วันพุธ, ธันวาคม 28, 2559

ถ้านายทหารคนหนึ่ง "เหม็นขี้หน้า" นักศึกษาคนหนึ่ง เขาจะเลือกทำอะไรระหว่าง อุ้มนักศึกษาคนนั้นไปทำร้าย ? หรือ ตั้งข้อหา ส่งเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ?





เก็บความมาจาก เพจ Piyabutr Saengkanokkul


ถ้านายทหารคนหนึ่ง "เหม็นขี้หน้า" นักศึกษาคนหนึ่ง

เขาจะเลือกอะไรระหว่าง

อุ้มนักศึกษาคนนั้นไปทำร้าย ?

หรือ

ตั้งข้อหา ส่งเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ?

หากกระบวนการยุติธรรมได้มาตรฐานสากลตามแบบประชาธิปไตยและ rule of law นายทหารเลือกใช้การอุ้ม เขาก็อาจถูกดำเนินคดีจากการใช้อำนาจโดยมิชอบ เพราะ อุ้มนักศึกษาไปทำร้าย

ภาพที่ปรากฏ คือ การใช้อำนาจดิบเถื่อน

แต่หากกระบวนการยุติธรรมไม่ได้มาตรฐานสากลตามแบบประชาธิปไตยและ rule of law นายทหารก็อาจเลือกใช้การตั้งข้อหา จับกุม ส่งนักศึกษาเข้าสู่กระบวนการ "ยุติธรรม"

ภาพที่ปรากฏ คือ การใช้อำนาจตาม "กฎหมาย"

อำนาจดิบเถื่อน จึงกลายเป็น อำนาจตามกฎหมาย

ทหารไม่ได้อุ้มนักศึกษาไปขัง แต่ศาลตัดสินให้ขังนักศึกษาต่างหาก

กรณีแบบนี้เคยเกิดขึ้นในเผด็จการชิลี เผด็จการทหารไม่ต้องแทรกแซงศาล เผด็จการทหารไม่ต้องใช้อำนาจดิบเถื่อน แต่ศาลจัดการดำเนินการตาม "กฎหมาย" ให้

ooo


เรื่องเกี่ยวเนื่อง...


คำอธิบายนักกฎหมายกรณีถอนประกันไผ่ ดาวดิน “ไม่ถูกต้องชอบธรรม ไม่เป็นไปตามกรอบกฎหมาย”

http://prachatai.org/journal/2016/12/69415

ooo





ooo

ปากกาอยู่ที่มัน






ที่มา มติชนออนไลน์
30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

โดยนายสถิตย์ ไพเราะ


นิติราษฎร์ชวนอ่าน บทความของ สถิตย์ ไพเราะ ผู้พิพากษาอาวุโส อยุธยา ที่เคยเขียนไว้เมื่อกลางปีนี้ ใน รพี สมัยที่ 61 สิงหาคม 2553 สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา

-------------------------

นักศึกษาหลายท่านมาถามผมเสมอ ๆ ว่า เหตุใดศาลจึงมีคำวินิจฉัยอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นการวินิจฉัยสองมาตรฐานหรือไม่มีมาตรฐาน ข้อนี้ตอบแบบกำปั้นทุบดิน ก็ต้องตอบว่าเรื่องของความเห็นเป็นเรื่องยากที่จะชี้ลงไปได้ว่าใครถูกใครผิด ยิ่งคนธรรมไม่เสมอกันแล้วไม่มีทางจะเห็นตรงกันได้

เรื่องการวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาของศาลนั้นไม่ใช่เพิ่งมีในขณะนี้ มีมาแต่โบราณกาลแล้วในหนังสือมูลบทบรรพกิจ ซึ่งเป็นตำราเรียนในสมัยก่อนเขียนวิจารณ์ศาลไว้ว่า

คดีที่มีคู่ (ความ) คือไก่หมูเจ้าสุภา
เอาไก่เอาหมูมา (ให้) เจ้าสุภาก็ว่าดี
ที่แพ้แก้ (ให้) ชนะไม่ถือพระประเวณี
ขี้ฉ้อก็ได้ดีไล่ด่าตีมีอาญา


