วันเสาร์, ธันวาคม 15, 2561

'ธาริต' ติดคุก-อนาคตใหม่เป๋ สองเรื่องทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยต้องมัดหวายให้เหนียว


สองเรื่องเมื่อวานนี้ต่างกรรมต่างวาระ ที่เป็นการเพลี่ยงพล้ำของทางฝ่ายประชาธิปไตย จะเป็นเพราะสะดุดขาตัวเองหรือว่าโดนผลักก็ตามแต่ มันชี้ว่ากระบวนการจักต้องมัดหวายกันไว้ให้เหนียว

แต่ละหน่วยหนักแน่น คล้องแขนกันคืบไปข้างหน้าที่จุดหมาย รัฐบาลของประชาชนจากประชาชนอย่างแท้จริง

คดีที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษถูกศาลฎีกาตัดสินจำคุก ๑ ปีไม่รอลงอาญา โทษฐานหมิ่นประมาทนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตผู้อำนวยการ ศอฉ. จากการที่อดีต ผอ.ดีเอสไอเคยแถลง ในคดีตรวจสอบโครงการก่อสร้างโรงพักตำรวจ ๓๙๖ แห่ง

ว่า “ฝ่ายการเมือง โดยโจทย์ (สุเทพ) ได้เข้าไปแทรกแซงให้เปลี่ยนรูปแบบจากการแยกสัญญารายภาค รวมเป็นเจ้าเดียว เป็นเหตุให้โรงพักสร้างไม่เสร็จ” นั้นเป็นข้อหาเดียวที่ศาลตัดสิน

ซึ่งนายสวัสดิ์ เจริญผล ทนายความของสุเทพแจ้งว่า ยังมีสำนวนอื่นที่ยังไม่ได้มีการชี้มูลความผิดจาก ปปช. เช่น “กรณีที่นายธาริตให้สัมภาษณ์ว่า นายสุเทพไม่ทำตามมติคณะรัฐมนตรี ทำการเปลี่ยนสัญญาจัดซื้อจัดจ้างโครงการก่อสร้างโรงพัก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์”

ทนายของสุเทพบอกด้วยว่า “คดีนี้นายธาริต จำเลยได้พยายามติดต่อมาขอเจรจาไกล่เกลี่ยหลายครั้ง ตั้งแต่ก่อนช่วงนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาครั้งแรกที่ศาลอาญา...

มีการประสานฝ่ายผู้ใหญ่ เพื่อเข้ามาเจรจาไกล่เกลี่ยหลายคน รวมถึงนายคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด...ในครั้งแรกตนก็ตอบรับที่จะเข้าไกล่เกลี่ย จนต่อมาได้ทราบว่านายธาริตได้ยื่นคำร้องไปยังประธานศาลฎีกา เป็นประเด็นที่ไม่สามารถบอกรายละเอียดได้”


เหล่านั้นอาจจะตอบข้อกังขาของผู้ที่สงสัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ได้ยกฟ้องด้วยเหตุว่าหลักฐานไม่พอปรักปรำ ไฉนมาถึงศาลฎีกาจึงได้พลิกกลับ จะเป็นเพราะการที่นายธาริตพยายามขอไกล่เกลี่ยหรือเปล่า

ว่าตามทำนองที่ศาลทำกันมาตลอดหลายปีหลังการรัฐประหาร คดีที่เกี่ยวกับความผิดของฝ่ายรัฐบาลที่จัดตั้งในค่ายทหาร หรือที่เกี่ยวกับผู้ชุมนุมขับไล่รัฐบาล (ก่อน) ที่จะถูกทหารยึดอำนาจนั้น มีการพลิกคำตัดสินโดยศาลฎีกาเป็นประโยชน์ต่อผู้ต้องหาเหล่านั้น อันตรงข้ามกับอีกฝั่ง

ถ้าจะเปรียบเทียบกับคดีหมิ่นประมาท น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยคณะผู้ดำเนินรายการ สายล่อฟ้า ที่มีการขอขมา (ทีแรกแบบขอไปที จนมีเสียงวิจารณ์มากจึงได้ปรับแก้) นั่นก็ทำให้ทีมโฆษกแก๊งไอติมรอดคุกไปได้เพราะทนายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แจ้งต่อศาลฎีกาจะไม่ขอเอาความต่อไป

ในเบื้องลับเกี่ยวกับคดีที่ทนายมักอ้างว่า “ไม่สามารถบอกรายละเอียดได้” นั้น คู่กรณีน่าจะรู้เบาะแสบางอย่างกันบ้างแล้วว่าคำตัดสินของศาลฎีกาจะออกมาในรูปใด จึงได้มีการพยายามประนอมยอมความเกิดขึ้น

