วันอาทิตย์, มิถุนายน 10, 2561

เมื่อพระและคนเป็นนักแสดง... ทำไมพระดังมักจะมีจุดยืนตรงข้ามกับประชาธิปไตย?




เมื่อใช้ธรรมนำทางล้มระบบ
ความสงบเป็นข้ออ้างสร้างขัดแย้ง
อหิงสาสันติตระบัดตะแบง
นักแสดงทั้งพระคนพิกลเกม


...

ทำไมพระดังมักจะมีจุดยืนตรงข้ามกับประชาธิปไตย หรือแสดงออกว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย แต่ก็ไปไม่พ้นประชาธิปไตยแบบไทย?

จากประสบการณ์ตรง เมื่อหลายปีก่อน ผมเคยไปสนทนากับ "พระเซเลบ" รูปหนึ่ง ท่านบอกว่า "อาตมาเขียนหนังสือเป็นร้อยเล่ม คำผกาอ่านงานอาตมากี่เล่มถึงวิจารณ์แบบนี้" (ท่านพูดถึงบทความของคำผกาในมติชนสุดสัปดาห์)

จะเห็นว่า เหตุผลของท่านคือ "คนวิจารณ์ไม่อ่าน ไม่เข้าใจความคิดของท่านดีพอ" ซึ่งในแง่หนึ่งก็ฟังขึ้น แต่ท่านไม่ทำความเข้าใจว่าที่เขาวิจารณ์ท่านน่ะเขาวิจารณ์บน "หลักการ" อะไร เพราะต่อให้ท่านเชื่อว่าความคิดของท่านถูก และมี "เจตนาดี" ในการเสนอความคิดนั้นมันก็อาจผิดหลักการได้

เช่น เจ้าสำนักบางแห่งก็เชื่อด้วยความบริสุทธิ์ใจและมีเจตนาดีต่อบ้านเมืองนั่นแหละ แต่ท่านเสนอว่า "รัฐประหารเป็นอาริยประชาธิปไตย" โดยอ้างหลักพุทธสนับสนุน หรืออย่างพุทธะอิสระก็เชื่อมั่นว่าตัวเองรู้จริงในพุทธศาสนา แนวทางของตนถูกต้อง มีธรรมะ มีเจตนาดีเพื่่อบ้านเมือง แต่ทั้งหมดนั้นเขาไม่สนใจว่ามันผิด "หลักการ" อื่น ที่ไม่ใช่หลักการพุทธ แต่เป็นหลักการสาธารณะคือหลักการประชาธิปไตย

เมื่อเชื่อหรือศรัทธาเต็มที่ว่าความคิดหรือหลักพุทธที่ตนยึดถึอถูกต้องและสูงกว่าหลักการประชาธิปไตย ย่อมทำให้การแสดงความเห็น การเคลื่อนไหวทางการเมือง กลายเป็นการใช้พุทธศาสนาในทางเป็นปฏิปักษ์ต่อการพัฒนาประชาธิปไตย

กับพระที่สนับสนุนเสื้อแดง ผมก็เคยสนทนา ท่านเหล่านั้นเอาด้วยหมดเลยเรื่องเลือกตั้ง และอื่นๆ ที่ทำให้ประชาธิปไตยดีขึ้น แต่ท่านต้องการให้พุทธเป็นศาสนาประจำชาติ บอกว่าถ้ายึดอุดมคติรัฐโลกวิสัย (secular state) ที่รัฐต้องเป็นกลางทางศาสนา รักษาเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนาเท่านั้น ไม่อุปถัมภ์ศาสนาใดๆเลย พุทธศาสนาก็อยู่ไม่รอด ศาสนาอื่นจะยึดครองประเทศไทย

จะเห็นว่า สุดท้ายแล้วพระฝ่ายที่มีความคิดเอียงมาทางประชาธิปไตย พอมาถึงประเด็นทางศาสนาท่านก็ต้องการให้เป็นแค่ "ประชาธิปไตยไทยๆ" ที่รัฐกับศาสนาไม่แยกเป็นอิสระจากกัน เป็นเสรีประชาธิปไตยเป็นรัฐโลกวิสัยไม่ได้ และท่านก็เชื่อมั่นหัวชนฝาว่าความคิดของท่านถูก โดยไม่สนใจเรื่อง "หลักการ" ที่ว่ารัฐต้องเป็นกลางทางศานา และให้หลักประกันเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนาได้จริง

เพิ่มประสบการณ์อีกนิด ผมเคยเขียนบทความชิ้นหนึ่งวิจารณ์ความคิดของพระนักปราชญ์ท่านหนึ่งลงประชาไท ต่อมาท่านเขียนหนังสือโต้บทความผม 100 หน้า พิมพ์แจกครั้งแรก 5,000 เล่ม และมีพิพม์ซ้ำด้วย ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ท่านถกเถียงด้วย

แต่ชื่อหนังสือท่านคือ "ขว้างก้อนอิฐมาพัฒนาเป็นแก้วมณี" ผมงงๆ ว่า ทำไมพระท่านมองเสียงวิจารณ์จากคนอื่นเป็น "ก้อนอิฐ" ?

ความที่ไม่รับฟังเสียงวิจารณ์ท้วงติงจากคนอื่นของนักบวชไทยนั่นแหละครับ ถึงมีพระอย่างกิตติวุฑโฒ เรื่อยมาถึงพุทธะอิสระ และคงจะมีเรื่อยๆ

ที่จริงพระรุ่นใหม่ที่ลึกซึ้งในพุทธธรรม และเข้าใจหลักการ, คุณค่าสมัยใหม่ก็อาจจะมี แต่อาจไม่ดัง หรือดังแต่เรียนรู้ที่จะรับฟังว่าคนอื่นๆเขาวิจารณ์ท้วงติงบน "หลักการ" อะไร

ที่มา FB

สุรพศ ทวีศักดิ์