และวิจารณ์พระภิกษุไว้ว่า

ภิกษุสมณะหรือก็ละพระสธรรม
คาถาว่าลำนำไปเร่รำทำเฉโก

เมื่อครั้งผมเป็นนักศึกษาอยู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์ผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์กฎหมายเล่าให้ฟังว่าสมัยก่อนกฎหมายและวิธีพิจารณาในศาลยุ่งเหยิง ไม่มีมาตรฐานเป็นเหตุให้เซอร์ยอน เบราลิ่ง ผู้แทนรัฐบาลอังกฤษไม่ยอมรับอำนาจกฎหมายและศาลไทยและท่านได้เล่านิทานให้ฟังว่า

ครั้งหนึ่งนานมาแล้วมีเจ๊กมาจากเมืองจีนถือหลักตามที่พระพุทธเจ้าสอนว่า อุตฐาตา วินธเต ธนัง แปลว่า ผู้หมั่นย่อมหาทรัพย์ได้จึงทำงาน ๘ วันในหนึ่งสัปดาห์ แม้จะเคยมีเสื่อผืนหมอนใบ ต่อมาก็ร่ำรวยเป็นเจ้าสัวได้

ส่วนคนไทยรำพึงว่า เช้าหนอ สายหนอ ร้อนหนอ บ่ายหนอ แล้วก็ไม่ทำงาน และอ้างเหตุว่าพระสอนว่าคนเราเกิดมาตัวเปล่าตายก็เปล่า เอาทรัพย์อะไรไปไม่ได้ จะไปทำมาหาทรัพย์ไว้ทำไม

นอกจากนั้นคนไทยยังมีคุณสมบัติ ๔ ข้อ คือ ขี้โม้ ขี้อิจฉา ขี้โกง และขี้เกียจ โดยเฉพาะคุณสมบัติข้อสุดท้าย ทำให้คนไทยยากจน แต่บังเอิญบ้านคนไทยปลูกติดอยู่กับบ้านเจ๊ก คนไทยขี้อิจฉาคนนั้นหมั่นไส้ว่าเจ๊กรวย วันดีคืนดี (ความจริงวันร้ายคืนร้าย) ก็ย่องเอาก้อนอิฐไปปาบ้านเจ๊ก เจ๊กจึงไปแจ้งความ เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการสอบสวนแล้วก็ส่งเรื่องให้ขุนประเคนคดี พนักงานอัยการฟ้องศาลซึ่งมีหลวงสันทัดกรณีเป็นผู้พิพากษา

หลวงสันทัดกรณีสืบพยานฟังข้อเท็จจริงแล้ว พิพากษาว่า

ไทยปาเรือนเจ๊ก
ไม่ถูกลูกเด็ก
ท่านว่าไม่เป็นไร
ให้ยกฟ้อง


เจ๊กกลับบ้านไปด้วยความผิดหวังและรำพึงว่า เมื่อศาลไม่มีจะฟ้องร้องก็ต้องประลองฝีมือกัน วันดีคืนดี (ความจริงวันร้ายคืนร้าย) เจ๊กก็เอาก้อนอิฐไปปาบ้านไทย คนไทยก็ไปแจ้งความ และขุนประเคนคดี พนักงานอัยการ ก็นำคดีไปฟ้องศาลซึ่งมีหลวงสันทัดกรณีเป็นผู้พิพากษา หลวงสันทัดกรณีสืบพยานฟังข้อเท็จริงแล้วพิพากษาว่า

เจ๊กปาเรือนไทย
แม้ไม่ถูกใคร
แต่ผีเรือนตกใจ
ให้ไหมสามตำลึง


นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การมีผีเรือนทำให้ชนะคดีได้

อีกเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องประสบการณ์ในชีวิตของผมเอง
เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๑๓ ผมไปรับราชการเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดนครราชสีมา ผมประจำอยู่ที่บัลลังก์ ๑๔ ซึ่งอยู่