ส่วนใครจะรับหรือไม่รับควรจะเป็นที่เข้าใจได้เลยว่า ใครเป็นประชาธิปไตย ใครเป็นเผด็จการ ผู้ที่ไม่เห็นแก่เขาแก่เรา ไม่โอบอ้อม ไม่ใจอ่อน จึงมักจะได้รับชัยชนะอยู่บ่อยๆ แล้วมีการกลับมาหักล้างกันในที่สุด เรื่อง กงกรรมกงเกวียน เป็นสัจจธรรมของการ เอาคืน ด้วยเหตุประมาณนี้
 
อีกกรณีที่เกี่ยวกับมรสุมของพรรคอนาคตใหม่ มีเหตุอันจะทำให้การมุ่งหน้าไปปักธงการล้มล้างผลพวงของรัฐประหาร เกิดสั่นคลอนมาแล้วหลายครั้ง บ้างถูก ตัวอิจฉาเตะตัดขา บ้างเดินเองสะบัดสะบิ้งจนสะดุดขาตัวเอง

ล่าสุดเกี่ยวกับผู้เสนอตัวลงสมัคร ส.ส.ตัวแทน อนค. ที่เขต ๖ กรุงเทพฯ (พญาไท-ราชเทวี) แต่ถูกตัดชื่อออกไป แล้วกลับประกฏว่ามีชื่อของผู้ร่วมก่อตั้งพรรคคนหนึ่งโผล่มาติดโผอยู่โดดๆ พอดีผู้ร่วมก่อตั้งพรรคคนนี้ชื่อ คริส โปตระนันทน์ ที่เคยมีปัญหากับ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ จนเกิดความอื้อฉาวอยู่พักใหญ่

จนวานนี้ (๑๔ ธันวา) หัวหน้าและเลขาธิการพรรคร่วมกันแถลงชี้แจง ถึงกระบวนการคัดสรรผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค (แม้จะไม่ได้ตอบโจทก์ประเด็นที่เป็นข่าวอื้อฉาวขึ้นมาโดยตรง ก็สามารถเข้าใจได้ไม่ยาก) ว่าจริงอยู่มีหลัก เปิดกว้าง ให้เสนอตัว แต่ก็ยังมีการคัดสรรในเรื่องอุดมการณ์และคุณค่าพื้นฐาน จากนั้นจึงเป็นการทำ ไพรมารี่โหวต กำหนดตัว

โดยเฉพาะการคัดสรรนั้นทำโดยคณะกรรมการ ๑๑ คน ที่ได้รับการเลือกตัวมาโดยที่ประชุมใหญ่เมื่อเดือนตุลาคม ตอนนั้นมีผู้แสดงความจำนงจะลงแข่งชิงเลือกตั้งเป็น ส.ส. ๗๐๐ คน ผ่านการคัดกรองแล้วเหลือ ๔๑๗ คน ที่จะเข้าไปสู่การเลือกตั้งไพรมารี่แบบออนไลน์

ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาฯ พรรคแจงว่า “โดยประมาณวันที่ ๒๑ ธันวาคม จะได้เห็นหน้าตาของผู้สมัคร ส.ส. ทั้ง ๓๕๐ เขต” ดังนั้นผู้ที่ไม่มีชื่อได้เข้าสู่การเลือกไพรมารี่ของพรรคก็คือ ๒๘๓ คนที่ไม่ผ่านการคัดกรองของกรรมการ ๑๑ คน

มาถึงประเด็นปัญหาว่ากรองอย่างไร เอาแต่พวกร่วมก่อตั้งพรรคและกรรมการประจำพื้นที่ละหรือ อันนี้ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าชี้แจงเอง เริ่มด้วย “อย่างที่บอก พรรคเราตั้งขึ้นมาเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย เพื่ออุดมการณ์ที่อยากจะคืนประชาธิปไตยให้กับประชาชน

ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก สำคัญมากกว่า ใครจะได้เป็น ส.ส.ของพรรค” ดังนั้น ในการเลือกตั้งที่จะมีในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ เป็นการเลือกเอาตัวแทนประชาชน “เข้าไปออกกฎหมาย ไปเลือกนายกรัฐมนตรี”

แต่ผู้ที่เสนอตัวจำนวนไม่น้อยเป็นนักกิจกรรม เป็นนักพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งเหมาะต่อการเข้าไปชิงตำแหน่งในการเมืองท้องถิ่น เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต่างๆ “ตรงนั้นจะมีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองของท่านได้อย่างตรงเป้า”

ธนาธรย้ำด้วยว่า “นี่คือการออกแบบของพรรคอนาคตใหม่ คืองานการเมืองระยะยาว ไม่ใช่การเมืองระยะสั้น หรือเฉพาะการเลือกตั้งในครั้งนี้”


น่าจะเติมเต็มจากที่ อธึกกิต แสวงสุข เขียนวิจารณ์ไว้ทางเฟชบุ๊ค ว่าเป้าหมายของพรรคอนาคตใหม่คงจะอยู่ที่ การแจ้งเกิดพรรคมวลชนที่มี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อสักสี่ซ้าห้าคน