ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หนึ่งในธุรกิจของ "เจ้าสัวเจริญ"
PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/GETTY IMAGES
ทุนยักษ์ใหญ่ ล้วนไขว่คว้า อาณาจักรสื่อ
ที่มา เวป BBC Thai
4 ธันวาคม 2016
บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) คือ ธุรกิจรายล่าสุดที่ "เจ้าสัวเจริญ" หรือ นายเจริญ สิริวัฒนภักดี มหาเศรษฐีอันดับ 2 ของประเทศไทย ซื้อเก็บเข้าสู่อาณาจักรแห่งความมั่งคั่งมูลค่าเกือบ 5 แสนล้านบาท ตามการประเมินของนิตยสารฟอร์บส
อมรินทร์พริ้นติ้งฯ ผู้ผลิตนิตยสาร คุ้นชื่อ แนวธรรมชาติ สุขภาพ ธรรมะ เช่น บ้านและสวน ชีวจิต ซีเครต และสถานีโทรทัศน์อมรินทร์ จะได้ผู้ถือหุ้นรายใหม่รายใหญ่ ที่ร่ำรวยจากการขายน้ำเมา ชาเขียว ห้างสรรพสินค้า โรงแรม และการเป็นตัวแทนจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภค บริโภค มากมายทั้งในไทย และเพื่อนบ้านอาเซียน
"เจ้าสัวเจริญ" หรือ นายเจริญ สิริวัฒนภักดี มหาเศรษฐีอันดับ 2 ของประเทศไทย
BBC THAI
หลังทนภาวะขาดทุนติดต่อกันเป็นปีที่ 3 ไม่ไหว อมรินทร์ฯ ซึ่งเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์อมรินทร์ และอมรินทร์ทีวี ช่อง 34 จึงยอมให้เจ้าสัวเจริญ ประกาศซื้อหุ้นเพิ่มทุน อมรินทร์พริ้นติ้งฯ เป็นสัดส่วน 47.62% มูลค่ารวม 850 ล้านบาท เมื่อกลาง พ.ย. ที่ผ่านมา โดยหวังว่าการที่บริษัทได้พันธมิตรทางธุรกิจอย่างกลุ่มเจ้าสัวเจริญ ที่พร้อมทั้งด้านเงินทุน มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มธุรกิจอื่น จะช่วยแก้ปัญหาที่อมรินทร์ฯประสบอยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการขาดทุนสะสมจากธุรกิจทีวีจนกระทบสภาพคล่องทางการเงิน
9 เดือนของปี 2559 อมรินทร์ฯขาดทุน 468 ล้านบาท มากกว่า ปี 2558 ที่ขาดทุน 417 ล้านบาท และ ปี 2557 ซึ่งขาดทุน 89 ล้านบาท ซึ่งเป็นปีแรกที่อมรินทร์ฯเริ่มทำธุรกิจทีวีดิจิทัล หลังประมูลใบอนุญาตได้เมื่อปลายปี 2556 เทียบกับช่วงสองปีก่อนหน้าที่อมรินทร์ฯทำกำไรได้ ปีละกว่า 200-300 ล้านบาท
ผลประกอบการช่วง 9 เดือนแรก ของปี 2559
BBC THAI
พระอินทร์ขี่ช้าง หรือ ช้างขี่พระอินทร์
นางวรรณี รัตนพล ประธานบริหาร บริษัทไอพีจี มีเดียแบรนด์ส อดีตนายกสมาคมมีเดียเอเยนซีและธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย กล่าวกับ บีบีซีไทย ว่า อมรินทร์ทีวีได้กลุ่มไทยเบฟฯ เป็นพันธมิตร เท่ากับหมดกังวลเรื่องสายป่านทางการเงิน จากนี้ไปคงต้องดูว่าเนื้อหาของช่องจะเป็นอย่างไร ทั้งนี้ กลุ่มไทยเบฟฯมีสินค้าในเครือหลากหลาย ที่จะลงโฆษณาในช่องอมรินทร์ อาจทำให้เม็ดเงินโฆษณาของกลุ่มไทยเบฟฯที่เคยกระจายไปในช่องอื่นลดลงบ้าง อย่างไรก็ตาม แม้จะมีช่องทีวีโฆษณาสินค้ากลุ่มของตัวเอง แต่ก็อาจทำให้กระจุกตัวอยู่ช่องใดช่องหนึ่ง ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงผู้บริโภคได้
เธอกล่าวด้วยว่า การแข่งขันของทีวีดิจิทัลจะรุนแรงต่อเนื่อง สิ่งสำคัญที่จะทำให้อยู่รอด นอกเหนือจากมีเงินทุนแล้ว คือ เนื้อหาต้องชัดเจนว่าจะนำเสนออะไร ไม่เช่นนั้นผู้ชมจะจดจำช่องไม่ได้ ทั้งนี้ การที่ทีวีดิจิทัลจ่าย เงินค่าใบอนุญาตไป 3 งวด คิดเป็น 50% แล้ว เชื่อว่าจะไม่มีรายใดทิ้งใบอนุญาตอีก แต่จะเห็นการหาพันธมิตรร่วมทุน เช่นเดียวกับกรณีอมรินทร์ทีวี
ผู้เชี่ยวชาญชี้ อมรินทร์ทีวีได้กลุ่มไทยเบฟฯ เป็นพันธมิตร เท่ากับหมดกังวลเรื่องสายป่านทางการเงิน
PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/GETTY IMAGES
แล้วความเป็นอิสระของสื่อ?
ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวกับ บีบีซีไทยว่า สื่อในสังคมไทยแม้จะมีบทบาทและพลังอิทธิพลต่อสังคม เศรษฐกิจ การเมืองน้อยลง แต่ยังมีพลังอยู่ โดยเฉพาะพลังทางการเมือง ในการเปิดวาระข่าวสารในหลายประเด็น ดังนั้นการเข้ามาของทุนใหญ่ในสื่อ ย่อมมีผลต่อความเป็นกลางในเนื้อหาข่าวสาร
"ในยุคที่กองบรรณาธิการแข็งแกร่งก็พอถ่วงดุลนายทุนได้บ้าง แต่ในยุคเศรษฐกิจตก เงินโฆษณาร่วง อำนาจต่อรองของกอง บก.ลดลง
การหารายได้โฆษณา บทบาทนายทุนกลืนกินความเป็นมืออาชีพในหลายๆ สื่อ"
"สโมสร" มหาเศรษฐี
เจ้าสัวกับสื่อเป็นของคู่กัน เสี่ยเจริญเป็นมหาเศรษฐีไทยล่าสุดที่มาอยู่ในทำเนียบมหาเศรษฐีเจ้าของสื่อดัง เช่น
-ธนินท์ เจียรวนนท์ มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของประเทศ แห่งเครือซีพี ก็เป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ TNN ช่อง 16 และ True4U ช่อง 24 และ True Vision
-สมาชิก ครอบครัวจิราธิวัฒน์ แห่งเครือเซ็นทรัล ที่รวยเป็นอันดับสามของประเทศ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บ.โพสต์พับลิชชิ่ง กรุ๊ป จำกัด มหาชน ผู้จัดพิมพ์ บางกอกโพสต์ โพสต์ทูเดย์
-นายกฤตย์ รัตนรักษ์ ผู้ถือหุ้น ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ร่ำรวยติดอันดับหก เป็นเจ้าของ บริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ หรือสถานีโทรทัศน์สีช่อง 7
-นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เจ้าของโรงพยาบาลกรุงเทพ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ และถูกจัดอันดับร่ำรวยอันดับ 8 ก็เป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์พีพีทีวี ช่อง 3
เบียร์ช้างธุรกิจของ "เจ้าสัวเจริญ" เป็นผู้สนับสนุนหลักของสโมสรฟุตบอลเอฟเวอร์ตันในพรีเมียร์ลีก
PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/GETTY IMAGES
ทำไมเศรษฐีจึงโยนเงินเข้ามาในสื่อ
อธึกกิต แสวงสุข หรือ ใบตองแห้ง นักวิจารณ์สังคม ที่มีผู้ติดตามทางเฟซบุ๊ค เกือบ 41,000 คนเขียน ในโพสต์ของเขาว่า เงิน 850 ล้านบาทที่ เจ้าสัวเจริญ ควักซื้ออมรินทร์เปรียบได้กับ "เศษเงิน" เมื่อเทียบกับสินทรัพย์ 5 แสนล้าน และโอกาสทางธุรกิจที่จะได้จากการเป็นเจ้าของสื่อ
"ขั้นต่ำๆ ก็สามารถใช้สื่อเป็น "ของเล่นเป็นหน้าเป็นตา ทำข่าว PR CSR ในเครือตัวเอง ญาติมิตร เพื่อนฝูงทางธุรกิจ เหนือขึ้นมาก็ใช้สร้างคอนเน็กชั่น น้ำใจไมตรี กระทั่งใช้เป็น "อาวุธ" เป็นอำนาจต่อรอง ปกป้องผลประโยชน์ จากอำนาจรัฐ อำนาจการเมือง ได้เสมอ ไม่ว่าการเมืองจะเปลี่ยนไปอย่างไร"
เขามองว่า ลักษณะพิเศษทางการเมืองไทย "ประชาธิปไตย แบบไทยๆ" ที่ทำให้สื่อมีบทบาท มีอิทธิพลสำคัญ ต่างจากประเทศเผด็จการที่สื่อไม่มีปากมีเสียง
"มันเป็นระบอบกึ่งประชาธิปไตยแบบไทยๆ มีน้ำใจไมตรีอุปถัมภ์ นี่ต่างหาก ที่ทำให้สื่อมีบทบาทอิทธิพลสำคัญ เราจึงมีสื่อแบบ 18 อรหันต์ในอดีต ที่อยู่วงในของการต่อรองผลประโยชน์ เพียงแต่เดี๋ยวนี้ทุนใหญ่มีสตางค์ จนไม่ต้องไปจ้างแล้ว ซื้อแม่-ทั้งสถานี เป็นเจ้าของสื่อซะเอง"