วันพฤหัสบดี, กันยายน 28, 2560

“คนใส่ชุดครุย ๙ คน ๑๕ คนบนบัลลังก์” กลายเป็นผู้ชี้ขาดความเป็นไปในชีวิตทางการเมืองไทยได้อย่างไร?



ภาพจากประชาไท


"การเมืองเป็นเรื่องของความไม่ลงรอยกัน เป็นความขัดแย้งที่ไม่มีวันจบสิ้น การเมืองแบบประชาธิปไตยเข้าใจเรื่องนี้ จึงไม่พยายามทำให้ความขัดแย้งยุติลงแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ปล่อยให้ความขัดแย้งดำรงต่อไปภายใต้กติกาประชาธิปไตย ทุกคนได้รับการประกันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ การถกเถียงอภิปรายจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่างๆได้ด้วยตัวของมันเอง นี่คือการรักษา “ความเป็นการเมือง” เอาไว้ โดยใช้กระบวนการประชาธิปไตย ตรงกันข้าม ถ้าพยายาม “ถอดความเป็นการเมือง” ด้วยการแปลงเรื่อง “การเมือง” ให้เป็น “กฎหมาย” เสียทั้งหมด สร้างระบบการวินิจฉัยชี้ถูกผิดเพื่อให้เรื่องยุติ โยนภาระหน้าที่ชี้ขาดให้กับศาล พื้นที่ของความเป็นการเมืองก็จะเสียไป ในขณะที่ “กฎหมาย” ที่เข้าแทนที่ก็ไม่มี “น้ำยา” เพียงพอที่จะจัดการเรื่อง “การเมือง” ได้ มันทำได้เต็มที่ก็เพียงกดทับความขัดแย้งและ “ความเป็นการเมือง” เอาไว้ให้อยู่ในอุ้งมือของ “กฎหมาย”

“คนใส่ชุดครุย ๙ คน ๑๕ คนบนบัลลังก์” กลายเป็นผู้ชี้ขาดความเป็นไปในชีวิตทางการเมืองได้อย่างไร? คนพวกนี้มีเหตุมีผล เฉลียวฉลาด วิเศษกว่าประชาชนอย่างนั้นหรือ? คนพวกนี้ตัดสินชี้ขาดคดีโดยปราศจากความคิดอุดมการณ์กำกับหรือ? คนพวกนี้ตัดสินชี้ขาดคดีไม่มีประโยชน์ส่วนตน ไม่มีประโยชน์เชิงสถาบันกำกับเลยหรือ? คนพวกนี้ชี้ขาดเรื่องนโยบายเรื่องทางการเมืองโดยเป็นกลางอย่างนั้นหรือ? คำตัดสินของคนพวกนี้ถูกต้องชอบธรรมมากกว่าคำตัดสินขององค์กรทางการเมืองอื่นหรือประชาชนอย่างนั้นหรือ? แล้วถ้าคนพวกนี้วิเศษจริง กล้าหาญ มีคุณธรรมจริง ทำไมถึงทำอะไรไม่ได้เลยเวลาเผด็จการขึ้นสู่อำนาจ? หนำซ้ำยังเข้าสังฆกรรมกับระบอบเผด็จการอย่างไม่รู้ร้อนรู้หนาวด้วย?

เอาเข้าจริงแล้ว เราอาจไม่จำเป็นต้องมีระบบตรวจสอบการใช้อำนาจโดยศาลก็ได้ หากกระบวนการประชาธิปไตยทำงานได้อย่างเต็มที่ บุคคลมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นถึงขีดสุด มีความอดทนอดกลั้นซึ่งกันและกัน เรื่องการเมืองทั้งหมดที่ขัดแย้งกัน ก็ไม่จำเป็นต้องให้ศาลมาสงวนสิทธิ์-เผด็จอำนาจชี้ขาด แต่ปล่อยให้เรื่องเหล่านี้ถูกถกเถียง ทดลอง ทบทวน แก้ไขเปลี่ยนแปลง ยกเลิก เริ่มใหม่ ไปตามกระบวนการประชาธิปไตย สติปัญญาของมนุษย์ผู้มีเหตุมีผลและการถกเถียงอภิปรายอย่างปราศจากข้อจำกัดภายใต้สังคมที่เติบโตมีวุฒิภาวะเพียงพอ ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยทำให้คนในสังคมร่วมกันตัดสินใจเรื่องทางการเมืองได้ หาฉันทามติได้ดีกว่า ชอบธรรมและเป็นที่ยอมรับกว่า “คนใส่ชุดครุย ๙ คน ๑๕ คนบนบัลลังก์”

กล่าวจำเพาะเจาะจงกรณีตุลาการภิวัตน์ไทย ยิ่งยากลำบากกว่าและสลับซับซ้อนกว่าประเทศในตะวันตก หากเราเดินตามเสรีประชาธิปไตยและนิติรัฐแบบที่โลกบังคับให้เดินแล้ว เราก็จำเป็นต้องออกแบบรัฐธรรมนูญ กำหนดกลไกและองค์กรต่างๆตามแบบเสรีประชาธิปไตยขึ้นมา และแน่นอนว่า เราต้องกำหนดให้ศาลมีอำนาจตรวจสอบองค์กรอื่นๆ ปัญหาที่น่าหนักใจและต้องขบคิดกันอย่างลึกซึ้ง ก็คือ บุคลากรในแวดวงตุลาการของไทยสังกัดระบอบการปกครองแบบใดกันแน่?

