วันพุธ, พฤศจิกายน 16, 2559

ยุครักพ่อรุนแรง





“ผมเชื่อมั่นในสิ่งที่ผมทำ ผมทำตามกติกา ตามกฎหมายทุกประการนะครับ” ลุงตูบบิ๊กตู่พูดถึงประเด็นที่จะมีผู้เสียหายจากการใช้มาตรา ๔๔ ฟัด ซัด อัด คนโน้นคนนี้อีเหระเขระขระ โดยเฉพาะกับอดีตนายกฯ หญิง

ทว่าคำพูดอย่างนั้นมัน implies ตีความไปได้หลายขนด รวมทั้งการจองล้างพวก ‘เอา’ ประชาธิปไตย+เลือกตั้ง ‘ไม่เอา’ รัฐประหาร+ทหารครองเมือง ที่รัฐบาลชุดแย่งอำนาจของทั่น ‘อีแอบ’ ทำกันอยู่หน้าไม่อาย

อย่างที่ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ New Democracy Movement - NDM จัดทำบันทึก ‘ความเคลื่อนไหวในความเงียบของ คสช.’ ในโอกาสครบรอบ ๑ เดือนหลังการสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ มากมายหลายประเด็นเพื่อการตรวจสอบ ทั้งหน้าชื่นและอกตรม อาทิ

“๖ พฤศจิกายน สปท. ชงปฏิรูปการเมือง พิจารณาเพิ่มค่าตอบแทนแก่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. และส.ว. โดยเทียบเคียงกับโครงสร้างเงินเดือนของผู้บริหารองค์การมหาชน ที่ได้รับเงินเดือน ๒-๓ แสนบาท โดยให้มีผลบังคับใช้หลัง ๕ ปี
http://www.matichon.co.th/news/349783” บังเอิญเกิดเขินกัน ก็เลยพับเก็บเข้าลิ้นชักไว้ก่อน บอกว่าสังคมยังไม่ยินดีขานรับ

“๘ พฤศจิกายน กรมบัญชีกลางปฏิเสธให้ข้อมูลและรายละเอียดการประกวดราคาทุกโครงการของห้างหุ้นส่วนจำกัด คอนเทมโพรารี คอนสตรัคชั่น ซึ่งมีนายปฐมพล จันทร์โอชา บุตรชายพลเอกปรีชา จันทร์โอชา เป็นผู้ถือหุ้น แก่สำนักข่าวอิศรา
http://news.voicetv.co.th/thailand/429813.html” เรื่องถึงได้เงียบฉี่ไม่มีใครยอมพูดถึง

“๑๐ พฤศจิกายน อัยการศาล มทบ.๒๔ ส่งฟ้องชาวบ้านและแกนนำ นปช. สกลนคร รวม ๒๐ ราย ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ที่ ๓/๒๕๕๘ ชุมนุมทางการเมือง เหตุถ่ายรูปกับป้ายศูนย์ปราบโกงฯ เกือบครึ่งอายุกว่า ๖๐ ปี
http://prachatai.com/journal/2016/11/68765” คนเหล่านี้นี่นะ จะล้มล้างการปกครอง

“๑๑ พฤศจิกายน กรธ. เล็งตั้งผู้ตรวจการการเลือกตั้งแทน กกต.จังหวัด
http://www.matichon.co.th/news/356305” กำลังเป็นที่ฟัดเหวี่ยงกันชุลมุนระหว่างคนเด่น กรธ. กับคนดัง กกต. ขณะนี้

เช่นเดียวกัน ‘ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน’ ฝรั่งรู้จักดีในชื่อย่อ TLHR ก็รวบรวมสถิติสถานการณ์ ‘รักพ่อรุนแรง’ ไล่ล่าพวกเฉยชา และ “การดำเนินคดีมาตรา ๑๑๒” ในช่วง ๑ เดือนหลังจากเสด็จสู่สวรรคาลัยไว้เพียบ

เขาแจ้งว่าตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมา นอกจากเอกชน ‘ไล่ล่าแม่มด’ กันฮึกเหิมแล้ว ภาครัฐ “ก็มีการจับกุมดำเนินคดีบุคคลด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ที่เข้มข้นขึ้น”

