วันเสาร์, พฤศจิกายน 12, 2559

ประชาไท เปิดเหตุผล 'จตุพร' นอนคุก ดูมาตรฐานเส้นแบ่ง วิจารณ์-ยั่วยุปลุกปั่น




ที่มา: เฟซบุ๊ก Chatuporn Prompan

ประชาไท

หลังจตุพรนอนคุกมา 1 เดือน ศาลปฏิเสธการประกันตัว 2 ครั้ง ดูมูลเหตุที่ทำให้เขาต้องถูกถอนการประกันตัวในคดีก่อการร้ายที่ยังสืบพยานได้ไม่ถึงครึ่งทาง เป็นการสรุปการพูดของเขาหลายครั้งที่ดีเอสไอและอัยการยื่นต่อศาล โดยเห็นว่าเป็นการยั่วยุปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในสถานการณ์ที่ประเทศต้องการความปรองดองและสงบเรียบร้อย

หลังไพสิฐ วงษ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งเรื่องถึงอธิบดีอัยการ หลังจากนั้น 4 วัน (2 ก.ย.2559)สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ1 ในฐานะโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวแกนนำ นปช.ทั้ง 5 คนซึ่งได้รับการประกันตัวในคดีก่อการร้าย ได้แก่ นายวีระกานต์ มุสิกพงษ์ จำเลยที่ 1, นายจตุพร พรหมพันธ์ุ จำเลยที่ 2, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ จำเลยที่ 3, นายแพทย์เหวง โตจิราการ จำเลยที่ 4 และนายนิสิต สินธุไพร จำเลยที่ 8

11 ต.ค.2559 ศาลมีคำสั่งถอนประกัน จตุพร เพียงคนเดียวและเขาถูกนำตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯในเย็นวันนั้น จนถึงปัจจุบันเขานอนคุกแล้ว 1 เดือน ที่ผ่านมาทนายความยื่นขอประกันตัวต่อศาลแล้ว 2 ครั้งแต่ศาลปฏิเสธ และกำลังจะยื่นอีกครั้งหนึ่งในอีกในสัปดาห์หน้า

คดีก่อการร้าย และการถอนประกันหลายรอบ

ทั้ง 5 คนนี้เป็นจำเลยในคดีก่อการร้าย เหตุเกิดจากการชุมนุมของ นปช.เมื่อปี 2553 วิญญัติ ชาติมนตรี หนึ่งในทีมทนายความคดีนี้ให้รายละเอียดว่า ดีเอสไอฟ้องคดีก่อการร้ายเมื่อเดือนกรกฎาคม 2553 มีจำเลยทั้งสิ้น 26 คน หลบหนี 6 คน และเสียชีวิต 1 คน เหลือจำเลยในคดีนี้ 19 คน ต่อมาเดือนสิงหาคม 2554 อัยการได้ยื่นฟ้องจำเลยในคดีก่อการร้ายทั้งหมด 19 ราย และมีการทยอยฟ้องคดีก่อการร้ายกับการ์ดอีก 5 คน ศาลให้รวมเป็นคดีเดียวกันกับแกนนำ ปัจจุบันจึงมีจำเลยในคดีก่อการร้ายรวม 24 คน ขณะนี้มีการสืบพยานไปบางส่วนโดยแบ่งพยานเป็นกลุ่มตามเหตุการณ์ เช่น เหตุการณ์สังหารผู้ชุมนุมในวัดปทุมวนาราม เหตุการณ์การบุกยึดคืนสถานีไทยคม เป็นต้น

“แต่ละกลุ่มเหตุการณ์มีพยานหลายปาก นัดหน้าในวันที่ 18-19 ม.ค.2560 จะเป็นกลุ่มของพนักงานสอบสวน ตอนนี้โดยรวมแล้วยังสืบพยานเสร็จสิ้นยังไม่ถึง 50% ”วิญญัติกล่าว