พวกเขาสังกัดระบอบเสรีประชาธิปไตย จึงใช้อำนาจที่ระบอบเสรีประชาธิปไตยสร้างขึ้นและมอบหมายให้ เพื่อเสริมสร้างประชาธิปไตยให้ดีขึ้น เพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจที่เกินขอบเขตของรัฐสภาและรัฐบาล เพื่อพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตย? หรือพวกเขาสังกัดระบอบอื่น แต่กลับเอาอำนาจที่ระบอบเสรีประชาธิปไตยสร้างขึ้นและมอบหมายให้ ไปทำลายระบอบเสรีประชาธิปไตยเสียเอง?

พวกเขาปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจ เพื่อมิให้รัฐบาลและรัฐสภาใช้อำนาจไปตามอำเภอใจและโดยมิชอบจนเป็นอันตรายต่อประชาชนและระบอบประชาธิปไตย? หรือพวกเขารับใช้ “รัฐ” อีกรัฐหนึ่งที่ซ่อนกายไว้ และคอยจัดการปราบปราบรัฐสภาและรัฐบาลในยามที่รัฐสภาและรัฐบาล “ดื้อ” ต่อรัฐที่ซ่อนตัวไว้?

วิกฤตการเมืองไทยที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 2549 จนถึงปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการตัดสินของศาลในคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองเป็นส่วนสำคัญของวิกฤต เป็นเวลาเกินสิบปีแล้วที่ “ตุลาการภิวัตน์” สามารถเดินหน้าอย่างเข้มข้นโดยองค์กรทางการเมืองและภาคสังคมไม่สามารถตอบโต้ได้เลย เพราะ “ตุลาการภิวัตน์” มีเกราะคุ้มกันตนเองอย่างแน่นหนา จนดุลยภาพระหว่างอำนาจขององค์กรทางการเมืองทั้งระบบเสียไป

หาก “ตุลาการภิวัตน์” เป็นเครื่องมือและวิธีการแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ถูกต้องจริงและประสบผลสำเร็จอย่างแท้จริง ทำไมจนวันนี้ วิกฤตการณ์ทางการเมืองยังคงดำรงอยู่และทวีความรุนแรงตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ? นี่แสดงให้เห็นว่า ประเด็นปัญหาทางการเมือง ไม่อาจแก้ไขได้ด้วยศาลหรือกฎหมาย เมื่อให้ศาลตัดสินคดีเพื่อแก้ไขปัญหาทางการเมือง แรกๆ อาจดูเหมือนว่ายุติปัญหาได้ แต่ความยุติที่เห็นนั้น ไม่ใช่ยุติปัญหาทางการเมือง มันเป็นเพียงการยุติลงเพราะถูกกำลังบังคับ (ผ่านกลไกรัฐ) ให้ต้องยุติ ต่อให้ทุกฝ่ายอยากยุติ ก็ไม่มีวันทำได้สำเร็จ เพราะ การเมืองคือเรื่องของความขัดแย้งไม่ลงรอยกันอยู่ตลอดเวลา ยิ่งไปกว่านั้น หาก “ตุลาการภิวัตน์” เดินหน้าอย่างไม่ยับยั้งชั่งใจ ไถลลื่นออกไปไกลมากขึ้น มุ่งหมายแต่จะปราบปรามศัตรูทางการเมืองของชนชั้นจารีตประเพณี โดยอ้างเรื่องการแก้ไขวิกฤตมาบังหน้า เช่นนี้ สถานการณ์ก็ยิ่งเลวร้ายทวีคูณ เพราะ การแก้ไขวิกฤตเป็นเพียงหน้ากาก แต่เนื้อแท้แล้ว คือ การปราบปรามกวาดล้างศัตรูทางการเมือง

การนำประเด็นปัญหาทางการเมืองไปพัวพันกับ “กฎหมาย” และ “ศาล” อยู่เรื่อยๆ นานวันเข้า ก็ยิ่งทำให้การแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ฝังอยู่ในสังคมไทยทำได้ยากขึ้นอีก เมื่อไรก็ตามที่ “การเมือง” จะเข้าจัดการแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่พัวพันอีรุงตุงนัง (ด้วยวิธีการ เช่น ลบล้างคำพิพากษาที่เกี่ยวกับคดีการเมืองและเป็นผลสืบเนื่องจากรัฐประหาร การนิรโทษกรรมให้แก่นักโทษการเมือง กระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน กระบวนการนำผู้ก่อการรัฐประหารหรือละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงมาลงโทษ เป็นต้น) ฝ่ายที่ต้องการหล่อเลี้ยงวิกฤตไว้หรือฝ่ายที่เสียประโยชน์หากวิกฤตนี้หมดไป ก็จะหยิบยก “กฎหมาย” ขึ้นอ้างว่าไม่สามารถทำได้ตามกฎหมาย วิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ยุ่งเหยิงซับซ้อนหลายชั้นแถมถูกมัดรอบด้วยโซ่อย่าง “กฎหมาย” อีกเช่นนี้ (ได้แก่ คำพิพากษาหลายสิบหลายร้อยคดี กฎหมายหลายสิบหลายร้อยฉบับ) จะถูกแก้ไขคลี่คลายลงได้บ้าง ก็ต้องเกิด “การยอมรับนับถือ” (consent) ขนานใหญ่ ซึ่ง ณ วันนี้ สังคมไทยยังหา consent ที่ว่านั้นไม่พบ ใครเล่าจะเป็น last say ที่แก้ไขวิกฤตการเมืองให้คลี่คลายได้?

