วันอังคาร, กันยายน 26, 2560

เอามาย้ำ ไม่ใช่ขาขึ้นหรือขาแข็งทั้งนั้น เพราะมัน “อ่อนล่าง แข็งบน”

ไหนลองพูดเรื่อง ปากท้องกันอีกทีเป็นไร จะขาขึ้นหรือขาแข็งก็ยังไม่ใช่ทั้งนั้น ทั้งข้อมูลเก่าตัวเลขใหม่เต็มไปหมดที่บอกว่า มันเดินตรงข้ามกับ หน้าตา ที่สมคิดและประยุทธ์พยายามหลอกชาวบ้าน

เพราะอะไร ต้องฟัง พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ภัทร แจงให้เห็นจริงจะแจ้ง ประชาไท บันทึกไว้ละเอียด

อันแรกที่ว่าจีดีพีโต ๓.๗ (ยังดีกว่าแค่ ๓ ถ้วนๆ) นั่นก็ยังต่ำกว่าเมื่อก่อนมากนัก เศรษฐกิจไทยเคยโตร้อยละ ๗-๘ ครั้นเจอวิกฤตเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐ ขนาดสะบักสะบอม ก็ยังโตร้อยละ ๕-๖ แล้ว ๓.๗ เอาอะไรมาคุย

ข้อสำคัญตัวเลขจีดีพีที่เอามาอ้างกันนี้ เป็นการโตทางด้านผลิตอย่างเดียว แต่ “ผลิตแล้วมีคนซื้อจริงหรือเปล่า” คุณพิพัฒน์ชี้ว่า “ถ้าเราคิดเฉพาะฝั่งดีมานด์ มูลค่าของการใช้จ่ายจริงๆ โตแค่ ๒ เปอร์เซ็นต์ และเป็นอย่างนี้มา ๓ ไตรมาสแล้ว”

รวมความก็คือผลิตเยอะแต่คนซื้อตามไม่ทัน “เป็นสาเหตุว่าคนไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดี เพราะเศรษฐกิจจะดีได้คนต้องมีเงินจับจ่ายใช้สอย”

คราวนี้มาดูที่ดัชนีการเติบโต ต้องประกอบด้วยการบริโภค การลงทุน การส่งออก และบริการ ในช่วงสามปีนับแต่ทหารยึดอำนาจการส่งออกติดลบมาตลอด เพิ่งจะฟื้นตอนนี้ (ก็ยังฟันธงอะไรไม่ได้)

ทว่าการเติบโตจริงๆ อยู่ที่บริการ คืออุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งในยุค คสช. อวดดีนี่เป็น ๑ ใน ๓ ของจีดีพีมาตลอด คืออยู่ที่ ๑๐ ถึง ๑๕ เปอร์เซ็นต์ ได้อานิสงค์มาจากนักท่องเที่ยวจีน (คงนึกว่าได้ไทยเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่เลยแห่กันมาดู ว่างั้น)

แต่แล้วปรากฏว่าการโตของท่องเที่ยวดันกระจุกอยู่แค่ ๑๐ จังหวัดเท่านั้น รายได้ไม่กระจายก็แป้ะเอี้ย เซมเซม เช่นเดียวกับส่งออกที่ดีขึ้นจริง หมายถึงส่งได้มากกว่าสองสามปีที่ผ่านมา แต่เป็นการเอาของเก่าที่ผลิตไว้ก่อนยึดอำนาจมาส่ง จึงไม่มีการผลิตใหม่แต่อย่างใด

ผลก็คือไม่มีการจ้างงานเพิ่ม “คนงานไม่ได้โอที ค่าแรงไม่เพิ่ม” เจ้าของกิจการนะดีที่ได้ระบายสต็อกเก่าออกหมด “แต่เงินในกระเป๋าคนงานยังไม่ได้เพิ่ม”

แบบนี้คุณพิพัฒน์แกเรียกว่า “แข็งนอก แต่อ่อนใน” ซ้ำร้ายที่ว่าดีๆ ตอนนี้ “ปริมาณที่เราผลิตวันนี้น้อยกว่าปริมาณผลิตในปี ๒๕๕๔ ช่วงหลังน้ำท่วม วันนี้เรายังใช้กำลังการผลิตไม่เต็มเลย การลงทุนเพิ่มจึงยังไม่มี”

อ้าว ตอนนั้นอิปูว์สะบักสะบอม ยังดีกว่าตอนนี้ คสช. ขาชี้ฟ้า

ไม่เท่านั้นคุณพิพัฒน์บอกด้วยว่าเกิดปรากฏการณ์ “อ่อนล่าง แข็งบน” ส่วนบนที่แข็งเป็นพวก มั่งคั่งยั่งยืนคำที่ประยุทธ์ (จันทร์โอชา) ชอบพูดถึงแล้วป๋าชอบ พวกนี้เสวยสุขกับดอกเบี้ยต่ำ หุ้นขึ้นกันสนุก เขาให้ดูจากอสังหาริมทรัพย์ บ้านราคา ๑ ล้าน ๓ ล้านขายไม่ออก แต่ราคา ๑๐ ล้านขึ้นไปคนจองเต็ม

