วันพฤหัสบดี, มิถุนายน 21, 2561

กว่า ๙๕% คนไทยชอบโทษประหารชีวิต ลงตัวพอดีความผิด ม.๑๑๓ ฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต


ยังเป็นเรื่องถกกันอยู่หนักไม่หาย ต่อกรณีที่กรมราชทัณฑ์ฉีดสารพิษประหารนักโทษเด็ดขาดชายวัย ๒๖ ปีเมื่อ ๑๘ มิถุนายน อีกเป็นครั้งแรกหลังจากพักไปนาน ๙ ปี และมีองค์กรเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนทั้งไทยและเทศออกโรงคัดค้าน

“วันเดียวกัน โฆษกของผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปและรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการประหารชีวิตที่เกิดขึ้นในประเทศไทย” ว่าเหลืออีกปีเดียวก็จะครบ ๑ ทศวรรษ นับแต่มีการประหารชีวิตครั้งสุดท้ายในประเทศไทย

ซึ่งจะทำให้ไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารอย่างเป็นทางการดังสหภาพยุโรปคาดหวัง “แต่กรณีการประหารชีวิตนายธีรศักด์ (หลงจิ) แสดงให้เห็นถึงการก้าวถอยหลังอย่างชัดเจน...

สหภาพยุโรปขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยงดเว้นการประหารชีวิตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ดำเนินการเพื่อพักการใช้โทษประหารและยกเลิกโทษประหารชีวิตในที่สุด”


เช่นกัน วันก่อน (๑๙ มิ.ย.) สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (OHCHR) ออกแถลงการณ์แจ้งว่า

“การนำเอาโทษประหารชีวิตกลับมาใช้ สวนทางกับคำมั่นสัญญาของประเทศไทย” เมื่อปี ๒๕๕๙ ต่อกลไก Universal Periodic Review “ว่าจะดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิต” นางซินเทีย เวลิโก้กล่าวด้วยว่า

แม้แต่ในแผนปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ ๓ ก็มีการย้ำคำมั่นดังกล่าวไว้ ดังนั้น “เราเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ดำเนินมาตรการต่างๆ โดยเร่งด่วนเพื่อคืนสู่ภาวะการงดเว้นการใช้โทษประหารชีวิตในกระบวนการนำไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิตโดยสมบูรณ์

https://www.thairath.co.th/content/1312909

ครั้นวานนี้ (๒๐ มิ.ย.) นายเอกพันธุ์ ปิณฑวณิช รักษาการผอ.สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล แถลงว่า “กำลังร่วมมือกับมูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรม ผลักดันโครงการรณรงค์ยกเลิกโทษประหาร

เพราะตามหลักการเราเห็นคุณค่าของชีวิตมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน แม้เขาบางคนจะมีพฤติกรรมทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต แต่เราก็มีความเชื่อว่ามนุษย์จะสามารถปรับปรุงปรับเปลี่ยนได้...

การสนับสนุนโทษร้ายแรงก็จะสะท้อนว่า เราไม่สนใจชีวิตเพื่อนมนุษย์ ซึ่งโทษประหารก็บ่งบอกเราแล้วว่า ไม่อาจลดการก่ออาชญากรรมร้ายแรง ค้ายาเสพติด ให้ลดน้อยลง จึงจำเป็นที่สังคมไทยต้องขบคิดการยกเลิกโทษประหารอย่างจริงจัง”


ท่ามกลางการเรียกร้องเหล่านั้น กลับมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ภายในประเทศไทยปรากฏออกมาทางโซเชียลมีเดีย ไปในทางเห็นชอบกับการลงโทษประหารชีวิตกันมาก โพลของไทยรัฐผ่านทางไลน์เมื่อตอนสามทุ่มครึ่งวานนี้ ผู้ตอบ ๓๐,๙๓๙ คน มีแค่ ๑,๑๘๗ คนไม่เห็นด้วย

