When Marie Claire Met Tammy Duckworth
พันโทหญิงแทมมี่ ดักเวิร์ธเปิดอกคุยกับแมรี แคลร์ถึงการเป็น ประธานาธิบดี
NOVEMBER 10, 2016
by
MARIE CLAIRE
อาจจะเป็นข่าวดีข่าวเดียวในรอบหลายเดือนโดยเฉพาะสำหรับชาวไทย เมื่อผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า โดนัลด์ ทรัมป์ มหาเศรษฐีอสังหาริมทรัพย์ตัวแทนจากพรรครีพับลิกันคว้าชัยชนะในการเลือกตั้ง ประธานาธิบดี คนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกา หลังเอาชนะฮิลลารี คลินตันจากพรรคเดโมแครตด้วยคะแนนเสียง 276 ต่อ 218 จริงอยู่ว่านี่อาจเป็นสิ่งที่หลายคนอาจยังไม่ยอมเชื่อหรือยอมรับ แต่ข่าวดีที่ทำให้เราใจชื้นได้คือการที่ พันโทหญิงแทมมี่ ลัดดา ดักเวิร์ธ สมาชิกผู้แทนราษฎรลูกครึ่งไทย-อเมริกัน ได้ชนะการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภารัฐอิลลินอยส์ และเธอสร้างประวัติศาสตร์เป็นลูกครึ่งเชื้อสายไทย-อเมริกันคนแรกที่เข้าไปนั่งในวุฒิสภาสหรัฐฯ แมรี แคลร์หยิบบทสัมภาษณ์ที่เธอเคยบอกกับเราเอาไว้เมื่อตอนมาเยือนไทยในปีพ.ศ. 2556 มาให้ได้อ่านลืมซึมกันไปบ้าง
พันโทหญิงลัดดา แทมมี่ ดักเวิร์ธเดินทางมาเมืองไทยเมื่อ 3 ปีก่อนในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศของไทย เธอเป็นลูกครึ่งไทย-อเมริกันและเมื่อชนะการเลือกตั้งในเขต 8 ของรัฐอิลลินอยส์เมื่อปลายปีพ.ศ. 2555 เธอกลายเป็นส.ส.เชื้อสายไทยคนแรกที่เข้าไปนั่งในสภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกา และจากการชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ผ่านมา แม้พรรคเดโมแครตจะพ่ายเสียงให้แก่รีพับลิกัน แต่ก็ทำให้เธอกลายเป็นหญิงเชื้อสายไทยคนแรกในฐานะวุฒิสภาสหรัฐฯ ใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใสและความคล่องแคล่วว่องไวอาจทำให้คนที่ได้พบเจอคุณแทมมี่ลืมไปชั่วขณะว่าเธอผู้นี้เสียขาทั้ง 2 ข้างรวมทั้งการใช้งานแขนขวาบางส่วนในสงครามอิรักเพราะเฮลิคอปเตอร์ที่เธอเป็นผู้ขับถูกยิงตก แมรี แคลร์ได้มีโอกาสสัมภาษณ์เธอ ซึ่งแม้จะเป็นเวลาสั้นๆ แต่ก็ทำให้เห็นว่าเธอนั้นฉลาดหลักแหลม ที่สำคัญ กล้าหาญและเสียสละอย่างยิ่ง
แมรี แคลร์: เป็น ส.ส. สมัยแรก มีภารกิจอะไรที่อยากทำเป็นพิเศษไหม
“ในฐานะที่เป็นส.ส. ต้องการช่วยเหลือเราทั้ง 2 ประเทศ ตัวเองได้เป็นสส.คนแรกที่มีเชื้อชาติไทย เลยคิดว่ามีโอกาสที่จะช่วยสหรัฐอเมริกามองกลับมาทางเอเชีย ถ้าเราจะก้าวหน้าต่อไปทางเศรษฐกิจ การพัฒนา และการทหาร แทมมี่มีโอกาสดีกว่าคนอื่นที่จะช่วยให้ทั้งสองประเทศร่วมมือกันค่ะ”