นั่นแหละ ไอ้ที่ว่าโต ๓ เปอร์เซ็นต์กว่าอยู่บนฐานของเค้กก้อนเล็ก ส่วนแบ่งไปอยู่กับพวกมั่งคั่งยั่งยืนเสียหมด

มันเป็นเรื่องของความไม่ทั่วถึง เวลาที่เราพยายามตัดสินสภาพเศรษฐกิจด้วยตัวเลขตัวเดียว มันต้องถามว่าตัวเลขของใคร ถ้าเราเอามาเฉลี่ยกันก็แสดงว่ามีคนที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยและคนที่แย่กว่าค่าเฉลี่ย แล้วบังเอิญว่าคนที่แย่กว่าค่าเฉลี่ยเป็นฐานที่ใหญ่กว่า”



ยังมีตัวเลขใหม่จากข้อมูลค้าขายของแม่ค้าในตลาดอาหารสด ที่บีบีซีไทยเก็บตักเอามารายงานพร้อมกับการตีความวิเคราะห์

แม่ค้าเนื้อสัตว์ในตลาดคลองเตยบอกว่า “ยอดขายตกลงมากเลย ครึ่งต่อครึ่ง” ส่วนแม่ค้าผักว่ายอดขายเดือนนี้ลดลงกว่าปีที่แล้ว ๓๐ เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับแม่ค้าปลาและอาหารทะเลบ่น “ช่วงนี้ท้อแล้ว ขายไม่ดี อยากจะเลิกขายแล้ว ขายแล้วไม่มีกำไรเหลือ”

บีบีซีไทยอ้างข้อมูลของ กันตาร์ บริษัทวิจัยทางการตลาด “หากย้อนดูตัวเลขย้อนหลังไป ๑๐ ปีที่แล้วจะพบว่า ในไตรมาส ๒ ของปีนี้ มีอัตราการเติบโตของยอดขายสินค้าประเภทนี้เพียงร้อยละ ๑ เท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดในรอบทศวรรษ”

ผลกระทบทำให้ “ผู้บริโภคซื้อสินค้าน้อยลงและจ่ายน้อยลงอีกด้วย” ทั้งนี้เนื่องมาจาก “ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคมีการดิ่งลงตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา”

อันคล้องจองกับการสรุปสถานการณ์จากธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อปลายเดือนสิงหาคม ว่าถึงแม้ “การบริโภคภาคเอกชนมีการขยายตัว แต่อยู่ในอัตราชะลอลง

ส่วนหนึ่งมาจากรายได้เกษตรกรที่หดตัวลงจากด้านราคาเป็นหลัก ส่งผลให้กำลังซื้อของครัวเรือนในภาพรวมยังไม่เข้มแข็ง” น.ส.พรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจมหภาคอธิบาย


คราวนี้มาดูรายละเอียดเกี่ยวกับรายได้ของชาวบ้านบ้าง ต้องขอบใจ The MATTER ที่อุตส่าห์ไปขุดบันทึกสำนักงานสถิติแห่งชาติ เรื่อง ภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน จากปี ๒๕๕๘ มาตีแผ่

(ถึงจะเป็นข้อมูลเก่า ก็ล่าสุดเท่าที่มีอยู่ ไม่มีใหม่กว่านี้ http://service.nso.go.th/nso/nsopublish/themes/theme_2-7-3.html)


มีการแยกแยะตัวเลขรายได้และรายจ่ายของครัวเรือนตามภูมิภาคและจังหวัดให้เห็นชัด แต่สรุปรวมได้ว่ารายจ่ายใกล้เคียงรายได้มาก ที่ ๗๘.๖ เปอร์เซ็นต์

แสดงว่าส่วนต่างที่อาจเป็นเงินออม ลงทุน และใช้จ่ายยามฉุกเฉินมี ๒๐ เปอร์เซ็นต์ นับว่าไม่น้อย แต่ไม่มากพอเรียกได้ว่า มั่งคั่ง

จึงไม่มีความ มั่นคงอันใดที่จะทำให้ผู้คนออกไปจับจ่ายใช้สอยช่วยกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนในเศรษฐกิจ จนสมราคาคุยพวกรัฐประหารได้

แล้วถ้าอย่างนี้ยังขืน ยั่งยืน อีกละก็ ไพร่ฟ้าหน้าใสคงตายหยัง กบในกะลา ไม่มีโอกาสเลือกนาย นั่นละ