วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 04, 2561

ผลกระทบระยะยาวต่อญาติ มิตร และครอบครัวของผู้ตายฝ่ายประชาชน ๖ ตุลา ๒๕๑๙


อีกสองวันจะครบรอบ ๔๒ ปี ๖ ตุลา ๑๙ วันแห่งความหฤโหดทางการเมืองไทยที่ประชาชน (ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา) โดนทหาร ตำรวจ และฝูงชนที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์อย่างสุดโต่ง (เสียจนสามารถ) เข่นฆ่าคนร่วมชาติที่พวกตนเห็นว่า ไม่จงรักภักดี ได้

ตลอดเวลา ๔๐ ปี เบื้องหน้า เบื้องหลัง หลักฐานความจริง ความสูญเสีย และตัวตนผู้สูญเสีย เพิ่งได้เปิดเผยออกมาอย่างค่อนข้างพร้อมมูล (ยกเว้นผู้รับผิดชอบ และ/หรือคนสั่งการ) เมื่อสองปีที่แล้ว

ขอบคุณคณะกรรมการค้นหาความจริง ที่ได้ตีพิมพ์รายละเอียด บันทึก ๖ ตุลาไว้บนอินเตอร์เน็ตให้ผู้มีจิตกรุณาต่อผู้เสียหายได้รับทราบและเรียนรู้ความจริง ที่นี่ https://doct6.com/

ในปีนี้ พวงทอง ภวัครพันธุ์ หนึ่งในกรรมการค้นหาความจริง ได้เขียนบันทึกอีกชิ้น โดยเน้นในประเด็นที่เป็นผลกระทบระยะยาวต่อญาติ มิตร และครอบครัวของผู้ตาย ชื่อว่า “ความรู้สึกผิด ความหวัง และบาดแผลในความเงียบของเหยื่อ ๖ ตุลา” เอาไว้อย่างน่าสะเทือนใจยิ่ง

เราของคัดสรรเฉพาะบางตอนในบทความ ถ่ายทอดมาไว้ในที่นี้ เพียงเพื่อให้ได้สัมผัสในเบื้องต้นกันเท่านั้น เป็นนำร่องให้ติดตามไปค้นคว้าอย่างละเอียดต่อ เริ่มจากนี่ https://doct6.com/archives/13471 ดังนี้

ในกรณีการสังหารหมู่ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ เป็นที่ทราบกันดีว่าความกลัวเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ครอบครัวของผู้เสียชีวิตต้องทนทุกข์อยู่กับความเงียบ...

เมื่อคนทำผิดไม่ต้องรับผิด ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจึงต้องถูกลงฑัณฑ์ซ้ำสองให้ก้มหน้ากล้ำกลืนกับความอยุติธรรมต่อไป
 
------------

สุพล พาน เข้าร่วมการชุมนุมขับไล่ถนอมที่ธรรมศาสตร์ในเย็นวันที่ ๕ ตุลาคม และอยู่ในธรรมศาสตร์จนถึงเช้าวันที่ ๖ ตุลาคม เขาขับรถตู้ของที่บ้านช่วยพาคนบาดเจ็บไปส่งโรงพยาบาล แต่เมื่อเขาพยายามกลับเข้ามาในธรรมศาสตร์อีกครั้ง เขาก็ถูกยิงสามนัด...

ก่อนหน้านี้ราว ๖ เดือน สุพลเคยเกลียดชังและต่อต้านขบวนการนักศึกษา เพราะในช่วงที่เขาเป็นทหารเกณฑ์ เขาได้รับฟังแต่เรื่องเลวร้ายของนักศึกษาจากค่ายทหาร แต่เมื่อได้ฟังการปราศรัยของนักศึกษาไม่นาน สุพลก็หันมาสนับสนุนนักศึกษา

-------------

พ่อจินดาและแม่ลิ้ม ทองสินธุ์ ที่ใช้เวลาถึง ๒๐ ปีติดตามค้นหาและรอคอยการกลับมาของจารุพงษ์ ทองสินธุ์ เพื่อจะรับรู้ในเวลาต่อมาว่าลูกชายคนโตของครอบครัวจะไม่มีวันกลับมาอีกแล้ว

จากการติดต่อกับเพื่อนฝูงของเหยื่อเพื่อให้ช่วยติดต่อครอบครัวดังกล่าว ก็ได้รับการยืนยันปฏิเสธว่าทางครอบครัวไม่ต้องการและไม่มีวันให้สัมภาษณ์อย่างแน่นอน โดยไม่ได้อธิบายเหตุผลอะไรทั้งสิ้น...

หนึ่งในสมาชิกครอบครัวที่เป็นสะใภ้ เธอรับอาสาว่าจะลองพูดเลียบเคียงกับสามีของเธอให้ แต่สามีของเธอซึ่งเป็นมีสถานะเป็นหลานของเหยื่อ และในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ ๖ ตุลาก็ยังเป็นเด็กมาก ก็ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ใด ๆ...