หลังการสลายการชุมนุมปี 2553 คดีความต่างๆ ทำให้แกนนำ นปช.เข้าออกคุกหลายครั้ง โดยเฉพาะจตุพร พรหมพันธ์ุ ครั้งนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการถอนประกันเขา ก่อนหน้านี้แม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ยังเคยยื่นเรื่องให้ถอนประกันเขาเนื่องจากการวิพากษ์วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญอย่างเผ็ดร้อนเมื่อปี 2555 หลังการรัฐประหาร 2557 ทนายความก็ระบุว่ามีการยื่นเรื่องให้อัยการถอนประกันอีกหลายครั้งและฝั่งจำเลยมีการยื่นแก้ในชั้นอัยการ

ศูนย์ปราบโกงประชามติ ฟางเส้นสุดท้าย?

เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะเขายังมีบทบาทในการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์เรื่องทางการเมืองผ่านช่องทางสำคัญคือทีวีดาวเทียม ช่องพีซทีวี (PEACE TV) อย่างไรก็ตามช่วงการรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย กสทช.ได้มีมติปิดช่องพีซทีวีชั่วคราวเป็นเวลา 30 วันและให้กลับมาเปิดดำเนินการได้หลังประชามติพอดี ขณะเดียวกันช่วงนั้น นปช.เดินเครื่องเปิด “ศูนย์ปราบโกงประชามติ” ในจังหวัดต่างๆ หลังปิดช่องทีวีดาวเทียม จตุพรยังคงเดินหน้าวิพากษ์วิจารณ์ผ่านช่องทางอย่างยูทูปและเฟซบุ๊กไลฟ์ แม้จะประกาศว่าจุดประสงค์การตั้งศูนย์ดังกล่าวเป็นการช่วยเป็นหูเป็นตาการโกงและช่วยรณรงค์ให้คนไปใช้สิทธิเยอะๆ แต่ดูเหมือนรัฐจะไม่เชื่อดังนั้น ปัจจุบันมวลชนที่ร่วมกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงในต่างจังหวัดถูกดำเนินคดีแล้วจำนวนมาก

“กรณีการจัดกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติของ นปช. ทั่วประเทศ พบว่า มีการดำเนินคดีในข้อหา ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 มั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป อย่างน้อย 8 จังหวัด 142 คน ผู้ต้องหายอมรับเงื่อนไขของเจ้าหน้าที่ โดยการรับสารภาพ แล้วเข้ารับการอบรมหรือปรับทัศนคติ พร้อมทั้งเซ็นข้อตกลงไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองอีก เพื่อให้คดียุติ ไม่ต้องถูกส่งฟ้องต่อศาลอย่างน้อย 56 คน ส่วนผู้ต้องหาที่ยืนยันให้การปฏิเสธ ถูกส่งฟ้องต่อศาลทหารแล้ว”ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุ 
 
พูดเรื่องอะไรบ้าง?

หากดูมูลเหตุที่ดีเอสไอรวบรวมส่งอัยการและอัยการรวบรวมส่งศาลเพื่อให้ถอนประกันจตุพร จะพบว่ามีรายละเอียดที่สำคัญดังนี้

1. ทั้งหมดเป็นการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องต่างๆ ของจตุพรทั้งสิ้น ขณะที่อีก 4 คนที่เหลือถูกพูดถึงเฉพาะในกรณีการร่วมเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติและเชื่อว่ามีการพูดชี้นำให้คนไปโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

2. การพูดของจตุพรที่เป็นเหตุให้ถูกเพิกถอนการประกันตัว คือ การพูดในช่วง ธันวาคม 2558-กุมภาพันธ์ 2559 รวบรวมจากรายการที่ออกทางยูทูปและหนังสือพิมพ์ อีกช่วงหนึ่งคือ หลังประชามติ

โดยอัยการระบุว่าการพูดของเขามีลักษณะดังนี้

2.1“เสียดสี ประชดประชัน ไม่พอใจและตำหนิการกระทำของรัฐบาลและ คสช.ว่าเบี่ยงเบนบิดเบือนการปฏิบัติหน้าที่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ”

