วันพฤหัสบดี, กันยายน 07, 2560

หากไม่มีการรัฐประหารปี 49 ทักษิณจะยังมีคนรักอยู่หรือไม่? หากไม่มีภาวะสองมาตรฐาน คนรักทักษิณจะยังมีอยู่หรือไม่? - 4 เรื่อง ทำไมทักษิณจึงไม่หายไปไหน? - Ispace Thailand





4 เรื่อง ทำไมทักษิณจึงไม่หายไปไหน?


BY SARA BAD
ON SEPTEMBER 6, 2017
ispace thailand


หากไม่มีการรัฐประหารปี 49
ทักษิณจะยังมีคนรักอยู่หรือไม่?
หากไม่มีภาวะสองมาตรฐาน
คนรักทักษิณจะยังมีอยู่หรือไม่?

เห็นผลโพลสำรวจความคิดเห็นประชาชน เนื่องในโอกาสครบรอบ 19 ปี ของสถาบันพระปกเกล้า ระหว่างวันที่ 24 เม.ย.-15 พ.ค.ซึ่งจัดทำรวมกับกระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและสำนักงานสถิติแห่งชาติ จากการสุ่มตัวอย่างประชาชนทั่งประเทศ อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป(วัยเลือกตั้ง) ซึ่งมีตัวอย่างกว่า 33,420 คน ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่สูงมากเมื่อเทียบกับสำนักโพลทั่วไป ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนไม่น้อยในวงการการเมือง เพราะได้พูดถึงคะแนนความเชื่อมั่นสูงสุดของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และคนที่ได้คะแนนสูงสุดในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาเป็นทักษิณ ชินวัตร ร้อยละ 92.9 ในปี 2546 แต่ลดลงมาเหลือ 77.2 % ในปี 2549 ก่อนมีการรัฐประหาร ตามด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ 87.5 % ในปี 2558 ซึ่งเป็นหนึ่งปีหลังรัฐประหาร โดยความนิยมลดลงมาเล็กน้อยใน 2 ปีถัดมาที่ 84.6 % และ84.8 % และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้รับความนิยมสูงสุดในปี 2555 คือ 69.9 % แต่ตกลงมาเหลือ 63.4 % ในปี 2556-2557[1]

คำถามสำคัญของโพลดังกล่าวอยู่ที่ทำไมทักษิณ ชินวัตร ถึงได้คะแนนสูงสุดในช่วงปี 2546 และทำไมทุกการเลือกตั้งหลังจากการรัฐประหารปี 2549 ดูเหมือนว่าพรรคทักษิณจะชนะการเลือกตั้งเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชาชน ได้นายสมัคร สุนทรเวช,สมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อด้วยถูกปล้นอำนาจในสภาและจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหารได้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี และจัดให้มีการเลือกตั้ง ก็ได้พรรคทักษิณ ที่มีน้องสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้ง ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอีก สรุปคือ หากมีการเลือกตั้งก็มีความเป็นไปได้ที่พรรคของทักษิณจะชนะการเลือกตั้งอีกและได้บริหารประเทศอีก(หากอยู่ในกติกาที่ยุติธรรม) เรียกได้ว่าพรรคที่มาจากการเลือกตั้งตั้งแต่ปี 2543 ถึงปัจจุบัน 17 ปี มีการเลือกตั้ง 4 ครั้ง มีการรัฐประหาร 2 ครั้ง ล้วนมีชื่อทักษิณไปเกี่ยวข้องด้วยทั้งสิ้น

ทำไมทักษิณจึงมีอิทธิพลต่อการเมืองไทยสูงและประชาชนให้การยอมรับ(ดูจากคะแนนเสียงการเลือกตั้ง) ทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน คงเป็นเรื่องที่ตอบได้ยาก แต่ 5 เรื่องนี้คงพอจะตอบคำถามของหลายคนได้ว่าทำไมคนจึงรักทักษิณ ดังนี้

1.เจ้าพ่อคอร์รัปชั่น?

