วันเสาร์, พฤศจิกายน 12, 2559

เราเห็นอะไรในการเลือกตั้งทั่วไปของสหรัฐอเมริกา ค.ศ.2016?





เราเห็นอะไรในการเลือกตั้งทั่วไปของสหรัฐอเมริกา ค.ศ.2016?

1. เห็นว่าการเลือกตั้งไม่ได้มีไว้เพื่อเลือก “คนดี” แต่มีไว้เพื่อเลือกคนที่จะตอบสนองต่อผลประโยชน์ของประชาชน

โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันที่คว้าชัยในศึกครั้งนี้ เป็นภาพแทนที่ชัดเจนของ “คนไม่ดี” ทั้งจากวาทะของเขาที่มีตั้งแต่การเหยียดเพศ เหยียดผิว เหยียดศาสนา เหยียดสารพัด แสดงทรรศนะแบบสุดโต่ง โจมตีคู่แข่งด้วยถ้อยคำหยาบคาย รวมถึงจากสื่อต่างๆ ที่ขยายผลการกระทำของเขาให้ใหญ่โตยิ่งขึ้นไปอีก

หากว่าการเลือกตั้งมีไว้เพื่อเลือก “คนดี” แล้วล่ะก็ ทรัมป์จะเป็นรายชื่อแรกสุดที่ประชาชนทั้งประเทศตัดออกไปอย่างไม่ต้องสงสัย

แต่การเลือกตั้งนั้น มีไว้เพื่อเลือกคนที่จะมาตอบสนองต่อผลประโยชน์ของประชาชนต่างหาก

ภายใต้ความกักขฬะที่ถูกสื่อนำไปประโคมอย่างหนักหน่วง ทรัมป์ได้ดำเนินการหาเสียงกับประชาชนได้อย่างตรงตามความต้องการที่แท้จริงของพวกเขา (ทรัมป์จะทำได้จริงหรือไม่นั้นไม่อาจทราบได้ แต่สิ่งที่ทรัมป์พูดนั้นได้ใจคนที่เขาหาเสียงด้วย) ทั้งการชูสโลแกน “Make America Great Again!” ที่เข้าถึงความโหยหาในอดีตอันยิ่งใหญ่ของประเทศในใจคนได้ หรือการหาเสียงกับรัฐในเขต Midwest ที่ทรัมป์ชูนโยบายปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ ส่งผลให้หลายรัฐที่สำคัญ เช่น โอไฮโอ เพนซิลเวเนีย มิชิแกน วิสคอนซิน (ซึ่ง 3 รัฐหลังนั้นเป็นฐานเสียงของเดโมแครตตลอดการเลือกตั้ง 6 ครั้งก่อนหน้านี้) หันมาเลือกพรรครีพับลิกันแทน นับเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อชัยชนะของทรัมป์ในครั้งนี้

2. เห็นการเล่นในกติกา และยอมรับผลของผู้เข้าแข่งขัน

ภายหลังผลการเลือกตั้งออกมาเป็นที่ชี้ชัดว่าทรัมป์เป็นผู้ชนะ ไม่นานเกินรอ ฮิลลารี คลินตัน คู่แข่งจากพรรคเดโมแครต ได้ออกมากล่าวสุนทรพจน์ยอมรับผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ยอมรับว่าทรัมป์จะเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป แสดงความยินดีกับทรัมป์ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ผู้สนับสนุนเธอยึดมั่นในหลักนิติธรรมและให้โอกาสทรัมป์ได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่ออนาคตของประเทศอีกด้วย

เช่นเดียวกันก่อนหน้านี้ ในสุนทรพจน์ของทรัมป์ก็ได้กล่าวยกย่องการทำงานหนักและขอบคุณการอุทิศตนเพื่อประเทศของคลินตันด้วย

ตลอดการหาเสียงแข่งขันกันมานานนับปี มีการงัดเอาสารพัดวิธีมาใช้ในการสร้างความชอบให้ตนเองและโจมตีฝ่ายตรงข้าม บางครั้งรุนแรงถึงขั้นว่าแทบจะเอากันให้ตาย (แต่ทั้งนี้ยังต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย) เพื่อประโยชน์แห่งชัยชนะของฝ่ายตน ศึกหาเสียงจึงย่อมทำให้เกิดความขัดแย้งในความคิดความเห็นระหว่างประชาชนที่สนับสนุนผู้เข้าแข่งขันแต่ละฝ่ายไม่มากก็น้อย เมื่อผลการเลือกตั้งออกมา โดยเฉพาะกรณีที่ผลของแต่ละฝ่ายใกล้เคียงกันมาก จะให้ประชาชนที่สนับสนุนฝ่ายที่แพ้ยอมรับผู้เข้าแข่งขันจากฝ่ายที่ชนะในทันทีอาจเป็นไปได้ยาก