>>> ทุจริตอุทยานราชภักดิ์ : ไม่ทำความจริงให้ปรากฏ เอาผู้ใต้บังคับบัญชามาตรวจสอบนายที่ยังมีอำนาจ ไม่มีการแถลงบัญชีรายรับรายจ่ายการบริจาค

>>> กรณีไม่เสนอแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ : รัฐบาลไม่ปฏิบัติตามมติมหาเถรสมาคม กฎหมายพ.ร.บ.คณะสงฆ์ ปี 2535 แต่จะเตะถ่วงเวลาออกไปถ้าหากยังมีความขัดแย้งกันอยู่ รัฐบาลยังนิ่งเฉยปล่อยให้กลุ่มบุคคลออกมาต่อต้านการแต่ตั้งสมเด็จพระสังฆราชโดยตลอด รวมถึงพระพุทธอิสระ ซึ่งเป็นอาจารย์ของนายกรัฐมนตรี

2.2 “พูดกล่าวหาหน่วยงานของรัฐกระทำการโดยมิชอบ คุกคามและกดดันการทำหน้าที่ของหน่วยงานรัฐต่างๆ หลายแห่ง”

>>> องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต มีการอ้างด้วยว่าหัวแถวขององค์กรรู้เห็นให้มีผู้มาอ้างชื่อของพล.อ.ประวิตร

>>> สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รับแจ้งความพุทธอิสระกรณีที่มีพระสงฆ์ไปชุมนุมที่พุทธมณฑลว่าฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ชุมนุมเกิน 5 คน แต่กรณีพุทธอิสระพาประชาชนไปชุมนุมหน้าสถานทูตสหรัฐอเมริกากลับไม่มีปัญหา

>>> กรมสอบสวนคดีพิเศษ ทำคดีรถหรูในพิพิธภัณฑ์วัดปากน้ำ เป็นรถโบราณได้รับบริจาคมาไม่ได้ใช้เป็นพาหนะ พระเลือกของบริจาคไม่ได้ ต้องรับทั้งหมด การเชื่อมโยงของดีเอสไอเป็นไปเพื่อหาเรื่องจนทำให้แต่งตั้งสังฆราชไม่ได้เท่านั้น

>>> คณะกรรมการ ป.ป.ช. นายวิชา มหาคุณ ปฏิบัติหน้าที่เอาเป็นเอาตายในกรณี 7 ต.ค.51 แต่กับความตายร้อยศพ บาดเจ็บสองพันกว่าคน ถือว่ารัฐบาลไม่มีความผิดใดๆ ทั้งสิ้น จึงต้องคิดพึ่งเรื่องบุญเรื่องกรรม

2.3 “พูดโจมตีบุคคลต่างๆ ในลักษณะดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท หรือเหยียดหยามผู้อื่น ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม”

>>> พระพุทธอิสระเจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย โดยระบุว่าออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการแต่งตั้งสมเด็จช่วงเป็นพระสังฆราชองค์ใหม่ เป็นการสร้างความขัดแย้ง แต่ คสช.ไม่ห้ามปราม เป็นพระที่สามารถพูดข่มขู่นายกรัฐมนตรีได้

“ผมสงสัยว่ามันใหญ่อะไรนักหนา ขออนุญาตเรียกว่า มัน เพราะผมไม่เคยถือว่าแกเป็นพระ พระอะไรมายืนนับสตางค์หน้าโรงแรมเอสซีปาร์ค”

>>> พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร อดีตผบ.ทบ.ในฐานะประธานก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ปล่อยประละเลยไม่ดำเนินคดีกับผู้ทุจริตกินหัวคิวในการรับบริจาคเงิน

>>> พูดดูหมิ่น พลตรีหม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคคลว่า “ดูถูกสตรี เหยียดหยามพระ เสมือนหนึ่งไม่เคยผ่านการเป็นมนุษย์มาก่อน อีกทั้งยังเป็นบุคคลล้มละลายด้วย”

>>> ดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ว่าไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย พ.ร.บ.สงฆ์ กรณีแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช นายกฯ ทำหน้าที่เป็นเพียงบุรุษไปรษณีย์เท่านั้น

