วันเสาร์, เมษายน 13, 2562

อ้างทางตัน วังวน ขอรัฐบาลแห่งชาติ และนายกฯ พระราชทาน แต่ คสช.หรือจะยอม

ระหว่างหยุดสงกรานต์นี่ฟังข่าวลือกันไปพลางๆ ลือหนึ่งจาก Thaikorn Polsuwan @Thaikorn1 ว่า “สภาเดดล้อค” หมายถึงการจัดตั้งรัฐบาลผ่านสภาผู้แทนราษฎรท่าจะไปไม่ได้ “ต้องมีนายกฯ คนกลาง”

คล้องจองกับเสียงร้องในพรรคประชาธิปัตย์ ขอ รัฐบาลแห่งชาติแม้นว่าโฆษกพลังประชารัฐคุยจ้อ ตอนนี้เดินหน้าเตรียมนโยบายที่จะปฏิบัติทันที ๗ ข้อ “หลังจากจัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว”

ลือที่สองเติมเต็มลือแรก จาก songkiet chartwattan @songkietchartwa นักจัดรายการวิทยุเกี่ยวกับเศรษฐกิจและตลาดหุ้น ฟันธงว่าปัญหาจาก “การเลือกตั้งที่โกงกันจนเละเทะที่สุดในประวัติศาสตร์” ดังนั้นจะมีนายกฯ พระราชทาน

ชื่อ “ดร.อำพน กิตติอำพน องคมนตรี เข้ามาดูแลบ้านเมือง หลังจากนั้นจะใช้รัฐธรรมนูญปี ๔๐ และจะเลือกตั้งใหม่ในปีนี้” ฟันแม่นแค่ไหนคงต้องไว้ดูกัน ว่า คสช.เขาจะยอมหรือเปล่า เดี๋ยวจะเป็นเรื่อง โจ๊กๆ ไปอีก

(เละเทะเห็นได้ชัดก็ตรงการกรอกคะแนนที่เขตอุเทนถวายนั่นไง พลังประชารัฐแต้มน้อยกว่าอนาคตใหม่ แต่กรอกตัวเลขเป็น พปชร.ได้ ๖๗ แต่ อนค.แค่ ๖๐)
 
กลับมาที่ความจริง การตั้งรัฐบาลยังไม่ถึงทางตันจนกว่าจะวันที่ ๙ พฤษภา ราคาคุยของกอบศักดิ์ ภูตระกูล ว่าไปแล้วก็แค่ฝันเฟื่องตามเพลง “คาดว่าปีแรกจะใช้งบประมาณไม่เกิน ๒ แสนล้านบาท” พวกประชารัฐก็งี้ดีแต่ถลุงเงิน

“ส่วนการหาเงินเข้าประเทศก็ไม่ต้องกังวลใจไป เพราะพรรคมีแนวทางในการหาเงิน เช่น การปฏิรูประบบภาษี” นี่ไงสไตล์ ขูดเลือดจากปู ตอนนี้ปูไม่อยู่ก็คงไปขูดกับหอยนั่นละ ถึงอย่างไรกอบศักดิ์ก็ยอมรับว่าคะแนนไม่นิ่งจริงๆ

แต่หาว่า “เกิดความสับสน เนื่องจากแต่ละพรรคการเมืองล้วนมีสูตรเป็นของตัวเอง” นี่ก็ผิดถนัด ไหนเป็นด็อกเตอร์ไหงไม่ขวนขวายหาอ่านศึกษาจากคนที่รู้เสียบ้าง ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ราชบัณฑิตสาขาเทคโนโลยี่ อุตส่าห์เขียนละเอียดลงเฟชบุ๊ค

เขาอธิบายว่าระบบจัดสรรปันส่วนที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ไทยใช้นั้นลอกมาจากเยอรมนี (และนิวซีแลนด์กับโบลิเวีย) แต่ลอกไม่หมดเอาแบบไทยๆ ยัดใส่เข้าไปด้วย เลยเป็นการดึงคะแนนพรรคใหญ่ไปให้พรรคจิ๊บจ้อย แต่พรรคใหญ่อันดับสองที่เป็นของ คสช.ไม่โดนดึง