ผู้เข้าแข่งขันจึงมีบทบาทสำคัญในการสมานรอยร้าวนี้ โดยหากว่าการแข่งขันเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของผู้เข้าแข่งขันทั้งฝ่ายที่แพ้และชนะที่จะต้องยอมรับในผลและเรียกร้องต่อผู้สนับสนุนตนให้กลับมาร่วมมือกันอีกครั้ง ผู้ชนะก็บริหารประเทศไป ผู้แพ้ก็คอยตรวจสอบนโยบายของรัฐบาล และสั่งสมประสบการณ์เพื่อมาต่อสู้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป มิใช่แหกกติกาแล้วปลุกระดมมวลชนฝ่ายตนให้ก่อความวุ่นวาย หรือเรียกร้องให้ล้มผลการเลือกตั้งครั้งนี้

3. เห็นประชาชนที่ไม่พอใจ แต่ไม่มีใครเรียกหาอำนาจนอกระบบ

ภายหลังประกาศผลการเลือกตั้ง ได้เกิดเหตุการณ์ที่ประชาชนผู้สนับสนุนคลินตันได้ออกมาประท้วงแสดงความไม่พอใจในหลายพื้นที่ บางที่เกิดเป็นเหตุจลาจลย่อมๆ ในอินเตอร์เน็ตก็มีผู้แสดงความเห็นไม่พอใจ บางรายมีการใช้ hate speech พูดในเชิงข่มขู่คุกคาม ซึ่งก็มีคนไทยจำนวนหนึ่งนำมาใช้เป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ประชาธิปไตยแบบอเมริกัน

จริงอยู่ว่ามีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการนำไปสู่การล้มผลการเลือกตั้งหรือเรียกร้องรัฐประหาร จากข้อเท็จจริงการชุมนุมบางแห่งเช่นที่โอ๊คแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ก็สิ้นสุดลงภายในคืนเดียว ทั้งยังไม่ปรากฏว่ามีการจัดตั้งผู้ชุมนุมกลุ่มใดเพื่อเรียกร้องการรัฐประหารหรืออำนาจนอกระบบเป็นการเฉพาะ ยังไม่ปรากฏว่ามีหน่วยงานของรัฐหรือกลุ่มทุนธุรกิจใดๆ ที่ให้การสนับสนุนการชุมนุมเพื่อล้มผลการเลือกตั้งเลย ความเห็นที่ดูรุนแรงในอินเตอร์เน็ตก็ไม่ได้มีทีท่าว่าจะก่อให้เกิดขึ้นจริงได้

คนอเมริกันก็ไม่ต่างจากคนไทย พวกเขาก็อยากให้ผู้เข้าแข่งขันที่ตนสนับสนุนได้รับชัยชนะ หลายคนก็รังเกียจในการแสดงออกต่างๆ ของทรัมป์ แต่ถึงที่สุดพวกเขาก็ยังเห็นคุณค่าของการเคารพกฎกติกาของระบอบประชาธิปไตย ระบอบที่ในวันนี้อาจไม่ทำให้พวกเขาได้ผู้นำที่อยากได้ แต่เป็นระบอบที่พวกเขามีโอกาสได้เลือกอย่างสม่ำเสมอ ไม่ต้องทนอยู่กับผู้นำที่เขาไม่อยากได้ตลอดไป

4. เห็นประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์แบบ แต่ไม่เคยถูกละทิ้ง

ข้อเท็จจริงประการหนึ่งของการเลือกตั้งครั้งนี้คือ ประชาชนที่เลือกฮิลลารี คลินตัน มีจำนวนมากกว่าประชาชนที่เลือกโดนัลด์ ทรัมป์

แต่ด้วยระบบการเลือกตั้ง “ทางอ้อม” ของสหรัฐอเมริกา ที่เสียงของประชาชนที่ไปเลือกตั้งนี้จะไปกำหนดตัวผู้แทน (electoral college) ของแต่ละรัฐ ที่จะเป็นผู้เลือกประธานาธิบดีจริงๆ อีกที

