วันจันทร์, ตุลาคม 09, 2560

ถามกันแซ่ด บริจาคซื้ออุปกรณ์แพทย์เข้าโรงพยาบาลนี่ 'หน้าที่' ประชาชนหรือรัฐบาล

เมื่อกลางอาทิตย์ที่แล้ว หลังกลับจากอเมริกาหมาดๆ บิ๊กตู่เปิดแถลงข่าว ตัดพ้อว่าถูกโจมตีหลายด้าน ทำให้ยิ่งเข้มแข็งขึ้น “การทำความดีไม่ค่อยได้ประโยชน์อะไรในบ้านเมืองนี้ จะต้องถูกขัดขวางเป็นธรรมดา”

นักข่าวก็ช่างซักไซร้จี้ต่อมฉุนได้ชงัด ถามเรื่องการใช้อำนาจพิเศษ ม.๔๔ นายกรัฐมนตรีจากการยึดอำนาจ ซัดกลับ “ทำไมจะต้องต่อต้านสิ่งที่เขาต้องการให้มันดีกว่าเดิม เขาไม่เอาไปรังแกใครหรอก แล้วที่ผ่านมามันทำดีกันหรือยัง ถ้ามันดีพอแล้วผมจะได้เลิก อำลาไป”

หัวหน้ารัฐประหารไทยที่ใครๆ ไม่เคยเชื่อว่าจะลงจากหลังเสือแล้วปล่อยให้กระบวนการเลือกตั้งสรรสร้างรัฐบาลจากอาณัติของประชาชนจริงจัง ทำเป็นอ้อน “คิดว่าผมจะทนหรือ ที่ผมจะอยู่กับประเทศที่ล้มเหลวขนาดนั้น ผมก็ไปไหนของผม พอแล้ว”

หลังจากทำปากหวานก้นขม ชื่นชมว่าประธานาธิบดีสหรัฐเป็นเพื่อนแท้ มีความจริงใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่วายแอบอ้าง “จากการที่เราไปต่างประเทศ เขาก็เข้าใจเรามากขึ้น”

รวมความยังคงใช้วาทกรรมอย่างเดิมๆ อิงแอบนักกฎหมายบริกรอย่างนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เรื่องยุบสภา “ใครตอบได้ไหมถ้า ๖ เดือนเลือกนายกฯไม่ได้ จะทำอย่างไรต่อไป บ้านเมืองเดินหน้าได้ไหม ไม่มีรัฐบาลมันอยู่ได้ไหมประเทศไทย”

แล้วทั้งหมดก็ไปลงอยู่กับข้ออ้างสำเร็จรูป “ผมพยายามทำทุกอย่างให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม”


มันช่างตลกร้ายขำไม่ออกอะไรเช่นนั้น เมื่อคำนึงถึงปรัชญาการเมืองของเอล็กซิส เดอ ท้อคเกวิลล์ ชาวฝรั่งเศส ซึ่งกล่าวถึงประชาธิปไตยสำหรับอเมริกาเอาไว้ในศตวรรษที่ ๑๗

นักกฎหมายกับอำนาจบริหารมีความสัมพันธ์สอดคล้องต้องกันมากกว่านักกฎหมายกับประชาชน

(ขอบคุณอาจารย์ ปิยบุตร แสงกนกกุล ที่กรุณาคัดบางตอนพร้อมคำแปลภาษาไทย ลงไว้บนหน้าเฟชบุ๊ค https://www.facebook.com/piyabutr2475/posts/10154901611740848)

สิ่งที่นักกฎหมายชอบมากที่สุดเหนือสิ่งอื่นใด คือ ระเบียบ และสิ่งที่จะรักษาระเบียบได้ คือ อำนาจ เราต้องไม่ลืมว่า นักกฎหมายอาจเห็นความสำคัญของเสรีภาพ แต่โดยทั่วไปความชอบด้วยกฎหมายก็อยู่เหนือเสรีภาพ

นักกฎหมายหวั่นเกรงทรราชย์น้อยกว่าอำนาจอำเภอใจ เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติตรากฎหมายบั่นทอนอิสรภาพของประชาชน พวกเขาจะค่อนข้างพอใจ

นอกจากอำนาจกฎหมาย ‘Rule BY Law’ ที่ คสช. ใช้อำนาจกฎหมายบั่นทอนอิสรภาพของประชาชน (ที่ไม่ยอมคล้อยตามผู้ปกครอง) โดยตรงแล้ว ยังมีอำนาจกฎหมายจำบัง ในนามของยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศทางเศรษฐกิจ ที่ คสช. เรียกมันว่า ประชารัฐ

ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ยิ่งขึ้นในขณะนี้ว่าทหารผู้ปกครองร่วมมือกับนักกฎหมายชนชั้นนำ และนายทุนใหญ่เจ้าของกิจการครบวงจรไม่กี่ราย ทำมาหากินกันบนหลังประชาชน

จากการที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญทำการรณรงค์ “เรียกร้องให้รัฐบาลหยุดเอื้อประโยชน์ธุรกิจให้เจ้าสัวผ่านบัตรคนจน” เขากล่าวว่า