แมรี แคลร์: ทำไมคุณถึงอยากเป็นนักการเมือง
“ไม่ได้คิดอยากเป็นนักการเมืองเลยค่ะ จริงๆ แล้ว ตั้งแต่เด็กคิดอยากเป็นทูตมาตลอด แต่พอบาดเจ็บจากสงครามในอิรัก ดิฉันเป็นผู้ได้รับบาดเจ็บที่มีตำแหน่งสูงที่สุดที่อยู่ในโรงพยาบาล แล้วน้องๆ ที่บาดเจ็บเขามีเรื่องกับรัฐบาล เขาให้แทมมี่ช่วยในเพราะเห็นว่าเราเรามีตำแหน่งสูง ตอนนั้นรัฐอิลลินอยส์มีส.ว. 2 คน คนหนึ่งคือ ดิค เดอร์บิน และอีกคนคืออบารัค โอบาม่า ตอนนั้นบารัค โอบาม่าทำงานด้านทหารผ่านศึก เขาทำสิ่งหนึ่งที่คงไม่ได้คิดตอนนั้น เขาเอานามบัตรให้และเขียนเบอร์โทรศัพท์มือถือในนั้น แทมมี่เลยโทรไปถามแก 2-3 ครั้ง ทุกๆ เดือน บอกว่ามีเรื่องอีกแล้ว ช่วยด้วย หลังจากนั้น 10 เดือน ดิค เดอร์บินโทรมาบอกว่า บารัคกับผมคิดว่า ถ้าคุณคิดว่ารัฐบาลของเธอทำดีไม่พอสำหรับทหารผ่านศึก ทำไมไม่ไปสมัครหาเสียงเป็น ส.ส. เองไปเลยค่ะ เราก็บอกว่าขอคิดหน่อยได้ไหม กินเวลาคิดอยู่ราว 3-4 เดือน ตอนนั้นทหารผ่านศึกที่เป็นส.ส. มีน้อยลงเรื่อยๆ ทั้ง 2 ท่านเลยบอกว่าไปทำสิ เลยตัดสินใจไปสมัคร”
แมรี แคลร์: ลงสมัครเมื่อปี 2006 แพ้แบบเฉียดฉิว บทเรียนสำคัญเลยสำหรับการแพ้ครั้งนั้นคืออะไร
“อย่างแรกคือรู้จักการออกไปหาเสียง การหาเสียงที่สหรัฐอเมริกากินเวลา 18 เดือน นานและแพง ต้องทำหลายอย่างที่ไม่เคยทำ ทำให้ตอนสมัครครั้งที่ 2 รู้จักว่าต้องทำอะไรบ้าง และที่แพ้ ตามจริงถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะทำให้ได้ไปทำงานด้านทหารผ่านศึกของรัฐบาล ทำให้สมัครคราวนี้เรามีประสบการณ์ ทำให้คนอื่นรู้ว่าทำงานมา 6 ปี ตอนแรกไม่รู้จักว่าแทมมี่เป็นใคร รู้แค่ว่าเป็นทหารที่ได้รับบาดเจ็บ คราวนี้รู้ว่าคนนี้ทำอะไรได้ มีประสบการณ์สำหรับการเมืองทั้งในรัฐและระดับประเทศ ทำให้คราวนี้เราชนะค่ะ”
แมรี แคลร์: นักการเมืองที่ดีควรจะเป็นอย่างไร
“ในภาษาอังกฤษมีคำว่า ‘public servant’ หมายความว่า เราเป็นคนรับใช้ของชาวบ้าน นักการเมืองที่ดีต้องจำว่า เป็นคนรับใช้ของชาวบ้าน ไม่ใช่เป็นเจ้านายของชาวบ้าน ทุกเขตในสหรัฐอเมริกา มีคนประมาณ 730,000 คน ได้ ส.ส. 1 คน สำหรับคน 7 แสนกว่าคนนี้ แทมมี่เป็นคนรับใช้ของเขา เราได้ไปวอชิงตัน ไปเมืองหลวง ทำงานนี้ มีเกียรติมาก เป็นเพราะว่าเขาส่งเราไปทำงานให้เขา แทมมี่มีเจ้านาย 7 แสนกว่าคนค่ะ”
แมรี แคลร์: ทุกวันนี้ขาและแขนขวาคุณแทมมี่ยังเจ็บอยู่ไหมคะ
