ที่มา FB
บางส่วนของบทความตัวเอง "ใบอนุญาตให้ลอยนวลพ้นผิด: องค์กรอิสระกับการสลายการชุมนุมปี 53" ฟ้าเดียวกัน ฉบับ 40 ปี 6 ตุลา ชี้ให้เห็นว่าเมื่อองค์กรอิสระมีอคติจะส่งผลต่อความยุติธรรมอย่างไร
ส่วนที่คัดมาเป็นคำวิจารณ์ต่อ คอป. คณะกรรมการอิสระค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ
"หลังจาก คอป. ปฏิบัติงานได้ราวปีครึ่ง นายสมชาย หอมลออ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน โดยเปรียบเทียบความรุนแรงที่เกิดขึ้นว่าเสมือน “ผัวเมียทะเลาะกัน บางทีมันก็ผิดทั้งคู่” การเปรียบเปรยดังกล่าวชี้ว่าในทัศนะของกรรมการ คอป.ฝ่ายรัฐบาลอภิสิทธิ์/ศอฉ.กับผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงมีความผิดพอๆ กัน ทั้งๆที่ในความเป็นจริงฝ่ายแรกมีทั้งอำนาจในการออกกฎหมายปกป้องตนเองและระดมกำลังอันมหาศาลเหนือฝ่ายหลัง จนทำให้ฝ่ายหลังบาดเจ็บและเสียชีวิตมากกว่าหลายเท่าตัว ประการสำคัญ วิธีการเปรียบเปรยดังกล่าวได้ช่วย “ลดระดับ” ความรุนแรงของรัฐที่มุ่งปราบปรามกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงกันข้าม ให้กลายเป็นเรื่องธรรมดาของคนในครอบครัว คำให้สัมภาษณ์ดังกล่าวจึงทำให้สังคมเริ่มคาดเดาได้ว่ารายงานการค้นหาความจริงของ คอป. จะออกมาในแนวใด
แม้ คอป. ได้ออกตัวว่าจะไม่ชี้ว่าใครถูกใครผิด แต่สิ่งที่ปรากฏในรายงานของ คอป. น้ำหนักของความผิดกลับตกอยู่กับผู้ชุมนุมมากกว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่ ดังจะได้กล่าวต่อไปนี้
คอป. เปิดตัวรายงานยาว 275 หน้า ในวันที่ 17 กย 2555 ประเด็นที่โดดเด่นในการแถลงข่าวและรายงาน คือความรุนแรงที่เกิดจาก “คนชุดดำ” (ตามการเรียกของ คอป.) ด้วยเหตุนี้ในเช้าวันรุ่งขึ้น สื่อมวลชนต่างพากันพาดหัวข่าวเรื่องชายชุดดำ ขณะที่การกล่าวถึงความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐกลับปรากฏน้อยมาก ประการสำคัญ เมื่อมีการนำเสนอความรุนแรงและความสูญเสียที่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐในหลายกรณี คอป. โยนความผิดไปให้กับชายชุดดำว่าเป็นสาเหตุหรือปัจจัยยั่วยุที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐสูญเสียความควบคุม จนนำไปสู่ความรุนแรง ทั้งๆที่ในบางกรณี คอป.ไม่สามารถเสนอหลักฐานที่เชื่อมโยงประเด็นดังกล่าวได้ อาทิเช่น
