วันศุกร์, มิถุนายน 01, 2561

มารู้จัก “ครูครอง จันดาวงศ์” นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจากที่ราบสูง เจ้าของวาทะประวัติศาสตร์ “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” ท่านถูกประหารชีวิตด้วยมาตรา 17 ในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2504


...


วาทะประวัติศาสตร์

“ครูครอง จันดาวงศ์” นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจากที่ราบสูง เจ้าของวาทะ “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ”




ครูครอง จันดาวงศ์ (28 มกราคม พ.ศ.2451-31 พฤษภาคม พ.ศ.2504)


โดย กฤษณะ โสภี
31 พฤษภาคม พ.ศ.2561
ศิลปวัฒนธรรม


“เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” หลายคนคงจะคุ้นหูกับวาทะนี้ บางท่านคงรู้ดีว่าเป็นคำกล่าวของ “ครูครอง จันดาวงศ์” นักต่อสู้ทางการเมืองผู้ไม่เห็นด้วยกับระบอบเผด็จการรวมถึงพยายามคัดค้านระบอบนี้อย่างหัวชนฝา บทบาทการต่อสู้ทางการเมืองของ ครูครอง นั้นเรียกได้ว่าเคียงคู่มากับ “ขุนพลภูพาน” เตียง ศิริขันธ์ ส.ส. จากจังหวัดสกลนคร (ถึงแม้จะไม่โดดเด่นเท่า) มาตั้งแต่ก่อตั้งขบวนการเสรีไทยสายอิสานเลยทีเดียว จากนั้นก็เคลื่อนไหวต่อสู้กับระบบอันอยุติธรรมมาตลอดช่วงชีวิต จนครูครองได้รับการขนานนามว่าเป็น “วีรบุรุษแห่งสว่างแดนดิน”

ประวัติ

ครูครอง จันดาวงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2451 ในครอบครัวชาวนาที่ค่อนข้างมีฐานะ ซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร บิดา ชื่อ นายกี จันดาวงศ์ (ต่อมาได้บรรดาศักดิ์เป็นหมื่นศรีภักดี) มารดาชื่อ แม่เชียงวัน ทั้งบิดาและมารดามีเชื้อสายไทยย้อ มีบุตรด้วยกัน 9 คน ครูครองเป็นคนสุดท้อง ในวัยเด็กครูครองนั้นเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดศรีษะเกษใกล้บ้าน จากนั้นได้เรียนโรงเรียนมัธยมที่โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล จนจบชั้นมัธยม จึงไปประกอบอาชีพเป็นครูที่บ้านตาลโกน อำเภอสว่างแดนดิน ต่อมาได้ย้ายมาเป็นครูใหญ่ที่โรงเรียนบ้านบงเหนือ และได้สมรสกับ น.ส.มุกดา ลูกสาวกำนันบ้านบงเหนือ แต่ความสัมพันธ์ไม่ราบรื่น จึงได้หย่าขาดจากกัน ต่อมาได้ย้ายไปเป็นครูอีกหลายโรงเรียน และได้สมรสใหม่กับ น.ส.แตงอ่อน แซ่เต็ง ใน พ.ศ.2480 จนกระทั่งย้ายมาเป็นครูใหญ่ที่โรงเรียนวัดบ้านทรายมูล ตำบลพันนา ในอำเภอสว่างแดนดิน1 จังหวัดสกลนคร



“ขุนพลภูพาน” เตียง ศิริขันธ์ อดีต ส.ส. สกลนคร เสรีไทยสายอีสาน


การต่อสู้ทางการเมือง

ดังที่กล่าวไปแล้วว่า ครูครอง จันดาวงศ์ เป็นอดีตเสรีไทยสายอีสานร่วมกับเตียง ศิริขันธ์ อีกทั่งยังเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร มีการต่อต้านคัดค้านระบอบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมาโดยตลอด เคยถูกจับข้อหาเป็นกบฏแบ่งแยกดินแดนเมื่อปี 2491 และกบฏสันติภาพเมื่อปี 2495 ถูกปล่อยตัวออกมาในช่วงพ.ศ. 2500 ในกรณีนิรโทษกรรมกึ่งพุทธกาล ช่วงที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐประหารโค่นจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีการยุบสถาและเปิดให้มีการเลือกตั้งในปีเดียวกัน ครูครองลงสมัคร ส.ส.ก็ได้เป็น ส.ส.จังหวัดสกลนคร จนกระทั่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อการรัฐประหารครั้งที่สองเพื่อยึดอำนาจใน พ.ศ.2501 พร้อมกับปกครองในระบอบเผด็จการเต็มรูปแบบ ยกเลิกระบอบรัฐสภาและยุติการเลือกตั้ง จากนั้น ก็ได้กวาดล้างปราบปรามนักหนังสือพิมพ์และนักการเมืองฝ่ายค้านจำนวนมาก



จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์


ในตอนแรกนั้นครูครองไม่ได้ถูกกวาดล้างในรอบแรกนี้ ครูครองจึงต้องออกจากส.ส. มาประกอบอาชีพเป็นครูควบคู่กับการทำเกษตรกรและค้าขายที่สกลนคร รวมถึงยังคงทำงานร่วมกับประชาชนเช่นเดิม โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะจัดตั้งให้ชาวนาชาวไร่รวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นสำคัญ ครูครองได้แนะนำการทำเกษตรกรโดยให้ชาวบ้านลงแขกเพื่อช่วยเหลือกันในการทำนา พร้อมกันนั้นเขาก็ได้ต่อต้านอำนาจเผด็จการไปด้วย2

