วันอังคาร, กันยายน 19, 2560

บีบีซีไทยคุยกับนักวิเคราะห์การเมืองว่าอะไรอยู่เบื้องหลังการนำเสนอแนวคิด "รัฐบาลแห่งชาติ"





12 ปีชงตั้งรัฐบาลแห่งชาติ 6 ครั้ง:ข้อเสนอนี้เพื่อใคร?


13 กันยายน 2017
ที่มา บีบีซีไทย


"รัฐบาลแห่งชาติ" เป็นข้อเสนอเก่าที่ถูกโยนออกมาเขย่าการเมืองไทยเป็นระยะๆ ในห้วง 12 ปีของวิกฤตการเมืองไทย (2548-2560) พบว่ามีผู้เสนอ "สูตรอำนาจพิสดาร" นี้อย่างน้อย 6 ครั้ง แม้ว่ายังไม่มีครั้งใดที่ได้รับการสนองตอบ แต่รัฐบาลแห่งชาติก็ดูเหมือนจะเป็นแนวคิดที่ไม่มีวันตาย

บีบีซีไทยคุยกับนักวิเคราะห์การเมืองว่าอะไรอยู่เบื้องหลังการนำเสนอแนวคิดนี้กันแน่

นักวิชาการเห็นตรงกัน:เหตุเพราะนักการเมืองอยู่ยากในอนาคต

ยุทธพร อิสรชัย สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช เห็นว่า การเมืองในขณะนี้รัฐธรรมนูญถาวรมาแล้ว กฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญ ก็ออกมาบ้างแล้ว ซึ่งหนึ่งถึงสองปีก็น่าจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ แนวคิดที่ก็ถูกเสนอขึ้นมาอาจเป็นการโยนหินถามทาง ภายใต้กติการทางการเมืองใหม่ ทำให้นักการเมืองทำงานลำบากว่าแต่ก่อนมาก เพราะมีกลไกมากมายในการกำกับดูแลนักการเมือง อย่างเช่น ต้อง เสนอชื่อผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีให้เลือกสามคน ให้วุฒิสภาเข้ามาเลือกด้วย ฯ นี่น่าจะเป็นแรงผลักดันหนึ่งที่ทำให้เกิดข้อเสนอ

อีกประการหนึ่ง นักการเมืองจากพรรคการเมืองที่ไม่อาจจะชนะทางการเมืองหรือพรรคระดับกลางและเล็กก็อาจจะพร้อมประนีประนอมกับทหารเพื่อตั้งรัฐบาลอยู่แล้ว เพราะสามารถเป็นรัฐบาลได้โดยไม่ต้องชนะการเลือกตั้ง




GETTY IMAGES
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาไปลงประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญ เมื่อปีที่แล้ว


พิชญ์ พงศ์สวัสดิ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ถ้ามองในเชิงบวกอาจแปลว่านักการเมืองพร้อมที่จะทำงานร่วมกัน พร้อมจะแบ่งปันอำนาจกัน แต่ก็มีกลุ่มคนอีก "ระดับ" หนึ่งซึ่งไม่อยากจะแบ่งปันอำนาจกับนักการเมือง ต้องการควบคุมนักการเมืองเอาไว้ด้วยกฎระเบียบต่าง ๆ ซึ่งนักการเมืองเองก็เห็นว่าอีก 4-5 ปีข้างหน้าที่พวกอาจจะไม่มีที่ยืน ดังนั้นทางออกส่วนหนึ่งก็คงก็ต้องเสนอวาทกรรมแบบนี้ขึ้นมา

พิชญ์คิดว่าเรื่องรัฐบาลแห่งชาติยังเป็นเรื่องที่สำคัญน้อยกว่าเรื่องการแบ่งปันอำนาจ (power sharing) ในขณะนี้คือการครอบงำทางอำนาจ ไม่ได้ให้ประชาชนมีส่วนร่วม รัฐบาลกำหนดว่าควรมีอะไรบ้าง สิ่งใดบ้าง ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนและผลประโยชน์ของประชาชนเลย และถ้าบอกเรื่องรัฐบาลแห่งชาติเน้นเรื่องการไร้ความขัดแย้ง ทุกพรรคเป็นรัฐบาลร่วมกันหมด สถานการณ์ก็จะหนักขึ้นไปอีก

ย้อนดูข้อเสนอรัฐบาลแห่งชาติ

เมื่อไม่กี่วันมานี้ นายพิชัย รัตกุล อดีต หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ก็หยิบยกแนวคิดนี้ขึ้นอีกครั้ง โดยแสดงเป็นห่วงว่าเรื่องการปรองดองระหว่างกลุ่มที่แตกแยกไม่น่าจะเป็นไปได้ อีกต่อไป ในห้วงเวลาหลังการเดินทางออกนอกประเทศของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

เขาเสนอว่าพรรคการเมืองทั้งหลายอย่างเพื่อไทย ประชาธิปัตย์หรือภูมิใจไทยควรร่วมกับทหารตั้งรัฐบาลแห่งชาติ เพราะเห็นว่าหากตั้งรัฐบาลให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หรือทหารตั้งรัฐบาลฝ่ายเดียวหลังการเลือกตั้ง จะไม่มีทางปรองดองและเศรษฐกิจจะไปไม่รอด

