วันพุธ, กันยายน 27, 2560

คราวก่อนต้มยำกุ้ง คราวนี้ต้มกบ? หลังจากราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศ ธปท. เรื่องรายชื่อธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบ... แบงก์ชาติประกาศเพิ่มความเข้ม ดูแล 5 ธนาคาร ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ





แบงก์ชาติประกาศเพิ่มความเข้ม ดูแล 5 ธนาคาร ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ (รายละเอียด)


2017-09-26
สำนักข่าวทีนิวส์


วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๖๐ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย 2 ฉบับ เรื่อง แนวทางการระบุและการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ และรายชื่อธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ โดยการกำหนดหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวมีความสามารถในการรองรับความเสียหายได้มากขึ้น เพื่อลดโอกาสที่จะประสบปัญหาจนส่งผลกระทบต่อระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวม ขณะที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งต้องดำรงเงินกองทุนในอัตราที่สูงขึ้นและต้องปฏิบัติตามมาตรการกำกับดูแลอื่นที่มากกว่าธนาคารพาณิชย์ทั่วไป

สำหรับรายชื่อธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ ประจำปี 2560 ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามมาตรการกำกับดูแลด้านเงินกองทุนและมาตรการกำกับดูแลอื่นให้เป็นตามหลักสากลมากขึ้น


ขณะที่ ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่ สนส. ๑๖/2560 เรื่อง แนวทางการระบุและการกํากับดูแลธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ เหตุผลในการออกประกาศธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยมีบทบาทสําคัญในการทําหน้าที่เป็นตัวกลางทางการเงินเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศไทยมาโดยตลอด การกํากับดูแลให้ธนาคารพาณิชย์ มีความมั่นคงและสามารถให้บริการทางการเงินได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่เกิดการหยุดชะงักจึงถือเป็นเรื่องสําคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่ มีความเชื่อมโยงระหว่างสถาบันการเงินและระบบการเงินสูง มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความซับซ้อน และเป็นผู้ให้บริการหลักในผลิตภัณฑ์ทางการเงินหรือโครงสร้างพื้นฐานที่สําคัญของประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นถึงความสําคัญและความจําเป็นที่ต้องกํากับดูแลธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวให้เข้มงวดขึ้นกว่าธนาคารพาณิชย์ทั่วไป โดยกํากับดูแลให้ธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ (Domestic systemically important banks: D-SIBs) มีความสามารถในการรองรับความเสียหายได้มากขึ้น เพื่อลดโอกาสที่ธนาคารพาณิชย์ จะประสบปัญหาฐานะทางการเงิน และส่งผลกระทบ (Negative externalities) ต่อระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ อันจะเป็นการส่งเสริมให้ระบบสถาบันการเงินของประเทศ มีเสถียรภาพและได้รับการยอมรับตามมาตรฐานสากล

โดยแนวทางการกํากับดูแลธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศตามประกาศฉบับนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยอ้างอิงจาก A framework for dealing with domestic systemically important banks ของ Basel Committee on Banking Supervision ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกํากับดูแลสถาบันการเงินตามหลักเกณฑ์ Basel III

การกําหนดธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อกําหนดให้ธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้การกํากับดูแลที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งต้องดํารงเงินกองทุนในอัตราที่สูงขึ้นและต้องปฏิบัติตามมาตรการกํากับดูแลอื่นที่มากกว่าธนาคารพาณิชย์ทั่วไป โดยการกําหนดรายชื่อธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศนั้นไม่ได้หมายความว่าธนาคารพาณิชย์ ดังกล่าวจะต้องได้รับความช่วยเหลือจากทางการโดยปริยายในกรณีที่ประสบปัญหาด้านสภาพคล่องหรือปัญหาฐานะทางการเงิน ซึ่งการตัดสินใจในเรื่องดังกล่าวจะต้องพิจารณาถึงปัจจัยอื่นที่สะท้อนความเชื่อมั่นต่อระบบสถาบันการเงินและระบบการเงินในขณะนั้นด้วย

อ่านต่อเพิ่มเติมคลิก แนวทางการระบุและการกํากับดูแลธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ // รายชื่อธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ

เรียบเรียงโดยธิดารัตน์ พูลศิริ : สำนักข่าวทีนิวส์