เวลาเรากล่าวถึงการคอร์รัปชั่น เรามักจะพูดถึงการคอร์รัปชั่นที่เป็นตัวเงิน โดยหลงลืมไปว่ายังมีการคอร์รัปชั่นเชิงอำนาจอีกด้วย และทักษิณก็มักจะถูกพูดถึงการคอร์รัปชั่นในเชิงตัวเงินปริมาณมหาศาล ซึ่งหลายคนก็มักให้ความสำคัญในส่วนนี้ และวิพากษ์วิจารณ์ทักษิณไปต่างๆนานา ซึ่งก็ไม่ผิดเพราะเป็นครรลองประชาธิปไตยอยู่แล้ว ก็ว่าไปทั้งในทางการเมืองและในทางกฎหมายว่าทักษิณผิดอย่างไร ในเรื่องการคอร์รัปชั่น แต่ส่ิงที่ฉุดรั้งเรื่องนี้ในยุคที่ทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี คือ มีการชุมนุมเรียกร้องให้ทักษิณลาออกจากตำแหน่ง(ซึ่งถูกต้องตามหลักครรลองประชาธิปไตย) แต่พอมีการเสนอมาตรา 7 และเรียกร้องให้ทหารออกมารัฐประหาร และการรัฐประหารครั้งนั้น(19 ก.ย.2549) ได้เปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยจนถึงปัจจุบัน การรัฐประหารครั้งนั้นคือการคอร์รัปชั่นอำนาจครั้งใหญ่ เพราะเป็นการปล้นอำนาจจากประชาชนโดยการรู้เห็นของประชาชนบางกลุ่ม ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่เลือกทักษิณมาเกิดคำถามขึ้นว่าทำไมถึงยึดอำนาจทักษิณ? เมื่อเราได้ทักษิณมาด้วยวิถีของประชาธิปไตย การเอาทักษิณก็ควรเอาออกด้วยวิถีประชาธิปไตยสิ? หากไม่มีรัฐประหารครั้งนั้น ทักษิณคงถูกตรวจสอบด้วยกระบวนการศาล และกระบวนการทางการเมือง ทั้งในสภาและนอกสภา และคงหมดอำนาจไปนานแล้วเพราะการบริหารคงพังไม่เป็นท่า และคงถูกเรียกว่า “เจ้าพ่อคอร์รัปชั่นเพียงหนึ่งเดียว” แต่เรื่องกลับไม่เป็นอย่างนั้นเพราะคำว่าคอร์รัปชั่นมันก็มีอยู่ทุกที่หากอำนาจมันล้นเกิน ทั้งรัฐบาลพลเรือนและรัฐบาลทหาร โดยจากผลสำรวจรัฐบาลทหารคอร์รัปชั่นมากกว่ารัฐบาลพลเรือนเสียอีก[2] แต่ทำไมทักษิณจึงโดนคนเดียว(ความรู้สึกของคนเชียร์ทักษิณ)

2.สภาวะสองมาตรฐานในสังคมไทย


ตลอดระยะเวลากว่า 11 ปี หลังการรัฐประหาร 2549 เราได้เห็นความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ประชาชนถูกแยกเป็นสองฝ่าย มีขบวนการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ต้องการการเลือกตั้ง อย่างเสื้อแดง นักการเมืองเลือกตั้งเพื่อไทย กลุ่มก้าวหน้า และฝ่ายที่ต่อต้านทักษิณทุกวิถีทางไม่ว่าจะตามครรลองประชาธิปไตยหรือไม่ก็ตาม อย่างเสื้อเหลือง ประชาธิปัตย์ ข้าราชการและคนมีสี และระบบยุติธรรม ฯลฯ ซึ่งตลอดระยะที่ผ่านมาคำว่าสองมาตรฐานได้เกิดขึ้น เพื่ออธิบายถึงความเป็นไปของระบบการเมืองที่เลือกปฏิบัติระหว่างขั้วขัดแย้งสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งทำอะไรก็ไม่ผิด ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งแค่กระดิกตัวก็ผิดแล้ว ซึ่งดูเหมือนว่าสองมาตรฐานจะถูกพูดในหมู่เสื้อแดงเพื่ออธิบายกลุ่มตนว่าทำอะไรก็ผิด? ทั้งกระบวนการยุติธรรมไล่ไปจนถึงกระบวนการการเมือง อย่างเรื่องการสลายการชุมนุมจนเป็นเหตุให้ประชาชนล้มตายกว่า 93 ศพ และบาดเจ็บกว่า 2,000 คน ตอนนี้คนทำผิดก็ยังลอยหน้าลอยตาในสังคมอย่างอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสุเทพ เทือกสุบรรณ ล่าสุดศาลก็ยกฟ้อง หรือจะเป็นการตัดสินคดียิ่งลักษณ์ ว่าปล่อยปะละเลยให้เกิดการคอร์รัปชั่นในนโยบายจำนำข้าว การให้องค์กรอิสระทำงานเฉพาะกลุ่ม ทำให้ประชาชนทั่วไปรู้สึกว่าภาวะสองมาตรฐานนี้ไม่ยุติธรรม และเมื่อมองย้อนกลับถึงทักษิณ จึงเกิดคำถามที่ว่า “ทักษิณผิดอะไร” และก็ได้แต่ตอบตัวเองว่า เพราะภาวะสองมาตรฐานทำดำรงอยู่ ทักษิณจึงผิด