รัฐบาลสมานฉันท์" สู่ "รัฐบาลเฉพาะกาล" ของ พล.อ.ชวลิต

ย้อนกลับไปก่อนรัฐประหารปี 2549 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาเสนอให้มี "นายกฯ คนกลาง" ของ "รัฐบาลสมานฉันท์" เข้ามาบริหารประเทศในช่วงวิกฤต-ลดปัญหาความขัดแย้งในสังคม

ข้อเสนอนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2549 หลังพรรคไทยรักไทยของนายทักษิณ ชินวัตร เข้าสู่สนามเลือกตั้ง 2 เม.ย. 2549 เพียงพรรคเดียว ท่ามกลางการชุมนุมขับไล่รัฐบาลนายทักษิณของมวลชนที่เรียกตัวเองว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)

แต่ท้ายที่สุดข้อเสนอนี้มีอันตกไป เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 แล้วส่ง "นายกฯ นายพล(เก่า)" อย่าง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เข้าบริหารประเทศเป็นเวลาปีเศษก่อนมีการเลือกตั้ง

ระหว่างนั้น พล.อ.ชวลิตไม่ลด-ละ-เลิกเสนอจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ โดยได้ออกมาเสนอแนวคิดนี้ช่วงเดือน มิ.ย.-ส.ค. 2551 แต่ไม่มีสัญญาณตอบรับจากพรรคใดๆ กระทั่งต้นสังกัดอย่างพรรคพลังประชาชน-คนเสื้อแดง ที่บอกไม่รู้-ไม่เห็นกับบทเฉพาะตัวของ "พ่อใหญ่จิ๋ว"



GETTY IMAGES
ประชาชนออกเสียงเลือกตั้งในปี 2554 หลายฝ่ายรอว่าการเลือกตั้งอาจจะถูกจัดขึ้นในปี 2561 หรือไม่


รัฐบาลปรองดอง โดยคุณหญิงสุดารัตน์


ข้อเสนอเก่าถูกเอามาเล่าใหม่อีกครั้งในยุครัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ หลังเกิดเหตุนองเลือด จากปฏิบัติการขอคืนพื้นที่การชุมนุมของมวลชนที่เรียกตัวเองว่าแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) บริเวณสี่แยกคอกวัว วันที่ 10 เม.ย. 2553

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย ก็ออกมาแถลง เรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ลาออก แล้วจัดตั้ง "รัฐบาลแห่งชาติเพื่อความปรองดอง" ใช้เวลา 3 เดือนตกลงกรอบกติกาเลือกตั้งให้เป็นธรรม ก่อนยุบสภา ซึ่งก่อนลงสนามเลือกตั้ง ทุกพรรคต้องลงสัญญาประชาคมว่าหากผลการเลือกตั้งออกมาอย่างไร ต้องยุติตามนั้น

นี่เป็นอีกครั้งที่ข้อเสนอนี้ไม่ได้รับการสนองตอบ

รัฐบาลเฉพาะกาลคนกลาง โดยอภิสิทธิ์

อีกครั้งเมื่อมวลชนอีกข้างที่เรียกตัวเองว่า คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ชุมนุมขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปี 2556-2557 จากกรณีสภาผ่าน "ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง" ก็มีความพยายามในทางลับเจรจาให้ "นายกฯ หญิงลาออก" เปิดทางตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจแก้ปัญหา

แต่ข้อเสนอนี้มาปรากฏต่อสาธารณะอย่างเป็นทางการไม่กี่วันก่อนรัฐประหาร เมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดแถลงข่าวหัวข้อ "เดินหน้าประเทศไทย ปฏิรูปภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ" วันที่ 3 พ.ค. 2557 เรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์นำ ครม.ลาออกจากตำแหน่ง เปิดทางจัดตั้ง "รัฐบาลเฉพาะกาลคนกลางที่เกิดขึ้นบนความยอมรับของทุกฝ่าย" เพื่อบริหารการจัดทำข้อเสนอเรื่องการทำประชามติ การปฏิรูป และการเลือกตั้ง ใช้เวล่า 6 เดือน-1 ปีก่อนจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่

แต่สุดท้ายทั้งดีลลับ-ดีลแจ้งไม่ถูกขานรับจากคู่ขัดแย้งหลักอย่างรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์และ กปปส. การชุมนุมบนถนนจึงสงบลงได้ด้วยการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557


GETTY IMAGES
ชายผู้นี้ประท้วงการรัฐประหาร แม้จะมีการประกาศกฎอัยการศึกออกมา เหตุการณ์เกิดเมื่อ23 เดือนพฤษภาคม ปี 2557


"รัฐบาลปรองดองเพื่อการปฏิรูป" ฉบับเอนก

เมื่อเข้าสู่ยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็มีข้อเสนอนี้ออกมาจาก "แม่น้ำร่วมสาย" อย่างสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) บางส่วน นำทีมโดยนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองของ สปช. ถึงขนาดเตรียมชงญัตติให้ตั้งคำถามพ่วงประชามติ ถามประชาชนไปเลยว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการตั้ง "รัฐบาลปรองดองเพื่อการปฏิรูป"

แต่สุดท้ายถูกเบรค-ล้มไม่เป็นท่า เมื่อนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. บอกว่า "ไม่ใช่หน้าที่ของ สปช." ในการดำเนินการเรื่องนี้ ไม่ต่างจากเพื่อนสมาชิกอย่างนายวันชัย สอนศิริ ที่บอกว่า "ไม่เชื่อว่านักประชาธิปไตย จะร่วมมือหรือทำงานร่วมกับเผด็จการ"