วันอังคาร, กันยายน 19, 2560

BBC Thai - 19 กันยา 2549: 11 ปีของ “รัฐประหารเสียของ”



AFP/GETTY IMAGE
ประชาชนจำนวนหนึ่งออกไปให้กำลังใจทหารที่เคลื่อนรถถังออกมาโค่นล้มรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ปี 2549


19 กันยา 2549: 11 ปีของ “รัฐประหารเสียของ”


โดย หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

19 กันยายน 2017


19 ก.ย. 2549 ไม่เพียงเปลี่ยนชีวิต พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร (ยศขณะนั้น) นายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ไปตลอดกาล แต่ยังเป็นอดีตที่ตามหลอกหลอน พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะรัฐประหารที่ถูกตราหน้าว่า "ทำเสียของ"

ตลอดวันที่ 19 ก.ย. 2549 ข่าวลือเรื่องรัฐประหารมีอย่างหนาหู ในยามที่ทักษิณอยู่ในสหรัฐอเมริกาเพื่อกล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมใหญ่แห่งสหประชาชาติ ทว่า กว่าเขาจะไหวตัวทัน และพยายามสกัดกั้น ก็สายเกินไป

ช่วงค่ำของวันที่ 19 ทักษิณอ่านประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพฯ จากนครนิวยอร์ก ออกคำสั่งปลดผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) แล้วแต่งตั้งผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) เข้าควบคุมสถานการณ์ แต่การสื่อสารของนายกฯ คนที่ 23 ผ่านสถานีโทรทัศนช่อง 9 ถูกตัดสัญญาณ ปฏิบัติการยื้ออำนาจข้ามทวีปของเขา จึงหยุดลง

22.54 น. สถานีโทรทัศน์ทุกช่องขึ้นประกาศของ "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" (คปค.) มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หรือ "บิ๊กบัง" ผบ.ทบ.คนนั้น เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร (ต่อมา คปค. แปรสภาพเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือคมช.)



ที่มา: บีบีซีไทยรวบรวมข้อมูลและคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.สนธิกับสื่อหลายสำนัก โดยข้อ 1, 7 มาจากคอลัมน์ "ลึกแต่ไม่ลับ" โดยจรัญ พงษ์จีน ในมติชนสุดสัปดาห์ 24 พ.ย. 2549 ข้อ 2, 3 มาจากหนังสือ "ลับ ลวง พราง" โดยวาสนา นาน่วม และบทสัมภาษณ์ที่ตีพิมพ์ลงเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ 26 ต.ค. 2549 ข้อ 4 จากหนังสือ "ลับ ลวง พราง" และข้อ 5 จากบทสัมภาษณ์ของกรุงเทพธุรกิจ


คำสัญญา ที่กลายเป็น "รัฐประหารเสียของ"

เช้าวันรุ่งขึ้นหลังการยึดอำนาจครั้งแรกในรอบ 15 ปี ประชาชนบางส่วนออกไปถ่ายรูปกับรถถัง-มอบดอกไม้ให้ทหาร จนสื่อต่างประเทศอดประหลาดใจไม่ได้กับ "รัฐประหารแบบไทยไทย"


AFP/GETTY IMAGES


ขณะที่นายพลผู้กลายเป็น "องค์อธิปัตย์" นำทีม ผบ.เหล่าทัพอ่านแถลงการณ์ คปค. ย้ำ 4 เหตุผลในการยึดอำนาจ ก่อนเชิญคณะทูตานุทูตมาพบเพื่อชี้แจงสถานการณ์ และตั้งโต๊ะตอบคำถามสื่อมวลชนทั้งไทยและเทศกว่า 400 ชีวิต

"ขอเวลาทำภาระหน้าที่ตรงนี้ 2 สัปดาห์ เพื่อให้มีนายกฯ และ ครม.ชุดใหม่มาบริหารราชการแผ่นดินต่อไป" พล.อ.สนธิให้คำมั่น

เขายืนยันว่าไม่ต้องการครองอำนาจบริหารประเทศ และประกาศคืนอำนาจให้ประชาชนภายใน 1 ปี

