ภาพ: หุ่นเท่าตัวจริงของเหล่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญอเมริกัน, ถ่ายปี 2013
สถานที่: National Constitution Center (ศูนย์รัฐธรรมนูญแห่งชาติ), ฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา
ในเมื่อ “รัฐธรรมนูญ” เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ความคิดเรื่อง “พิพิธภัณฑ์รัฐธรรมนูญ” ก็อาจฟังดูเหมาะกับประเทศที่มีการ “ฉีก” รัฐธรรมนูญอยู่เนืองๆ อย่างเช่นประเทศไทย มากกว่าประเทศอย่างอเมริกาที่ไม่เคยมีการ “ฉีก” รัฐธรรมนูญเลยแม้แต่ครั้งเดียว
มีแต่การต่อเติมและแก้ไขเมื่อเวลาผ่านไป จนถึงวันนี้นับได้แล้ว 27 ครั้ง
ประเทศที่มีรัฐธรรมนูญมาแล้วสิบกว่าฉบับ น่าจะมี “เนื้อหา” ให้ใส่ในพิพิธภัณฑ์ มากกว่าประเทศที่ไม่เคยฉีกรัฐธรรมนูญเลย
แต่น่าแปลกที่ไทยยังไม่เคยมีพิพิธภัณฑ์รัฐธรรมนูญ (มีแต่พิพิธภัณฑ์ประชาธิปไตย)
ในขณะเดียวกัน “ศูนย์รัฐธรรมนูญแห่งชาติ” หรือ National Constitution Center อาคารค่อนข้างใหม่ (ก่อตั้งปี ค.ศ. 2003) ในกรุงฟิลาเดลเฟีย “บ้านเกิด” ของรัฐธรรมนูญอเมริกัน นอกจากจะมี “เรื่องเล่า” เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญแสนสั้นที่ไม่เคยถูกฉีกแล้ว ยัง “เล่าเรื่อง” เหล่านั้นได้อย่างน่าติดตาม
ไม่ชวนง่วงหงาวหาวนอนอย่างที่คำว่า “รัฐธรรมนูญ” ปกติจะชี้ชวนให้เรารู้สึก
นิทรรศการที่ใหญ่ที่สุดและโดดเด่นที่สุดในศูนย์แห่งนี้ คือ นิทรรศการถาวรชื่อ “เรื่องราวของ “พวกเราเหล่าประชาชน”” (We the People คำขึ้นต้นของรัฐธรรมนูญ) เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ของรัฐธรรมนูญอเมริกาตั้งแต่เปิดศึกกับประเทศแม่คืออังกฤษจนถึงยุคปัจจุบัน
นิทรรศการนี้ผสมผสานระหว่างโบราณวัตถุที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ กับการให้ความรู้ได้เป็นอย่างดี ของมีค่าที่จัดแสดงมีอาทิ ต้นฉบับคำประกาศอิสรภาพของอเมริกา โซ่ตรวนสำหรับทาส เก้าอี้ไม้ที่ใช้ในการประชุมร่างรัฐธรรมนูญ และเสื้อครุยของจริงของ แซนดรา โอคอนเนอร์ (Sandra O’Connor) สตรีคนแรกที่ได้เป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาสหรัฐ
ในศูนย์นี้มีนิทรรศการถาวรสองห้องที่ผู้เขียนชอบมาก เพราะคิดว่ามันดึงดูดผู้มาเยือนที่ไม่ใช่คนอเมริกันได้ดี “เล่าเรื่อง” ได้อย่างสนุกสนาน อีกทั้งยังตรงกับปณิธานของผู้ร่างรัฐธรรมนูญอเมริกันด้วย
นิทรรศการแรก “American National Tree” (ต้นไม้แห่งชาติอเมริกัน) เอาจอสัมผัสนับสิบจอมาต่อกันเป็นวงกลม เล่าเรื่องสามัญชนคนธรรมดา 100 คน ที่มีส่วนสร้างประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญ
การที่รัฐธรรมนูญไม่เคยถูกฉีกไม่ได้แปลว่ามันหยุดนิ่งราวหลักศิลา ไม่ต้องผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านการตีความ ซึ่งเปลี่ยนแปลงได้และก็เปลี่ยนแปลงจริงๆ ตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม
ตุลาการศาลฎีกาในอเมริกามาจากสองสำนักคิดใหญ่ๆ สรุปอย่างหยาบๆ ได้ว่า ตุลาการสายอนุรักษ์นิยมที่เชื่อว่าการตีความรัฐธรรมนูญควรยึดตาม “เจตนารมณ์ดั้งเดิม” ของรัฐบุรุษผู้ร่างรัฐธรรมนูญเมื่อสองร้อยกว่าปีที่แล้วเป็นหลัก ส่วนตุลาการสายเสรีนิยมเชื่อว่าการตีความรัฐธรรมนูญควรเปลี่ยนไปตาม “ค่านิยมของสังคม” ซึ่งแน่นอนว่า แต่ละยุคไม่เหมือนกัน
กฎหมายแบ่งแยกสีผิวในบางมลรัฐนับเป็นการละเมิดสิทธิ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่? บริษัทควรมีสิทธิเสรีภาพการแสดงออกเท่ากับปัจเจกบุคคลหรือไม่? การสั่งให้สอนวิชาวิวัฒนาการในโรงเรียนถือเป็นการละเมิดสิทธิในการนับถือศาสนาของครูหรือไม่? กฎหมายห้ามทำแท้งละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้หญิงหรือไม่?
เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างของคำถามที่สังคมอเมริกันเมื่อครั้งประกาศเอกราชไม่เคยคิดถาม แต่คนรุ่นหลานเหลนเริ่มสงสัย โต้เถียงอภิปรายและไปจบลงที่คำตัดสินของศาลฎีกา
สามัญชนคนธรรมดาผู้ตัดสินใจขึ้นโรงขึ้นศาล เพราะรู้สึกว่าตนถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ จึงเป็น “หัวจักร” สำคัญที่ขับเคลื่อนระบบกฎหมายอเมริกัน
ให้สถาบันยุติธรรมเดินอย่างสง่างามไปพร้อมกันกับสังคม หรืออย่างน้อยก็ไม่ล้าหลังสังคมจนเกินไปนัก
นิทรรศการนี้เล่าเรื่องราวของ “คนธรรมดา” ส่วนนิทรรศการในห้อง “หอผู้ลงนาม” (Signer’s Hall) จำลองบรรยากาศวันที่ 17 กันยายน 1787 วันที่ “รัฐบุรุษ” 42 คน ตัวแทนจาก 13 มลรัฐแรกของสหรัฐอเมริกา มาตกลงร่างสุดท้ายและประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ในจำนวนนี้ลงนาม 39 คน
รายนามมีตั้งแต่ผู้โด่งดังที่เด็กนักเรียนในอเมริกาทุกคนจำหน้าจากตำราได้ เช่น จอร์จ วอชิงตัน, เบนจามิน แฟรงคลิน และ อเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน ไปจนถึงรัฐบุรุษที่คนรู้จักน้อยกว่า แต่ทว่าก็มีบทบาทในวันประวัติศาสตร์เช่นกัน
รัฐบุรุษเหล่านี้หล่อเป็นรูปปั้นบรอนซ์ขนาดเท่าตัวจริง นั่งในอิริยาบทต่างๆ ตามธรรมชาติ บ้างนั่งโต๊ะหารือกัน บ้างยืนจับกลุ่มปรึกษาข้อกฎหมาย บางคนกำปากกาเตรียมจรดเซ็น ผนังห้องแปะประวัติฉบับย่นย่อของรัฐบุรุษบางคนให้อ่าน
ระหว่างที่เราเดินไปมาระหว่างรูปปั้นที่หล่ออย่างละเอียดสมจริง บางชั่วขณะก็จะรู้สึกประหนึ่งว่า เรากำลังมีส่วนร่วมกับพวกเขา เข้าไปคุยได้ หยอกล้อได้ เด็กๆ บางคนแลบลิ้นปลิ้นตาและพยายามปีนป่ายขึ้นไปนั่งตักของ เบนจามิน แฟรงคลิน อย่างสนุกสนาน
สื่อหลักการพื้นฐานซึ่งเป็นหัวใจของรัฐธรรมนูญอเมริกันได้อย่างเรียบง่ายและไม่ต้องมีป้ายอธิบายใดๆ
นั่นคือ “คนเท่ากัน”
ข้อมูลเพิ่มเติม: http://constitutioncenter.org/
ที่มา FB
โลกในนิทรรศการ - World in Exhibits
.....
ส่วนหนึ่งของคำขึ้นต้นของรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ
เรา (We the People) ถือว่าความจริงต่อไปนี้เป็นสิ่งที่ประจักษ์แจ้งอยู่ในตัวเอง นั่นคือ มนุษย์ทุกคนถูกสร้างขึ้นมาอย่างเท่าเทียมกัน และพระผู้สร้างได้มอบสิทธิบางประการที่จะเพิกถอนมิได้ไว้ให้แก่มนุษย์ ในบรรดาสิทธิเหล่านั้นได้แก่ ชีวิต เสรีภาพและการเสาะแสวงหาความสุข