ทางด้านสปริงนิวส์ ทำกร๊าฟฟิคผลโพลต่างๆ ทั้งของตนเอง เนชั่น ไทยรัฐ เวิร์คพ้อยท์ สนุก และดราม่าแอ๊ดดิค ล้วนเห็นด้วยกับการมีโทษประหารมากกว่า ๙๕ เปอร์เซ็นต์ทั้งนั้น

ความเห็นของผู้สนับสนุนเหล่านั้นจำนวนมากอ้างว่า ลองเป็นพ่อแม่ ลูกหลาน ญาติพี่น้อง ของตนเองที่โดนคนร้ายคร่าชีวิตดูบ้าง จะรู้สึกกันอย่างไร
 
อนันต์ชัย ไชยเดช ทนายคนดังรายหนึ่งโพสต์เฟชบุ๊คอ้างว่า “การลงโทษประหารชีวิต มันทำให้ความเจ็บปวดของญาติเหยื่อ ลดน้อยลง คือ ชีวิตต้องชดใช้ด้วยชีวิต” แต่ก็พบกับคอมเม้นต์โดยทนายอู๊ด วิบูลย์ บุญภัทรรักษา พ่อของไผ่ ดาวดิน แย้งว่า

“เราพัฒนามาไกลมากแล้ว หาจำต้องย้อนไปใช้ตามวิธีคิดของกฎหมายตราสามดวงหรืออื่นๆ ทำนองเดียวกัน หามิเช่นนั้นแล้ว จะกลับเข้าสู่ดั้งเดิมเช่นกันคือ ตาต่อตาฟันต่อฟัน และนั่นหมายถึงความสำคัญของกฎหมายจะลดน้อยถอยลง”

เช่นเดียวกับโพสต์ของลูกสาว สุวรรณี สุคนธาMaynart Nantakwang ระบายความในใจ คิดถึงแม่อ้างว่า “เพื่อประโยชน์ของสังคม...ถามพวกที่ออกมาปกป้องคัดค้านการลงโทษที่สมควรแล้วนั้น จิตใจทำด้วยอะไร

ใครก็ตามที่ออกมาปกป้องฆาตกร คนเหล่านั้นคงมีจิตใจคล้ายกัน อ้างสิทธิมนุษย์ชน...คนที่ถูกฆาตกรรมอย่างทารุณและเป็นผู้บริสุทธิ์ มีสิทธิ์เรียกร้องความตายคืนมาได้มั้ย” ก็ตามมาด้วยข้อคิดของ Nithinand Yorsaengrat

“เราทุกคนต่างเป็นมนุษย์ ต่างต้องการความเป็นธรรม บางคนตาย มีคนพูดแทน หลายร้อยหลายพันหลายหมื่นหลายแสนหลายล้านคนตาย นอกจากไม่มีใครพูดแทน เรื่องราวของพวกเขายังถูกทำให้เงียบหาย...

หากเราเชื่อว่าโลกนี้มีวิธีการเดียวเท่านั้นเพื่อผดุงความยุติธรรม คือ ตาต่อตา ฟันต่อฟัน หากเราเชื่อว่าต้องฆ่า คนเลว คนชั่ว ในทัศนะของเรา เพื่อให้โลก (ของใคร?) สวยงาม เราต้องฆ่ากันอีกกี่ศพ? ต้องฆาตกรรมหมู่กลางเมืองคนคิดต่างอีกกี่ศพ?

ทางด้าน Atukkit Sawangsuk เจ้าเก่า แม้เขา “ไม่ถึงกับปฏิเสธโทษประหารเสียทีเดียว” แต่ก็ตั้งแง่เป็นข้อสังเกตุว่า “สิ่งที่กลัวมากกว่าคือ ถ้าใช้โทษประหารเยอะๆ เรามั่นใจกระบวนการยุติธรรมแค่ไหนเชียว ก็เห็นอยู่ว่ามีทั้งจับแพะ ยัดยา มีใช้เงินหรือเส้นสายแล้วหลุดรอดได้...