3.แนวนโยบายที่กินได้ และเศรษฐกิจที่ดี

“หากเปรียบการเมืองไทยเป็นแท่งไอติม กว่างบประมาณจะไปถึงชาวบ้านก็มีการเลียกินไอติมจากฝ่ายบริหาร ลงมาที่ ส.ส.ข้าราชการ องค์กรท้องถิ่น ซึ่งกว่าจะถึงชาวบ้านเหลือแต่แท่งไอติม” นี้คือคำนิยามของคนทั่วไปที่อธิบายเรื่องการเมืองไทยในอดีต ซึ่งทักษิณเปลี่ยนมัน โดยยังเหลือไอติมให้ชาวบ้านได้กินบ้าง แม้ไม่มากแต่ก็มีให้(ซึ่งบางคนก็มองว่าได้กินเต็มแท่งตามแนวนโยบายของทักษิณ) การทำแนวนโยบายให้เป็นรูปธรรมเกิดขึ้นในยุคทักษิณอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นนโยบายสาธารสุข 30 บาท รักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน OTOP ฯลฯ แม้ว่าหลายฝ่ายจะมองว่านโยบายยุคทักษิณเป็นนโยบายประชานิยม เพื่อเรียกคะแนนเสียง แต่มันเห็นผลจริงในมุมมองชาวบ้าน ซึ่งหลายนโยบายก็ยังปฏิบัติกันในปัจจุบัน จนกระทั่งรัฐบาลทหาร คสช.พยายามเปลี่ยนมัน เช่น ยกเลิกรถไฟฟรี เมล์ฟรี น้ำฟรี ไฟฟรี ฯลฯ(อาจเป็นเพราะเป็นแนวคิดทักษิณจึงอยากเปลี่ยน) ซึ่งนโยบายที่กินได้ของทักษิณยังไม่เพียงพอ เพราะทักษิณได้บวกสภาวะเศรษฐกิจที่ดีด้วย ซึ่งหากย้อนกลับไปยุคนั้นต้องบอกว่าเศรษฐกิจดีไม่น้อย ทั้งในประเทศเอง และการส่งออก จีดีพีของประเทศโตวันโตคืน ทำให้คะแนนเสียงเมื่อครั้งเลือกตั้งปี 47 ยุคทักษิณ2 พรรคไทยรักไทยได้คะแนนเสียงถล่มทลาย เป็นเพราะแนวนโยบายที่กินได้และเศรษฐกิจดี เป็นตัวชูโรงทักษิณอย่างมหาศาล

4.มาจากการเลือกตั้ง ทำให้กลายเป็นเจ้าพ่อประชาธิปไตย

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ทักษิณเป็นหนึ่งในผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งตามครรลองประชาธิปไตย และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าทักษิณถูกยึดอำนาจด้วยวิถีที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เหตุใดการเลือกตั้งจึงสำคัญ แน่นอนว่าการเลือกตั้งไม่ใช้ทั้งหมดของประชาธิปไตย แต่ประชาธิปไตยที่ขาดการเลือกตั้งก็ไม่เรียกว่าประชาธิปไตยแน่นอน และผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งมักมีทั้งคนรักและคนเกลียดเป็นเรื่องธรรมดาของการเมือง แต่กระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมายึดอำนาจทักษิณ จึงทำให้เหล่าคนรัก ทั้งรักในตัวทักษิณ บวกกับรักในความเป็นประชาธิปไตยทนไม่ได้ที่เห็นความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นจากคนที่ไม่เชื่อในกระบวนประชาธิปไตย ถ้าหากนับว่าทักษิณมาจากการเลือกตั้งก็ครั้งก็คงต้องบอกว่าตลอดระยะเวลา 17 ปี เริ่มปี 2543 ทักษิณชนะทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ทั้งปี 2543,2547,2551(สมัคร),2554(ยิ่งลักษณ์) ทำไม่ทักษิณจึงชนะ ก็เพราะว่ายังมีคนสนับสนุนและคนที่อยากให้กลับมาบริหารประเทศอีก

ทั้ง 4 ข้อ ตั้งแต่เจ้าพ่อคอร์รัปชั่น?, สภาวะสองมาตรฐานในสังคมไทย, แนวนโยบายที่กินได้และเศรษฐกิจดี, มาจากการเลือกตั้งทำให้กลายเป็นเจ้าพ่อประชาธิปไตย คงพอจะตอบคำถามได้ว่าทำไมคนจึงรักทักษิณ หากไม่มีการรัฐประหารปี 49 ทักษิณจะยังมีคนรักอยู่หรือไม่? หากไม่มีภาวะสองมาตรฐานคนรักทักษิณจะยังมีอยู่หรือไม่? เป็นเรื่องที่น่าหาคำตอบอย่างยิ่ง

[1] https://www.khaosod.co.th/politics/news_498292

[2] https://www.the101.world/life/measuring-corruption/

...



...


ภาพจากอินเตอร์เน็ต

...