ในกรณี 10 เมษา ที่บริเวณสี่แยกคอกวัว ถนนตะนาว และหน้ารร.สตรีวิทยา ถนนดินสอ แม้คอป.สรุปว่าไม่มีหลักฐานชี้ว่าผู้ชุมนุมเสียชีวิตจากคนชุดดำ แต่การอธิบายความรุนแรงจากฝ่ายรัฐก็เต็มไปด้วยความเข้าอกเข้าใจ กล่าวคือ พบว่ารอยกระสุน 120 นัดหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา มีทิศทางการยิงมาจากฝั่งทหาร การระดมยิงนี้ส่งผลให้ผู้ชุมนุมบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก แต่ คอป.สรุปว่าการระดมนี้ยิงนี้มีสาเหตุจากชายชุดดำ ซึ่งเป็นผู้ปาระเบิดหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา จนทำให้นายทหารผู้บังคับบัญชาเสียชีวิตและบาดเจ็บด้วย เหตุการณ์นี้ส่งผลให้บรรดาทหารระดับล่างอยู่ในภาวะตระหนกตกใจสับสนวุ่นวายจนขาดความควบคุมสติ และจึงระดมยิงใส่ผู้ชุมนุมอย่างหนัก
คำอธิบายเช่นนี้ได้กลายเป็นกรอบการวิเคราะห์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในทุกจุดก็ว่าได้ โดยคอป.เน้นตลอดรายงานว่าฝ่ายรัฐบาลและ ศอฉ. มีความระมัดระวังและคอยย้ำเตือนให้เจ้าหน้าที่ทหารปฏิบัติการด้วยความระมัดระวังและให้เป็นไปตามขั้นตอนสากล การเน้นย้ำนี้กระทำโดยคัดลอกคำประกาศของ ศอฉ.นับสิบฉบับ โดย คอป.เห็นว่าความรุนแรงที่เกิดจากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐมีสาเหตุมาจากชายชุดดำที่คอยซุ่มโจมตี ยั่วยุ กดดันจนทำให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องตอบโต้จนทำให้ผู้ชุมนุมเสียชีวิตนี้
ปัญหาการวิเคราะห์ในกรณีนี้คือ หลักฐานที่ฝ่าย ศปช. รวบรวมขึ้นชี้ว่ามีผู้ชุมนุมเสียชีวิตตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 10 เมษา ก่อนที่ชายชุดดำจะปรากฏตัวขึ้น ซึ่งคอป.ก็ยอมรับข้อนี้ ในขณะที่ คอป.ละเลยที่จะตำหนิการตัดสินใจของฝ่ายรัฐที่ตัดสินใจนำอาวุธสงครามเข้าสู่พื้นที่ชุมนุม ไม่ตำหนิการทิ้งแก๊สน้ำตาลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ซึ่งส่งผลต่อผู้ชุมนุมในวงกว้าง คอป.ไม่ตำหนิ ศอฉ.ที่เมื่อเข้าสู่ช่วงกลางคืน แต่ศอฉ.ยังไม่ยุติและถอนกำลังออกไป เพราะการสลายการชุมนุมด้วยอาวุธหนักในช่วงเวลาที่ยากต่อการมองเห็น ย่อมสุ่มเสี่ยงให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตมากขึ้น ในทางตรงกันข้าม คอป. กลับให้ความชอบธรรมกับ ศอฉ. ด้วยการอ้างคำกล่าวของนายสุเทพ เทือกสุบรรณว่าได้ออกคำสั่งในฐานะผู้อำนวยการ ศอฉ. ให้ทุกหน่วยหยุดปฏิบัติการเวลา 18.15 น. เป็นต้นไป แต่เพราะสถานการณ์สับสนวุ่นวายทำให้ระบบการสื่อสารและสั่งการไม่มีประสิทธิภาพ
สิ่งที่น่าแปลกใจคือ คอป. ละเลยไม่กล่าวถึงคำให้สัมภาษณ์ของพ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ.ที่ได้กล่าวในบ่ายวันที่ 10 เมษาว่า “เราไม่ได้กำหนดเวลาไว้ว่า ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่จะเสร็จภายในเมื่อไร ขณะนี้ทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้ แต่อาจใช้เวลานานเพราะผู้ชุมนุมต่อต้าน แม้จะใช้เวลานานก็คุ้ม ถ้ายืดเยื้อถึงค่ำเราก็ต้องทำให้เสร็จ” ข้อความดังกล่าวชี้ว่าหากฝ่ายรัฐบาลมีความระมัดระวังผลที่จะเกิดกับความปลอดภัยในชีวิตของผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ทหารมากกว่านี้ ไม่ได้มุ่งเอาชนะอย่างรวดเร็ว ความสูญเสียของทั้งสองฝ่ายคงไม่มากเท่านี้