ไม่กี่วันต่อมา พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี คือคนที่ พล.อ.สนธิเลือกให้ครองอำนาจแทนในฐานะนายกฯ คนที่ 24 (1 ต.ค. 2549-29 ม.ค. 2551) ด้วยความคิดว่า "ต้องคำนึงถึงความรู้สึกของคนทั้งโลกที่กำลังมุ่งสู่ความเป็นประชาธิปไตย"



AFP/GETTY IMAGES
พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ (คนกลาง) ถ่ายภาพหมู่ร่วมกับ ครม. ซึ่งหัวหน้า คมช.เปรียบเปรยว่าเป็น "คอหอยกับลูกกระเดือก" แต่ต่อมาเกิดความเห็นไม่ลงรอยหลายครั้ง จนกลายเป็น "คอหอยขัดลูกกระเดือก"


ทว่า หัวหน้าคณะรัฐประหารไม่สามารถสั่งการนายกฯ ได้ เพราะ พล.อ.สุรยุทธ์ผู้เป็น "นายเก่า" ของอดีตนายทหารรบพิเศษ แข็งกว่าที่เขาคิด

ภายหลังเกษียณอายุราชการ พล.อ.สนธิยังกลายเป็นลูกน้องของพล.อ.สุรยุทธอีกครั้ง โดยตัดสินใจทิ้งเก้าอี้ประธาน คมช. (30 ก.ย. 2550) เข้าร่วมคณะรัฐมนตรีในฐานะรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง แล้วให้ พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข รองประธาน คมช. รักษาการประธานแทน

เมื่อเห็นเก้าอี้ครม. สำคัญกว่าสัญญาประชาชน หลายเรื่องที่ควรจัดการจึงไม่ถูกจัดการ และนำมาสู่ข้อครหาเรื่อง "รัฐประหารเสียของ"

นี่กลายเป็นบทเรียนที่ทำให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึด-กุมอำนาจไว้เองมากว่า 3 ปี 4 เดือนแล้ว

เหมือนชนะ แต่ไม่ชนะ

ข้อแตกต่างระหว่าง คมช. ของ พล.อ.สนธิ กับ คสช. ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือ พล.อ.สนธิรักษาสัญญาเรื่องระยะเวลาการคืนอำนาจให้ประชาชนใน 1 ปีไว้ได้ ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ขยับหมุดหมายวันคืนอำนาจให้ประชาชนออกไปหลายครั้ง



AFP/GETTY IMAGES
พรรคพลังประชาชนรณรงค์ "โหวตโน" ร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ในชั้นประชามติ แต่ไม่อาจฝ่ากระแส "รับไปก่อน แก้ทีหลัง" และ "โหวตเยสเพื่อให้มีเลือกตั้ง"


คมช.ผลักดันให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ผ่านการออกเสียงประชามติเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์การเมืองไทย ด้วยคะแนนรับรอง 14 ล้านเสียง ต่อ 10 ล้านเสียงที่ไม่รับรอง ฝากมรดกคณะรัฐประหารผ่านรัฐธรรมนูญที่พวกเขาอ้างว่า สามารถสร้างกลไกสกัดกั้นการใช้อำนาจแบบ "เผด็จการรัฐสภา" เอาไว้ได้

"ความจริงประชาธิปไตยเกิดขึ้นตั้งแต่ 19 ก.ย. 2549 แล้ว หลังจากนี้การเมืองไทยจะเข้าสู่ระบบการเลือกตั้ง" พล.อ.สนธิกล่าวหลังทราบผลประชามติ 19 ส.ค. 2550

ชัยชนะในยกนั้น ทำให้ พล.อ.สนธิถูกจับตามองว่าจะแปรผลโหวตประชามติ เป็นแต้มต่อทางการเมืองหรือไม่อย่างไร? จะลงเล่นการเมืองหรือไม่?


