มั่นใจก็ลุยเลย
โดย ไทยรัฐ
27 มี.ค. 2561
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ร่าง พ.ร.บ. เก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เริ่มผลักดันกันมาตั้งแต่ปี 2535 ชักเข้าชักออกมาแล้วถึง 11 รัฐบาล
นับจนถึงปัจจุบันเป็นเวลายาวนานถึง 26 ปี!!
แต่จนบัดนี้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯก็ยังไม่คลอดออกมาเป็นตัว
รัฐบาล คสช.ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสนอร่าง พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ให้ที่ประชุม สนช. พิจารณาตั้งแต่ปี 2558
แต่กว่าที่ประชุม สนช.ลากตั้งจะถูลู่ ถูกังลงมติรับหลักการวาระแรกก็ยืดเยื้อ ถึงเดือนมีนาคมปี 2560
เท่ากับร่าง พ.ร.บ.เก็บภาษีที่ดินฯ ได้ผ่านวาระแรกไปแล้วครบ 1 ปีพอดี
“แม่ลูกจันทร์” ไม่ทราบว่าเหตุใด ร่าง พ.ร.บ.จัดเก็บภาษีที่ดินฉบับนี้ ยังไม่ได้นำกลับเข้าพิจารณาวาระสองและวาระสาม เพื่อคลอดออกมาประกาศใช้บังคับอย่างเป็นทางการ??
แถมล่าสุด มีการขยายเวลาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯเป็นครั้งที่ 6 เพิ่มอีก 60 วัน
“แม่ลูกจันทร์” ไม่มั่นใจว่าหลังจากขยายเวลาพิจารณาครั้งที่ 6 ครบ 60 วัน อาจเกิดอภินิหารทางกฎหมาย ต้องขอขยายเวลาเพิ่มเป็นครั้งที่ 7 ไปอีก 60 วัน
และถ้าหากยังพิจารณาไม่เสร็จ อาจต้องขยายเวลาครั้งที่ 8 ต่อไปอีก 60 วัน
กว่าร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ จะคลอดออกมาประกาศใช้คงต้องชักตะพานแหงนเถ่อไปอีกหลายเดือน
หรือดีไม่ดี เมื่อร่าง พ.ร.บ.ที่ดินฯ กลับเข้าไปพิจารณาในวาระสองและวาระสามอาจมีใบสั่ง (จากผู้ไม่ประสงค์ออกนาม) กระซิบ สนช.ลากตั้งให้โหวตคว่ำร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ
ด้วยเหตุผล 2 ประการ
1,เนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.เก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับนี้มีรายละเอียดซับซ้อนนุงนังต้องใช้เวลาตีความมากมายหลายประเด็น
อัตราภาษีที่กำหนดไว้ในร่าง ก.ม.ฉบับนี้ ส่งผลให้ผู้ถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภทต้องจ่ายภาษีสูงเกินไป
แต่ในบางประเภทกลับจ่ายภาษีต่ำเกินควร
2, ช่วงนี้รัฐบาล คสช.ต้องเร่งสร้างคะแนนนิยมประชาชน เพื่อเป็นบันไดรองรับ “นายกฯคนนอก” ให้สะดวกโยธิน
การออกกฎหมายเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากประชาชนอาจจะส่งผลกระทบต่อคะแนนนิยมรัฐบาล คสช.ในช่วงกำลังเข้าด้ายเข้าเข็มพอดี
“แม่ลูกจันทร์” ชี้ว่าร่าง พ.ร.บ.เก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับ คสช.มีทั้ง “ข้อดี” และ “ข้อเสีย” พอๆกัน
เริ่มจากข้อดี...การเก็บภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างจะปั๊มรายได้เข้ากระเป๋ารัฐบาล และองค์กรปกครองท้องถิ่นทั่วประเทศได้เป็นกอบเป็นกำ
การเก็บภาษีที่ดินจะกระตุ้นให้มีการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า ทำให้คนรวยจำนวนน้อยที่ครอบครองที่ดินจำนวนมากต้องกระจายที่ดินออกไป
ทำให้คนส่วนใหญ่มีโอกาสถือครองที่ดินมากกว่าเดิม
ส่วนข้อเสีย...การเก็บภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า ตั้งแต่ที่ดินว่างเปล่า ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ดินเพื่อการทำธุรกิจ ที่ดินติดจำนองธนาคาร บ้านพักอาศัย ตึกแถวร้านค้า อพาร์ตเมนต์ หอพัก คอนโดฯ โรงแรม ปั๊มน้ำมัน ฯลฯ
เป็นการเพิ่มภาระรายจ่ายประชาชน
โดยเฉพาะคนรวยถือครองทรัพย์สินเยอะย่อมโวยวายเสียงดัง
“แม่ลูกจันทร์” สรุปว่าร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะคลอดเร็ว? หรือคลอดช้า?
หรือจะคว่ำกลางสภา??
รัฐบาลต้องตัดสินใจเอง
ถ้ามั่นใจว่าดีแล้วก็ใส่เกียร์ห้าเดินหน้าลุย.
“แม่ลูกจันทร์”
...
