วันพุธ, เมษายน 17, 2562

บทความน่าอ่านจาก BBC Thai : ราชาภิเษก สัญลักษณ์ ความหมาย และความเปลี่ยนแปลงของสถาบันกษัตริย์ยุคใหม่ทั่วโลก




https://www.bbc.com/thai/47944565
...

ความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยกับราชาภิเษกในโลกยุคใหม่

พิธีราชาภิเษกยังแสดงถึงการเปลี่ยนผ่านของกาลเวลาและยุคสมัยในสังคมต่าง ๆ โดยเห็นได้ชัดที่สุดในกรณีการเปลี่ยนชื่อรัชสมัยและการนับปีรัชศกตามการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่น ซึ่งในช่วงที่โลกก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 นี้ มีการเปลี่ยนผ่านจากยุคแห่งสงครามในรัชสมัยโชวะ มาถึงยุคแห่ง "สันติภาพทั่วหล้า" ในรัชสมัยเฮเซ และกำลังก้าวเข้าสู่รัชสมัย "เรวะ" ของสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ที่ 126 ซึ่งชื่อของรัชสมัยนี้หมายถึง "ความสันติปรองดองอันรุ่งเรือง" สะท้อนถึงความปรารถนาการเปลี่ยนแปลงของชาวญี่ปุ่น จากสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำมายาวนาน สังคมผู้สูงวัย การเมืองไร้เสถียรภาพ เข้าสู่ยุคแห่งความหวังครั้งใหม่





ทุกวันนี้พิธีราชาภิเษกในหลายประเทศมีการปรับเปลี่ยนให้เรียบง่าย สอดคล้องกับยุคสมัย และเข้าถึงประชาชนในทุกระดับมากขึ้น รวมทั้งลดความเกี่ยวข้องกับศาสนาและอำนาจเหนือมนุษย์ลง กษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงอาจจะเพียงกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณต่อรัฐสภา หรือต่อกลุ่มผู้แทนพสกนิกรทุกหมู่เหล่า โดยถ้อยคำที่ใช้ในพิธีนี้เปลี่ยนแปลงไปได้ตามบริบทและความเหมาะสมของยุคสมัย เช่นสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองแห่งสหราชอาณาจักร ทรงกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณ 3 ข้อ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อปี 1953 ว่าจะทรงครองราชสมบัติภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบ้านเมือง จะทรงดำรงความเป็นธรรมด้วยพระเมตตา และจะทรงพิทักษ์รักษาศาสนจักรแห่งอังกฤษ

การที่พระมหากษัตริย์ซึ่งทรงล่วงเข้าวัยชราสละราชสมบัติให้แก่พระรัชทายาทในเวลาอันสมควร ก็เป็นอีกแนวโน้มหนึ่งของโลกสมัยใหม่ที่เริ่มมีการปฏิบัติกันแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ในปี 2013-2014 สถาบันกษัตริย์ของเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และสเปน มีการผลัดแผ่นดินด้วยวิธีการดังกล่าวซึ่งเชื่อว่าจะทำให้การเปลี่ยนผ่านรัชสมัยเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น ส่วนประเทศในเอเชียอย่างภูฏานนั้น สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก ได้สละราชสมบัติแก่พระราชโอรสมาตั้งแต่ปี 2008 ตามมาด้วยสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะแห่งญี่ปุ่นซึ่งทรงตัดสินประกาศแนวทางดังกล่าวเมื่อปีที่แล้ว และจะมีพิธีขึ้นในวันที่ 30 เม.ย. นี้

อย่างไรก็ตาม มีกษัตริย์ของยุโรปหลายประเทศที่ยืนยันจะยังไม่สละราชสมบัติตามแบบอย่างที่กำลังมาแรง เช่นสมเด็จพระราชาธิบดีฮารัลด์ที่ 5 ของนอร์เวย์ พระชนมพรรษา 82 พรรษา เนื่องจากทรงถือว่าคำสัตย์ปฏิญาณที่ให้ไว้กับรัฐธรรมนูญของประเทศในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อหลายสิบปีก่อนนั้น เป็นคำมั่นสัญญาที่จะต้องทรงยึดถือ "ตลอดชีวิต"

ส่วนสมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟแห่งสวีเดน พระชนมพรรษา 73 พรรษา มีพระดำรัสว่าจะยังไม่ทรงสละราชสมบัติให้แก่เจ้าหญิงวิกตอเรีย องค์มกุฎราชกุมารีซึ่งทรงเป็นที่ชื่นชมรักใคร่ในหมู่ประชาชนอย่างสูง เพราะสำหรับพระองค์แล้วประเด็นนี้ถือเป็น "เรื่องของพระผู้เป็นเจ้า"

อ่านบทความเต็มได้ที่...
https://www.bbc.com/thai/47944565