เป็นครั้งแรกและประวัติการณ์ ผู้ต้องหาคดีความผิด ม.๑๑๒
ประกาศไม่ยอมรับกระบวนการศาลไทย “มันเป็นเรื่องการเมือง ไม่ใช่เรื่องกฎหมาย”
ทนาย ประเวศ ประภานุกูล ผู้ต้องหาหลายมาตรา รวม ๑๓ กรรม
แจ้งเหตุผลไว้ในคำร้องแถลงการณ์ของเขาต่อศาล
เมื่อถูกนำตัวไปเพื่อตรวจพยานหลักฐานต่อหน้าผู้พิพากษาศาลอาญา รัชดา เมื่อเช้าวันที่
๑๘ กันยายน หลังจากที่อัยการยื่นฟ้องไว้เมื่อ ๒๑ กรกฎาคม ว่า
ในเมื่อคดีนี้ฟ้องร้องเขาฐานละเมิดต่อสถาบันกษัตริย์ แต่ “ศาลไทยประกาศตนว่ากระทำในพระปรมาภิไธยศาลจึงมีส่วนได้เสียในการพิจารณาคดี
ทำให้ขาดความเป็นกลางและขาดความชอบธรรมในการพิจารณาคดี”
ทนายประเวศเป็นทนายในคดีสิทธิมนุษยชนและคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ที่รู้จักกันดี
ซึ่งให้การช่วยเหลือว่าความให้กับผู้ต้องหาคดีเหล่านี้
แม้บ่อยครั้งไม่รับค่าจ้างค่าบริการ เมื่อผู้ต้องหาเป็นชาวบ้านที่อัตคัตและขาดความรอบรู้ในตัวบทกฎหมาย
เขาถูกทหารไปจับกุมตัวโดยไม่มีหมายจับ-หมายค้น ไม่แจ้งข้อหา
เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๖๐ ถูกนำตัวไปควบคุมไว้พร้อมกับผู้ต้องหาอื่นอีก ๕ คน
ในค่ายทหาร มทบ.๑๑ โดยผู้ต้องหาบางรายถูกปิดตา คลุมหัว จนกระทั่งวันที่ ๓ พฤษภาคม
จึงมีการแจ้งข้อหาแล้วขออำนาจศาลฝากขังไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
ผู้ต้องหาส่วนใหญ่ถูกฟ้องในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์
จากการนำข้อความเฟชบุ๊คของ Somsak Jeamteerasakul เกี่ยวกับหมุดคณะราษฎรที่หายไปมาทำซ้ำและแสดงความคิดเห็นเสริม
สำหรับทนายประเวศและผู้ต้องหาอีกหนึ่งนาย
นามว่าดนัย (สงวนนามสกุล) โดนเพิ่มข้อหายุยงปั่นป่วน ตามมาตรา ๑๑๖ กับความผิดตาม
พรบ.คอมพิวเตอร์ มาตรา ๑๔ ศาลปฏิเสธการปล่อยตัวชั่วคราว ๗ ผัด ต้องถูกจองจำมาตลอด
๕ เดือน
ในคำร้องของทนายประเวศซึ่งเขียนด้วยลายมือตนเองจากห้องขัง
ระบุว่า “ขอประกาศไม่ยอมรับกระบวนการพิจารณาคดีนี้ของศาลไทย โดยศาลอาญา
และข้าพเจ้าจะไม่เข้าร่วมกระบวนการพิจารณาคดีนี้
โดยไม่ให้การ ไม่แต่งทนายความเข้าดำเนินคดี ไม่ถามค้านพยานโจทก์ ไม่นำสืบพยานจำเลย
ไม่ลงชื่อในเอกสารใดๆ ของศาล”
คำร้องฉบับที่สองของเขากล่าวถึงการที่ศาลไม่อนุญาตให้มีการปล่อยตัวชั่วคราว
ด้วยข้ออ้างที่ว่าศาล “พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว
กรณีเป็นการกระทำที่ร้ายแรงต่อสถาบันกษัตริย์”
นั้นเป็นการแสดงออกถึงความคิดเห็นของศาลอาญา ว่าเขาได้กระทำความผิดตามฟ้องไปแล้ว
“ทั้งที่ยังไม่ได้มีการสืบสวนหรือตัดสินว่าผิดจริงหรือไม่ เป็นการพิพากษาล่วงหน้าก่อนการฟ้องคดีด้วยซ้ำ”
ทนายประเวศกล่าวถึงการตัดสินใจไม่ยอมรับอำนาจศาลครั้งนี้ว่า
“ผมเคยเขียนถึงวิธีต่อสู้คดี ๑๑๒ แบบนี้ในเฟสบุ๊คมาก่อนแล้ว
แต่ไม่มีใครคิดว่ามันจะเป็นไปได้
ถ้าผมไม่ทำแบบนี้ก็เท่ากับที่พูดไปนั้นเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ
ผมไม่ได้อยากอยู่ตรงนี้
แต่เมื่อต้องอยู่แล้วก็ต้องใช้โอกาสนี้ให้ถึงที่สุด เพราะโทษที่เยอะขนาดนี้
อายุผมก็เท่านี้คงได้ตายในคุก...