GETTY IMAGES
พล.อ.สนธิบอกว่าต้องส่งเทียบเชิญถึง 2 ครั้ง ก่อนที่ พล.อ.สุรยุทธ์จะตอบรับเป็นนายกฯ คนที่ 24


ทว่าในความคิดของ พล.อ.สุรยุทธ์ไม่เชื่อว่า พล.อ.สนธิจะสืบทอดอำนาจได้ "ในประวัติศาสตร์ของไทยจะเห็นว่าประชาชนเป็นผู้ตัดสินจริงๆ ว่าจะอยู่ได้หรือไม่ได้"

ถือเป็นคำเตือนจากผู้เป็น "นาย" และ "พี่" ที่ไม่คาดว่าประธาน คมช. จะกระโจนลงสู่ปลักโคลนการเมืองหลังจากนั้น

ชัยชนะอยู่ในมือ คมช.เพียง 4 เดือนเท่านั้น เพราะทันทีที่มีการเลือกตั้งภายใต้กติกาฉบับปี 2550 "พรรคทักษิณ" ที่อยู่ในชื่อพรรคพลังประชาชนก็กำชัยชนะในการเลือกตั้ง 23 ธ.ค. 2550

สิ่งที่เคยคิดว่า "ชนะ" จึงกลับกลายเป็น "พ่ายแพ้"


AFP/GETTY IMAGES
พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข รักษาการประธาน คมช. (คนขวา) ระบุในวันแถลงยุติหน้าที่ คมช. ว่า "ไม่ได้คิดว่าเราแพ้ เพราะเราไม่ได้ไปต่อสู้หรือแข่งขันใดๆ เพียงแต่เราต้องการจัดระบอบ"


"เราพยายามทำในสิ่งที่ดีที่สุด แต่มันทำได้ไม่ 100 เปอร์เซนต์ตามที่ใจมุ่งหวัง สิ่งเหล่านี้จะไปเรียกร้องหรือไปตำหนิใครไม่ได้ หากจะตำหนิ ขอตำหนิตัวเองที่ไม่สามารถทำได้" พล.อ.อ.ชลิตนำทีมแถลงยุติบทบาท คมช. เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2551 ต้องส่งไม้ต่ออำนาจให้กับเครือข่ายรัฐบาลที่พวกเขาโค่นอำนาจมากับมือ

ทหารเก่า "ตาย" ในสภา

พล.อ.สนธิประกาศหลายกรรมหลายวาระว่า "ไม่สนใจการเมือง" และ "ไม่เป็นนายกฯ" แต่ความรู้ในหมู่นักการเมืองรายใหญ่ "บิ๊กทหาร คมช." คือผู้สนับสนุนหลักพรรคเพื่อแผ่นดินในการเลือกตั้งปี 2550

พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ระบุในหนังสือ "ลับ ลวง พราง ภาคสอง ซ่อนรูปปฏิวัติ หักเหลี่ยมโหด" ของ น.ส.วาสนา นาน่วม ว่า "พล.อ.สนธิตั้งเป้าให้พรรคเพื่อแผ่นดินร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ที่จะเป็นแกนนำ ซึ่ง พล.อ.สนธิจะเป็นรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ควบ รมว.กลาโหม"


AFP/GETTY IMAGE
พล.อ.สนธิช่วยลูกพรรคมาตุภูมิหาเสียงเลือกตั้ง 3 ก.ค. 2554 ที่ตลาดกลางเมืองนราธิวาส


อย่างไรก็ตาม พล.อ.สนธิไม่ได้เปิดหน้า-เปิดตัวลงสนามเลือกตั้งปี 2550 ในนามพรรคเพื่อแผ่นดิน แต่มาเปิดชื่อในฐานะหัวหน้าพรรคมาตุภูมิในปี 2552 โดยมีอดีต ส.ส.ที่แตกออกจากพรรคเพื่อแผ่นดินบางส่วนให้การสนับสนุน ตั้งเป้าทำพรรค ส.ส.มุสลิมชายแดนภาคใต้

พล.อ.สนธิประกาศขอ "เป็นมิตรกับทุกพรรค" พร้อมปฏิเสธเสียงวิจารณ์ภาพลักษณ์นายพลผู้ฉีกรัฐธรรมนูญ