“เจ็บค่ะ เป็นธรรมดา เรื่องเจ็บไม่สำคัญค่ะ เพราะเรายังมีชีวิตอยู่ พอฟื้นตัวจากการบาดเจ็บ เราก็ยังได้ทำในสิ่งที่อยากทำหลายๆ อย่าง ได้ฝึกดำน้ำ โต้คลื่น กระโดดร่มด้วย ยังขับเครื่องบินในฐานะนักบินพลเรือนได้”
แมรี แคลร์: เคยคิดไหมว่าการเป็นทหารอาจจะเป็นความคิดที่ผิด
“ไม่เลยค่ะ ถ้ามีวิธีย้อนเวลากลับไป 20 กว่าปีที่แล้ว ก็จะตัดสินใจเหมือนเดิม ต่อให้รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น ก็จะตัดสินใจเหมือนเดิมค่ะ ตัวเองได้รับบาดเจ็บแต่ก็ได้รับประสบการณ์มากขึ้นด้วย ได้เพื่อนที่สนิทมากๆ ได้เป็นเกียรติที่ได้รับใช้ประเทศชาติ หลายคนพยายามทำแล้วไม่สำเร็จ แต่เราทำสำเร็จ เป็นเกียรติที่ประเทศชาติเชื่อใจว่าเราทำงานให้ประเทศได้”
แมรี แคลร์: แล้วทำไมคุณถึงมาเป็นทหาร และมาอยู่หน่วยสู้รบด้วย
“จริงๆ เราเรียนรัฐศาสตร์เพราะอยากเป็นทูต แต่ตอนเรียนปริญญาโท มีทหารที่เรียนด้วยกันบอกว่า ถ้าต้องการเรียนด้านการทูต ควรรู้เรื่องทหารด้วย เขาเลยชวนไปเรียน เราคิดว่าจะเรียน 1-2 คอร์ส แต่พอไปแล้วกลับชอบมาก เพราะตั้งแต่วันแรกที่ไป เหมือนในหนังที่มีการฝึก เขาไม่มองว่าเราเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย เอเชียหรือฝรั่ง รวยหรือจน สิ่งสำคัญมีอย่างเดียวคือทำได้ไหม ยอมลองไหม สิ่งที่เขาสนใจคือเราต้องวิ่ง 50 กิโลเมตรใน 4 ชั่วโมง ทำได้ไหม ถ้าทำได้ ก็โอเค นี่คือความเท่าเทียมอย่างแท้จริง ความเท่าเทียมสำคัญมากสำหรับตัวเองเพราะตอนเรียนจบแล้ว และกำลังจะได้ตำแหน่งทางทหาร ทหารบกถามว่าจะทำงานอะไร อาจารย์บอกว่าผู้ชายต้องเลือกด้านการรบ แต่แทมมี่ไม่ต้อง เป็นผู้หญิง เราไม่ต้องรบ เราคิดในใจว่าไม่ดีเลย เพราะได้รับเงินเดือนเท่ากัน ตำแหน่งเท่ากัน ทำไมไม่ต้องเสี่ยงชีวิตเท่าผู้ชาย เลยถามเขาไปว่าถ้าอย่างนั้นมีอะไรที่ผู้หญิงทำได้ในด้านสู้รบ เขาบอกว่ามีอย่างเดียวคือการเป็นนักขับเฮลิคอปเตอร์ ถ้าอย่างนั้นเราก็เลยสมัครทางนั้น และบังเอิญตอนสอบได้กลับคะแนนสูงมาก แสดงว่าเราทำได้ค่ะ”
แมรี แคลร์: ตอนประสบอุบัติเหตุคุณแทมมี่ให้กำลังใจตัวเองอย่างไรบ้าง
“3-4 วันแรกที่ฟื้น เศร้ามาก คิดว่าตัวเองขับเฮลิคอปเตอร์ไม่ดี เพราะตอนโดนระเบิดยังบินอยู่ สิ่งที่แทมมี่จำได้คือเราพยายามบินลงพื้นให้ได้ ตอนอยู่ที่โรงพยาบาลได้ยินหมอพูดว่า นี่เขามีอุบัติเหตุ ไม่ใช่ว่าโดนยิง เลยคิดว่าตัวเองขับไม่ดีแล้วทำเครื่องตก เพื่อนก็บาดเจ็บ เราเสียใจมาก พอสามีเห็นว่าเราร้องไห้ เขาบอกว่าไม่เป็นไร ขาเธอหายไปแต่เราอยู่ได้ เดี๋ยวผมพาไปดูคนขาเทียมวิ่ง แทมมี่บอกว่าไม่ใช่ เพราะฉันเป็นคนทำลูกน้องบาดเจ็บ สามีบอกว่าคุณพูดอะไรอยู่ แทมมี่บอกอุบัติเหตุเกิดขึ้นเพราะฉัน สามีบอก ไม่ใช่ เธอโดนยิงต่างหาก เขาอธิบายและยังมีรูปภาพด้วย บอกเราว่าเฮลิคอปเตอร์ร่อนลงจอดได้เป็นเพราะเธอกับอีกคนช่วยกันขับ คนถึงไม่ตาย ได้ทำอย่างที่ควรทำ ไม่ได้ทำให้เพื่อนผิดหวัง เราไม่ได้ทำให้ลูกน้องผิดหวัง”