ในขณะที่ คอป.เน้นย้ำการมีอาวุธของผู้ชุมนุม แต่กลับละเลยไม่นำเสนอตัวเลขสรรพกำลังและอาวุธที่รัฐบาลและ ศอฉ.อนุมัติสำหรับปฏิบัติการครั้งนี้ ทั้งๆ ที่เป็นข้อมูลที่เผยแพร่ในรัฐสภาและสื่อมวลชนโดยที่ฝ่ายทหารไม่เคยปฏิเสธว่าไม่จริง แทนที่จะเสนอว่ามีการเบิกกระสุนจริงจำนวน 479,577 นัด และกระสุนสำหรับซุ่มยิง 3,000 นัด และตั้งคำถามว่าการใช้กำลังทางทหารขนาดมหึมาขนาดนี้มีจุดประสงค์อะไร คอป.กลับนำเสนอแต่ตัวเลขร้อยละของกระสุนแต่ละชนิด แต่ไม่เสนอจำนวนจริง เช่น เป็นกระสุนเปล่าร้อยละ 2 กระสุนปืนลูกซองร้อยละ 59 เป็นต้น นอกจากนี้ คอป. ยังบกพร่องที่จะนำเสนอข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่าพลเรือนส่วนใหญ่เสียชีวิตจากการถูกยิงบริเวณศีรษะและช่วงบนของร่างกายดังที่ ศปช.ได้นำเสนอ ทั้งๆ ที่คอป.มีข้อมูลการชันสูตรพลิกศพที่ครบถ้วน
คำถามคือ การไม่นำเสนอจำนวนจริงเป็นความจงใจลดภาพการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของรัฐใช่หรือไม่? เพื่อเบี่ยงเบนว่านี่คือการใช้ยุทธการทางทหารเข้าสลายการชุมนุมของประชาชนใช่หรือไม่?
ตลอดรายงาน คอป. ยังเลือกใช้คำของ ศอฉ. “ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่” “ปฏิบัติการกระชับวงล้อม” แต่ไม่ใช้คำว่า “การสลายการชุมนุม” หรือ “ยุทธการทางทหาร” ทั้งๆ ที่บทความของฝ่ายทหารที่วิเคราะห์อย่างภาคภูมิใจถึงความสำเร็จของปฏิบัติการนี้ ได้ชี้ชัดว่า การใช้กำลังพลและอาวุธมากขนาดนี้ เพราะ “เป็นแผนการปฏิบัติรบเต็มรูปแบบเสมือนการทำสงครามรบในเมือง” และ ยังได้กล่าวถึงเหตุการณ์วันที่ 19 พฤษภาคมว่า “การปฏิบัติการทางยุทธวิธีที่ใช้เวลาทำงาน 9 ชั่วโมง (เวลา 03.30-13.30) ถือว่าเป็นบทเรียนที่สำคัญยิ่งทางยุทธวิธีของการรบในเมือง ที่สมควรได้มีการบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของการรบในเมือง”
ในกรณี 6 ศพ ณ วัดปทุมวนาราม ในบ่ายวันที่ 19 พฤษภาคม (ในจำนวนคนที่เสียชีวิตเป็นอาสาสมัครพยาบาล 2 คน คือ คือนางสาวกมนเกด อัคฮาด และนายอัครเดช ขันแก้ว และเป็นอาสาสมัครกู้ชีพ 1 คน คือนายมงคล เข็มทอง) ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน กล่าวคือ แม้ว่า คอป. ได้ยอมรับว่าการเสียชีวิตของประชาชนเป็นผลจากกระสุนปืนที่มีทิศทางการยิงหน่วยทหารที่ตั้งอยู่บนรางรถไฟฟ้า แต่คอป.