จึงเกิดปรากฏการณ์พรรคเล็กที่ได้คะแนนไม่ถึงครึ่งของจำนวนเสียงต่อ ๑ ส.ส.พึงมี ได้ที่นั่งกันเป็นแถว ๑๓ ราย ที่ “นิวซีแลนด์กำหนดให้พรรคไหนที่ไม่ได้ ส.ส.เขตเลย ถ้าจะมาแบ่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่า ๕% ที่เยอรมนีก็ใช้ ๕% โบลิเวียร์ใช้ ๓ %

ของไทยเอานักกฎหมายมาออกแบบคณิตศาสตร์ มาตรา ๑๒๘(๔) กำหนดให้ “เกลี่ยเศษเพื่อแปลงเลขทศนิยมให้เป็นเลขเต็มโดยวิธี Largest Remainder Method” แต่ไม่มีการกำหนด Threshold หรือเกณฑ์จำนวนคะแนนสำหรับ ๑ ส.ส.พึงมี

ครั้นทำอย่างนั้นก็เกิดจำนวน ส.ส.พึงมีเกินกว่าจำนวนที่นั่ง นั่นคือ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มจาก ๑๕๐ ไปอีก ๒๕.๔๗ คน ครั้นปรับส่วนเกินที่ในต่างประเทศเรียก Overhang Seats ให้เหลือ ๑๕๐ พอดี ก็ต้องไปลดเอาจากพรรคที่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อจำนวนมาก (ส.ส.เขตน้อย) อย่างพรรคอนาคตใหม่


เมื่อความผิดพลาดของ กกต.เห็นได้ชัดแจ้งอย่างนั้นแล้ว ไม่ยอมปรับเปลี่ยนเสียใหม่ให้ถูกต้องดังที่มีผู้รู้และพรรคการเมืองอื่นเสนอแนะ ก็ส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญช่วยชุบทองให้ ใครๆ ก็รู้ว่าคำตัดสินออกมาจะต้องคล้อยตาม กกต.แน่นอน
 
นายดิเรก ถึงฝั่ง อดีต ส.ว.นนทบุรี วิจารณ์ว่าการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องไม่ใช่หน้าที่อย่างนี้ เป็นเพียง ตัวช่วย “เพื่อไม่ให้ตนเองถูกฟ้องภายหลัง” เพราะเคยมีตัวอย่างที่ กกต.ต้องติดคุกมาแล้ว ถ้าไม่ขี้หลงขี้ลืมกัน

กอบศักดิ์จะมาอ้าง “ไม่ควรยึดที่ตัวเอง แต่ควรยึดเจตนาของรัฐธรรมนูญเป็นที่ตั้ง เพื่อเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล” ฟังรุ่นพี่อย่างดิเรกเสียบ้างว่ามันผิดเพี้ยนมาแต่ต้น ตอนร่างรัฐธรรมนูญกันนั่นแล้ว “ถ้ารัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเสาหลักปักเอนเอียง คนในบ้านก็อยู่ไม่มีความสุขแน่”

ทางพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งตกกระป๋องไม่เป็นท่าในการเลือกตั้งครั้ง ซ้ำยังทำท่าจะถูกพวก กปปส.ยึดเอาไปเป็นลูกไล่ พปชร.เสียอีก จึงต้องมีคนออกมาดิ้น เทพไท เสนพงศ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรค รีบออกมาเสนอ รัฐบาลแห่งชาติ ทันที

อ้าง ทางตัน วังวน นักการเมืองมีทิฐิ ขอให้ช่วยถอยกันคนละก้าวเข้าไปหา ปชป. ได้เป็นส่วนหนึ่งในรัฐบาลอย่างมีหน้ามีตาสักหน่อย แถมเสนอแนวทาง ภารกิจหลัก“แก้ไขรัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ ให้มีความเป็นประชาธิปไตยตามหลักสากล”


ถ้ามีหลักการอย่างนั้น ไฉนไม่ไปร่วมกับ ๗ พรรคให้สัตยาบันต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช.เสียเลย จะเป็นไปได้มากกว่าในการจัดตั้งรัฐบาล นี่ละมังเป็นที่มาของนายกฯ พระราชทานอีกรอบ