วันอังคาร, เมษายน 16, 2562

จับได้คาหนังคาเขา ม.๔๔ ประยุทธ์เอื้อ 'เจ้าสัวดิจิทัล' กว่า ๓.๓ หมื่นล้าน

การใช้มาตรา ๔๔ ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้กระทั่งหลังเลือกตั้งแล้ว ขณะตนเองรอที่จะกลับไปเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ด้วยการปั่นกระแสรัฐบาลเสียงข้างน้อยที่มี สว.ตั้งเองไว้หนุน ซึ่งกำลังหืดขึ้นคอสุดขีด

กลับเป็นข้อกังขาต่อความเหมาะสมทางคุณธรรม ยิ่งเสียกว่าประเด็น ไม่เท่ห์ด้วยซ้ำไป

ที่พูดกันมากเวลานี้เป็นการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จของ ม.๔๔ ยืดเวลาจ่ายค่าสัมปทานของผู้ให้บริการทีวีดิจิทัลและ 4G สามสี่ราย อ้างว่าเพื่อเกิดปัจจัยเกื้อหนุน (incentives) ให้การเปิดบริการคลื่น 5G กระทำได้เร็วขึ้น เสร็จเรียบร้อยก่อนจะหมดเวลาของรัฐบาล คสช.
 
ทั้งๆ ที่ผู้ให้บริการที่จะได้รับประโยชน์เหล่านั้นล้วนดำเนินกิจการมาได้ดี มีกำไรมากน้อยตามฐานานุรูปกันถ้วนหน้า จึงมีคำถามเสียดลึกจากสังคม โดยเฉพาะคำของ นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ อดีตแกนนำกองทัพประชาชนและเครือข่ายปฏิรูปพลังงานไทย

“ถามจริง มีตังค์ทอนหรือเปล่า”
 
ก่อนหน้านี้ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน ทีดีอาร์ไอเขียนบทความชื่อ “รู้ทันนิทานเรื่อง อุ้ม ผู้ประกอบการ 4G ของ กสทช.” อ้างว่าเป็นการ “เอาเงินของรัฐและประชาชนไปอุ้มนายทุนโทรคมนาคม ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนที่ คสช. จะไม่สามารถใช้คำสั่งตามมาตรา ๔๔ ได้อีกต่อไปหลังมีรัฐบาลใหม่แล้ว

ดร.สมเกียรติชี้ว่าทั้งในกรณีทีวีดิจิทัลและคลื่นโฟร์จี ย่านความถี่ ๙๐๐ เมกกาเฮิ้ร์ซ ผู้ประกอบการเข้าประมูลโดยทราบดีถึงความเสี่ยง แม้นว่าทีวีดิจิทัลจะเกิดความลำบากเนื่องจากพฤติกรรมการเสพสื่อของคนเปลี่ยนไป

กับเทคโนโลยี่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างรวดเร็ว จนไม่สามารถจัดหาวัสดุอุปกรณ์ตามได้ทัน แต่นั่นเป็น “ความเสี่ยงทางธุรกิจโดยปรกติ (normal business risk)” ไม่ควรที่จะเกื้อหนุนถึงขั้น “คืนเอกสารค้ำประกัน”

ทางที่ควร ดร.สมเกียรติบอกว่า “ควรพิจารณานำเอาคลื่นทีวีดิจิทัลมาประมูลใหม่ เพื่อใช้กับบริการโทรคมนาคม” ส่วนกรณีคลื่นโฟร์จีนั้น การยืดเวลาผ่อนชำระค่าประมูลออกไป ๕ ปี โดยให้เริ่มจ่ายในปี ๒๕๖๓

แม้จะมีดอกเบี้ย ๑.๕% ก็นับว่าต่ำมาก ต่างจากดอกเบี้ยจากการจ่ายค่าประมูลล่าช้า ซึ่งอยู่ที่ ๑๕% เช่นนี้ “ส่วนต่างดอกเบี้ยนี้เองที่เป็นผลประโยชน์มากมายมหาศาล” เป็นตัวเลขสูงถึงรายละ ๑.๕ หมื่นล้านบาท สองรายรวมกัน ๓ หมื่นล้าน

 
นอกจากนั้นยังมี นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงหัวหน้า คสช. ขอดูรายละเอียดประกอบการพิจารณาอนุมัติคำสั่ง คสช.ที่ ๔/๒๕๖๒ อ้างว่า คสช. ไม่ได้มีอำนาจบริบูรณ์ในทางกฎหมายเหมือนกับตอนที่ยึดอำนาจใหม่ๆ

หลังจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มีผลใช้บังคับ อำนาจของ คสช. เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญรับรอง และต้องใช้ตามเงื่อนไขในมาตรา ๔๔ ด้วย” นั่นคือไม่ได้อยู่ในขอบข่ายของบทนิรโทษกรรมล่วงหน้า

ดังนั้นจึงอยู่ในข้อจำกัด ๓ ประการ คือเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูป ส่งเสริมความสามัคคีและสมานฉันท์ กับป้องกันและระงับการกระทำ อันบ่อนทำลายฯ อีกทั้งต้องเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล นิติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ และรักษาวินัยการคลัง

ข้อจำกัดเหล่านั้น นายธีระชัยระบุว่า การให้ประโยชน์แก่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และผู้ให้บริการคลื่นความถี่โฟร์จี ล้วนเข้าข่ายละเมิด “ทำให้ประโยชน์ไปเกิดแก่ภาคเอกชน โดยผู้ที่เสียประโยชน์คือประเทศและประชาชนส่วนรวม อีกทั้งอาจเป็นการเลือกปฏิบัติเทียบกับธุรกิจประเภทอื่น”

(ดูรายละเอียดจดหมายได้จาก https://www.isranews.org/isranews/75615-digi-75615.html)

หากจะดูความเสียหายที่เกิดกับรัฐ (กสทช.) เว็บไซ้ท์ ทีวีดิจิทัลว้อชให้ตัวเลขไว้ว่าเป็นการ ปลดหนี้ให้กับทีวีช่องธุรกิจ ๒๒ แห่ง ของบริษัทที่ได้รับอนุญาต ๑๙ ราย มูลค่าความช่วยเหลือทั้งสิ้น ๓๓,๒๐๒ ล้านบาท ในจำนวนนี้แบ่งเป็นค่าประมูล ๑๓,๖๒๒ ล้านบาท ค่าเช่าโครงข่ายอีก ๑๙,๕๘๐ ล้านบาท

สำหรับใครบ้างที่เป็นผู้ให้บริการที่ได้รับประโยชน์ สูงต่ำตามลำดับจำนวนเงินที่ได้รับยกเว้นหนี้ ปรากฏว่า ๕ อันดับต้นๆ ได้แก่ ๑.กลุ่มช่อง ๓ ๒. กลุ่มเนชั่น (สปริงนิวส์) ๓. กลุ่มช่อง ทรู๔. ช่อง ๙ และ ๕. เวิ้ร์คพ้อยท์

ส่วนตัวเงินที่แต่ละแห่งได้รับยกเว้น หรือ กสทช.ชวดรายได้ ก็คือ ช่องสาม ๑,๗๗๖.๔ ล้านบาท เนชั่น ๑,๖๑๔.๔ ล้านบาท ทรู ๑,๒๑๒.๔ ล้านบาท ช่องเก้า ๙๔๐ ล้านบาท เวิ้ร์คพ้อยท์ ๗๙๐ ล้านบาท และที่ควรเอ่ยถึงคืออันดับ ๖ พีพีทีวี ของตระกูลหมอประเสริฐ ปราสาททองโอสถ ลดหนี้ได้ ๗๘๐ ล้านบาท


ยังมีข้อต้องสังเกตุอีกด้วยว่า สามอันดับแรกที่ได้รับอานิสงค์ ม.๔๔ ครั้งนี้ล้วนเป็นกลุ่มทุน เจ้าสัว ที่สนิทชิดเชื้อกับ คสช. เป็นพิเศษ (กรุณาหาอ่านการเปิดโปงโดย มรว.ปรีดิยาธร เทวกุล กันเอาเอง) ช่องสามเป็นของตระกูลมาลีนนท์

เนชั่น-สปริงนิวส์ มี ฉาย บุนนาค สามีมาดามเดียร์ ผู้สมัคร ส.ส.สังกัดพลังประชารัฐเป็นตัวเอ้ และ ทรูเป็นของเครือซีพีที่มีโคตรเจ้าสัว ธนินท์ เจียรวนนท์ นั่งอยู่สุดยอด และ สุเทพ เทือกสุบรรณ ปรากฏชื่อเป็นกรรมการบริษัทในครั้งหนึ่ง (ยุค ศอฉ.) หรือยังอยู่ต่อไม่รู้ได้