สองคดีต่อฝ่ายรัฐประหาร ที่พลเมืองและประชาชน
‘พ่าย’ ไปตามเชิง
ทั้งด้วยรัฐธรรมนูญและศาลที่ยังเอื้อต่อผู้ยึดอำนาจ จึงไม่มีอะไรให้ต้องเสียใจอีกต่อไป
และมุ่งหน้าตามคำปาวารณาของ อานนท์ นำภา “เมื่อวันของประชาชนมาถึง
เราจะร่วมชำระคดี...อีกครั้ง”
๒๒ มิถุนา ศาลฎีกาอ่านคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและอุทธรณ์
ไม่รับคำฟ้องของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ที่กล่าวหา คสช.มีความผิดฐานก่อการกบฏ
ทำรัฐประหารเมื่อ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ตามบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๓
ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนแยกแยะรายละเอียดคำตัดสินของศาลไว้เป็นจะเป็นโกลนโดยสรุปดังนี้
ต่อคำฟ้องที่ว่ามาตรา ๔๗ และ ๔๘
แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว (ของ คสช.) พ.ศ.๒๕๕๗ ไม่มีสภาพเป็นกฎหมาย เนื่องจาก “บุคคลหาอาจถือเอาประโยชน์จากความฉ้อฉลที่ตนได้ก่อขึ้น
หาอาจเรียกร้องใดบนความอยุติธรรมของตน
หาได้รับยกเว้นความรับผิดจากอาชญากรรมของตัวเองได้” นั้น
ศาลเห็นว่า ในเมื่อคณะรัฐประหารได้ยึดอำนาจ
“อย่างเบ็ดเสร็จ” แล้ว ไม่มีคณะรัฐมนตรี ไม่มีวุฒิสภา ไม่มีสถาบันนิติบัญญัติ
มีแต่คณะรัฐประหารที่ “ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์” ดังนั้น
รัฐธรรมนูญชั่วคราวของผู้ยึดอำนาจจึงมีสถานะเป็นกฎหมาย
ศาลยังยกเอาเนื้อความตามมาตรา ๔๘ ที่ผู้ฟ้องร้องให้เป็นโมฆะนั้นมาอ้างอีกด้วยว่า
การกระทำต่างๆ ของคณะรัฐประหารและผู้ปฏิบัติตามการบังคับบัญชา “หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย
ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง”
ไม่เท่านั้นศาลได้นำเอาบทบัญญัติมาตรา ๒๗๙
แห่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับ คสช. สั่ง) ที่รับรองการออกคำสั่ง ระเบียบข้อบังคับต่างๆ
ทางกฎหมายของ คสช. ‘รวมทั้งที่จะออก ‘ต่อไป’ (ในภายภาคหน้า) ตามมาตรา ๒๖๕ วรรคสอง ล้วนถือว่า
“ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฏหมาย” ทั้งสิ้น
ส่วนประเด็นที่สอง “ที่โจทก์ทั้งสิบห้าฎีกาเรื่องที่ศาลยกฟ้องโดยไม่ไต่สวนมูลฟ้อง
ตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๑๖ (๑)
เป็นการข้ามขั้นตอนกระบวนการพิจารณา” ถือว่าเป็นการไม่ชอบ
ศาลอ้างกฎหมายอาญามาตรา ๑๘๕ ที่ให้อำนาจศาล
“ชอบที่จะยกฟ้องได้เลย โดยไม่จำต้องไต่สวนมูลฟ้องและประทับรับฟ้องก่อน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสิบห้านั้นชอบแล้ว
ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสิบห้าฟังไม่ขึ้น”
รวมความว่าการตัดสินของศาลฎีกาครั้งนี้ใช้เหตุผลในการไม่รับฟ้อง
วนเวียนอยู่กับหลักการที่ว่า รัฐประหารทำให้ผู้ยึดอำนาจเป็นรัฏฐาธิปัตย์ เพราะสามารถกำจัดกวาดล้างองค์กรทางประชาธิปไตยได้อย่างเบ็ดเสร็จ
เช่นเดียวกับอำนาจในการวินิจฉัยของศาล
ต่อไปภายหน้า เมื่อวันของประชาชนมาถึง
เราคงอ้างถึงศาลนี้ได้ว่าเป็น ‘ศาลรัฐประหาร’
หรือถ้าจะจำเพาะเจาะจงลงไปก็ได้ว่า ‘ศาล คสช.’