เราจะพ้นจากสภาพการณ์ “ตุลาการภิวัตน์” เช่นนี้ ได้อย่างไร?

ในเบื้องต้น เราจำเป็นต้องทำลายมายาคติที่ว่า “ศาลเป็นคนกลาง ศาลเป็นอิสระ” และลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ของศาลให้ได้ ต้องชี้ให้เห็นว่า ศาลเป็นผู้เล่นทางการเมือง (Political Actor) ศาลไม่ได้เป็นกลาง ศาลมีวิธีคิดและมีอุดมการณ์ที่ตนสังกัด ศาลอาจเป็นอิสระก็จริง แต่ความอิสระที่ศาลมีนั้น คือ อิสระจากรัฐบาลเท่านั้น แต่ศาลไม่ได้อิสระจากอุดมการณ์ความคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความคิดแบบกษัตริย์นิยม-ชาตินิยม-อนุรักษ์นิยม เราจำเป็นต้องช่วงชิง-สถาปนาความคิดใหม่ว่า ศาล คือ องค์กรผู้ใช้อำนาจตุลาการซึ่งเป็นอำนาจอธิปไตยที่มีประชาชนเป็นเจ้าของ

จากนั้นต้องร่วมกันรณรงค์ให้เห็นการใช้กลไกทางกฎหมายในเรื่องละเมิดอำนาจศาล ดูหมิ่นศาล หมิ่นประมาท ทำให้องค์กรทางการเมืองต่างๆไม่สามารถใช้อำนาจในแดนของตนตอบโต้ศาลกลับไปได้ ทำให้บุคคลไม่อาจใช้เสรีภาพในการวิจารณ์ ตอบโต้ หรือประท้วงศาลได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ต้องชี้ให้เห็นถึงความผิดปกติของกระบวนการทางศาล ความไม่สมเหตุสมผลของคำพิพากษา ความไม่คงเส้นคงวาของแนวคำพิพากษา การตัดสินของศาลที่แตกต่างกันทั้งๆที่เป็นเรื่องเดียวกัน ขั้วการเมืองฝ่ายหนึ่งได้รับผลร้ายจากการตัดสินของศาลอยู่เสมอ ในขณะที่ขั้วการเมืองอีกฝ่ายหนึ่ง แทบไม่ได้รับผลกระทบใดๆเลย ตลอดจนบทบาทของศาลที่แตกต่างกันไปในยามที่เผชิญหน้ากับองค์กรที่มาจากการเลือกตั้งกับคณะรัฐประหาร ทั้งหลายเหล่านี้ คือ การแสดงให้เห็นถึงอาการของโรค “ตุลาการภิวัตน์”

เมื่อ “ตุลาการภิวัตน์” หมดความชอบธรรม คนไม่เชื่อถือ สังคมไม่เชื่อถือ คำพิพากษาและการใช้อำนาจของศาลที่ส่งผลทางกฎหมายก็ดำรงอยู่ได้ด้วยกลไกรัฐที่กดทับและปราบปรามเท่านั้น ผู้คนในสังคมไม่ยอมรับการใช้อำนาจของศาลแบบ “ตุลาการภิวัตน์” อีกต่อไป พวกเขาไม่เชื่อศาล ไม่ไว้วางใจศาล ที่ต้องยอมทน ก็เพราะถูกบังคับกดขี่ ไม่ได้มาจากความยินยอมพร้อมใจ (consent)

สภาพการณ์เช่นนี้ จะนำพาเราไปสู่การเปลี่ยนแปลงศาลทั้งระบบครั้งใหญ่ได้ เราสามารถเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์วิธีคิดของผู้พิพากษาได้ง่ายขึ้น โอกาสปฏิวัติระบบศาลใกล้มาถึง

ขอเพียงแต่อดทนต่อสู้จนชนะทางความคิด ชนะทางการเมือง ให้ได้ในสักวันหนึ่ง

ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ ไม่มีอะไรที่จะหยุดยั้งแรงปรารถนาของมนุษย์ในการไปสู่สิ่งที่ดีกว่า"

ส่วนหนึ่งจากบทนำในหนังสือ "ศาลรัฐประหาร"


Piyabutr Saengkanokkul