วันอังคาร, เมษายน 09, 2562

นายกฯ เคยใช้ ม.44 สั่งยุติศาลทหาร ให้คดีความมั่นคงขึ้นศาลยุติธรรมตามเดิม แต่ทำไมยังกลับมาเล่นงานธนาธรหลังการเลือกตั้ง





นายกฯ ใช้ ม.44 สั่งยุติศาลทหาร ให้คดีความมั่นคงขึ้นศาลยุติธรรมตามเดิม


ที่มา Kapook.com


ประกาศจาก ราชกิจจานุเบกษา เผยคำสั่งจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ สั่งยุติการใช้ศาลทหารโดยให้คดีความมั่นคงขึ้นใช้ศาลยุติธรรม หลังบ้านเมืองสงบ ประชาชนให้ความร่วมมือดี

วันที่ 12 กันยายน 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 55/2559 ในเรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับคดีบางประเภทที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร โดยมีคำสั่งจาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศใช้ ม.44 ยุติการใช้ศาลทหาร โดยให้คดีความมั่นคงกลับไปใช้ศาลยุติธรรมตามเดิม เนื่องจากเห็นว่าที่ผ่านมาบ้านเมืองสงบลง และประชาชนก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ความจําเป็นที่จะต้องใช้มาตรการควบคุมสถานการณ์และรักษาความสงบแห่งชาติ ตามกฎอัยการศึกจึงควรผ่อนคลายลง


โดยเนื้อหาทั้งหมด มีรายละเอียดดังนี้ ...



...

การกลับมาของศาลทหารหลังการเลือกตั้ง
.
6 เมษายน 2562 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถูกแจ้งข้อกล่าวหา 3 ข้อ คือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่นฯ, มาตรา 189 ฐานให้ความช่วยเหลือพาผู้ต้องหาหลบหนี และ มาตรา 215 มั่วสุมชุมนุมเกิน 5 คน
.
สำหรับคดีนี้มีความเป็นไปได้ที่จะต้องพิจารณาใน 'ศาลทหาร' เนื่องจาก เหตุในคดีสืบเนื่องจากเหตุการณ์ชุมนุมของนักศึกษาเมื่อปี 2558 คดีนี้จึงจะอยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลทหารกรุงเทพ ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557
.
โดยประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร โดยในข้อที่ 1 (2) กำหนดให้ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา 113 ถึงมาตรา 118 อยู่ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร
.
อย่างไรก็ดี แม้ว่า คสช. จะเคยยกเลิกการให้พลเรือนขึ้นศาลทหารแล้ว ตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 55/2559 แต่คำสั่งดังกล่าวมีเงื่อนไขอยู่ว่าต้องเป็นการกระทําความผิดตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 37/2557 ซึ่งได้กระทําตั้งแต่วันที่คําสั่งนี้ใช้บังคับ ให้อยู่ในอํานาจการพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
.
หรือหมายความว่า หากเป็นการกระทำความผิดตามประกาศคสช. ฉบับที่ 37/2557 ที่กระทำก่อนคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 55/2559 ให้คดีดังกล่าวอยู่ในอำนาจศาลทหาร
.
ทั้งนี้ ในการพิจารณาคดีในศาลทหาร เมื่อเสร็จจากชั้นตำรวจ จะเป็นชั้นการพิจารณาของอัยการในการสั่งฟ้องคดี หรือไม่ฟ้องคดี ซึ่งคดีของ 'ธนาธร' จะเป็นอำนาจของ 'อัยการทหาร' ซึ่ง พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 12 กำหนดคุณสมบัติอัยการทหารไว้ว่า ให้ผู้ที่สอบความรู้ทางกฎหมายได้ปริญญาตรี หรือเทียบได้ไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี ฝึกหัดดำเนินคดีในศาลทหารได้ และเมื่อแจ้งให้ศาลทราบแล้ว ก็ให้ผู้นั้นดำเนินคดีได้ดั่งอัยการทหาร
.
นอกจากนี้ พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 5 ระบุว่า ศาลทหารอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงกลาโหม และมาตรา 10 และ มาตรา 30 ระบุว่าอำนาจในการแต่งตั้ง ถอดถอนตุลาการศาลทหารเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหรือผู้บังคับบัญชา หรือหมายความว่าในทางกฎหมายแล้ว ตุลาการศาลทหารไม่ได้แยกขาดจากอำนาจฝ่ายบริหาร หรือ งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหรือผู้บังคับบัญชา
.
อีกทั้ง มาตรา 27 ระบุว่า ศาลมณฑลทหาร ศาลทหารกรุงเทพ และศาลประจำหน่วยทหาร ต้องมีตุลาการสามนายเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษา คือ นายทหารชั้นสัญญาบัตรสองนาย ตุลาการพระธรรมนูญหนึ่งนาย หรือหมายความว่า กฎหมายบังคับให้ตุลาการสามคนต่อหนึ่งคดี มีหนึ่งคนที่ต้องมีความรู้นิติศาตร์ ส่วนอีกสองคนไม่ต้อง
.
ดูข้อมูลเกี่ยวกับศาลทหารทั้งหมดได้ที่ https://freedom.ilaw.or.th/blog/court-martial

