วันอังคาร, ตุลาคม 03, 2560

ใจ อึ๊งภากรณ์ : สุธาชัยที่ผมรู้จักเป็นนักสังคมนิยม





สุธาชัยที่ผมรู้จักเป็นนักสังคมนิยม

OCTOBER 1, 2017
TURNLEFTTHAI


โดย ใจ อึ๊งภากรณ์

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เป็นนักสังคมนิยมปฏิวัติจนถึงวันตาย นี่คือจุดเด่นของเขาที่ผมปลิ้มที่สุด แน่นอนมนุษย์ทุกคนมีหลายด้าน และสุธาชัยก็คงไม่ต่างออกไป

นอกจากนักสังคมนิยมแล้วเขาเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เป็นเสื้อแดง เป็นนักประวัติศาสตร์ และเป็นคนชอบใส่รองเท้าแตะ เขาคงเป็นอะไรอีกมากมายที่ผมไม่รู้ เพราะเขาคงเป็นมนุษย์เต็มตัวที่มีความหลากหลายรอบด้าน

แต่ในขณะนี้ผมและสหายหลายคงกำลังกังวลว่าความเป็นนักสังคมนิยมปฏิวัติของสุธาชัยกำลังถูกลืมโดยคนที่ต้องการบิดเบือนจุดยืนของเขา บางคนกระทำไปแบบนี้เพื่อให้ความชอบธรรมกับการเปลี่ยนจุดยืนของตนเอง ในขณะที่สุธาชัยจริงๆ แล้วไม่ได้เปลี่ยนจุดยืน

เลนิน ในย่อหน้าแรกของหนังสือ “รัฐกับการปฏิวัติ” เคยเขียนว่า “ในเวลาที่บรรดานักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่มีชีวิตอยู่ ชนชั้นปกครองและพรรคพวกพากันจองล้างจองผลาญพวกเขามิรู้หยุดหย่อน ต้อนรับคำสอนของพวกเขาด้วยความมุ่งร้ายอย่างป่าเถื่อน และความจงเกลียดจงชังอย่างเข้ากระดูกดำ พร้อมกับรณรงค์ใส่ร้ายป้ายสีอย่างไร้หิริโอตัปปะ ทว่าพอพวกเขาตายไปกลับบังเกิดความพยายามที่จะเนรมิตพวกเขาให้เป็นรูปเคารพที่ไร้พิษสง สวมคราบนักบุญให้กับพวกเขา ขณะเดียวกันก็กลับบั่นทอนสารัตถะแห่งคำสอนปฏิวัติ ทำให้คมปฏิวัติแห่งคำสอนบิ่นทื่อ”

ขณะนี้อาจมีคนที่มีพฤติกรรมต่อสุธาชัย อย่างที่เลนินเคยบรรยาย

ผมรู้จักสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ก่อนที่ผมจะกลับไปสอนหนังสือที่ไทย เพราะผมอ่านหนังสือประวัติศาสตร์การเมืองไทยเล่มหนึ่งของเขา ซึ่งผมจำชื่อไม่ได้แล้ว และผมไม่ได้เอาติดตัวผมไปตอนที่ต้องย้ายบ้านจากไทยกระทันหันเมื่อแปดปีก่อน แต่เมื่อเขาติดต่อกับผมที่อังกฤษตอนนั้น ผมตื่นเต้นที่จะพบเขา และชวนมาที่บ้านที่ออคซ์ฟอร์ด เพื่อมาคุยกัน

สิ่งหนึ่งที่ผมแปลกใจเกี่ยวกับสุธาชัยตอนเขามาเยี่ยมผมเป็นครังแรกคือเขาใส่รองเท้าแตะและมีความเรียบง่ายเป็นกันเอง การใส่รองเท้าแตะในอังกฤษเป็นเรื่องน่าแปลกใจด้วยเพราะอากาศมันหนาว ตอนนั้นเขาเล่าให้ผมฟังว่าเขามาเรียนหรือวิจัยที่อังกฤษและโปรตุเกส และตอนอยู่อังกฤษเขาสมัครเป็นสมาชิก “พรรคสังคมนิยมกรรมาชีพ” (Socialist Workers Party) ที่อังกฤษ ซึ่งเป็นพรรคมาร์คซิสต์สายตรอทสกี้ และผมก็เป็นสมาชิกพรรคนี้มาตั้งแต่ปี 1977 หลังเหตุการณ์ ๖ ตุลา ด้วย เพราะตอนนั้น