อีกคดีเป็นข้อวินิจฉัยขององค์กรอิสระ
ที่เรียกกันติดปากว่า ปปช. หรือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
ซึ่งมักจะ ‘ป้อง’ คณะทหารที่ยึดอำนาจ และไม่
‘ปราม’ ผู้ต้องหาที่เป็นชนชั้นนำ –อำมาตย์
หรือวงวานว่านเครือ พวกพ้องคณะยึดอำนาจ แต่ ‘ปราบ’ แหลกกับเส้นสายหรือผุ้สนับสนุนรัฐบาลชุดที่ถูกทหารยึดอำนาจ
คดีที่กลุ่มแกนนำ นปช. หรือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ
เรียกร้องให้ ปปช.รื้อฟื้นการสั่งสลายชุมนุมการเมืองเมื่อปี ๒๕๕๓ ที่มีผุ้ชุมนุมโดนกระสุนจริงยิงตายกว่า
๙๐ ราย ผู้ยื่นคำร้องเช่น จตุพร พรหมณ์พันธุ์ และณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
มอบพยานหลักฐานเพิ่มเติมอีก ๔ รายการไปกับคำร้อง ๔ ประเด็น
ปปช.โดยเลขาฯ วรวิทย์ สุขบุญ แถลงว่าจะไม่รื้อคดีขึ้นมาอีก
ในกรณีที่เป็นความรับผิดชอบของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะเกิดเหตุ
และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในตำแหน่ง ผอ. สอฉ. ผู้สั่งการในขณะนั้น
แต่ถ้าจะมีการร้องเรียนไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ ดีเอสไอ ให้ดำเนินการสอบสวนเอาผิดแก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ใช้กระสุนจริงยิงผู้ชุมนุม
ก็ (เชิญเลย) ย่อมทำได้
เหตุผลที่ ปปช.ใช้ประกอบการวินิจฉัยว่าการสลายชุมนุมที่มีคนตายใกล้ร้อย
(ส่วนใหญ่ด้วยกระสุนสงคราม) นั้นผู้สั่งการกระทำไปด้วยความชอบธรรม
ตามครรลองสากลเสียด้วย
แต่ถ้าเทียบกับการสลายชุมนุมก่อนหน้านั้นสองปี มีคนตายสองคน คนหนึ่งเป็นผู้ชุมนุมถูกสะเก็ดแก๊สน้ำตา
แต่บาดแผลใต้ราวนมเหวอะหวะเพราะล้มลงกระแทกระเบิดปิงปองในย่าม กับอีกคนเป็นตำรวจที่ไปร่วมชุมนุม
พยายามขับรถจี๊บที่มีระเบิดแสวงเครื่องติดอยู่พุ่งเข้าไปยังสำนักงานพรรคชาติไทย ร่างแหลกตายคารถ
คดีนี้คนสั่งสลายผิดมหันต์ เพราะ “ไม่มีการกำหนดแนวทางปฏิบัติต่อผู้ชุมนุม”
ระหว่างการสลาย “ไม่สั่งการให้มีการปรับเปลี่ยนวิธีปฏิบัติ” และอันนี้สำมะคัญยิ่ง “ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธ”
คงเป็นด้วยเขาถือว่าระเบิดแสวงเครื่องกับระเบิดปิงปอง ไม่ใช่อาวุธ
หรือไม่ก็ระเบิดไปหมดแล้ว (ถึงได้ตายไง)
เลยไม่มีหลักฐานหลงเหลือพอให้วินิจฉัยได้ว่าเป็นของใคร ที่อยู่กับตัวผู้ตาย
ปปชงจึงสรุปว่า ‘ไม่มีอาวุธ’
สนใจรายละเอียดยิบยับในถ้อยคำพร่ำพรรณนาของ
ปปช. ตามไปอ่านรายงานของอิศราที่ https://www.isranews.org/isranews/67073-isranews_67073.html