วันพุธ, กันยายน 27, 2560

BBC Thai วิเคราะห์: ชะตากรรม ยิ่งลักษณ์ หลัง 27 กันยา วันพิพากษา





วิเคราะห์: ชะตากรรม ยิ่งลักษณ์ หลัง 27 กันยา วันพิพากษา


โดย หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
25 กันยายน 2017


เป็นเวลา 1 เดือนเต็มนับจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อ้างเหตุป่วยด้วยโรค "น้ำในหูไม่เท่ากัน" จนเบี้ยวนัดศาล-ทิ้งมวลชนรอเก้อ เมื่อวันที่ 25 ส.ค. เธอยังไม่ปรากฏตัวต่อสาธารณะ

27 ก.ย. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดฟังคำพิพากษาคดีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งมีจำเลยเพียงคนเดียวก็คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์

ถึงวันนี้ ทั้งตำรวจและทหารต่างฟันธงตรงกันว่า "จำเลยใหญ่" ไม่น่าปรากฏตัวที่ศาลตามนัด เพราะแม้แต่ทีมทนายก็ยังอ้างว่าไม่สามารถติดต่อ "นายหญิง" ได้

"เราไม่รู้ว่าอดีตนายกฯ อยู่ที่ไหน เราติดต่อท่านไม่ได้ ต้องรอท่านเป็นฝ่ายติดต่อมาเอง" นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ บอกกับบีบีซีไทย


GETTY IMAGES
ทีมทนายคาดหวังว่าศาลจะอ่านคำพิพากษาลับหลัง แต่นั่นอาจไม่ใช่สูตรสำเร็จในทางปฏิบัติ


"ศาลสามารถอ่านคำพิพากษาลับหลังได้ ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ไม่ได้เป็นบทบังคับว่าจะต้องอ่านลับหลังเท่านั้น ศาลสามารถเลื่อนนัดอ่านคำพิพากษาออกไปได้" นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวไว้เมื่อวันที่ 28 ส.ค.

บีบีซีไทยได้ตรวจสอบไปยังนักกฎหมายหลากหลายแวดวง ทั้งอดีตผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ และนักวิชาการด้านนิติศาสตร์ ทั้งหมดระบุตรงกันว่าศาลน่าจะอ่านคำพิพากษาลับหลังเพื่อให้ได้ข้อยุติทางคดี ได้ชี้ถูก-ชี้ผิด-ชี้โทษที่จำเลยต้องรับ เว้นแต่มีเหตุเพียงพอก็อาจให้เลื่อนฟังคำพิพากษาได้ แต่เหตุผลที่ว่านั้นต้องมีน้ำหนักมาก เช่น มีคำยืนยันจากทนายความว่าจำเลยจะมาฟังคำพิพากษาด้วยตนเองใน "วัน ว. เวลา น."


GETTY IMAGES
นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความของอดีตนายกฯ คาดหวังว่าศาลจะพิพากษาลับหลัง วันที่ 27 ก.ย. นี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนทางคดี


โอกาสริบหรี่ ยิ่งลักษณ์กลับไทย

น.ส.ยิ่งลักษณ์ตกเป็นจำเลยในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งถูกฟ้องว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มาตรา 123/1 จึงถือเป็นความผิด "กรรมเดียว แต่ผิดกฎหมายหลายบท" มีอัตราโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มีการวิเคราะห์กันว่าคำพิพากษามีโอกาสออกมาได้ 3 แนวทาง

1. องค์คณะมีมติเสียงข้างมากว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่มีความผิดตามฟ้อง หรือให้ยกฟ้องจำเลย

2. ตัดสินว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มีความผิด แต่ให้รอการลงโทษ

3. ตัดสินว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มีความผิด สั่งจำคุกโดยไม่รอการลงอาญา

โอกาสเดียวที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะได้กลับบ้านเกิดคือศาลสั่งยกฟ้อง และไม่มีคำสั่งให้ขังในระหว่างอุทธรณ์คดี ซึ่งจะถือว่าเป็นการ "ปล่อยขาด" สามารถกลับมาเดินเฉิดฉายในประเทศได้ เนื่องจาก "หมายจับที่ศาลเคยออกไว้เมื่อวันที่ 25 ส.ค. จะสิ้นผลไปในวันที่ 27 ก.ย. หากศาลอ่านคำพิพากษาลับหลัง เพราะการที่ศาลออกหมายจับก็เพื่อให้นำตัวจำเลยมาฟังคำพิพากษาเท่านั้น" ทนายความอดีตนายกฯ อธิบาย