แฉ สนช.แลนด์ลอร์ด ครองที่ดินหมื่นล้าน ต้นเหตุ’ร่างกม.ภาษีที่ดินฯ’คลอดช้า
26 กันยายน 2560
มติชนออนไลน์
เพจ “Land Watch Thai” แฉ สนช.แลนด์ลอร์ด ครองที่ดินเกือบหมื่นล้าน ต้นเหตุ “ร่าง กม.ภาษีที่ดินฯ” คลอดช้า ด้าน “พีระศักดิ์” ปัดเตะถ่วง คาดสิ้นเดือนพ.ย.นัดถกวาระ 3
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กเพจ ‘Land Watch Thai จับตาปัญหาที่ดิน’ โพสต์แสดงความเห็น เรื่อง “เปิดที่ดิน สนช. คนชี้ขาด ภาษีที่ดิน” ใจความว่า การพิจารณากฎหมาย “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. …” ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในขณะนี้ ที่กำลังอยู่ในระหว่างการแก้ไขร่างโดยกรรมาธิการ ซึ่งร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นร่างกฎหมายแรกๆ ที่รัฐบาล คสช. ตั้งใจจะบังคับใช้ แต่ต้องมีการเลื่อนประกาศมาเป็นเวลาถึงสองครั้งโดยครั้งนี้คิดว่าน่าจะมีการประกาศใช้ในต้นปี พ.ศ. 2561 แต่ก็มีข่าวมาว่าอาจจะต้องเลื่อนไปอีก เพราะแท้จริงแล้วหาก สนช.มีการรับหลักการของร่าง พ.ร.บ.ใดๆ แล้ว ก็จะมีเวลา 60 วัน ในการแก้ไขหรือปรับปรุงกฎหมาย โดยตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2560 จนถึงขณะนับเป็นเวลาเกือบ 180 วันแล้ว ก็ยังไม่มีวี่แววว่า พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจะเข้าสู่ สนช. ในวาระสุดท้ายวันไหน แต่หากพิจารณาถึงมูลค่าที่ดินทั้งหมดที่ สนช.ได้ถือครองอยู่นั้น ก็อาจจะทำให้เราเกิดคำถามได้ว่า สาเหตุที่ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวยังไม่ไปไหนมาไหนสักทีนั้น เป็นเพราะกฎหมายฉบับนี้จะทำให้สมาชิกใน สนช. เองนั่นแหละที่เป็นผู้เดือดร้อน
ทั้งนี้ Land Watch Thai ได้รวบรวมข้อมูลจากบัญชีทรัพย์สิน ที่ สนช. ต้องแสดงต่อ ป.ป.ช. เราพบว่าสมาชิก สนช. ทั้งหมด 247 คน ในขณะนี้ ครอบครองที่ดินที่มูลค่ารวมกันถึง 9,803,618,528 บาท โดย สนช. ที่ครอบครองที่ดินที่มีมูลค่ามากที่สุดอยู่ที่ 1,197,900,920 บาท และที่น้อยที่สุดคือ 200,000 บาท เฉลี่ยคนละ 42,075,616 บาท นับว่าเป็นมูลค่าที่มหาศาลและก็บอกอยู่เป็นนัยๆ ว่าเจ้าของที่ดินทั้งหลายก็นั่งอยู่ในสภาแห่งนั้น ทั้งนี้ต้องรอดูว่ารูปร่างหน้าตาของ ภาษีฉบับนี้จะออกมาเป็นอย่างไร และจะส่งผลให้ลดการกระจุดตัวของที่ดินได้หรือไม่ ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ www.nacc.go.th/nacc_asset_legis.php
ด้าน นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ… ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ ว่าอยู่ในชั้นการพิจารณาของกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ที่มีนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.การคลัง เป็นประธาน ที่ผ่านมามีการขอขยายเวลาการพิจารณาไปถึงวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้ เนื่องจากมีเนื้อหาและรายละเอียดจำนวนมากจึงต้องใช้ความรอบคอบในการพิจารณา โดยล่าสุด กมธ.วิสามัญ ได้พิจารณาเนื้อหาครบทั้ง 89 มาตราแล้ว ระยะเวลาที่เหลือจะใช้ในการทบทวน ซึ่งคาดว่าก่อนครบกำหนดวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้ กมธ.วิสามัญจะนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ ให้ที่ประชุมใหญ่ สนช.พิจารณาในวาระ 2-3 ต่อไปได้ ส่วนที่การเปิดเผยการถือครองที่ดินของ สนช. ก็ว่ากันไปตามข้อเท็จจริงที่แสดงบัญชีรายการทรัพย์สินไว้กับ ป.ป.ช. ทาง สนช.พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน หากประชาสังคมหรือประชาชนทั่วไปมีข้อมูล ก็สามารถยื่นเรื่องให้ สนช.พิจารณาได้
ด้าน นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ… ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ ว่าอยู่ในชั้นการพิจารณาของกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ที่มีนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.การคลัง เป็นประธาน ที่ผ่านมามีการขอขยายเวลาการพิจารณาไปถึงวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้ เนื่องจากมีเนื้อหาและรายละเอียดจำนวนมากจึงต้องใช้ความรอบคอบในการพิจารณา โดยล่าสุด กมธ.วิสามัญ ได้พิจารณาเนื้อหาครบทั้ง 89 มาตราแล้ว ระยะเวลาที่เหลือจะใช้ในการทบทวน ซึ่งคาดว่าก่อนครบกำหนดวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้ กมธ.วิสามัญจะนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ ให้ที่ประชุมใหญ่ สนช.พิจารณาในวาระ 2-3 ต่อไปได้ ส่วนที่การเปิดเผยการถือครองที่ดินของ สนช. ก็ว่ากันไปตามข้อเท็จจริงที่แสดงบัญชีรายการทรัพย์สินไว้กับ ป.ป.ช. ทาง สนช.พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน หากประชาสังคมหรือประชาชนทั่วไปมีข้อมูล ก็สามารถยื่นเรื่องให้ สนช.พิจารณาได้