จึงเกิดปรากฏการณ์ที่ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้ได้จำนวน electoral college ที่จะไปเลือกทรัมป์เป็นประธานาธิบดีมากกว่าที่จะไปเลือกคลินตันเป็นประธานาธิบดี

ซึ่งเป็นปรากฏการณ์เดียวกันกับที่เกิดขึ้นในการแข่งขันระหว่างจอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุช กับอัล กอร์ เมื่อปี 2000 ที่ประชาชนที่เลือกกอร์มีมากกว่า แต่กลับได้ electoral college ที่จะเลือกบุชมากกว่า

ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่สำคัญต่อระบบการเลือกตั้งของสหรัฐ อย่างไรก็ตาม ระบบนี้ก็มีข้อดีตรงที่ส่งเสริมหลักสหพันธรัฐนิยม เพราะทำให้รัฐเล็กๆ ที่มีประชากรน้อยมีอำนาจต่อรองกับรัฐใหญ่มากขึ้น (จำนวน electoral college ของแต่ละรัฐจะกำหนดจากจำนวน ส.ส.+ส.ว. ของรัฐ ซึ่งจำนวน ส.ส. ของแต่ละรัฐจะต่างกันตามสัดส่วนประชากร แต่จำนวน ส.ว. จะมีรัฐละ 2 คน เท่ากันทุกรัฐ ไม่ว่ารัฐเล็กหรือรัฐใหญ่)

จากข้อเท็จจริงและข้อโต้แย้งดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า แม้กระทั่งประชาธิปไตยแบบอเมริกัน ที่มักอ้างหรือถูกอ้างว่าเป็นต้นแบบของประชาธิปไตยนั้น ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ ยังมีจุดที่เป็นปัญหา อาจถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้อยู่เสมอ

แต่ตลอดเวลากว่า 240 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศมา สหรัฐฯ ก็ยังคงยึดถือประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์แบบนี้อยู่เสมอ ตรงจุดไหนที่มีปัญหาก็แก้ไขมัน ไม่ได้ทิ้งมันแล้วหันไปหาระบอบอื่นใด

ชาวอเมริกันเคยเลือกตั้งได้ประธานาธิบดีที่แย่ (ถ้าเรามองว่าบุชแย่) และคงเคยมากกว่าหนึ่งครั้ง เคยทนอยู่กับประธานาธิบดีแย่ๆ มาถึง 8 ปี แต่ชาวอเมริกันก็ยังออกไปเลือกตั้ง

เพราะจนถึงวันนี้ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ “โอเค” กับประชาชนที่สุดแล้ว

หากว่าตามความเป็นไปได้อย่างถึงที่สุด ในภายภาคหน้าอาจจะมีวันที่คนอเมริกันละทิ้งระบอบประชาธิปไตยต้นแบบของตนโดยสิ้นเชิง เปลี่ยนไปใช้ระบอบเผด็จการให้ชาวโลกและชาวไทยได้ถากถางจนสาแก่ใจก็เป็นได้

แต่นั่นหมายความว่าประชาธิปไตยไม่ดีอีกต่อไปแล้วอย่างนั้นหรือ? หมายความว่าเราควรทิ้งประชาธิปไตยไปเอาเผด็จการดีกว่าอย่างนั้นหรือ? ไม่ใช่แน่ๆ

เราอาจวิจารณ์ประชาธิปไตยแบบอเมริกันได้ แต่หากว่าเราเชื่อมั่นในประชาธิปไตยจริงๆ เห็นคุณค่าของเสียงประชาชนจริงๆ แล้ว เราควรนำข้อดีข้อเสียของประชาธิปไตยแบบอเมริกันมาเป็นบทเรียนในการสร้างประชาธิปไตยของประเทศเราเอง ไม่ใช่วิจารณ์ไปเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของระบอบ แล้วหันมาสมาทานเผด็จการแบบไม่ลืมหูลืมตา
…..

สุดท้ายนี้ หวังว่าการเลือกตั้งทั่วไปของสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้จะทำให้เราได้เห็นแง่มุมต่างๆ ของประชาธิปไตย ที่อาจดูไม่สวยงามเป็นสง่าราศี แต่ก็เป็นมิตรกับประชาชน อย่างที่ไม่เคยมีระบอบใดเป็นได้


ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ New Democracy Movement - NDM