>>> นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสปช. นายไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกฯ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ โดยกล่าวหาว่าร่วมกับพุทธอิสระออกมาเคลื่อนไหว โดยเรียกว่า แก๊ง 3 พ. ขัดขวางการตั้งสังฆราช

2.4 พูดยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน วุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง หรืออาจก่อให้เกิดอันตราย

>>> พูดให้คนเสื้อแดงหรือ นปช.ต่อสู้ให้ได้ประชาธิปไตย โดยเน้นย้ำว่าการต่อสู้ในปี 2553 ตนเองและคนเสื้อแดงถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย เผาบ้านเผาเมือง แต่เป็นการร่วมกันต่อสู้กับรัฐบาลที่มาโดยมิชอบให้ยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ การร่วมกันโดยมิได้เป็นการกระทำชั่วแต่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น

>>> พูดส่งเสริมสนับสนุนให้กำลังใจนักศึกษาจำนวน 11 คน ที่ถูกดำเนินคดีฐานมั่วสุมเกิน 5 คนที่ออกมาต่อต้านรัฐบาลเพื่อเดินทางไปยังอุทยานราชภักดิ์ และส่งเสริมสนับสนุนนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว ที่ไม่ไปรับทราบข้อกล่าวหา

อัยการสรุปว่าพฤติการณ์จตุพรเป็นการพูดในลักษณะให้ร้ายผู้อื่น นอกจากจะเป็นการดูหมิ่นผู้อื่นแล้วยังเป็นการกล่าวยืนยันใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามด้วยการโฆษณา เผยแพร่ต่อสาธารณะ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้ถูกใส่ความเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง มิใช่การกระทำเพื่อความชอบธรรมเพื่อป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตน ตามคลองธรรมและมิใช่การติชมด้วยความเป็นธรรม อีกทั้งยังเป็นการละเมิดหรือกระทบสิทธิ หน้าที่ หน่วยงานของรัฐหรือบุคคล เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลใดโดยตรงและยังเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือ ศรัทธา ของหน่วยงานรัฐหรือบุคคลที่ถูกกล่าวอ้างโดยไม่มีเหตุผล อันไม่ใช่วิสัยปกติของบุคคลทั่วไป

“การพูดและการกระทำทั้งหลายดังได้กล่าวมามีลักษณะเป็นการพูดเพื่อสร้างความขัดแย้งแตกแยกให้เกิดขึ้นระหว่างประชาชนกับรัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐซึ่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ แต่จำเลยที่ 2 ได้พูดย้ำในเรื่องเดียวกันซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างต่อเนื่องไม่มีท่าทีว่าจะยุติ ถือเป็นการยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม เพื่อกดดันร่วมกันต่อสู้ต่อไป เพื่อให้เป็นไปตามประสงค์ของตนเองและพวกพ้อง จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิดของมวลชนเสื้อแดงและเป็นประธานกลุ่ม นปช. ตลอดทั้งเป็นอดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย โดยพฤติการณ์พูดและสถานภาพส่อแสดงว่ามีเจตนาเพื่อให้เกิดการเผชิญหน้าหรือมีผลประโยชน์ทางการเมืองแอบแฝง ตัวอย่างกรณีส่งเสริมจ่านิวไม่ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาของพนักงานสอบสวน หรือกรณีสนับสนุนพระภิกษุไปชุมนุมที่พุทธมณฑล ทั้งที่จำเลยที่ 2 ทราบดีกว่าในสถานการณ์ปัจจุบันประเทศชาติต้องการความปรองดองหรือความรักสามัคคีของคนในชาติ จึงถือได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 ได้ละเมิด ฝ่าฝืนเงื่อนไขของศาลในข้อนี้ชัดเจน” อัยการระบุ