ก็พยายามอธิบายว่าในบริเวณรอบวัดปทุมมีชายชุดดำและการ์ดเสื้อแดงพร้อมอาวุธในบริเวณนั้นยิงใส่เจ้าหน้าที่ และมีซ่อนตัวอยู่ในวัดปทุมด้วย นอกจากนี้ ทหารได้ค้นพบอาวุธจำนวนมากภายในวัดหลังจากนั้น จึงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่ามีการใช้อาวุธมุ่งทำร้ายเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ คอป. ยังอ้างหลักฐานที่ไม่มีการพิสูจน์เพียงเพื่อจะสื่อว่ามีชายชุดดำยิงมาจากวัดปทุมฯ ใส่ทหารที่ประจำอยู่บนรถไฟฟ้า จนทำให้ทหารยิงเข้าใส่ประชาชนในวัดปทุม:
"พบรอยแตกกะเทาะคล้ายรอยกระสุนปืนที่ผนังคอนกรีตและใต้คานรองรถไฟฟ้าบีทีเอส ด้านหน้าวัดปทุมวนาราม จำนวน 4 รอย โดยมีทิศทางการยิงขึ้นไปจากพื้นด้านหน้าหรือในวัดปทุมวนาราม แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกองพิสูจน์หลักฐานกลางแจ้งว่าไม่ได้ตรวจสอบว่าเป็นรอยกระสุนปืนหรือไม่เนื่องจากอยู่สูงไม่สามารถขึ้นไปตรวจได้ ซึ่งหากเป็นรอยกระสุนจริงก็มีความเป็นไปได้ว่ามีการยิงมาจากด้านวัดปทุมวนารามไปยังกำแพงรางรถไฟฟ้าซึ่งมีทหารอยู่" คอป.ระบุ
นอกจากนี้ คอป. อ้างคำให้การของเจ้าหน้าที่ทหารว่ามีชายชุดดำอยู่ในบริเวณนั้น อย่างไรก็ดี ต่อให้มีชายชุดดำอยู่ในบริเวณวัดปทุมวนารามจริง ก็ไม่สามารถเป็นคำอธิบายที่เพียงพอให้กับตัดสินใจของทหารที่ยิงเข้าใส่พลเรือนที่ไม่ได้มีอะไรละม้ายชายชุดดำแม้แต่น้อย และรายงาน คอป. เองก็ยืนยันว่าไม่พบคาบเขม่าปืนบนตัวคนทั้ง 6 คน แสดงว่าพวกเขาไม่มีอาวุธปืนที่อาจทำให้ทหารเข้าใจผิดว่าเป็นชายชุดดำได้ ซ้ำร้ายในกรณีอาสาพยาบาลสองคนและอาสากู้ชีพหนึ่งคน ทั้งหมดถูกยิงในขณะพยายามเข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บรายอื่น และพวกเขาถูกยิงซ้ำหลายนัด
ในท้ายที่สุด คำอธิบายของ คอป. ได้ถูกหักล้างทุกประเด็นจากการไต่สวนการตายของศาลอาญาเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 โดยศาลเห็นว่าไม่มีน้ำหนักให้เชื่อตามคำให้การของเจ้าหน้าที่ทหารว่ามีชายชุดดำยิงอยู่ภายในพื้นที่รอบวัดหรือภายในวัด หรือมีการยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ เนื่องจาก:
"ในขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวันและบริเวณดังกล่าวมีผู้สื่อข่าวทั้งไทยและต่างประเทศอยู่เป็นจำนวนมาก แต่กลับไม่ปรากฏภาพถ่ายของชายชุดดำมาแสดงแม้แต่ภาพเดียว ทั้งไม่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการยิงต่อสู้