ครูครองและผองเพื่อนมีการจัดตั้งสมาคมลับที่ชื่อ “สามัคคีธรรม” เพื่อทำการต่อต้านอำนาจเผด็จการ และอบรมสั่งสอนประชาชนที่ทุกข์ยากให้รู้จักถึงความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพ ครูครองทำการต่อต้านอำนาจเผด็จการจนกระทั่งถูกล้อมจับในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2504 ท้ายที่สุดก็ถูกคำสั่งประหารชีวิตด้วยมาตรา 17 ของจอมพลสฤษดิ์ โดยไม่มีการไต่สวนพิจารณาคดีแต่อย่างใด ครูครองถูกประหารชีวิตพร้อมกับคูรทองพันธ์ สุทธิมาศ ในวันที่ 31 พฤษภาคม ปีเดียวกัน กล่าวกันอย่างแพร่หลายว่าก่อนที่จะทำการประหารนั้นทหารได้นำตัวครูครองไปพบจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขณะที่ถูกจับครูครองให้สัมภาษณ์ว่า “ผมไม่ถือโทษโกรธตำรวจแต่อย่างไร เพราะต่างคนต่างมีหน้าที่ ขอแต่ให้ดำเนินคดีไปตามตัวบทกฎหมายก็แล้วกัน ผมไม่รู้สึกหวาดหวั่นเลย เพราะถูกจับเสียจนชินแล้ว”3 หลังจากนั้นครูครองกับเพื่อนที่ถูกจับก็ถูกนำตัวส่งเข้าหลักประหาร ก่อนที่จะทำการยิงเป้านั้น เขาได้ฝากวาทะสำคัญอันลือเลื่องไว้ก็คือ “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” จบประโยคกระสุนก็รัวใส่ร่างของครูครองจนสิ้นชีพ เป็นอันสิ้นสุดบทบาทของวีรบุรุษสว่างแดนดินแต่บัดนั้น



ครูครอง จันดาวงศ์ ขณะถูกนำตัวเข้าหลักประหาร


รัฐบาลกล่าวอ้างการประหารชีวิตครูครองในครั้งนี้ว่า เป็นการก่อการกบฏต่อความมั่นคงของราชอาณาจักรและราชบัลลังก์ เพื่อป้องกันมิให้เป็นตัวอย่างในการกระทำผิดชนิดนี้ต่อไปภายหน้า เจ้าหน้าที่จึงได้ดำเนินการประหารชีวิต4 กล่าวว่าปลายปี 2504 จิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งขณะนั้นอยู่ในคุกลาดยาว ได้แต่งเพลง “วีรชนปฏิวัติ”5 ขึ้น จากความรู้สึกประทับใจในการต่อสู้ของครูครอง จันดาวงศ์ และในเวลาต่อมาเพลงนี้ก็ยังได้รับการเผยแพร่และขับร้องกันสืบมาในขบวนการของฝ่ายประชาชน

ถึงแม้ว่า ครูครอง จันดาวงศ์ จะจากโลกนี้ไปแล้ว แต่คำกล่าวขานถึงการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยยังคงครุกรุ่นอยู่เสมอ พร้อมกับประโยคทองของครูครองที่จะเป็นอมตะตลอดไป ตราบใดที่เผด็จการยังคงรู้สึกสง่างามกับอำนาจบาตรใหญ่ของเขา 
 
เชิงอรรถ

1 100 ปี ครูครอง จันดาวงศ์ ศรัทธายังมั่น เสมอจนสิ้นใจ. เข้าถึงได้ที่ http://oknation.nationtv.tv/blog/prachachon/2008/02/03/entry-1

2 จากยอดโดมถึงภูพาน : บันทึกประวัติศาสตร์ฉบับสามัญชนบนเส้นทางประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ : สถาบันการเมือง. หน้า105.

3 อ้างจาก ครอง จันดาวงศ์ (2451-2504) เข้าถึงได้ที่ http://www.noknight.com/data_files/col_noknight_klong.htm

4 ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. (2552). การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ. กรุงเทพฯ : โครงการตำราฯ. หน้า 268.

5 จิตร ภูมิศักดิ์ – วีรชนปฏิวัติ เพลง (เผยแพร่ในยูทูป)

อ้างอิง

หนังสือ

ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์. การเมืองสองฝั่งโขง. กรุงเทพฯ : มติชนการพิมพ์, 2546.

เสถียร จันทิมาธรและขรรค์ชัย บุนปาน (2526). กองทัพบกกับประเทศไทย. กรุงเทพฯ: มติชน.

จากยอดโดมถึงภูพาน : บันทึกประวัติศาสตร์ฉบับสามัญชนบนเส้นทางประชาธิปไตย. กรุงเทพ : สถาบันการเมือง.

ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. (2552). การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ. กรุงเทพ : โครงการตำราฯ.

วิชิตร วงศ์ ณ ป้อมเพชร. (2546). ตำนานเสรีไทย. กรุงเทพ:แสงดาว.

สื่อวิดิทัศน์ และเว็บไซต์

วีรบุรุษสว่างแดนดิน “ครูครอง จันดาวงศ์”

จอมพลสฤษดิ์ ขุนศึกคู่พระทัย

จุดจบเผด็จการสฤษดิ์กับการอุ้มฆ่าประชาชน เว็บไซต์ เข้าถึงได้ที่http://www.manager.co.th/mwebboard/listComment.aspx?QNumber=156854&Mbrowse=9

100 ปี ครูครอง จันดาวงศ์ ศรัทธายังมั่น เสมอจนสิ้นใจ. เว็บไซต์ เข้าถึงได้ที่http://oknation.nationtv.tv/blog/prachachon/2008/02/03/entry-1

ครอง จันดาวงศ์ (2451-2504) เข้าถึงได้ที่ http://www.noknight.com/data_files/col_noknight_klong.htm