แมรี แคลร์: คุณมองการทำสงครามยังอย่างไร
“เมื่อประเทศเราต้องทำสงคราม เราต้องมีเหตุผลที่ดีว่าทำไมถึงต้องทำ ต้องมีเหตุผลที่ดีว่าทำไมขอให้คนไปตายให้ประเทศ ประเทศเรามีความรวยได้ ไม่ใช่เพราะเงินหรือตึกสูงๆ แต่ความรวยนั้นมาจากเหล่าทหารที่ยอมสละชีวิตให้ชาติของเรา ถ้าประเทศเราจะไปทำสงคราม อย่าใช้ราคาชีวิตของคนอย่างฟุ่มเฟือย อย่าโยนชีวิตคนไปทิ้ง เพราะฉะนั้น ถ้ามีสงคราม แทมมี่จะพยายามให้มันเป็นสิ่งที่ต้องทำจริงๆ และถ้าต้องทำจริงๆ ตัวเองจะยอมไป จะยอมส่งลูกเต้าไป แต่ถ้าจะไปมีสงครามโดยไม่ยอมส่งลูกเต้าไป เราต้องคิดอีกทีว่าสำคัญพอไหม”
แมรี แคลร์: คุณเป็นผู้พิการหญิงคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งในสภาคองเกรสและเป็นส.ส.คนแรกด้วยที่มีเชื้อสายไทย คุณอยากเป็น ประธานาธิบดี หญิงคนแรกบ้างไหม
“(หัวเราะ) ไม่ต้องการค่ะ บอกเพื่อนแล้วว่าถ้าแทมมี่เริ่มพูดแบบนี้ ช่วยตบหน้าให้ตื่นกลับขึ้นมาด้วยนะ ดีใจมากที่ได้เป็นส.ส. เพราะเราไม่ได้คิดว่าจะได้เป็น อยากเรียนการทำงานนี้ให้ดีที่สุด ให้เก่งที่สุด แล้วภูมิใจมากที่ได้ทำอย่างนั้น แค่นี้ก็พอแล้วค่ะ”
แมรี แคลร์: คนไทยชื่นชมคุณแทมมี่ คุณว่าคนไทยควรเรียนรู้อะไรจากเรื่องราวชีวิตของคุณบ้าง
“สิ่งที่สำคัญที่สุดคือสิ่งที่แทมมี่ได้เรียนรู้หลังสงครามอิรัก ตอนนั้นแทมมี่เป็นเหมือนคนทุกคนคือพยายามทำให้ดี แต่กลัวการแพ้ กลัวการทำไม่สำเร็จ หลังจากกลับมาจากอิรัก เรากลับมีความกล้าที่จะให้ตัวเองทำอะไรไม่สำเร็จ หมายความว่ามีความกล้าที่จะลองทุกอย่าง เพราะถ้าไม่ลองก็ไม่มีวันที่เราจะทำได้”
แมรี แคลร์: อยู่อเมริกาแบบนี้ได้พูดภาษาไทยเยอะไหม คุณพูดเก่งเชียว
“ขอบคุณค่ะ พูดกับคุณแม่ พูดที่บ้าน อ่านออกพอใช้ได้ แต่เขียนเหมือนเด็กป.3 ลายมือไม่ดีเลย”
พันโทหญิง แทมมี ลัดดา ดักเวิร์ธ สตรีเชื้อสายเอเชียคนที่ 2 ที่ได้นั่งในวุฒิสภาสหรัฐฯ และเธอประกาศว่าหากได้รับเลือกเป็นวุฒิสมาชิกในครั้งนี้ เธอตั้งใจว่าจะทำงานในฐานะตัวแทนให้กับคนเอเชียทั่วทั้งอเมริกา หญิงแกร่งคนนี้ยังอนุญาตให้ตัวเองล้มได้ ดังนั้นไม่ว่าจะทำอาชีพอะไรก็แล้วแต่ เราคงไม่มีวันรู้ว่าทำอะไรได้บ้างจนกว่าได้ลองทำ ไม่มีใครขีดเส้นจำกัดให้คุณนอกจากตัวเอง แล้วจะขีดเองทำไม?