จากคำให้การของพยานที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสามนายที่ประจำอยู่อาคารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่าเห็นทหารบนรางรถไฟฟ้ากำลังเล็งอาวุธปืนเข้าไปในวัด โดยไม่ปรากฏว่ากำลังต่อสู้กับบุคคลใด พยานได้ยินเสียงปืนดังจากจุดที่ทหารประจำอยู่ แต่ทหารไม่ได้แสดงท่าทีหลบกระสุนแต่ประการใด มีหลักฐานและพยานที่ชี้ชัดว่าตั้งแต่เวลา 15.00 น. ทหารได้เข้าควบคุมพื้นที่รอบแยกราชประสงค์ไว้หมดแล้ว โดยเฉพาะบริเวณถนนพระรามที่ 1" (ที่ตั้งของวัดปทุม)
"สำหรับการกล่าวอ้างว่าได้พบอาวุธจำนวนมากในวัดปทุมฯ และพื้นที่ใกล้เคียง ศาลเห็นว่าไม่น่าเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ได้ตรวจค้นอาวุธของกลางภายในวัดปทุมและพื้นที่บนถนนพระรามที่ 1 เพราะไม่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่หน่วยงานใดได้ส่งอาวุธของกลางไปส่งพิสูจน์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจหาลายนิ้วมือแฝงและดีเอ็นเอ อีกทั้งของกลางดังกล่าวก็ไม่ได้ตรวจยึดในวันเกิดเหตุทันที อีกทั้งการตรวจยึดของกลางได้กระทำหลังเกิดเหตุแล้วเป็นเวลาหลายเดือน การตรวจยึดของกลางดังกล่าวจึงมีข้อพิรุธ ศาลจึงวินิจฉัยว่าการเสียชีวิตของทั้ง 6 คนเป็นผลจากการกระทำของทหาร"
คอป. ยังละเลยคำให้สัมภาษณ์ของผู้สื่อข่าวไทยและเทศที่อยู่ในที่เกิดเหตุที่ระบุว่าทหารยิงอย่างไม่เลือกหน้า ต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของคำให้สัมภาษณ์ของผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่ปรากฏในรายงานขององค์กร “ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน” (Reporters Without Borders) ที่ชื่อ “ประเทศไทย ใบอนุญาตสั่งฆ่า” (Thailand Licence to Kill)
"เรามีแนวโน้มที่จะคิดว่ากฎการใช้กำลังของกองทัพไทยอนุญาตให้ทหารยิงพลเรือนคนไหนก็ตามที่อยู่ในเขตพื้นที่ของคนเสื้อแดง ไม่ใช่แค่คนที่ติดอาวุธ ผมเห็นผู้ชุมนุมเสื้อแดงไร้อาวุธจำนวนมากถูกฆ่าหรือได้รับบาดเจ็บจากกระสุนที่ทหารเป็นผู้ยิง เราไม่สามารถถามความคิดเห็นใดๆ จากเจ้าหน้าที่ทหารในประเด็นเรื่องกฎการใช้กำลังนี้ได้เลย... ใครก็ตามที่อยู่ในเขตเสื้อแดง รวมทั้งนักข่าว เสี่ยงที่จะถูกฆ่าหรือได้รับบาดเจ็บ สิ่งนี้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นอีกในวันสุดท้าย"
ช่างภาพชาวไทยของหนังสือพิมพ์เนชั่นรายวัน ซึ่งได้รับบาดเจ็บจากการถูกยิงบริเวณถนนราชปรารภในช่วงบ่ายของวันที่ 15 พฤษภาคม เขาเชื่อว่าเขาถูกยิงโดยทหาร “ผมอยู่กับผู้ชุมนุมประมาณ 50 คน ซึ่งพยายามจะเคลื่อนเข้าไปใกล้ทหาร คนเสื้อแดงใช้ยางรถยนต์เป็นเกราะป้องกัน แต่พวกเขาไม่มีอาวุธ จู่ๆ ทหารก็ยิงกระสุนจริงเข้ามา ทีแรกผมคิดว่าเป็นแค่การยิงขู่ แต่พวกเขายังคงใช้อาวุธอัตโนมัติระดมยิงไม่หยุด ผมเริ่มออกวิ่งเพื่อหาที่หลบ แต่ถูกยิงก่อนจะถึงที่หลบภัยไม่กี่เซนติเมตร... ผมสามารถพูดได้ว่าผมถูกยิงอย่างจงใจ ตอนที่ทหารบุกโจมตี ผมอยู่ไกลจากกลุ่มผู้ชุมนุมเกินกว่าที่ใครจะสามารถอ้างได้ว่ามันเป็นอุบัติเหตุ เป็นไปได้ว่าทหารไม่ต้องการให้ผมถ่ายภาพ”
