนดที่ดินจำนวนมากในพื้นที่ภาคเหนือ อีสาน อันเป็นผลพวงที่ประชาชนเกิดความประทับใจ
หรือกระทั่งเรื่องร้อนๆอย่างน.ส.ราฮาฟ โมฮาเหม็ด แอล-เคนูน ชาวซาอุดิอาระเบียขอลี้ภัยไปแคนาดา กรณีนายฮาคีม อัลอาไรบี อดีตนักฟุตบอลทีมชาติบาร์เลน ขอลี้ภัยไปออสเตรเลีย เป็นต้น
วิบากกรรมของ “บิ๊กโจ๊ก”ที่เข้าทำนอง “หมองูตายเพราะงู” ต้องม้าตกม้าตาย เพราะความผิดพลาดจากการแต่งตั้งโยกย้ายโดยเอาคนที่ไม่เหมาะสม ไม่ถูกกับงานไปวางไว้ในพื้นที่สำคัญและมีความละเอียดอ่อนนั้น
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าที่นายกสมัยที่สอง มองปัญหานี้อย่างไร
จะฉวยโอกาสสังคายนาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้กลับมาเป็นตำรวจของประชาชนอย่างแท้จริงโดยรื้อโครงสร้างระบบอุปถัมภ์ลงทั้งหมดพร้อมฟื้นฟูระบบคุณธรรมตอบแทนคนดีมีความสามารถเพื่อให้สังคมสีกากีกลับมาสู่ความหวังความศรัทธาอย่างแท้จริง
เพราะ 5 ปีที่ผ่านมานั้น....เหลวแหลกจนเกินพอแล้ว