วันพุธ, ธันวาคม 05, 2561

เงินค่าอินเตอร์เน็ตที่เติมใน"ซิมแก้จน" มันจะแก้จนให้คนจนหรือจะแก้จนให้บริษัทเจ้าของซิม ?



กสทช.ถกคลังเติมเงินซิมคนจน50บ. ประสานค่ายมือถือทำแพคเกจราคาถูก

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เปิดเผยถึงโครงการช่วยเหลือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐของกระทรวงการคลังที่มีข้อเสนอให้แจกซิมการ์ดฟรีเพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถใช้บริการอินเตอร์เน็ตและเข้าถึงแหล่งข้อมูลรวมทั้งข่าวสารที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งหากมีซิมการ์ดอยู่แล้ว จะให้เพิ่มปริมาณอินเตอร์เน็ตให้ฟรีนั้น ขณะนี้กสทช. อยู่ระหว่างการหารือรายละเอียดร่วมกับกระทรวงการคลัง ซึ่งมีการประชุมล่าสุดเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดย กสทช. เสนอว่าควรจะเป็นการเติมเงินเพื่อนำไปซื้อแพคเก็จอินเตอร์เน็ตให้แก่ผู้มีรายได้น้อยหรือให้ผู้มีรายได้น้อยมารับบัตรเติมเงิน เพราะจะบังคับแจกซิมการ์ดใหม่โดยที่ประชาชนมีซิมการ์ดเดิมที่ใช้งานอยู่แล้วก็จะไม่ตรงตามเจตนารมณ์

“จำนวนเงินเบื้องต้นคาดว่าจะอยู่ที่ 50 บาท ทาง กสทช. ได้มีการประสานกับทางผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เอกขนเพื่อให้การสนับสนุน ซึ่งต้องรอสรุปว่าจะออกมาอย่างไร ก่อนจะเสนอให้คณะกรรมการ(บอร์ด) กสทช. รับทราบ คาดว่าจะเสนอเข้าบอร์ดได้ทันในเดือนธันวาคมนี้ เพราะเราทำตามนโยบายรัฐบาล รัฐบาลบอกให้ทันเราก็ต้องทัน” นายฐากร กล่าว

นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า โครงการแจกซิมการ์ดฟรีและอินเตอร์เน็ตฟรีเป็นโครงการของกระทรวงการคลังที่ต้องจัดหางบประมาณมาสนับสนุน ในส่วน กสทช. เป็นผู้ประสานงาน และหากจะให้ดำเนินการก็ไม่มีงบประมาณ โดยขณะนี้กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะมีเงินอยู่ราว 149 ล้านบาท ทั้งนี้ เท่าที่ได้ประชุมร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงการคลัง และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ยังไม่มีการสรุปงบประมาณทั้งหมดว่าจะเป็นเท่าไร แต่มีตัวเลขเบื้องต้นจะให้เดือนละ 50 บาท เติมเงินสำหรับผู้ใช้บริการแบบเติมเงินหรือหากเป็นรายเดือนได้ส่วนลด 50 บาท ส่วนคนที่ยังไม่มีซิมการ์ดอาจจะต้องไปซื้อซิมการ์ดหรือรับซิมการ์ดฟรีตามที่บริการรายต่าง ๆ มีอยู่แล้ว ซึ่งไม่บังคับว่าต้องเป็นซิมการ์ดของผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่ง

นายก่อกิจ กล่าวว่า กสทช. ได้ประสานกับทางผู้ให้บริการ ทั้งบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ว่าจะสามารถทำแพคเกจได้อย่างไรบ้าง เพื่อไม่ให้กระทบกับการให้บริการดาต้าปัจจุบันที่เป็นแหล่งรายได้ของธุรกิจ เพราะผู้ให้บริการยังต้องจ่ายชำระค่าคลื่นที่ประมูลแก่ กสทช. อยู่ ในส่วนข้อมูลจากทางภาครัฐผ่านแอพลิเคชั่นที่จะจัดทำขึ้นอาจจะกำหนดความเร็วที่ 512 Kbps ซึ่งสามารถดูวีดีโอได้โดยไม่สะดุด

นายก่อกิจ กล่าวว่า ข้อที่เป็นกังวลอยู่ คือ การลงทะเบียนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ได้มีการลงทะเบียนเบอร์โทรศัพท์ของผู้ถือบัตรหรือไม่และเบอร์ที่ลงทะเบียนเป็นเบอร์ที่เป็นเจ้าของเองหรือคนอื่นเป็นเจ้าของ รวมทั้ง ยังเป็นเบอร์ที่ใช้งานอยู่หรือไม่ เพราะอาจจะทำให้การเติมเงินไม่ไปถึงผู้มีรายได้น้อยตัวจริงได้ นอกจากนี้ ยังกังวลความทับซ้อนของโครงการที่กสทช. ทำอยู่ คือ โครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่(ยูโซเน็ต) ในพื้นที่ชายขอบ 3,920 หมู่บ้าน ให้บริการอินเตอร์เน็ตบ้าน 200 บาทต่อเดือนฟรี จึงต้องมีการพิจารณาและตรวจสอบว่าจะมีความทับซ้อนกันของกลุ่มผู้ใช้งานหรือไม่

(https://www.matichon.co.th/economy/news_1254353)

...