ผมเป็นนักศึกษาที่อังกฤษ ทุกวันนี้ผมก็เป็นสมาชิกพรรคนี้ และพอมาเมืองไทยและมาสอนที่จุฬาฯ ผมก็มีส่วนในการก่อตั้ง “กลุ่มประชาธิปไตยแรงงาน” และ “เลี้ยวซ้าย”



สหายยิ้มกับสหายวิภา


สิ่งที่น่าปลื้มเกี่ยวกับสุธาชัยคือ เขาเป็นนักสากลนิยม อยู่ประเทศไหนก็เข้ากับพวกสังคมนิยมที่นั้น ทั้งๆ ที่สุธาชัยเป็นนักสังคมนิยมแบบพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยสายเหมาเจ๋อตุง ซึ่งไม่น่าจะเข้ากับสังคมนิยมสายตรอทสกี้ได้ แต่เขามองว่าควรจะสามัคคีฝ่ายซ้ายไปก่อน

เมื่อผมย้ายมาสอนที่รัฐศาสตร์จุฬาฯ ผมได้รู้จักสุธาชัยมากขึ้น เพราะเขาสอนที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน และที่รู้จักกันดีคือผ่านการทำงานร่วมกันในการชำระประวัติศาสตร์เหตุการณ์นองเลือด ๖ ตุลา ๒๕๑๙ สุธาชัยกับผมมีอุดมการณ์ร่วมในเรื่องนี้ เพราะเราทั้งสองเป็นนักสังคมนิยม และเราชัดเจนว่าชนชั้นปกครองไทยก่ออาชญากรรมรัฐ ๖ ตุลา เพื่อพยายามกำจัดแนวสังคมนิยมออกจากสังคมไทย แต่ในเรื่องรายละเอียดว่าสังคมนิยมหมายความว่าอะไร สุธาชัยก็คงเส้นคงวาปกป้องแนวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย รวมถึงแนวเหมาเจ๋อตุง ในขณะที่ผมชัดเจนว่าเป็นแนวตรอทสกี้ หนังสือที่เราผลิตร่วมกันชื่อ “อาชญากรรมรัฐในวิกฤติการเปลี่ยนแปลง” โดยคณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เขียนโดย ใจ อึ๊งภากรณ์ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ (๒๕๔๔)





แนวทางการเมืองของตรอทสกี้จะเน้นพลังชนชั้นกรรมาชีพที่ควรจะเป็นหัวหอกในการต่อสู้ และจะต่อต้านความเป็นเผด็จการของสตาลินอีกด้วย ส่วนแนวทางการเมืองของ พคท. จะเห็นด้วยกับสตาลิน และเน้นกองกำลังติดอาวุธของชาวนา [อ่านเพิ่ม http://bit.ly/2vbhXCO ]

ในช่วงวิกฤตการเมืองไทยหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยา ผมกับสุธาชัย และประชาชนนับล้านก็อยู่ฝ่ายเดียวกันอีก คืออยู่ฝ่ายเสื้อแดงเพื่อประชาธิปไตย และผมก็ไปฟังเขาพูด และร่วมพูดกับเขาในเวทีเดียวกันหลายครั้ง นั้นเป็นอีกจุดร่วมที่เรามี แต่ในเรื่องของท่าทีต่อทักษิณ ผมกับเขาอาจต่างกันบ้าง เพราะผมไม่เคยสนับสนุนทักษิณ และไม่เคยสนับสนุนพันธมิตร ในช่วงหลังรัฐประหารสุธาชัยสนับสนุนทักษิณแต่ไม่ได้สนับสนุนทักษิณโดยไม่มีเงื่อนไขเพราะก่อนหน้านั้นเขาเคยขึ้นเวทีพันธมิตรก่อนที่จะถอนตัวออก เนื่องจากเขาชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการเรียกร้องให้ใช้มาตรา ๗