เขาบอกว่าเขาจำได้ดีถึงผลกระทบต่อครอบครัวของเขา พ่อแม่ของเขาต้องส่งเขาไปเรียนหนังสือที่จังหวัดอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงแรงกดดันที่เกิดขึ้น...

สภาพศพของเหยื่อแสดงให้เห็นการถูกทำทารุณอย่างเหี้ยมโหด เขาเสียชีวิตเพราะถูกแขวนคอ หลังจากเสียชีวิตแล้ว ร่างของเขายังถูกฝูงชนกลุ้มรุมทำร้ายต่อ  ตั้งแต่เอาเก้าอี้ฟาด ใช้ของมีคมกรีดไปตามร่างกายทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ถูกรองเท้าแขวนคอและยัดปาก ใบหน้าถูกทุบตีจนเละ จนคุณพ่อของเขาไม่สามารถจดจำใบหน้าของเขาได้ ไม่สามารถระบุร่างที่ไร้ชีวิตที่โรงพยาบาลได้

จนต้องให้เพื่อนของลูกไปดูด้วยกันอีกครั้ง เพื่อนคนนั้นจดจำรองเท้าที่เขาสวมใส่อยู่ได้

--------------

ในบรรดาผู้ที่เสียชีวิตฝ่ายประชาชนจำนวน ๔๐ คนนี้ มีหลายคนที่เรายังไม่รู้ว่าเขาคือใคร แม้ว่าเราจะเห็นรูปถ่ายของพวกเขาจนชินตา ได้แก่ ชายไทย ๓ คนที่อยู่ในเอกสารชันสูตรพลิกศพแต่ไม่ทราบชื่อ 

ผู้ชายที่ถูกแขวนคอสองคนที่ถ่ายโดยช่างภาพของสำนักข่าวเอพีนายนีล อูเลวิช และหนึ่งในภาพถ่ายนั้นได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ในปี ๒๕๒๐ (คนที่ถูกแขวนคอมีทั้งหมด ๕ คน อูเลวิชถ่ายภาพได้ ๒ คน)  
 
ร่างที่ถูกเผาจนเหลือแต่กระดูกและระบุเพศไม่ได้ ๔ คนบนถนนราชดำเนินใกล้กับรูปปั้นแม่พระธรณีบีบมวยผม เราไม่รู้ว่าพวกเขาคือใคร ครอบครัวของเขาอยู่ที่ไหน รับรู้หรือไม่ว่าลูกหลานของตนเสียชีวิตแล้ว หรือยังเฝ้ารอการกลับมาของพวกเขาอยู่อย่างเงียบงัน

----------------

ในบางกรณีความเจ็บแค้นต่อความอยุติธรรมก็ถูกแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นพลังต่อสู้ในนามของลูกและเหยื่อคนอื่น ๆ ดังกรณีแม่เล็ก แม่ของมนู วิทยาภรณ์...

การเสียชีวิตด้วยกระสุนนัดเดียวที่ตัดขั้วหัวใจ ดูจะเป็นการตายที่โหดเหี้ยมน้อยที่สุดแล้ว อย่างน้อยมันก็คือสิ่งที่ปลอบประโลมผู้เป็นแม่ว่าลูกไม่ได้ทรมานมากนัก “แม่ดูศพลูก เห็นใบหน้าลูกอมยิ้ม ก็คิดในใจว่าลูกตายอย่างภูมิใจในสิ่งที่ทำ แม่จะได้ไม่ต้องเสียใจ...

แต่ความจริงเขาจับลูกแม่แล้วนะ เพราะตอนที่ไปรับศพ แขนเสื้อทั้งสองข้างยังผูกอยู่กับเอว เขาจับแล้วทำไมต้องฆ่ากัน ยิงทำไม เขาจับคนไม่ผิดอย่างนั้น ใครจะรับผิดชอบ” แม่เล็กกล่าว

การต่อสู้ของนางพะเยาว์ อัคฮาด แม่ของกมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาสมัคร หนึ่งในผู้เสียชีวิต ๖ คนที่ถูกทหารยิงในวัดปทุมวนารามเมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ และนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ พ่อของน้องเฌอ สมาพันธ์ ศรีเทพ ที่ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๓ [5] 

ก็ดูจะเป็นในทำนองเดียวกันกับแม่เล็ก สามัญชนมือเปล่าที่ไม่ยอมศิโรราบให้กับความอยุติธรรม

พวงทอง ภวัครพันธุ์
ตุลาคม ๒๕๖๑

[5] กมนเกด อัคฮาด และสมาพันธ์ ศรีเทพ เสียชีวิตจากปฏิบัติการปราบปรามการชุมนุมของคนเสื้อแดงโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์และกองทัพในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553