ที่คิดแบบนี้มันมาจากประสบการณ์ที่ทำคดีให้ดา (ดารณี
ชาญเชิงศิลปกุล) และดูแนวทางของคดีอื่นๆ ที่ผ่านมา
ผมไม่มีความหวังเลยว่าจะสามารถต่อสู้คดีลักษณะนี้ได้เต็มที่และบนหลักการโดยแท้จริง”
สำนักข่าวประชาไทรายงานว่า
มีผู้ไปเข้าฟังการพิจารณาคดีครั้งนี้ราวสิบกว่าคน ล้วนเป็นผุ้ใส่ใจต่อคดี ม.๑๑๒
เป็นพิเศษ เช่นตัวแทนองค์กรสิทธิมนุษยชน นักข่าว ญาติใกล้ชิด เพื่อนสนิท
รวมทั้งอดีตผู้ต้องหาคดีสิทธิมนุษยชนที่ทนายประเวศเคยอนุเคราะห์
‘ทนายน้อย’ อานนท์ นำภา
ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เขียนบนเฟชบุ๊คว่า “องค์กรตุลาการเป็นองค์กรเดียวที่ไม่ค่อยมีคนกล้าแตะต้อง
นี่อาจจะเป็นอิฐก้อนแรกของการเปลี่ยนแปลงกระมัง ด้วยความเคารพทนายประเวศครับ”
‘ทนายอู๊ด’ วิบูลย์
บุญภัทรรักษา โพสต์บนหน้าเฟชบุ๊คของเขาเช่นกัน “เคารพการตัดสินใจ ทนายประเวศครับ”
ขณะที่คดี ๑๑๒ ของลูกชายเขา ไผ่ ดาวดิน ตัดสินใจไม่อุทธรณ์คำพิพากษาความผิดฐานทำซ้ำบทความบีบีซีไทยเรื่องพระราชประวัติรัชกาลที่
๑๐
“ถ้าผมมีทางเลือกและศาลอุทธรณ์ยึดมั่นในความยุติธรรม
ปราศจากอคติและพิจารณาคดีตามหลักฐานและเหตุผล
ผมก็ไม่อยากให้คดีของลูกชายถึงที่สุดเพียงแค่ศาลชั้นต้น
แต่ช่องทางที่จะไปในขั้นตอนต่อไปนั้นมันไม่มี ก็คงไม่มีประโยชน์ที่จะทำ”
นายวิบูลย์กล่าวด้วยว่า
“การขออภัยโทษก็เป็นสิทธิของจำเลยเพราะไม่มีช่องทางอื่นในการช่วยเหลือลูกชาย
ส่วนจะได้รับการอภัยโทษหรือไม่นั้นตนไม่ทราบ แต่ถ้าคดีไม่ถึงที่สุดก็ขออภัยโทษไม่ได้
และอาจทำให้ลูกชายถูกจำคุกนานขึ้น”
บรรพต ไชยสา อดีตลูกความคนหนึ่ง (ซึ่งเหตุแห่งคดีทำให้เขาเสียตาไปข้างหนึ่ง)
ไปฟังการพิจารณาคดีที่ศาลอาญาด้วย เผยใจว่า “ทนายประเวศช่วยคดี ของเขา โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
เพียงแค่จ่ายค่ารถและเลี้ยงอาหารทนายเท่านั้น...ผมอยากมาให้กำลังใจเพราะทนายประเวศมีบุญคุณกับผม”
มุทิตา เชื้อชั่ง ผู้สื่อข่าวสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะคดี ๑๑๒
ที่ทำให้เธอได้รับรางวัล ‘เคทเว็บบ์’ ของสำนักข่าวเอเอฟพี ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี ๒๕๕๘ เล่าบรรยากาศวันประวัติการณ์ครั้งนี้ไว้
(พร้อมบันทึกภาพการ์ตูน)
“มันเป็นเรื่องตลกร้ายที่สุดเรื่องหนึ่ง
อดีตลูกความสองคนที่ต้องโทษ ๑๑๒ ออกมาจากเรือนจำไม่นานนัก
ต่างก็มาให้กำลังใจอดีตทนายของพวกเขา
อดีตนักโทษมาในชุดธรรมดา
เสื้อสีสดใส ส่วนอดีตทนายมาในชุดนักโทษสีน้ำตาล ข้างหลังเขียน ‘3’ ด้วยปากกาไวท์บอร์ด
อันหมายถึงแดน ๓ ในเรือนจำ ขาใส่โซ่ข้อเท้า มือก็ใส่กุญแจล็อกไว้กับนักโทษอีกคน
ผมสั้นเกรียนแซมด้วยผมหงอกเต็มไปหมด รูปร่างที่ผอมอยู่แล้วยิ่งผอมซูบกว่าเดิม
อดีตนักโทษมองเขาด้วยสายตาห่วงใย
คนหนึ่งเข้าไปทักทายให้กำลังใจ อีกคนหนึ่งบอกว่าจะสู้แบบนี้จริงหรือ เปลี่ยนใจไหม
น่าตลกตรงที่มันเป็นประโยคที่สองคนนี้สลับกันพูดเมื่อหลายปีก่อน
แต่คำตอบนั้นตรงกันคือ ‘สู้’...
เห็นแววตาเศร้าๆ
ในบางขณะเพราะเขารู้ว่าเป็นไปได้มากที่เรื่องของเขาจะเงียบหายไปกับสายลม
และไม่ว่าจะทางไหนเขาก็หมดหวังจะได้ใช้ชีวิตข้างนอกอีกครั้งก่อนตาย