BBC THAI


แต่ถ้าคำพิพากษาออกมาในแนวทางที่ 2 หรือ 3 แม้โจทก์และจำเลยมีสิทธิยื่นอุทธรณ์คดีต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาภายใน 30 วัน ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 195 แต่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ย้ำชัด "หากจะสู้คดี ต้องมายื่นอุทธรณ์ที่ศาลด้วยตัวเอง จะส่งทนายมาเป็นตัวเเทนไม่ได้"

สอดคล้องกับเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่อยู่ระหว่างรอการโปรดเกล้าฯ ประกาศใช้

นี่กลายเป็นอีกข้อถกเถียงสำคัญในแวดวงนักกฎหมายว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะยื่นอุทธรณ์ได้จริงหรือไม่ เพราะแม้รัฐธรรมนูญเปิดช่องให้ทำได้ แต่การพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ต้องทำตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาฯ

นั่นหมายความว่า "ยังไม่มีกฎหมายรองรับ" การอุทธรณ์ในขณะนี้

หรือถ้าอุทธรณ์ได้ ก็ไม่มีเครื่องการันตีว่าอดีตนายกฯ หญิง จะไม่ต้องไปนอนในเรือนจำ

"ศาลอาจไม่อนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์คดีก็ได้" นายนรวิชญ์ระบุ






THAI NEWS PIX
นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เคยบอกกับเพื่อนที่ชื่อนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ อดีตเลขาธิการนายกฯ ว่า "กูพูดไม่ได้" หลังถูกขอให้เล่าให้ฟังว่าเรื่องเป็นอย่างไร


เรื่องนี้มีบรรทัดฐานมาแล้วจากกรณีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ และนายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ จำเลยคดีทุจริตโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ที่ถูกศาลฎีกาฯ ตัดสินจำคุก 42 ปี และ 36 ปีตามลำดับ ทั้งคู่ถูกควบคุมตัวเข้าเรือนจำทันทีที่สิ้นคำพิพากษาศาล เนื่องจากศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างรอยื่นอุทธรณ์ตามที่หลายฝ่ายเคยคาดการณ์

ดังนั้นไม่ว่าคำพิพากษาคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์จะออกมาในแนวทางใด โอกาสจะเห็นเธอปรากฏกายเมืองไทยหลัง "วันพิพากษา" จึงเป็นไปได้น้อยยิ่ง

วิบากกรรมที่รออยู่กับการ "หนีตลอดชีวิต"


หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ทิ้งโอกาส "สู้" ในยก 2 นั่นหมายถึงการ "หนีตลอดชีวิต" ตามรอยพี่ชายอย่างนายทักษิณ ชินวัตร เพราะ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาฯ ฉบับใหม่ แก้ไขให้คดี "ไม่มีอายุความ" เพื่อดัดหลังนักการเมืองที่จงใจไปเร้นกายอยู่ไปต่างแดน จนคดีขาดอายุความ





นอกจากนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์อาจมี "คดีงอก" หลัง 27 ก.ย. โดยมีโทษเพิ่มฐาน "หลบหนีคดี" หรือถ้าศาลฎีกาฯ ตัดสินว่ามีความผิดคดีจำนำข้าว ก็อาจนำไปสู่การฟ้องคดีแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติม

หลังก่อนหน้านี้เธอถูกรัฐบาลฟ้องคดีรับผิดทางละเมิด เรียกค่าเสียหาย 35,000 ล้านบาท แต่ได้ส่งทนายไปยื่นศาลปกครองขอทุเลาคำสั่งยึดทรัพย์ทางปกครองไว้ ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม เคยออกมายืนยันแล้วว่า การหลบหนีคดีของอดีตนายกฯ ไม่กระทบต่อการบังคับคดีทางปกครอง ซึ่งมีอายุความถึง 10 ปี

"หากศาลยังไม่มีคำสั่งใดออกมา ก็สามารถดำเนินการในทางลับได้ เพราะรู้ว่ามีทรัพย์สินอยู่ที่ไหนบ้าง" นายวิษณุระบุ

นอกจากนี้กระทรวงการต่างประเทศยังสามารถพิจารณาเพิกถอนหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) อดีตนายกฯ ได้

เหล่านี้คือวิบากกรรมที่รออยู่

อดีตรองปธ.ศาลฎีกาชี้หมดลุ้นขอตัวผู้ร้ายข้ามแดน


แม้มีโทษทัณฑ์รออยู่ในเมืองไทย แต่ปฏิบัติการล่าตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์กลับมาดำเนินคดีไม่ใช่เรื่องง่าย การทำเรื่องขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไม่น่าเกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ ตามความเห็นของนายอุดม เฟื่องฟุ้ง อดีตรองประธานศาลฎีกา และอดีตกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) แม้ศาลฎีกาฯ ตัดสินว่าเธอมีความผิด