"แล้วผมทำเพื่ออะไรล่ะ เราไปเรียกปฏิวัติ แต่ผมเรียกปฏิรูป หรือ reform คือการปฏิรูปสิ่งที่ไม่ดีให้เป็นสิ่งที่ดี พัฒนาสิ่งที่ไม่เป็นประชาธิปไตยให้เป็นประชาธิปไตย"

อดีตนายพล คมช.ลงสนามเลือกตั้งปี 2554 ในฐานะผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ แม้พรรคมาตุภูมิได้ ส.ส.เพียง 3 คน แต่คะแนนจากลูกพรรคก็ช่วยหิ้วหัวหน้าให้เข้าไปทำหน้าที่ในสภาได้สำเร็จ

ในวันที่เข้าไปเป็น "นักการเมืองเต็มขั้น" พล.อ.สนธิพลิกบทบาทจาก "คู่ขัดแย้ง" ไปเป็น "คู่หู" ของพรรค-พวกที่เขาเคยยึดอำนาจ ด้วยการนั่งเป็นประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร โดยมีวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย รับหน้าที่ "โปรโมเตอร์ปรองดอง"

"มันเป็นโอกาสของท่านที่อาจจะได้เป็นฮีโร่อีกครั้ง ท่านเคยเป็นฮีโร่มาแล้วครั้งหนึ่งตอนปฏิวัติ มีคนเอาดอกไม้ไปให้เพราะคิดว่าท่านได้แก้ปัญหาของบ้านเมือง แต่เมื่อไม่ได้แก้ ผมถือว่าท่านใช้ได้ การที่คนทำผิดแล้วขอโทษ แล้วหาทางออกทางใหม่" วัฒนากล่าวกับเว็บไซต์ไทยพับลิก้า (2554)

อย่างไรก็ตามสารพัดวาระปรองดองฉบับพรรคเพื่อไทย ถูกบิดไปเป็น "ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง" ซึ่งนำไปสู่การชุมนุมต่อต้านของ "มวลมหาประชาชน" ก่อนปิดฉากด้วยการยึดอำนาจ 22 พ.ค. 2557 โดย คสช.


AFP/GETTY IMAGES
หัวหน้า คสช.ประกาศโรดแมป "คืนประชาธิปไตย" ไว้ 3 ขั้นตอน แต่ถึงขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์บอกว่ายังไม่สามารถระบุวัน-เวลาที่แน่ชัดในการเลือกตั้งได้


ในวันที่ไม่มีหัวโขนใดๆ ไม่รู้อนาคตพรรคการเมืองที่ปลุกปั้นทำมา พล.อ.สนธิพบสัจธรรมการเมือง "วันหนึ่ง เขารักเราได้ อีกวัน เขาก็ไม่ได้ชอบเราได้ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับผลประโยชน์"

สิ่งที่ทำได้คือรอดูทิศทางลม ก่อนคิดอ่าน-ทำการใหม่

สิ่งที่เขาฝากบอกถึงนายพลรุ่นน้องที่อาจรอแต่งตัวเป็น "นายกฯ รับเชิญ" ภายใต้เงื่อนไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่เอื้อให้ทำได้คือ "เข้าไปแล้วมันไม่ง่ายอย่างที่คิด ไม่ใช่สั่งทหาร"


@THAKSINLIVE/TWITTERคำบรรยายภาพทักษิณทวีตข้อความ หวังคนไทยจะไม่ลืมสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 11 ปีก่อน


นี่คือประสบการณ์ตรงของนายพลที่ยังอยู่ในวังวน 19 ก.ย. แม้ผ่านมา 11 ปี แม้มีรัฐประหารรอบใหม่ แต่ไม่อาจล้างประวัติศาสตร์ "รัฐประหารปราสาททราย" ไปได้!!!


ย้อนอดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารกับจุดจบ
สามปีรัฐประหาร : สื่อต่างชาติมองไทยอย่างไรบ้าง?