
“พงศ์เทพ” ชี้ ปี49-57 เห็นชัด คนกลุ่มเล็กๆ จาก รปห. ไม่สร้างประโยชน์ให้ชาติ-ประชาชน
Sep 19, 2017
ที่มา คมข่าว
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ระบุ รัฐประหาร 2 ครั้ง ประชาชนต้องเรียนรู้ และอย่าไปเชื่อว่าคนกลุ่มเล็กๆ ที่ไม่ได้มาจากประชาชน จะสร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติและประชาชน
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 โดยมองว่าการยึดอำนาจครั้งนั้นทำให้กระบวนการประชาธิปไตยต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่ เพราะแทนที่จะปล่อยให้ประชาธิปไตยเดินหน้าตามวิถีทาง ผลจากการรัฐประหารทำให้ประเทศไม่สามารถใช้กลไกในระบบปกติเดินหน้าแก้ไขปัญหาตามที่ควรจะเป็น
อดีตรองนายกรัฐมนตรีมองว่า หากไม่มีการยึดอำนาจครั้งนั้น ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจโดยเฉพาะข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลในเวลานั้นว่าแท้จริงแล้วประชาชนคิดเห็นต่อข้อกล่าวหาดังกล่าวอย่างไร
การยึดอำนาจปี 2549 เป็นเพียงแค่กระบวนการที่ต้องการล้มรัฐบาลซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมาก และเห็นว่าการยึดอำนาจปี 2549 มีรูปแบบคล้ายกันกับปี 2557 ซึ่งเริ่มต้นจากรัฐบาลที่ได้รับเสียงสนับสนุนจำนวนมาก ต่อมามีการชุมนุมประท้วงเดินขบวน นำไปสู่การยุบสภา เมื่อยุบสภาจึงต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่การเลือกตั้งมักถูกขัดขวางและยื้อไม่ให้เกิดขึ้นตามเวลาอันสมควร ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญก็มีส่วนอย่างสำคัญต่อกระบวนการดังกล่าวจนเป็นที่มาของการยึดอำนาจ
นายพงศ์เทพ ยังเห็นว่าการคอรัปชั่นที่เป็นข้ออ้างของการยึดอำนาจหากมองย้อนกลับไปจะพบว่า คณะผู้ยึดอำนาจหลังลงจากอำนาจแล้วมีความร่ำรวยผิดปกติ ขณะที่กลไกของรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นปี 2540 หรือปี 2550 องค์กรต่างๆอาทิศาล คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นโดยรัฐบาลที่ถูกยึดอำนาจ จึงมั่นใจว่าองค์กรดังกล่าวไม่ได้อุ้มชูรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ตรงกันข้ามอาจจะพิพากษาหรือวินิจฉัยในทางลบกับรัฐบาลที่ถูกยึดอำนาจ
นายพงศ์เทพระบุด้วยว่าหลังการยึดอำนาจ กลไกการตรวจสอบในระบบปกติจะหายไป โดยเฉพาะกระบวนการตรวจสอบของรัฐสภา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการตรวจสอบดูจะไม่เข้มข้นเท่ารัฐบาลในระบบปกติ
อดีตรองนายกรัฐมนตรีย้ำว่า การบังคับใช้กฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรมต้องเที่ยงธรรม ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานใดต้องตรงไปตรงมาไม่เข้าข้างใคร ไม่เห็นแก่หน้าใคร ถ้าทำได้สังคมจะสงบสุขปัญหาความขัดแย้งจะไม่เกิดขึ้น แต่เมื่อใดหากประชาชนในสังคมยังรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมกระบวนการปรองดองที่หลายฝ่ายคาดหวังจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้