แต่ในเรื่องการต้านเผด็จการทหารสุธาชัยชัดเจนมาก

หลังถูกทหารของประยุทธ์เรียกเข้าค่ายเพื่อพยายาม “ปรับทัศนคติ” หรือข่มขู่แบบสามัญนั้นเอง สุธาชัยเขียนว่า “ผมก็ยืนยันว่า ผมไม่ได้ต้านรัฐประหารเฉพาะครั้งนี้ การรัฐประหารตั้งแต่ 6 ตุลา 2519 เป็นต้นมา ผมไม่เคยเห็นเลยว่าจะแก้อะไรได้ มีแต่จะยิ่งขยายปัญหามากขึ้นทุกครั้ง ปัญหาบ้านเมืองคลี่คลายด้วยประชาธิปไตยทั้งนั้น”

ผมไม่สามารถอ้างว่าผมรู้จักเขาเป็นส่วนตัวดีกว่าคนอื่นได้ จริงๆ ผมไม่ใช่เพื่อนสนิทของเขา แต่ผมสามารถพูดได้ว่าสุธาชัยเป็นคนมารยาทงดงาม อาจดีกว่าผมด้วย และเขาเป็นคนไม่ถือตัว น่ารัก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นที่สำคัญที่สุดคือเขามีอุดมการณ์เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ คือมีอุดมการณ์สังคมนิยม และต่อต้านเผด็จการทหาร

เราเสียสหายคนน่ารักของเราไปอีกคนหนึ่งแล้ว คนรุ่นใหม่คงต้องต่อสู้ต่อไปเพื่อรักษาอุดมการณ์สังคมนิยม ประชาธิปไตย และความเท่าเทียม


ooo


เมื่อวานหลังได้รับแจกหนังสืองานศพ อ.ยิ้ม เราก็ลองเปิดอ่านดู เจอ 3 บรรทัดแรกก็รู้สึกสะอึกและจุกขึ้นมาทันที อาจารย์เขียนไว้ว่า

"...วันนี้ เป็นวันที่ 2 กันยายน พ.ศ.2560 ขณะเขียนอยู่นี้ ผมอายุได้ 61 ปี และกำลังถูกคุกคามด้วยโรคมะเร็ง และคงมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นานนัก จึงเขียนบันทึกนี้ [...] แต่ไม่รู้ว่าโรคร้ายจะรุมเร้า และมีเรี่ยวแรงเขียนได้แค่ไหน..."

ผมมานั่งคิดดู ความรู้สึกนั้นจะเป็นอย่างไร ถ้าเป็นเราเราจะรู้สึกอย่างไร เราจะทำแบบนี้ได้ไหม ที่ต้องมานั่งเขียนบอกคนอื่นและบอกตัวเองว่า "ชีวิตนี้จะอยู่ได้อีกไม่นาน" ถ้าเป็นผมผมคงไม่มีกระจิตกระใจทำอะไรแม้แต่นั่งยิ้มรับอนาคตอันใกล้ที่ผมไม่อยากเจอมันเลย ผมคิดว่าใครที่ทำแบบนี้ได้คงต้องมีความรักและความแข็งแกร่งจริงๆ คือความรักในวิชาชีพ และความแข็งแกร่งของจิตใจ เหมือนปี 2535 พุ่มพวงอัดเสียงตัวเองร้องเพลงก่อนเสียชีวิต 2560 อ.ยิ้มนั่งเขียนหนังสือให้ตัวเองก่อนเสียชีวิต (หนังสือเขียนก่อนอาจารย์เสียชีวิตเพียง 20 กว่าวันเอง) เพราะนั้นคือวิชาชีพที่ท่านทั้งสองรัก ผมต้องนับถือความความรัก ความเข้มแข็ง และความแข็งแกร่งของอาจารย์จริงๆ

ตอนนั่งร่วมในงาน ผมชอบคำกล่าวไว้อาลัยของอาจารย์หรือใครสักท่านหนึ่งผมจำชื่อไม่ได้ โดยที่กล่าวว่า "...ผมคิดว่าอาจารย์ไม่รู้สึกเสียดายอะไรหรอกที่ต้องจากโลกนี้ไป แต่ผมคิดว่าโลกต่างหากที่ควรจะเสียดายต่อการจากไปของอาจารย์..." ฟังแล้วประทับใจจริงๆ ครับ

Nattapong Doungkaew