พฤติการณ์อื่นๆ

3. นอกจากเรื่องการพูดของจตุพรแล้ว ยังมีการเชื่อมโยงกับการจับผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินและเกี่ยวข้องกับเพจ ‘เรารักพล.อ.ประยุทธ์’ ซึ่งถูกแจ้งข้อหาว่าแสดงความเห็นเกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาลโดยใช้ถ้อยคำในลักษณะก่อให้เกิดความเกลียดชัง เป็นความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ว่า มีผู้ต้องหาบางส่วนจากทั้งหมด 9 คน ให้การว่ารับจ้างทำเว็บเพจและเป็นแอดมินเพจอื่นๆ ให้นายจตุพร แสดงให้เห็นว่าเขาอยู่เบื้องหลังการยั่วยุ ปลุกปั่น (ทั้งนี้คดีนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีในศาลทหารโดยยังไม่เริ่มต้นสืบพยานกันแต่อย่างใด)

4. กรณีตั้ง “ศูนย์ปราบโกงประชามติ” จำเลยหลายคนทั้ง วีระกานต์ ณัฐวุฒิ เหวง นิสิต รวมถึงจตุพร ถูกดำเนินคดีในความผิดข้อหา ร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป แม้จะอ้างว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกิจกรรมสนับสนุนประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่เจตนาที่แท้จริงของการตั้งศูนย์ดังกล่าวเพื่อปลุกระดมให้มวลชนฝ่ายตนเองและฝ่ายตรงข้ามหรือประชาชนให้ไปลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

“เป็นการรวมตัวกันอย่างมีนัยสำคัญเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตนเองต้องการหรือหวังผลประโยชน์ทางการเมืองโดยแท้ อันเป็นการสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายในบ้านเมืองกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนโดยรวม ซึ่งการกระทำเช่นนั้นในเวลาและสถานการณ์บ้านเมืองที่ต้องการมีความสงบเรียบร้อย ที่ไม่ควรกล่าวก็อาจนำมาซึ่งความวุ่นวาย และความไม่สงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้” อัยการระบุ

5.หลังลงประชามติ พรรคเพื่อไทย แกนนำ นปช.ร่วมกันออกแถลงข่าวจี้รัฐบาลหรือ คสช.ให้ปล่อยตัวผู้ต้องขัง ตลอดจนยุติคดีต่อผู้เห็นต่างช่วงมีการรณรงค์ประชามติ นายจตุพรออกมายอมรับผ่านหนังสือพิมพ์ข่าวสดถึงผลการออกเสียงประชามติในลักษณะที่ไม่เห็นชอบด้วย โดยอ้างเหตุผลว่า มีการโกงหรือทุจริตเกิดขึ้น ไม่ว่าการรมการนับคะแนนอ่านคะแนนแบบหันหลังอ่าน หรือการออกเสียงแทนกันได้ บางแห่งบัตรลงคะแนนมีมากกว่าผู้มีสิทธิ หรือ กกต.พิมพ์หนังสือร่างรัฐธรรมนูญเพียง 4 ล้านกว่าเล่มเท่านั้น ทั้งที่มีผู้มีสิทธิออกเสียง 50 ล้านคน ฯลฯ

6. วันที่ 11-12 ส.ค.เกิดเหตุวางระเบิดในภาคใต้หลายจังหวัด มีกระแสข่าวผู้ก่อเหตุน่าจะเชื่อมโยงกับกลุ่มการเมืองที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล หรือ คสช. จตุพร ณัฐวุฒิ และธิดา ถาวรเศรษฐ์ ออกมาให้ข่าวแถลงโต้ว่า ขอแสดงความไม่เห็นด้วยและประณามการกระทำความรุนแรงดังกล่าว พร้อมประณามฝ่ายรัฐและฝ่ายการเมืองที่ช่วยโอกาสใส่ร้ายผู้มีความเห็นต่างหรือฝ่ายที่ไม่เห็นชอบรัฐธรรมนูญว่าเป็นผู้กระทำความรุนแรงครั้งนี้โดยปราศจากหลักฐานและข้อเท็จจริง และคัดค้านการจับกุมคุมขังประชาชนฝ่ายหนึ่งแบบเหวี่ยงแห นอกจากนี้จตุพรยังให้สัมภาษณ์ว่า การจับกุมผู้ต้องหา 17 คนที่เป็นแนวร่วมปฏิวัติเพื่อประชาธิปไตย หรือ นปป.ของทหารและตำรวจนั้นเป็นการจับแบบ “เฮงซวย” ควบคุมไปก่อนออกหมายจับทีหลัง

