วันพุธ, ตุลาคม 03, 2561

“ความยุติธรรมแบบไทยๆ” ไม่ทันขาดคำศาสตราจารย์ญี่ปุ่น ศาลยกฟ้องคดีเขาแพง


ยุคหาเสียง คสช. นี่มั่วกันนัว ทั้งขาใหญ่ ขาเล็ก มั่วแรกมีคัทเอ๊าท์ยักษ์ขึ้นที่เชียงราย โฆษณาสรรพคุณของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้อนุมัติก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ซึ่งเป็นรถไฟแบบรางคู่ของจีน

แต่ป้ายหาเสียงให้บิ๊กตูบดันไปเอารูปรถไฟความเร็วสูงของสวิสมาใช้ “จนหนังสือพิมพ์ สวิส เขาด่าเอา รัฐไทยได้ขโมยภาพโครงการจากการทำงานของผู้ผลิตรถ Stadler Rail ของเมือง Thurgau ในสวิสเซอร์แลนด์ ไปใช้ในโครงการรถไฟจีน...
 
เขาใช้คำว่า #รัฐไทยขโมย เชียวนะ อายเขาไหม แต่หน้าด้านระดับ ตูบ คงไม่อายหรอก” Phompan Charoenchuang (is at New York) ว่าอย่างนั้น

อีกมั่ว นายกใหญ่ไปงาน ถือศีลกินเจเขาจะอิ่มบุญอิ่มใจกัน ดันชวนแม่ทัพบุญ “ร่วมกันสู้กับความไม่ดี ซึ่งตอนนี้มันมีเยอะ ต้องทำเรื่องดีๆ ให้เกิดขึ้นให้ได้ เพื่อประเทศและคนไทย”

ข้างนายกเล็ก ไปตรวจน้ำท่วมกลางกรุง เนื่องจากฝนตกหนักน้ำท่วมขังระบายไม่ทันอย่างเคย ยังไม่วายคุยโตว่าเครื่องสูบน้ำ และบ่อหน่วงน้ำใต้ดินที่จ้างเขาทำ เสร็จเรียบร้อยหมดแล้ว แต่ผู้ก่อสร้างยังไม่ได้ส่งมอบงาน

“ปรากฏว่าเขาเอากุญแจไปด้วย หากุญแจไม่เจอก็ไปเปิดเครื่องไม่ได้” พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ชี้แจงกับผู้สื่อข่าวกรณีน้ำขังบริเวณวงเวียนบางเขน สูงแค่ ๒๐ เซ็นติเมตร แต่ต้องใช้เวลากว่าสองชั่วโมงจึงระบายหมด
 
“ปัญหาอย่างนี้เกิดไม่ได้ ไม่ใช่คนถือกุญแจไปเมาอยู่ที่ไหนไม่รู้ น้ำก็ท่วมชาวบ้านตาย อย่างนี้มันไม่ได้” (จากทวี้ตของ Weeranan VoiceTV21 @weeranan)

นายกใหญ่ก็ ไม่ได้ เหมือนกัน “พล.อ.ประยุทธ์โต้กระแสเรียกร้องให้ ๔ รัฐมนตรีที่ไปร่วมงานพรรคพลังประชารัฐลาออก ระบุอย่านำเรื่องธรรมาภิบาลมาอ้างกับรัฐบาลนี้ ถามกลับรัฐบาลในอดีตมีธรรมาภิบาลหรือไม่” (จากทวี้ตของ chartri @chartri_mcot)

สู้นายกเทศมนตรีเมืองฮิโรชิม่า ญี่ปุ่น ไม่ได้ “ยินดีให้การสนับสนุนส่งรถแทรมให้ทดลองใช้วิ่งในจังหวัดขอนแก่นเดือนพฤศจิกายนนี้ ทดลองลดปัญหาการจราจรติดขัด พร้อมผลักดันให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมระบบราง นำร่องวิ่งรอบบึงแก่นนคร” (จากทวี้ต Voice Online @VoiceOnlineTH)

ญี่ปุ่นอีกคนเป็นศาสตราจารย์ทางด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกียวโต ที่เชี่ยวชาญเรื่องประเทศไทย ศ.โยชิฟูมิ ทามาดะ มาพูดอภิปรายที่จุฬาร่วมกับ อ.พิชญ์ พงศ์สวัสดิ์ เกี่ยวกับการเมืองเรื่องต่อต้านคอรัปชั่นในไทย

“สู้กับทุจริตเพื่ออะไร” อาจารย์ทามาดะบอกว่า การทุจริตถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง “โดยใช้เพื่อลบล้างความชอบธรรม...ด่านโยบายบายอะไรที่เกี่ยวกับสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบทางการเมืองว่าเป็นการทุจริต”

องค์กรปราบปรามการทุจริต อย่าง ปปช. ก็เน้นทางด้านการเมืองมากกว่าเศรษฐกิจ “ในกรณีการขายข้าวแบบจีทูจีปลอมนั้น ที่มีการซื้อแพงขายถูกแล้วรัฐบาลขาดทุน ถ้าคิดแบบญี่ปุ่นไม่ผิดกฎหมาย เพราะถือเป็นนโยบายสังคม (Social Policy) ค่าข้าวถึงมือชาวนาแล้วเรียกค่าเสียหายกับนายกฯ ได้อย่างไร”

นักวิชาการชาวญี่ปุ่นผู้นี้ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า มี “การตราหน้าว่าทุจริตเพื่อเรียกความชอบธรรมต่อการกระทำที่ผิดกติกา...ไม่ชอบนักการเมืองก็ว่าทุจริต โดยมีปัจจัยเสริมคือกระบวนการยุติธรรมที่ขาดความยุติธรรม

แล้วองค์กรต่อต้านการทุจริตเชื่อถือได้แค่ไหน เมื่อองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นไทยแถลงว่าให้คะแนนร้อยเปอร์เซ็นต์ในความตั้งใจปราบปรามทุจริตในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์”

อีกตัวอย่างที่ ศ.ทามาดะ ยกมาชี้ให้เห็น คือ “คดีโรงพัก ๓๙๖ แห่ง สร้างไม่เสร็จตามสัญญาแต่บริษัทได้ค่าชดเชยจากรัฐบาล ดีเอสไอเห็นควรสั่งฟ้อง แต่อัยการสั่งไม่ฟ้อง”


อาจารย์ทามาดะพูดไม่ทันขาดคำ ปรากฏว่าเมื่อ ๒ ตุลา ที่ศาลอาญา คดีอุทธรณ์ความผิดของนายแทน เทือกสุบรรณ ลูกชายของหัวโจกใหญ่ กปปส. สุเทพ เทือกสุบรรณ และพวก กรณีแผ้วถางทางทำลายป่าสงวนเขาแพง
 
ศาลยกฟ้องจำเลยทั้งสี่ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า “คำฟ้องโจทก์เคลือบคลุมไม่ชัดเจนถึงพฤติการณ์กระทำผิดของจำเลย” และ “เเม้ทรัพยากรป่าไม้เป็นเรื่องสำคัญ...

พยานหลักฐานโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าที่ดินที่จำเลยที่ ๓-๔ (นายแทนและนายบรรเจิด เหล่าปิยะสกุล อายุ ๖๕ ปี อดีตเลขานุการส่วนตัวของนายสุเทพ) ครอบครอง เป็นที่ดินป่าไม้ซึ่งเป็นที่ดินของรัฐตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ ยกประโยชน์เเห่งความสงสัยยกฟ้อง”


เหล่านี้ละ “ความยุติธรรมแบบไทยๆ” ดังที่ @shutup2557 ว่าไว้