วันพฤหัสบดี, กันยายน 28, 2560

แบงก์จุกหนี้เสียย้อนกลับ (หนี้เสียที่เคยปรับปรุงโครงสร้างไปแล้วแต่กลับมาเสียอีก) ทำเศรษฐกิจสะดุด





ที่มา FB


Bank of Thailand Scholarship Students


(Sep 27) แบงก์จุกหนี้เสียย้อนกลับทำเศรษฐกิจสะดุด : ตัวการสำคัญที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (ธนาคารรัฐ) เป็นกังวลไม่กล้าปล่อย สินเชื่อ คือ ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิด รายได้ (เอ็นพีแอล) แต่ปัญหาเอ็นพีแอล ก็ยังพอแก้ไขได้ด้วยการขายหนี้ออก หรือปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ ลดต้น ลดดอกเบี้ย ยืดระยะเวลาในการชำระหนี้ออกไป ให้ลูกค้าผู้กู้สามารถกลับมาชำระหนี้ได้เป็นลูกหนี้ปกติ ธนาคาร ไม่มีภาระในการกันสำรองหนี้เสีย

แต่สิ่งที่หลอนมากกว่าเอ็นพีแอลจนทำให้ไม่อยากปล่อยกู้เอาเสียเลย คือ เอ็นพีแอลที่เคยปรับปรุงโครงสร้างไป แล้วแต่กลับมาเป็นเอ็นพีแอลอีก (Re-entry) เพราะพยายามหาทางออก ให้แล้วก็ยังกลับมาเป็นหนี้เสียอีกสะท้อน ว่าหมดหนทางเยียวยา กลายเป็นยาพิษของการขยายสินเชื่อในสถานการณ์ปัจจุบันไปโดยปริยาย จึงไม่น่าแปลกใจที่ในช่วงปี 2560 ที่ผ่านมาสินเชื่อทั้งระบบขยายตัวได้น้อยบั่นทอนแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกทาง

จากข้อมูลล่าสุดประมาณกลางปี 2560 พบว่า หนี้เสียย้อนกลับ ของธนาคารพาณิชย์และธนาคารรัฐมีรวมกันประมาณ 1.74 แสนล้านบาท เกือบครึ่งของ งบประมาณขาดดุลในปี 2560 ที่ 4.5 แสนล้านบาท กลายเป็นบอนไซฉุดรั้งการเติบโตของสินเชื่อ หนักขึ้นๆ

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานว่า หนี้เสียย้อนกลับของระบบของธนาคารพาณิชย์ไทยและสาขาธนาคารต่างประเทศ รวมถึงบริษัท เงินทุน (บง.) และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์(บค.) ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2560 อยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท ส่วนเอ็นพีแอลทั้งระบบอยู่ที่ประมาณ 4.13 แสนล้านบาท ของยอดสินเชื่อคงค้างประมาณ 12 ล้านล้านบาท

ธปท.ยังรายงานการเปลี่ยนแปลงการเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลที่ยังไม่กันสำรอง (Gross NPLs) ทั้งระบบจำแนกตามประเภทธุรกิจ ล่าสุดในสิ้นไตรมาส 2 ปีนี้ ว่า ทั้งระบบมีเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นรวม 8.53 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่าไตรมาสก่อนหน้าที่ 7.34 หมื่นล้านบาท

ซึ่งเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นมีสาเหตุแบ่งจาก 1) เอ็นพีแอลรายใหม่ 5.5 หมื่นล้านบาท 2) Re-entry 2 หมื่นล้านบาท และอื่นๆ อีก 1 .06 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ธปท.ยังรายงานว่า ภาคธุรกิจที่พบว่ามี Re-entry มากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ธุรกิจในภาคการผลิต มากเป็นอันดับ 1 ที่ 1.04 หมื่นล้านบาท อันดับสองการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล 4,291 ล้านบาท และอันดับสามภาคธุรกิจการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์ และจักรยานยนต์ 3,302 ล้านบาท

ด้านสถานการณ์ Re-entry ของธนาคารรัฐ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รายงานว่า จากยอดสินเชื่อคงค้างของธนาคารรัฐ ณ เดือน พ.ค. 2560 ที่ 4.97 ล้านล้านบาทนั้น มีเอ็นพีแอลอยู่ที่ 2.46 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเอ็นพีแอลที่เกิดใหม่ประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท แต่มี Re-entry ถึง 1.54 แสนล้านบาท

จากข้อมูลเหล่านี้บ่งบอกว่า สถานการณ์ Re-entry ในปัจจุบัน สาหัสไม่น้อย เมื่อเทียบกับอัตราการขยายตัวของสินเชื่อ ดังนั้น ในภาวะแบบนี้จึงไม่แปลกที่ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่จะระมัดระวังการปล่อยกู้ค่อนข้างมากถึงมากที่สุด โดยเฉพาะกับลูกค้ารายย่อยและลูกค้ากลุ่มที่ Re-entry สูง ส่วนธนาคารรัฐแหล่งรองรับลูกค้าเกรดที่ด้อยลงไปกว่าธนาคารพาณิชย์จึงแบกรับ เอ็นพีแอลและปัญหา Re-entry มากกว่า ตามคุณภาพลูกหนี้