“คำพูดทั้งหมดเป็นคำพูดที่มีลักษณะยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม ให้ประชาชนกระด้างกระเดื่อง สร้างความแตกแยกระหว่างรัฐบาลกับประชาชนที่เข้ามาแก้ไขปัญหาความวุ่นวายและความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ อันจะส่งผลเสียต่อรัฐบาลซึ่งกำลังพัฒนาหรือบริหารจัดการให้บ้านเมืองเข้าสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริงต่อไป จึงไม่ใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตหรือชอบธรรม หรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามทำนองคลองธรรม และมิใช่เป็นการติชมโดยความเป็นธรรม แต่เป็นการใส่ความหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยเฉพาะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือผู้เกี่ยวข้องให้ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ทำให้เงื่อนไขที่ศาลอาญากำหนดไว้นั้นไร้คุณค่า การกระทำของจำเลยทั้ง 5 คนที่ผ่านมาเชื่อว่ายังคงกระทำต่อปีอกอย่างไม่หยุดยั้ง แสดงให้เห็นถึงเจตนาที่ขาดความเคารพยำเกรงศาล โดไม่ระมัดระวังการกระทำของจนให้สมกับที่ศาลให้ความคุ้มครองและไว้วางให้ใจให้จำเลยทั้ง 5 คนมีอิสรภาพในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอย่างเคร่งครัด จึงเห็นควรยื่นคำร้องต่อศาลพิจารณาวินิจฉัยเพิกถอนการปล่อยชั่วคราว” อัยการระบุ

เปิดคำสั่งศาล เหตุผลในการอนุมัติถอนประกัน

คดีนี้จำเลยที่ 1-4 และ 8 ให้การยืนยันว่าไม่ได้กระทำผิดเงื่อนไขศาล แต่เป็นการแสดงความคิดเห็นสุจริตตามสิทธิขั้นพื้นฐาน และเป็นการตรวจสอบป้องกันการทำหน้าที่ของหน่วยงานรัฐและรัฐบาล ซึ่งหากมีการพาดพิงหรือดูหมิ่นบุคคลใดก็สามารถใช้สิทธิทางกฎหมายได้อยู่แล้ว

ขณะที่ทนายจำเลยทั้ง 5 ได้แถลงต่อศาลขอไต่สวนพยานประกอบคำให้การของจำเลย และวีซีดีบันทึกภาพและเสียงที่อัยการโจทก์ยื่นต่อศาลบางแผ่นไม่สามารถเปิดดูรายละเอียดได้ ศาลเห็นว่าจำเลยได้แถลงยอมรับข้อเท็จจริงว่าได้ไปออกรายการต่างๆ และมีการให้สัมภาษณ์จริง แต่ไม่ได้กระทำผิดเงื่อนไขศาล และอัยการโจทก์ยังมีหนังสือพิมพ์ สื่อสาธารณะอื่น ร่วมถึงบันทึกถ้อยคำจากแผ่นวีซีดีที่เป็นพยานหลักฐานพอวินิจฉัยได้ เมื่อจำเลยรับข้อเท็จจริงแล้วประกอบกับโจทก์มีพยานหลักฐานพอวินิจฉัยได้ ศาลจึงงดการไต่สวนพยานจำเลย พร้อมยกคำร้องทนายจำเลยที่ 2 และ 4 ที่แถลงต่อศาลคัดค้านการอ่านคำสั่งวันนี้

