วันเสาร์, เมษายน 13, 2562

คุณูปการวิกิลีกส์ต่อคนไทย : ย้อนรอยเอกสารการจัดซื้อผลิตภัณฑ์สอดแนมจากอิตาลี โดยกองทัพบกและสำนักงานตำรวจแห่งชาติของไทย





วิกิลีกส์ : ย้อนรอยเอกสารการจัดซื้อผลิตภัณฑ์สอดแนมจากอิตาลี โดยกองทัพบกและสำนักงานตำรวจแห่งชาติของไทย


นันท์ชนก วงษ์สมุทร์
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
12 เมษายน 2019


จูเลียน อัสซานจ์ ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์วิกิลีกส์ ถูกจับกุมตัวที่สถานทูตเอกวาดอร์ ณ กรุงลอนดอน เมื่อ 11 เม.ย. หลังหลบหนีคดีมาเกือบ 7 ปี


เขาเริ่มก่อตั้งวิกิลีกส์ในปี 2549 ร่วมกับคนร่วมอุดมการณ์ผ่านเครือข่ายเว็บไซต์ เจาะระบบข้อมูลของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งไทย แล้วนำข้อมูลลับเหล่านั้นมาเผยแพร่ต่อสาธารณะ

ข้อมูลที่เกี่ยวกับไทยส่วนหนึ่งเป็นรายงานของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ในกรุงเทพฯ ที่ส่งถึงกรุงวอชิงตัน หลายเรื่องเกี่ยวกับการเซ็นเซอร์ข้อมูล และเป็นประเด็นเรื่องการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาของไทย



แต่เรื่องที่สื่อไทยให้ความสนใจมากที่สุดคงจะเป็นเรื่องที่กองบัญชาการกองทัพบก และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้สั่งซื้อผลิตภัณฑ์ที่ใช้ใน การสอดแนมโทรศัพท์มือถือและเครื่องคอมพิวเตอร์ ในปี 2556 และ 2557 ทำให้มีการตั้งคำถามว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวหรือไม่

การค้นพบดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่วิกิลีกส์ได้เผยแพร่อีเมลกว่า 1 ล้านฉบับของบริษัท แฮกกิ้ง ทีม (HT) ในวันที่ 8 ก.ค. 2558 โดยบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทจำหน่ายเครื่องมือสอดแนมสัญชาติอิตาเลียน

หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์เป็นสื่อไทยรายแรกที่มีการนำเสนอเรื่องดังกล่าวผ่านบทความที่ตีพิมพ์ในวันที่ 19 ก.ค. 2558 โดยผู้สื่อข่าวได้ค้นพบข้อมูลเกี่ยวกับข้อตกลงต่าง ๆ จากการไล่อ่านอีเมลและเอกสารหลายร้อยชิ้นของ HT ซึ่งได้ระบุชื่อกองทัพบกไทยและ สตช. เป็นลูกค้าที่ซื้อ remote control system (RCS) ซึ่งเป็นระบบที่สามารถเข้าควบคุมเครื่องเป้าหมาย โดยมีชื่อว่า กาลิเลโอ และ ดาวินชี


HACKING TEAMคำบรรยายภาพบริษัท แฮกกิ้ง ทีม จำหน่วยระบบที่สามารถเข้าควบคุมเครื่องเป้าหมาย (remote control system) โดยรัฐบาลกว่า 50 ประเทศ


นอกเหนือจากไทย ลูกค้ารายอื่น ๆ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ เวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยอีเมลที่ส่งจากฝ่ายการเงินของ HT ระบุว่า สตช. ได้ซื้อสินค้ามูลค่า 286,482 ยูโร หรือมากกว่า 10 ล้านบาท ในปี 2556 ส่วนกองทัพไทยใช้จ่ายเงินไป 360,000 ยูโร หรือกว่า 13 ล้านบาท ในปี 2014

พันธมิตรของ HT ในเมืองไทย ได้แก่ บริษัทสัญชาติอิสราเอลชื่อ ไนซ์ ซิสเต็มส์ และบริษัทไทยสองบริษัท คือ เพลสซิ่ง แวลู และ เน็ตเซอร์พลัส

ในเดือน ก.ย. 2555 ไนซ์ ซิสเต็มส์ ได้พบกับบุคคลจากหลายหน่วยงานของกองทัพบกไทย รวมถึงหน่วยข่าวกรอง เพื่อทำการสาธิตสินค้า โดยมีการสาธิต "การใช้งานหลัก ๆ ที่ไนซ์จะนำเสนอกับตลาดนี้ ซึ่งเต็มไปด้วยกฎหมายที่อ่อนแอ"

เพลสซิ่ง แวลู ได้กลายเป็นพันธมิตรหลักของ HT และได้มีการสื่อสารกันตั้งแต่เดือน ต.ค. 2555

จดหมายที่เขียนถึง HT ฉบับหนึ่งแสดงให้เห็นว่าในเดือน ธ.ค. 2555 หน่วยข่าวกรองทางทหารแสดงความสนใจในผลิตภัณฑ์ดาวินชี "เพื่อสนับสนุนปฏิบัติการและภารกิจของเรา"