ประเด็นปัญหานี้จึงไม่ควรมองข้าม

ถือเป็นอีกปัญหาที่กลายเป็นงูกินหางวนมาฉุดให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้น้อยว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากไม่มีแรงส่งจากการขยายตัวของสินเชื่อที่มากพอ ในการผลักดันกำลังซื้อในประเทศ การเติบโตของกิจการในธุรกิจเอสเอ็มอี รวมไปถึงการขยายการลงทุนภาคเอกชน ที่อยู่ในภาวะแผ่วมาต่อเนื่องนานหลายปี ทั้งที่สภาพคล่องในระบบล้นทะลักจนธนาคารพาณิชย์นำกลับไปฝาก ธปท.เพื่อกินดอกเบี้ยที่ 1.5% อย่าง ที่มีประเด็นฮือฮาไปก่อนหน้านี้ หลังกระทรวงการคลังออกมาตั้ง ข้อสังเกต

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า สินเชื่อสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ในเดือน ส.ค. 2560 อยู่ที่ 10.71 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 3.2 หมื่นล้านบาท หรือ 0.3% และเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนที่ 2.78% และเพิ่มจากต้นปีนี้ถึงปัจจุบัน 1.06% อย่างไรก็ดีคาดว่าปีนี้ทั้งปีสินเชื่อจะโตได้ที่ 4.0% จากสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ที่ได้ประโยชน์จากการส่งออกและการลงทุนภาครัฐ โดยสินเชื่อยังไม่กระจายตัวลงไปยังเอสเอ็มอีและรายย่อย

ณญาณี เผือกขำ กรรมการผู้จัดการบริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส ผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อผ่อนชำระ กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ กล่าวว่า อัตราอนุมัติสินเชื่อบุคคลเดือน ก.ย.ลดลงเหลือ 39% จากเดือน ส.ค. อยู่ที่ 43% ซึ่งการปฏิเสธสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการปรับหลักเกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่อ ที่ไม่มีหลักประกัน ที่ให้ลูกค้าสินเชื่อบุคคลกู้ได้ไม่เกิน 3 บริษัท ทำให้ผู้ที่เป็นลูกค้าสินเชื่อหลายบริษัทต้องถูกปฏิเสธ ประกอบกับการปรับแผนคัดกรองความเสี่ยงลูกค้าเกรด D ที่มีภาระหนี้สูงก็จะถูกปฏิเสธเช่นกัน

บุญทักษ์ หวังเจริญ ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย กล่าวว่าเอ็นพีแอลของระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในกลุ่มของหนี้เสียที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้วแต่กลับมาเป็นเอ็นพีแอลใหม่ และยังมีสัญญาณของหนี้เสียจากกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางที่ไม่ใช่เอสเอ็มอีอีกด้วย ซึ่งเอ็นพีแอลสะท้อนภาพเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ส่วนในปีหน้าเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นหนี้เสียน่าจะลดลง

ด้านศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย คาดการณ์ว่าในไตรมาส 3 ปีนี้สัดส่วนเอ็นพีแอลจะแตะจุดสูงสุดที่ 3% ของสินเชื่อคงค้าง คิดเป็นมูลค่ากว่า 4.3 แสนล้านบาท

โดยกว่า 80% ของเอ็นพีแอลมาจากลูกค้าเอสเอ็มอีในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายและการเกษตรเป็นหลัก รวมไปถึงสินเชื่อรายย่อย นำโดยสินเชื่อบ้านขณะที่ฝั่งธนาคารรัฐที่มีระดับ เอ็นพีแอลสูง และมี Re-entry ส่วนใหญ่จะเร่งตัดขายหนี้ออก เพราะไม่สามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้ สดคล้องกับความเห็นของ ฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ที่กล่าวว่า ในเดือน ก.ย.นี้ ธนาคารจะเสนอให้คณะกรรมการธนาคารอนุมัติขายหนี้เอ็นพีแอล 6,900 ล้านบาท จากยอดทั้งหมด 9,600 ล้านบาท ให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ นำไปบริหารต่อ เพื่อให้สิ้นปี 2560 ยอดเอ็นพีแอลของธนาคารจะได้ปรับ ลดลงเหลือ 4.86% จากปัจจุบัน 5.34% ของสินเชื่อรวมของธนาคาร

ภาวะหนี้เสียใหม่และหนี้เสียย้อนกลับที่ยังคงกระทบธุรกิจธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นธนาคารของรัฐ หรือธนาคารพาณิชย์ ก็มีผลในการฉุดรั้งเศรษฐกิจไม่แตกต่างกัน และตราบใดที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ช้า คนรายได้ไม่เพิ่ม ความสามารถในการจ่ายชำระคืนหนี้ไม่เพิ่มหนี้ยังพอกพูน หนี้เสียก็ยังกดดันธนาคารให้เข้มงวดการปล่อยกู้บั่นทอนการเติบโตเศรษฐกิจอีกต่อไป

โดย พรสวรรค์ นันทะ
Source: Posttoday

...

Isariya Lerdtrakoonrat ปัญหาคือ เวลาปรับโครงสร้างหนี้ ไมอยู่บนพื้นฐานความสามารถชำระของลูกค้าเพียงอย่างเดียว แต่ แบงค์ กลับพยายามให้ลูกหนี้ชำระด้วยตัวเลขที่แบงค์คำนวณมามากกว่า มิเช่นนั้น สัญญาการปรับโครงสร้างจะไม่เกิด ตรงนี้ไม่เป็นการให้โอกาสอย่างแท้จริง แต่เป็นการ บังคับ สู่ re-entry