ทางปีกด้านตะวันออกของอาคารศาล จากห้องพักผู้พิพากษาต้องเดินผ่านระเบียงระยะทางประมาณ ๓๐ – ๔๐ เมตร
วันหนึ่งผมมีสำนวนที่จะต้องพิจารณา ๔ – ๕ สำนวน ผมก็ออกไปที่บัลลังก์ ๑๔ ตามปกติ

คดีเรื่องแรกเป็นคดีแพ่ง ทนายโจทก์แถลงว่า เอกสารที่โจทก์ขอให้ศาลออกคำสั่งเรียกไปยังธนาคาร ธนาคารยังไม่ส่งมาให้ โจทก์มีความจำเป็นต้องใช้เอกสารดังกล่าวถามพยานให้รับรองข้อความ ไม่อาจสืบพยานโจทก์ไปในวันนี้ได้ ขอเลื่อน ศาลสอบจำเลยแล้วไม่ค้าน ศาลให้เลื่อนไปได้

คดีที่สองเป็นคดีอาญา โจทก์แถลงว่า พยานมาศาลหนึ่งปากพร้อมจะสืบได้ จำเลยแถลงคัดค้านว่า พยานที่มาศาลวันนี้เป็นพยานคู่กับพยานที่ไม่มาศาล หากสืบไม่พร้อมกันจำเลยจะเสียเปรียบเพราะไม่ได้ถามค้านพยานในวันเดียวกัน ขอให้เลื่อนไปเพื่อสืบพยานคู่ดังกล่าวในวันเดียวกัน ศาลสอบโจทก์แล้วไม่ค้าน ศาลอนุญาตให้เลื่อนคดีไป

คดีที่เหลือก็ต้องเลื่อนไปด้วยเหตุต่าง ๆ จนหมด เมื่อผมจดรายงานกระบวนพิจารณาเลื่อนคดีไปหมดแล้ว ก็ลงจากบัลลังก์เดินไปตามระเบียงเพื่อจะกลับห้องพัก ก็ปรากฎว่าเดินไปเกือบจะทันคู่ความคดีแรก ห่างกันพอได้ยินคำสนทนา ตัวความถามทนายว่า

“คุณทนายคดีของผมนี่จะแพ้หรือชนะ”
ทนายความตอบว่า
“ผมไม่ทราบหรอกเพราะปากกาอยู่ที่มัน”

คำว่ามันตามคำพูดของทนายความ หมายถึง ผม

ผมได้ยินดังนั้นก็เดินช้าลงเพื่อไม่ให้ทนายท่านนั้นทราบว่าผมได้ยินคำพูดของท่านและเพื่อไม่ให้เสียความรู้สึกของทั้งสองฝ่าย

คำตอบของทนายความท่านนั้นยังก้องอยู่ในหูผมจนถึงทุกวันนี้ เวลาผมจะเขียนคำพิพากษาไม่ว่าอยู่ในศาลใด ผมคำนึงถึงคำพูดของทนายท่านนั้นอยู่เสมอ

และหากผมจะใช้คำตอบของทนายความตอบนักศึกษา คงทำให้นักศึกษาเข้าใจมากกว่าคำตอบทางวิชาการ

( บทความจาก เว๊ป นิติราษฎร์)

ooo


"ปากกาอยู่ที่มัน"

"ปืน" ยึดอำนาจ

อำนาจของ "ปืน" ดูดีขึ้น เพราะ "ปากกา" ช่วยรับรอง "ปืน"

"ปากกา" เขียนไม่ดี แต่ก็ไม่มีใครทำอะไรได้ เพราะ "ปืน" คุ้มครอง "ปากกา"

"ปากกา" และ "ปืน" สัมพันธ์กันราวกับ "ผีเน่าและโลงผุ" จึงทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ โดยไม่เกรงกลัวอะไร ไม่มีเหตุปัจจัยบังคับใดๆกดดัน "ปากกา" และ "ปืน" ได้

เพราะ "ปากกา" และ "ปืน" มีเจ้าของ และเจ้าของไม่ใช่ประชาชน



Piyabutr Saengkanokkul