การยิงในลักษณะนี้จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ในช่วงปฏิบัติการ “กระชับวงล้อม” (14-19 พ.ค.) ผู้ที่เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนไม่น้อย ไม่ได้เป็นผู้ชุมนุม แต่เป็นผู้โชคร้ายที่สัญจรอยู่ในพื้นที่ของปฏิบัติการทางทหารพอดี
กรณีการวางเพลิงสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด รายงาน คอป.ไม่ลังเลที่จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่าเป็นฝีมือของผู้ชุมนุม เช่น ในกรณีการเผาเซ็นทรัลเวิร์ด คอป.เน้นย้ำว่าพบผู้ชุมนุมและชายใส่ชุดสีดำอยู่ในตัวอาคารถึงสี่จุด โดยเห็นว่าเป็นผลจากการปลุกปั่นยั่วยุของแกนนำ นปช. ที่ให้ผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรงและเผาสถานที่หลายครั้งหลายหน คอป.จึงสรุปว่า “ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่ทหารเป็นผู้กระทำหรือเกี่ยวข้อง” คอป. ยังย้ำข้อมูลจากฝ่ายทหารว่า ในระหว่างที่อาคารเซ็นทรัลเวิร์ดกำลังลุกไหม้ “เจ้าหน้าที่ทหารได้รับคำสั่งให้ถอนกำลังกลับทันทีเนื่องด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย” ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถเข้าควบคุมพื้นทีบริเวณดังกล่าวได้ในเวลาหลัง 21.00 น.”
นอกจากคำวินิจฉัยของศาลในกรณี 6 ศพวัดปทุมข้างต้นที่ชี้ชัดว่าทหารสามารถควบคุมพื้นที่สี่แยกราชประสงค์และถนนพระรามที่ 1 ได้ตั้งแต่เวลา 15.00 น. (หลังจากนปช.ประกาศสลายการชุมนุมเวลาประมาณ 13.00 น.) ยังมีหลักฐานภาพถ่ายและวิดีโอบันทึกภาพมากมายในโลกออนไลน์ที่ชี้ว่าทหารสามารถยึดพื้นที่ดังกล่าวได้ตั้งแต่ช่วงบ่ายแล้ว แต่น่าเสียดายที่ คอป. กลับละเลยข้อเท็จจริงเหล่านี้
ในกรณีการวางเพลิงสถานที่ต่างๆ มีความเป็นไปได้ที่ในบางกรณีอาจเป็นฝีมือของผู้ชุมนุม แต่ไม่ใช่ในทุกกรณีอย่างแน่นอน โดยเฉพาะกรณีสำคัญ เช่น การเผาเซ็นทรัลเวิล์ด คนจำนวนมากเชื่ออย่างสนิทใจว่าคนเสื้อแดงเป็นผู้เผาเซ็นทรัลเวิล์ด แต่ในที่สุดในวันที่ 4 กันยายน 2557 ศาลอุทธรณ์ได้ยกฟ้องตามศาลชั้นต้นข้อหาวางเพลิงกับผู้ชุมนุมเสื้อแดง 2 คนคือ นายสายชล แพบัว และนายพินิจ จันทร์ณรงค์ หลักฐานสำคัญที่สนับสนุนความบริสุทธิ์ของคนทั้งสองน่าจะมาพยานบุคคลคือ พ.ต.ท.ชุมพล บุญประยูร ที่ปรึกษาด้านการป้องกันอัคคีภัยของบริษัทเซ็นทรัลพัฒนาที่ระบุว่า