และเห็นว่าหากกระบวนยุติธรรมยังสองมาตรฐานไปเรื่อย จะไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติ ประชาชนแม้กระทั่งตัวองค์กรในระบบยุติธรรมเอง
ดังนั้น การรัฐประหาร 2 ครั้ง สังคมจึงต้องเรียนรู้ โดยเฉพาะประชาชนจะต้องไม่เชื่อว่าคนกลุ่มเล็กๆซึ่งไม่ได้มีที่มาจากประชาชน จะมาสร้างผลประโยชน์ให้กับประชาชน
ooo
นักวิชาการ ชี้ ทหารไทยขาดความเป็นมืออาชีพ เผย ไทยกำลังอยู่ในยุคแห่งความสูญเสีย แนะอยากปลดแอกต้องกล้าชำระโทษนักยึดอำนาจ

Sep 20, 2017
ที่มา คมข่าว
ดร.เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองอเมริกาใต้ กล่าวถึงการปกครองของไทย ในรอบ 11 ปีที่ผ่านมาว่า เป็นความสำเร็จของฝ่ายทหารไทย ที่เล่นการเมืองจนได้ดี ไม่มีความเป็นมืออาชีพ สบช่องได้เข้ามาบริหารประเทศ แต่ถามว่าที่ผ่านมาเคยทำหน้าที่หลักสำเร็จหรือไม่ เคยรบชนะใครหรือไม่ ทุกวันนี้ ยังมีระเบิดที่ภาคใต้อยู่เลย
ทั้งนี้ สิ่งที่กองทัพกระทำเป็นเรื่องที่ไม่สมควร ที่สุดแล้วกองทัพได้พาชาติเข้าไปสู่ยุคแห่งความสูญเสีย คือ ประชาชนสูญเสียอิสรภาพ ประเทศชาติเข้าสู่ยุคข้าวยากหมากแพง สิ่งเหล่านี้ล้วนเคยประสบในประเทศลาตินอเมริกา เมื่อครั้งทหารเล่นการเมือง แต่ความต่างคือสังคมลาตินอเมริกาเรียนรู้ความล้มเหลวของระบอบทหารอย่างรวดเร็ว และนำทหารออกจากการเมืองสำเร็จ แต่สังคมไทยกลับไม่ได้เรียนรู้กับสิ่งเหล่านี้เลย
ส่วนสำคัญเป็นเพราะระบบทหารในลาตินอเมริกามีลักษณะแข็งตัวเกินไป ยามขาดความชอบธรรมจึงไร้ข้ออ้างที่จะอยู่ต่อ ต่างกับกองทัพไทย ทีมีการสร้างบทตัวร้ายให้นักการเมือง ส่วนตนเองเป็นพ่อพระ ตามวลีทหารนักพัฒนา พาชาติหลุดบ่วงเคราะห์ เมื่อพระเอกผิดพลาด ก็อ้างว่ามาจัดการตัวร้าย จะให้อภัยกันมิได้เชียวหรือ สังคมไทยเชื่อตามนั้น ปล่อยให้ทหารมีบทบาทไปเรื่อย ถือเป็นพัฒนาการของกองทัพไทยที่ยากจะเลียนแบบ
นอกจากนั้น สังคมลาตินอเมริกายังมีความเด็ดขาดสูงกว่าสังคมไทย เมื่อโอกาสมาถึงจะเห็นว่าผู้ปกครองสายพลเรือน กล้านำทหารมาชำระโทษ ที่อาร์เจนติน่า นายพลปิโนเช่ ที่เคยรัฐประหารตอนนี้ไปอยู่ในคุกแล้ว แต่ของไทยเราเชื่อในความประนีประนอม กองทัพเลยไม่กลัวที่จะยึดอำนาจ
ดร.เชาวฤทธิ์ กล่าวต่อว่า การเมืองในลาตินอเมิรกา ได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากสหรัฐอเมริกา แต่ของไทยและเอเชียได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากประเทศจีน เมื่อโลกตะวันตกกดดันไทย ไทยก็ไปอิงจีนแทน
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทย ยังมีความหวัง ดูตัวอย่างจากหลายประเทศที่เคยปกครองในระบอบทหาร แต่สุดท้ายก็เป็นประชาธิปไตย ทิ้งให้ไทยเป็นประเทศเดียวที่ปกครองโดยทหาร บางประเทศถึงขั้นยกเลิกกองทัพไปเลย เพราะกองทัพแทรกแซงการเมือง แล้วยึดอำนาจพาประเทศตกต่ำ อาทิ คอสตาริกา เป็นต้น ทั้งนี้ ต้องรอให้คนไทยตื่นตัวก่อน