AFP/GETTY IMAGES


เขาอธิบายกับบีบีซีไทยว่า โดยหลักกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนของทุกประเทศ จะให้เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ในการพิจารณาว่าจะส่ง-ไม่ส่งตัว แต่ถ้าเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมือง จะไม่ส่งตัวให้

"ในทางปฏิบัติของทุกศาลทั่วโลก ถ้าเป็นการกระทำขณะผู้ถูกกล่าวหาทำหน้าที่ทางการเมือง เขาจะถือเป็นคดีการเมืองเลย เขาไม่ส่งตัวให้หรอกครับ นี่ผมไม่ได้คิดเองเออเอง สมัยผมเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ หลายประเทศได้ทำเรื่องขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนมา จึงให้บรรดาผู้พิพากษาไปช่วยค้นคว้าและตรวจสอบทวีปละ 1-2 ประเทศว่ามีหลักการอย่างไร นี่คือสิ่งที่พบ เพราะเขาถือว่าการเมืองเป็นเรื่องที่ผู้มีอำนาจขัดแย้งและแย่งอำนาจกัน ดังนั้นถ้าอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่อาจมั่นใจได้ว่าคนที่ส่งตัวกลับมาจะปลอดภัย เขาก็ไม่ส่ง" นายอุดมกล่าว

ย้อนไปหลังรัฐประหารปี 2549 นายอุดมเป็นกรรมการ คตส. พิจารณาคดีทุจริตของนายทักษิณ เมื่อ "จำเลยใหญ่" หลบหนีออกนอกประเทศ คำถามเรื่องการขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ก็ถาโถมเข้าใส่ คตส. ทว่าเขาไม่กล้าบอกสังคมตรงๆ ทั้งที่รู้แก่ใจว่า "เป็นไปไม่ได้ เพราะนี่คือหลักศีลธรรมของโลก"

"ตอนนั้นผมไม่ได้พูดเรื่องนี้ เพราะเราเป็น คตส. ถ้าพูดออกไปก็จะถูกครหาว่า 'เอาใจนายทักษิณ' หรือเปล่า" นายอุดมกล่าว


AFP/GETTY IMAGES
นายทักษิณ ชินวัตร (ขวา) รับดอกไม้จากผู้สนับสนุน เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2549 ท่ามกลางแรงกดดันให้เว้นวรรคการเมืองจากกรณีขายหุ้นชินคอร์ปโดยไม่เสียภาษี


หากยึดตามมาตรฐานสากลที่นายอุดมอ้าง ย่อมหมายถึงสังคมไทยอาจไม่มีสิทธิเห็น น.ส.ยิ่งลักษณ์ปรากฏตัวในเมืองไทยอีกหลัง 27 ก.ย. ไม่ว่าในฐานะจำเลยที่กลับมาอุทธรณ์ต่อสู้คดี หรือผู้ร้ายข้ามแดน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ทนายความของเธอบอกว่า "ตอบไม่ได้"

มวลชนหด-แกนนำเพื่อไทยหายวันพิพากษา

แม้ไร้เงา น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่ฝ่ายความมั่นคงก็ยังไม่ประมาท หลังการข่าวนครบาล ระบุว่าจะมีมวลชนเสื้อแดงที่นัดหมายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ราว 300-400 คนไปรอลุ้นคำพิพากษาหน้าศาลฎีกาฯ พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) สั่งการให้ตำรวจจัดกำลัง-วางมาตรการรักษาความปลอดภัยแบบเดียวกับวันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา


WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ร่วมถ่ายภาพกับอดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทยที่ไปให้กำลังใจก่อนขึ้นศาล เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2560


นอกจากขนาดมวลชนหด บรรดานักการเมืองพรรคเพื่อไทยยังพร้อมใจหายหน้า เพราะเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าอดีตนายกฯ จะไม่เดินทางไปขึ้นศาล

"ในเมื่อตัวความไม่ประสงค์จะไปฟังคำพิพากษา เราในฐานะผู้เกี่ยวจะไปฟังเพื่ออะไร เพราะคดีมีจำเลยเพียง 1 คน ศาลก็อ่านคำพิพากษาลับหลังได้เลย ถือเป็นคดีส่วนบุคคล" แกนนำพรรคเพื่อไทยรายหนึ่งระบุ

ทั้งหมดนี้คือความเคลื่อนไหวในช่วง 48 ชั่วโมงสุดท้าย ก่อนวันพิพากษาอนาคตของผู้นำคนที่ 2 ที่มาจากตระกูลชินวัตร!!!