เว็บไซต์ข่าวสดรายงานคำสั่งศาล ระบุว่า ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การอนุญาตปล่อยชั่วคราวเป็นหลักประกันอิสรภาพตามสิทธิมนุษยชน เพื่อไม่ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกคุมขังนานเกินจำเป็น โดยให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยยังไม่เป็นผู้กระทำผิดจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา ซึ่งจะปฏิบัติเสมือนผู้ที่กระทำความผิดไม่ได้ กรณีที่ศาลมีคำสั่งปล่อยชั่วคราวโดยกำหนดเงื่อนไข เพื่อป้องกันการหลบหนี การเกิดภัยอันตรายหรือความเสียหาย และละเว้นกิจกรรมที่อาจกระทำผิดขึ้นอีกได้ ซึ่งศาลจะใช้ดุลพินิจพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไป ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขขึ้นมาเพื่อให้จำเลยต้องปฏิบัติเกินความจำเป็นแก่กรณี ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108 และการปล่อยชั่วคราวจะพิจารณาเป็นรายๆ ไป

สำหรับคดีนี้ศาลสั่งปล่อยชั่วคราวจำเลยโดยกำหนดเงื่อนไขไว้ เพื่อควบคุมหรือป้องกันไม่ให้มีการกระทำอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน และสถานการณ์ขณะนั้นมีวิกฤตการขัดแย้งทางการเมืองสูง ซึ่งจำเลยเป็นแกนนำในการปราศรัยโจมตีรัฐบาลและนัดชุมนุม จนเป็นเหตุให้ถูกจับกุมและดำเนินคดี แต่เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 57 คสช. เข้ายึดอำนาจ สถานการณ์ภายในจึงสงบเรียบร้อยลง และมีการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จตามกำหนด โดยกำหนดให้มีการลงประชามติวันที่ 7 สิงหาคม 59 ซึ่งจำเลยที่ 1-4 และ 8 ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ กรณีย่อมทำได้แต่ต้องอยู่ในขอบเขตและไม่ฝ่าฝืนคำสั่งของศาล อีกทั้งกรณีวิจารณ์การทำงาน คอรัปชั่นก็ย่อมมีสิทธิกระทำได้ แต่ต้องไม่กระทบสิทธิเกียรติยศบุคคลอื่น

เมื่อพิจารณาแผ่นวีซีดีของอัยการโจทก์แล้วเห็นว่า บทสนทนาบางตอนจำเลยที่ 2 กล่าวพาดพิงบุคคลอื่นด้วยถ้อยคำค่อนข้างรุนแรงหรืออาจกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชนที่ได้รับทราบข้อความดังกล่าว ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลที่ถูกพาดพิงและกระทบสิทธิเกียรติยศ แม้ผู้เสียหายจะใช้สิทธิตามกฎหมายได้ แต่ก็เป็นสิ่งที่ไม่สมควรกระทำ ศาลได้กำหนดเงื่อนไขไว้ก่อนแล้วเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลอื่น การที่จำเลยที่ 2 ได้กล่าวโดยระบุชื่อและกล่าวในลักษณะส่อในทางดูหมิ่นกระทบสิทธิต่อชื่อเสียง เกียรติยศถือเป็นการกระทำผิดเงื่อนไข ส่วนจำเลยที่ 1, 3, 4 และ 8 ศาลเห็นว่าเป็นการติชมโดยสุจริตเป็นธรรมตามวิสัยของประชาชนทั่วไป ยังไม่ถึงกับดูหมิ่นหรือกระทบสิทธิ เกียรติยศหรือชื่อเสียง และความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น อันเป็นการยั่วยุหรือกระทำผิดเงื่อนไขประกันอื่นตามที่ศาลได้กำหนดไว้

ศาลจึงมีคำสั่งให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราว นายจตุพร จำเลยที่ 2 และยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนประกันในส่วนของจำเลยที่ 1, 3, 4 และ 8 ส่วนที่จำเลย 1-4 และ 8 ขอให้ยกเลิกเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวในคำร้องคัดค้านที่จำเลยยื่นมาด้วยนั้น ศาลเห็นว่าการกำหนดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวก็เพื่อป้องกันภัยอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการปล่อยชั่วคราว ซึ่งศาลจะใช้ดุลพินิจพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไป ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขขึ้นมาเพื่อให้จำเลยที่ 1-4 และ 8 ต้องปฏิบัติเกินความจำเป็นแก่กรณี จึงยังไม่มีเหตุที่จะยกเลิกเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวดังกล่าว