วันจันทร์, ตุลาคม 15, 2561

แถลงการณ์ร่วม ภาคประชาชนและพรรคการเมือง เรียกร้องการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และมีผลทางปฏิบัติ






แถลงการณ์ร่วม เครือข่ายประชาชนที่ต้องการการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และมีผลในทางปฏิบัติ

เรื่อง การวางเงื่อนไขที่นำไปสู่การเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และมีผลในทางปฏิบัติ

สังคมไทยเผชิญความขัดแย้งมากว่าทศวรรษ เนื่องจากสถาบันและกลไกที่เกี่ยวข้องไม่ได้ถูกใช้ในการคลี่คลายปัญหา นอกจากนี้ ในช่วงสี่ปีเศษที่ผ่านมาประเทศไทยตกอยู่ภายใต้สภาวะไม่ปกติโดยอาศัยความขัดแย้งดังกล่าวเป็นข้ออ้าง ทว่าช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาได้พิสูจน์ว่าสภาวะไม่ปกติไม่สามารถช่วยให้สังคมไทยก้าวพ้นความขัดแย้งได้ จำเป็นจะต้องอาศัยสถาบันและกลไกในสภาวะปกติ อันได้แก่ระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากเป็นระบบที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เจรจาต่อรองกันอย่างเสมอหน้าภายใต้กฎเกณฑ์กติกาเดียวกัน

ระบอบประชาธิปไตยประกอบด้วยหลายส่วน ทว่าส่วนที่สำคัญและขาดไม่ได้คือการเลือกตั้ง ฉะนั้น การที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศจะจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 รวมทั้งการที่กฎหมายที่จำเป็นต่อการจัดการเลือกตั้งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงเป็นสัญญาณว่าประเทศไทยจะได้กลับสู่สภาวะปกติอีกครั้ง ทว่าการเลือกตั้งจะสามารถเป็นประตูไปสู่สภาวการณ์ดังกล่าวได้ก็ต้องอาศัยเงื่อนไขต่อไปนี้

1. มีเสรี (Free) คือ ทุกภาคส่วนสามารถแสดงออกได้อย่างเสรี สามารถแสดงความเห็นต่อกระบวนการเลือกตั้งได้โดยไม่ถูกจำกัดโดยกฎหมาย สามารถสืบค้นข้อมูลข่าวสารได้อย่างอิสระ และไม่ถูกขัดขวางการใช้สิทธิเลือกตั้ง ขณะเดียวกันผู้สมัครสามารถลงสมัครได้อย่างอิสระ และพรรคการเมืองสามารถสื่อสารและเสนอนโยบายกับประชาชนได้อย่างเต็มที่ ไม่ถูกขัดขวางโดยประกาศ คำสั่ง หรือเจ้าหน้าที่รัฐ

2. มีความเป็นธรรม (Fair) คือ ทุกภาคส่วนสามารถแสดงออกและใช้สิทธิในการเลือกตั้งได้อย่างเท่าเทียมกัน ขณะเดียวกันก็ต้องไม่มีการใช้อำนาจหรือกลไกรัฐเอื้อประโยชน์หรือขัดขวางพรรคการเมืองใด พรรคการเมืองสามารถเข้าถึงสื่อสารมวลชนทุกประเภทได้อย่างเท่าเทียมกัน ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องกำกับรัฐบาลให้ดำเนินการเลือกตั้งในฐานะรัฐบาลรักษาการ พร้อมทั้งมีมาตรการป้องกันการทุจริตอย่างเป็นระบบ และอนุญาตให้องค์กรที่เป็นกลางและมีความน่าเชื่อถือเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้ง

3. มีผลในทางปฏิบัติ (Fruitful) คือ ทุกภาคส่วนสามารถกำกับติดตามผลการเลือกตั้งให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน รัฐบาลต้องมาจากตัวแทนของประชาชนส่วนใหญ่ มิใช่ตัวแทนของผู้มีอำนาจหรือสถาบันที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน ขณะเดียวกันพรรคการเมืองต้องสามารถนำปัญหาและความต้องการของประชาชนไปดำเนินการได้ ไม่ถูกจำกัดโดยยุทธศาสตร์หรือข้อบังคับทางกฎหมายที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น

เรา “เครือข่ายประชาชนที่ต้องการการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และมีผลในทางปฏิบัติ” และพรรคการเมืองดังรายชื่อแนบท้าย ขอถือเอาวันนี้ วันที่ในอดีตเคยมีการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยครั้งสำคัญเกิดขึ้น ในการพาประเทศและสังคมไทยกลับคืนสู่สภาวะปกติอีกครั้งผ่านการเลือกตั้ง เราขอเรียกร้องให้ประชาชนได้มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ และขอให้พรรคการเมืองได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อนำเสนอนโยบายและสื่อสารกับประชาชนได้อย่างเป็นอิสระและเท่าเทียม เพื่อการเลือกตั้งครั้งนี้จะสามารถเป็นประตูไปสู่การคลี่คลายปัญหาของประเทศและประชาชนได้อย่างแท้จริง

ด้วยความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยและพลังของประชาชน

เครือข่ายประชาชนที่ต้องการการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และมีผลในทางปฏิบัติ

14 ตุลาคม 2561

รายชื่อองค์กรแนบท้ายแถลงการณ์
ก. ภาคประชาชน
- เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.)
- กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง
- กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG)
- โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)
- ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
- Start Up People
- เครือข่ายแรงงาน
- กลุ่ม 24 มิถุนา ประชาธิปไตย
- สมัชชาคนจน
- องค์กรนักศึกษาพัฒนาการเมืองและประชาธิปไตยปาตานี (2P2D)
- เสรีเกษตรศาสตร์
- สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.)
- สมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ
- สมาคมคนไทยเพื่อประชาธิปไตย
ข. ภาคการเมือง
- พรรคประชาธิปัตย์
- พรรคเพื่อไทย
- พรรคสามัญชน
- พรรคชาติไทยพัฒนา
- พรรคอนาคตใหม่
- พรรคเสรีรวมไทย
- พรรคประชาชาติ

ที่มา FB


กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย Democracy Restoration Group - DRG