“การดำเนินโครงการดังกล่าว กลับเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มธุรกิจ เจ้าสัว นายทุนใหญ่เจ้าของสินค้าอุปโภค-บริโภคขนาดใหญ่ที่ส่งผ่านสินค้าไปยังตัวแทนผู้จำหน่ายในรูป ร้านธงฟ้าประชารัฐ แทบทั้งสิ้น ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ก็จะมาจากบริษัทใหญ่ไม่กี่ราย”



โครงการดังกล่าวจัดทำบัตรเครดิตให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อย ต่ำกว่า ๓ หมื่นบาทต่อปี วงเงินในบัตรสำหรับใช้ซื้อสินค้าจากร้าน ธงฟ้าเดือนละ ๓๐๐ บาท ผู้มีรายได้สูงกว่า ๓ หมื่นถึง ๑ แสนบาท ได้เดือนละ ๒๐๐ บาท เป็นต้น

เมื่อปลายเดือนที่แล้ว กระทรวงพิชย์เปิดบริการ ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐเคลื่อนที่๓๖๕ หน่วย โดยแต่ละหน่วยอาจมีรถสินค้ามากกว่า ๑ คัน จะกระจายไปตามตำบลต่างๆ ทั่วประเทศ ๒ พันแห่ง แต่ละคันบรรจุสินค้ามากกว่า ๓๐๐ รายการ

ทว่าสินค้าเหล่านั้นมาจากผู้ผลิตอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่ไม่กี่ราย ได้แก่ สหพัฒนพิบูล, P&G, เบอร์ลี่ ยุคเกอร์, ยูนีลีเวอร์ไทย, ไทยฟู้ดแคนนิ่ง, ทวีชัย ฟู้ด, พูนสินทั่งง่วน ฮะ ฯลฯ เป็นต้น ดังองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญระบุว่า

“ขณะที่สินค้าจากชาวบ้าน สินค้า SME จากกลุ่มผู้ผลิตในท้องถิ่นผู้ผลิตขนาดเล็กและขนาดย่อม ที่ไม่มีไลน์ธุรกิจที่สามารถดีลซื้อขายกับร้านค้าที่กรมการค้าภายใน-กรมบัญชีกลางกำหนดได้ ก็จะไม่สามารถขายสินค้าของตนเองได้เลย

ดังนั้นเงินหลวงที่รัฐบาลอ้างว่าช่วยเหลือคนจนก็จะไหลเข้าบริษัทใหญ่หรือกลุ่มเจ้าสัวที่ยืนอยู่ข้างหลังรัฐบาลเท่านั้น”

มิหนำซ้ำการกระทำคุณประโยชน์สาธารณะแบบจิตอาสาของดารานักร้องที่โด่งดังคนหนึ่ง กำลังเป็นที่ชื่นชมในทางสังคมล้นหลาม จนทำให้ประชาชนสำคัญผิดในข้อเท็จจริงว่า

การวิ่งทางไกลเพื่อขอบริจาคประชาชนคนละ ๑๐ บาท สมทบเป็นกองทุนจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์แก่โรงพยาบาล นั้นเป็น หน้าที่ ของประชาชน ไม่ใช่ของรัฐบาล


คอมเม้นต์จากเพจ อาณาจักรไบกอน Returnsว่าไว้ตรงต่อความจริงเผง “เห็นด้วยกับเจตนาดีพี่ตูน (นายอาทิวราห์ คงมาลัย) นะที่คิดจะทำเพื่อประชาชนหาเงินซื้อเครื่องมือแพทย์ให้กับโรงพยาบาลต่างๆ

แต่แปลกใจไอ้งบประมาณเหล่านี้ตั้งมากมายตามทบวงกรมต่างๆ บางหน่วยงานก็ใช้งบไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร ทำไม? ไม่ตัดงบพวกนี้สักคนละร้อยสองร้อยล้านว่ะ”

อีกราย Boeing @b969 เขียนไว้บนทวิตเตอร์ “เห็นเจตนารมย์พี่ตูนแล้วซึ้งใจ แต่มันสะท้อนความล้มเหลวของการจัดสรรงบประมาณรัฐบาลที่ไม่เพียงพอด้านสาธารณสุข แต่ไปเน้นด้านอาวุธยุทโธปกรณ์”


เหล่านี้มันย้อนไปถึงกรณีที่นักข่าวถามให้บิ๊กตู่ฉุน เรื่องโดนโจมตีหลายด้าน ด้านหนึ่งคือไปอเมริกาทั้งทีซื้อของไม่จำเป็นติดมือมาเพียบ

หัวหน้า คสช. จับจ่ายใช้งบประมาณของรัฐซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่ “ให้ทันสมัย” ทั้งที่ผ่านมาอาวุธเหล่านี้ใช้สำหรับปราบปรามประชาชนเป็นหลัก อย่างดีก็ไว้เสี้ยมสอนเยาวชนให้นิยมการใช้กำลัง ตั้งอวดกันในวันเด็กเท่านั้น