#MilitaryCourt #Savethanathorn

ที่มา ILaw

ooo





ตามข้อ 10 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน การพิจารณาคดีอาญาจะต้องกระทำโดยศาลที่มีความเป็นอิสระและเป็นกลาง เพื่ออนุวรรตน์ให้เป็นไปตามปฏิญญาข้อดังกล่าว สหประชาชาติได้กำหนดหลักการพื้นฐานว่าด้วยความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ (Basic Principles of the Independence of the Judiciary) ที่จะต้องได้รับประกันจากรัฐและต้องถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายของรัฐนั้นๆ

หลักความเป็นอิสระ (independence) ที่สำคัญคือองค์กรของศาลจะต้องไม่ขึ้นอยู่กับฝ่ายบริหารและมีหน่วยงานธุรการของตนเอง การแต่งตั้ง การโยกย้าย การเลื่อนตำแหน่งหรือเงินเดือน และการลงโทษจะต้องได้รับความเห็นชอบโดยคณะกรรมการตุลาการของศาลนั้นๆ ที่ผู้พิพากษาเป็นผู้เลือก ส่วนหลักความเป็นกลาง (impartiality) คือการไม่มีส่วนได้เสียทั้งในเนื้อหาของคดีและผู้เป็นคู่ความ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 11-14 จึงบัญญัติให้คู่ความมีสิทธิคัดค้านผู้พิพากษาที่มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับคดีนั้นได้

หลักความเป็นอิสระและความเป็นกลางดังกล่าว รัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติให้ใช้กับศาลยุติธรรมและศาลปกครองเท่านั้น (มาตรา 196 และ 198) แต่ไม่ใช้กับศาลทหารที่อยู่ในสังกัดของกระทรวงกลาโหม ดังนั้น การเอาพลเรือนขึ้นศาลทหารที่ไม่มีความเป็นอิสระจึงขัดกับหลักนิติธรรมและขัดกับปฏิญญาสากลที่ประเทศไทยรับรองมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491 ดังนั้น การที่ คสช. ออกมาโต้แอมเนสตี้กรณีเอาพลเรือนขึ้นศาลทหารคือการประจานถึงความดักดานของทหารที่ยึดอำนาจปกครองประเทศ

หัวหน้า คสช. มีคำสั่งที่ 55/2559 ลงวันที่ 12 กันยายน 2559 ยกเลิกการเอาพลเรือนขึ้นศาลทหารแต่ให้มีผลเฉพาะคดีที่เกิดหลังจากวันที่ออกคำสั่ง ส่วนคดีที่เกิดขึ้นก่อนวันออกคำสั่งยังต้องขึ้นศาลทหารเช่นเดิม เหตุที่ยกเลิกคำสั่งเพราะประเทศไทยจะต้องเข้าประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 33 ระหว่างวันที่ 10-13 กันยายน 2559 การยกเลิกคำสั่งดังกล่าวจึงมิได้เกิดจากสำนึกดีหรือมีความอาย หากแต่เกิดจากการขายผ้าเอาหน้ารอดที่ต้องเข้าประชุม ดังที่หลายฝ่ายบอกว่างาช้างย่อมไม่งอกจากปากสุนัขฉันใด การเคารพสิทธิมนุษยชนอันเป็นสิ่งดีงามจะไม่มีทางเกิดจากเผด็จการฉันนั้น

ขอให้กำลังใจคุณธนาธรที่ต้องขึ้นศาลทหาร

วัฒนา เมืองสุข
อดีตรุ่นพี่จำเลยศาลทหาร
8 เมษายน 2562

Watana Muangsook