นี่ตามสถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ updated จำนวนผู้กระทำผิดถี่ยิบ จาก ๑๙ ตุลาคม มี ๑๒ ราย พอ ๒๕ ต.ค. เพิ่มเป็น ๒๐ ราย ถึง ๓๑ ต.ค. กลายเป็น ๒๕ ราย จนอาทิตย์ที่แล้ววันที่ ๙ พฤศจิกายน มี ๒๗ ราย ที่ดำเนินคดีแล้ว ๑๐ ราย กำลังไล่จับกุมอีก ๑๗ ราย

“การกระทำที่ถูกกล่าวหาส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการโพสต์แสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ มีบางกรณีที่เป็นการพูดหรือเขียนบนพื้นที่ที่ไม่ใช่โลกออนไลน์ แต่ก็ในปริมาณค่อนข้างน้อยคือ ๕ กรณี จาก ๒๐ กรณีดังกล่าว”

(http://www.tlhr2014.com/th/?p=2754)





จนกระทั่งเมื่อวาน (๑๕ พ.ย.) ก็มีการ ‘Kudo’ อุกอาจ เมื่อจู่ๆ ตำรวจ สน.ชนะสงครามบุกไปจับกุมนายบัณฑิต อาณียา นักเขียนอิสระวัย ๗๑ ปี จากห้องพักของเขาในย่านหนองแขม ไปควบคุมไว้ที่ สน. ก่อนแล้วจึงทำการแจ้งข้อกล่าวหา

อันเป็นความผิดเดิมเมื่อปี ๒๕๕๘ จากการที่เขาแสดงความเห็นในงานเสวนาเรื่องรัฐธรรมนูญฯ ที่ธรรมศาสตร์ จัดโดยกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน เขาเสนอให้บัญญัติประเด็นสำคัญ ๕ เรื่องไว้ในรัฐธรรมนูญใหม่ หนึ่งในนั้นเป็นเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่ตำรวจกล่าวหาว่าพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์

แม้ว่าในครั้งนั้นตำรวจชนะสงครามได้ทำการสอบสวนแล้วให้ประกันปล่อยตัว เพิ่งมาจับกุมในเวลาห่างกันกว่าปีนี้ อ้างว่าคดี ๑๑๒ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ตำรวจท้องที่ต้องทำเรื่องถึง สตช. ให้พิจารณาหลายขั้นตอนกว่าจะตัดสินว่าควรฟ้องหรือไม่

นายบัณฑิต ซึ่งเป็นคนจีนมีชื่อจริงว่า จึงโจว แซ่โค้ว อายุจริง ๗๖ ปี เคยต้องหา ม. ๑๑๒ มาแล้วสามครั้ง ครั้งแรกในปี ๒๕๑๘ ไม่ถูกดำเนินคดี ครั้งที่สองในปี ๒๕๔๖ จากการเสวนาและจำหน่ายเอกสารสองชิ้นที่ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธาน กกต.ขณะนั้นแจ้งความว่าเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

“ครั้งนั้นบัณฑิตถูกคุมขังรวม ๙๘ วันในระหว่างพิจารณาคดีก่อนจะได้รับการประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ ๒ แสน บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก ๔ ปี แต่เห็นว่าจำเลยอายุมากและป่วยด้วยโรคจิตเภทจึงให้รอลงอาญา ๓ ปี...

ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำคุก ๒ ปี ๘ เดือนไม่รอลงอาญา...ท้ายที่สุดศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่สั่งจำคุกโดยไม่รอลงอาญา...เป็นว่าให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น...

หลังการรัฐประหารไม่นาน เขาถูกจับกุมอีกครั้งจากการแสดงความคิดเห็นในวงเสวนาที่ระดมความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปในประเด็นต่างๆ โดยเขาถูกฟ้องว่าพูด ๒ ประโยคที่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา ๑๑๒ เขาได้รับการประกันตัวและขณะนี้คดีกำลังพิจารณาอยู่ในศาลทหาร”

(http://www.prachatai.org/journal/2016/11/68836)

คดีนายบัณฑิตนี้ชี้ให้เห็นชัดในความลักลั่นและขาดความแน่วแน่มั่นคงในกระบวนการยุติธรรมไทย ศาลวินิจฉัยว่าเขาเป็นผู้ป่วยจิตเภทหรือไม่ กลับไปกลับมา มิหนำซ้ำเจ้าพนักงานกล่าวหาว่าเขาละเมิดต่อกษัตริย์ เพียงเพราะเขายืนยันในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคล

ความเสื่อมทรามในมาตรฐานสิทธิมนุษยชนของระบบยุติธรรมไทยสมัย คสช. ไม่เพียงแต่กรณีเจ้าหน้าที่กดดันคดี ๑๑๒ ต่อผู้มีอาการจิตเภทเท่านั้น ปรากฏการณ์บีบคั้นสื่อมวลชน ไปจนกระทั่งกลั่นแกล้งคุกคามต่อทนายสิทธิมนุษยชน เป็นที่ตำหนิติเตียนขององค์กรนานาชาติให้เห็น





อย่างเช่นวานนี้ (๑๕ พ.ย.) องค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์แน้ทชั่นแนล ร่วมกับองค์กรสิทธินานาชาติรวม ๑๔ แห่ง ออกแถลงการณ์เรียกร้องบริษัทเหมืองทองทุ่งคำ ให้เพิกถอนคดีอาญาที่ฟ้องร้องต่อสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

คงจำกันได้ว่าบริษัททุ่งคำแห่งนี้ อันมีนายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็นกรรมการ ดำเนินการขุดแร่ทองคำที่จังหวัดเลยก่อให้เกิดมลพิษเป็นอันตราย จนชาวบ้านที่อยู่อาศัยในท้องที่และกลุ่มนักศึกษาดาวดินร่วมกันรณรงค์ต่อต้าน กลับถูกตอบโต้ทั้งด้วยกำลังคนและการฟ้องร้องดำเนินคดี ไปจนถึงสถานีไทยพีบีเอสผู้ที่รายงานข่าวก็ตกเป็นเป้าไปด้วย

“ทั้งนี้ แอมเนสตี้ประเทศไทยได้ติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างเหมืองแร่ทองคำและชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยมีการส่งอาสาสมัครและนักกิจกรรมลงพื้นที่เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา เพื่อเรียนรู้ปัญหา ตลอดจนหาทางออกภายใต้หลักสิทธิมนุษยชนสากลร่วมกัน”

“นอกจากนี้ ๑๔ องค์กรสื่อยังขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลไทยให้คุ้มครองเสรีภาพสื่อ ยกเลิกการเอาผิดทางอาญาสำหรับข้อหาหมิ่นประมาท และปรับปรุงแก้ไขให้เนื้อหาของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากลด้วย”

(https://www.amnesty.or.th/news/press/925…)

อีกกรณี ทนายสิทธิมนุษยชน ศิริกาญจน์ เจริญศิริ หรือ ‘จูน’ “เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและด้านข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เธอถูกดำเนินคดีหลังให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่





โดยเมื่อวันที่ ๒๒ ต.ค. ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา ตำรวจได้แจ้งข้อหาว่าว่าเธอทำความผิดฐานยุยงปลุกปั่นตามมาตรา ๑๑๖ ประมวลกฎหมายอาญา และชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคนตามคำสั่ง คสช. ที่ ๓/๒๕๕๘

ศิริกาญจน์ จะต้องเข้ารับการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรมในศาลทหารเมื่อถูกสั่งฟ้อง และหากถูกตัดสินว่ามีความผิด เธออาจได้รับโทษจำคุกสูงสุดถึง ๑๕ ปี”

(http://prachatai.org/journal/2016/11/68818)

ในวันที่เธอไปรับฟังการแจ้งข้อหานั้นมีตัวแทนองค์การสิทธิมนุษยชนนานาชาติ คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล และเจ้าหน้าที่การทูตของประเทศในยุโรปไปร่วมสังเกตุการณ์กันคับคั่ง

มาครั้งนี้เมื่อ ๑๔ พ.ย. “สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ออกปฏิบัติการด่วนเรียกร้องสมาชิกและผู้สนับสนุนมากกว่าเจ็ดล้านคนทั่วโลก ให้ร่วมกันเขียนจดหมายส่งถึงทางการไทย เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกทุกข้อกล่าวหา” ต่อทนายจูน

ไม่เพียงเท่านั้น “แอมเนสตี้ยังเรียกร้องทางการไทยให้เสรีภาพแก่ทนายความในการทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกคุกคาม ตลอดจนเคารพเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบด้วย”

อย่างนี้น่ะเหรอที่ว่าทำตามกติกา ทำตามกฎหมาย แล้วทำไมยังต้องให้ชาวโลกเขาคอยเตือนคอยโต้เป็นประจำ กติกา-กฎหมายตั้งเองมั่วซั่วใครเขาจะรับ