จดหมายดังกล่าว ซึ่งมี พลตรี กนิษฐ์ ชาญปรีชญา ผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรองทางทหาร กองทัพบกในขณะนั้นลงลายมือชื่อ ได้ขอให้บริษัทมาทดสอบระบบในวันที่ 21 ม.ค. 2556 และในภายหลังกองทัพได้ซื้อระบบกาลิเลโอ


GETTY IMAGES


HC ได้โฆษณาสินค้า RCS ของบริษัทว่าใช้วิธีการสอดแนมเพื่อเก็บข้อมูลจากระบบปฏิบัติการต่าง ๆ โดยมีความสามารถในการติดตามเป้าหมายเป็นแสน ๆ ราย

ในเดือน ธ.ค. มีคำสั่งซื้อมูลค่า 360,000 ยูโรสำหรับลูกค้าในนาม กองทัพไทย โดยกำหนดวันส่งมอบภายใน 60 วันที่มีการสั่งซื้อ

การติดต่อสื่อสารดังกล่าวเป็นไปในขณะที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้บัญชาการทหารบก

HT ระบุว่า บริษัทได้ออกแบบระบบมาเพื่อปราบปรามอาชญากรรมและการก่อการร้าย โดยนโยบายของบริษัทระบุว่า บริษัทจะยกเลิกการจำหน่ายซอฟท์แวร์ให้กับรัฐบาลที่เชื่อว่าได้ใช้เทคโนโลยีไปในทางที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

HT เองได้ถูกแฮกในวันที่ 5 ก.ค. โดยมีการโจมตีเซิร์ฟเวอร์ ทำให้ HT ต้องขอให้ลูกค้าหยุดการใช้งานสินค้ากาลิเลโอ ต่อมา HT ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่ามีแผนที่จะทดแทนกาลิเลโอด้วยเวอร์ชั่นใหม่ในเร็ว ๆ นี้

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขณะนั้น ได้ประณามการใช้ระบบสอดแนม โดยกล่าวกับบางกอกโพสต์ว่า เป็นการใช้อำนาจไปในทางที่ผิด เนื่องจากรัฐไม่มีสิทธิในการละเมิดความเป็นส่วนตัวของประชาชน และความมั่นคงของชาติไม่สามารถใช้เป็นข้ออ้างเพื่อละเมิดสิทธิของผู้ที่ต่อต้านรัฐบาล

"ประเทศไทยต้องตระหนักว่าตัวเองกำลังเสี่ยงที่จะละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวและสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ภายใต้ความกังวลเรื่องความมั่นคงชาติ" นพ.นิรันดร์ กล่าว "มันมีความจำเป็นที่จะแยกแยะระหว่างความมั่นคงของชาติ และความมั่นคงของรัฐบาล"


GETTY IMAGES


หนึ่งวันหลังจากที่บางกอกโพสต์เสนอข่าวดังกล่าว พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรสิริ โฆษก สตช. ขณะนั้น กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ทาง สตช. ไม่เคยซื้อระบบดังกล่าวเข้ามาใช้ในราชการแต่อย่างใด เนื่องจาก สตช. ไม่มีนโยบายเข้าไปดักฟังหรือดักจับข้อมูลของประชาชนอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าอาจจะนำโปรแกรมดังกล่าวมาเป็นกรณีศึกษา

วันที่ 21 ก.ค. 2558 พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง ผบ. ตช. ขณะนั้น ระบุว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง ถ้ามีก็อาจเป็นเช่นเดียวกับกรณีของกองบัญชาการตำรวจสันติบาลที่เคยมีตัวแทนจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ มาเสนอ และขอสาธิตการใช้งาน

ในวันเดียวกันนั้น สื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาลได้สอบถามเรื่องนี้กับ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ได้ตอบว่า:

"ทำไมจะต้องไปพึ่งเขาเล่า ทำไมจะต้องไปพึ่งแฮกก้งแฮกเกอร์ ปัดโธ่เว้ย ผมยังเล่นงานคุณไม่ได้เลย สื่อบ้านเรายังทำอะไรไม่ได้เลย"

เมื่อมีผู้สื่อข่าวแย้งว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้บัญชาการทหารบกตอนนั้น พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า:

"ไม่รู้ ผมไม่ได้ทำนิ ผมไม่รู้จัก WikiLeaks ซักคนอ่ะ ผมทำไมจะต้องไปทำ ไม่ใช่หน้าที่ของผม"

"ไม่มี ไม่มีหรอก ใครเขาจะไปเข้า ถ้าไม่ได้ทำความผิดใครเขาจะเข้าไปได้"

"ผมรู้ว่าไม่ได้เจตนาหรอก แต่มันสร้างกระแส ไม่ได้ ท่านเชื่อไหมล่ะความตั้งใจของผมน่ะ ถ้าเชื่อก็ต้องช่วยผม เว้นแต่ไม่เชื่อผมก็แล้วแต่"




GETTY IMAGES
คำบรรยายภาพนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปฏิเสธว่ามีการสั่งซื้ออุปกรณ์สอดแนมในสมัยที่จนเป็นผู้บัญชาการทหารบก