"ตลอดเวลา 2 เดือนเต็มๆเราได้ประสานไมตรีกับผู้ชุมนุมมาเป็นอย่างดี โดยเฉพาะพวกการ์ดแทบจะรู้จักกันทุกคน แต่ในวันเกิดเหตุเผาเซ็นทรัลเวิลด์ขอบอกว่าไม่เห็นหน้าคนเหล่านั้นเลย มีแต่พวกที่เรียกตัวเองว่ากองกำลังไม่ทราบฝ่าย กลุ่มนี้แหละที่เขาบอกว่าเป็นผู้ก่อการร้าย เป็นผู้ก่อการร้ายที่แม้แต่ตำรวจและทหารก็ไม่กล้าแตะ ถ้าแตะมันก็ต้องมีศพกันบ้างหละ แต่นี่ไม่ คนกลุ่มนี้เข้าออกในที่เกิดเหตุโดยไม่มีใครกล้าทำอะไรพวกเขา เจ้าหน้าที่มีข้อมูลทุกอย่างแต่ทำไมถึงจับคนร้ายไม่ได้"
พ.ต.ท.ชุมพลยังยืนยันว่าเมื่อแกนนำ นปช. ประกาศสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่ทหารของ ศอฉ. ได้เข้าควบคุมพื้นที่ของห้างและบริเวณรอบเซ็นทรัลเวิล์ดไว้หมด และเขาปิดท้ายว่า “ไม่มีที่ไหนในโลกหรอกที่เขาไม่เคลียร์พื้นที่ให้กับทีมดับเพลิง ตั้งแต่เย็นไม่มีใครเคลียร์พื้นที่ให้ ปล่อยให้มันไหม้ได้อย่างนั้น”
ที่น่าประหลาดใจอย่างยิ่งคือ คอป.ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการวางเพลิงสถานที่ราชการในต่างจังหวัด แต่ก็สามารถเขียนในลักษณะที่ทำให้ผู้อ่านเชื่อว่าเป็นฝีมือของผู้ชุมนุม ซึ่งอยู่ในอารมณ์โกรธแค้นเพราะการยั่วยุของแกนนำ นปช. และวิทยุชุมชน หาก คอป.ได้พยายามตรวจสอบหลักฐานและพยานที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ในการจับกุมและดำเนินคดี คอป. ก็จะเห็นได้ไม่ยากว่าหลายคดีมีความคลุมเครือและขัดแย้งอย่างมาก ซึ่งชี้ให้เห็นถึงปัญหาของกระบวนการยุติธรรมของไทยที่มีอคติทางการเมืองแฝงอยู่อย่างชัดเจนดังที่รายงานของ ศปช.ได้นำเสนอไว้
.........
Duncan McCargo และนฤมล ทับจุมพล ระบุว่า คอป.ขาดความเป็นกลางและอิสระในการทำหน้าที่ค้นหาความจริง ไม่พยายามปิดบังอคติและความไม่ชอบทักษิณ ผลงานของ คอป.ไม่เข้านิยามมาตรฐานคณะกรรมการค้นหาความจริง อีกทั้งการแสวงหาความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านก็ไม่มีอยู่จริง เพราะผู้ที่ก่อตั้ง คอป.คือรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่เป็นคู่กรณีโดยตรง รบ.อภิสิทธิ์และผู้นำกองทัพที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม ยังคงมีอำนาจต่อไป ไม่มีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย ที่จะอำนวยให้การทำงานของคณะกรรมการเป็นอิสระและยุติธรรมแก่เหยื่อได้จริง สุดท้าย แม็คคาร์โกและนฤมลได้เปรียบเทียบรายงานของ คอป. กับของ ศปช. เขาเห็นว่าแม้ ศปช. เป็นคณะทำงานที่ไม่เป็นทางการและใช้งบประมาณน้อยกว่ามาก รายงานของ ศปช. กลับมีคุณภาพที่ใกล้เคียงกับนิยามของการเป็นคณะกรรมการแสวงหาความจริงมากกว่า ในแง่ที่ให้ความสำคัญกับมุมมองของเหยื่อและการละเมิดสิทธิของประชาชนโดยรัฐ