พูดอีกอย่าง ถ้ากระบวนการยุติธรรมเป็นที่เชื่อมั่น จะประหารก็ได้ แต่วันนี้ไม่เชื่อมั่นว่ะ...ปัญหาทุกวันนี้คือ คนไม่รู้สึกว่ากฎหมายศักดิ์สิทธิ์ ไม่เชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรม เพิ่มโทษแรงคิดว่าจะทำให้หลาบจำ เป็นเยี่ยงอย่าง ก็เปล่าเลย...

การลดอาชญากรรม เพื่อไม่ให้คนบริสุทธิ์ต้องเป็นเหยื่อ มันต้องคิดให้รอบ ไม่ใช่คิดแค่ใช้ยาแรง...มันเป็นวิธีคิดอย่างฉาบฉวยของสลิ่ม แบบเดียวกับปราบโกงต้องนิมนต์คนดีขั้นเทพมาเป็นองค์กรอิสระ

การแก้ปัญหาแบบสลิ่มคือเป็นคนดี เกลียดคนชั่ว แล้วใช้วิธีสุดโต่ง ยิ่งสุดโต่งแบบข่มขืนต้องประหาร ข่มขืนต้องตัดหำ (อย่างที่ E-Thing หล่อนว่า) ยิ่งเป็นคนดี”

พอมาถึง สุรพศ ทวีศักดิ์ ผู้ชำนาญการด้านศาสนาเอ่ยถึงแนวคิด ศาสนากับโทษประหารชีวิตไว้ว่า “บาทหลวงคริสต์บอก ไม่เห็นด้วยกับโทษประหารชีวิตและขอสนับสนุนให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต ส่วนผู้นำอิสลามว่า โทษประหารยังมีเหตุผล มีความจำเป็น ไม่ควรยกเลิก...

ขณะพระ (ในพุทธศาสนาไทย) ที่จัดหลักสูตรด้านสันติศึกษาบอกว่า ไม่สนับสนุนให้คงอยู่และไม่สนับสนุนให้ยกเลิก” เขาเองเล่าถึงตำนานองคุลีมาล ฆาตกรต่อเนื่องยุคพุทธกาล โดย “สรุปเหตุผลที่องคุลีมาลไม่ควรถูกประหารชีวิต”

“บ่งนัยสำคัญว่าพุทธะไม่ได้คิดในประเด็นว่า คนที่ฆ่าคนอื่นควรถูกฆ่าให้ตายตกไปตามกันจึงจะยุติธรรม”

แต่สำหรับ Somsak Jeamteerasakul มองว่า “ปมปัญหาว่า ทำไมประเทศไทย จึงไม่มีการประหารชีวิตมา ๘-๙ ปี และทำไมจึงมาเริ่มมีเป็นครั้งแรกไม่กี่วันนี้” เขาว่า “อยู่ที่ วัง

คือ วัง (เก่า) ดองเรื่อง คนที่ถูกตัดสินประหารไปแล้วร้อยกว่าคนไว้ตลอด ๘-๙ ปี และตอนนี้ วัง (ใหม่) ส่งสัญญาณ ว่าให้มีการประหารชีวิต ใช้โทษประหารชีวิตไปได้”

แต่อะไรก็ไม่พี้คเท่าทวี้ตของ surasak pitipattra @surasak_chu และอีกหลายๆ คนที่เห็นข่าวนายกฯ พูดถึงเรื่องนี้ “พอลุงตู่บอกว่าประเทศไทยยังต้องมีโทษ #ประหารชีวิต ผมนี่อยากเห็นคนโดนประหารเลยครับ โฮะ ๆ”

ก็เพราะมีภาพแชร์ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๓ กันเกลื่อน ที่บอกว่า “ผู้กระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต...” นั่นละ

เลยทำให้คดีที่กลุ่ม พลเมืองโต้กลับฟ้องประยุทธ์ จันทร์โอชาและพวก ฐานใช้กำลังยึดอำนาจ ซึ่งศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษา วันที่ ๒๒ มิ.ย. นี้ เป็นที่น่าสนใจหนักเข้าไปใหญ่ อีกทั้งนัยว่าจะมีคณะทูตต่างประเทศหลายรายไปร่วมสังเกตุการณ์ ฟังคำพิพากษานี้ด้วย