ไม่ว่า ทวี้ตของ ‘เลดี้กาก้า’ เช้าวันที่ ๙ พฤศจิกายน แสดงภาพเปรียบเทียบ ๙/๑๑ กับ ๑๑/๙ ภายใต้ข้อความ “I got chills (ฉันสั่น) #PrayForAmerica#HesNotMyPresident”
ไม่ว่า ฝูงชนหนุ่มสาวจำนวนมากออกมาเดินขบวนประท้วงกันในย่านเบิร์กลี่ย์และโอ๊คแลนด์ แคลิฟอร์เนีย พร้อมตะโกนคำว่า “เขาไม่ใช่ประธานาธิบดีของเรา”
เช้าวันที่ ๑๑/๙ ในอเมริกา คนที่ไม่ได้ติดตามข่าวผลการเลือกตั้งจนสุดท้ายเมื่อคืนที่ผ่านมา ตื่นมาพบกับความจริงประจักษ์ว่า ประธานาธิบดีคนใหม่ลำดับที่ ๔๕ คือ ดอแนลด์ จอห์น ทรั้มพ์
เขาเริ่มต้นปาฐกถาฉลองชัยชนะด้วยการแจ้งว่าได้รับโทรศัพท์แสดงความยินดีจากฮิลลารี่ คลินตันแล้ว แม้จะมีเสียงประปรายในฝูงชนตะโกนให้ “จับเธอขังคุก”
แต่ทรั้มพ์ก็กล่าวถึงฮิลลารี่ต่อไปว่า ขอแสดงความยินดีในการที่เธอและครอบครัวรณรงค์อย่างแข็งในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งนี้ ฮิลลารี่ทำงานหนักมาตลอด เขาขอแสดงความชื่นชมต่อการที่เธอทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ
จากนั้นทรั้มพ์เรียกร้องว่า “ถึงเวลาที่อเมริกาจะต้องเยียวยารอยแผลจากการแบ่งแยก เราต้องมาร่วมกันสำหรับรีพับลิกัน เดโมแครท กลุ่มอิสระ ทั่วทั้งประเทศชาติ ขอบอกว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องมาร่วมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว”
พลันก็ปรากฏข้อความทวิตเตอร์สนองรับทันใดจาก มิตต์ รอมนี่ย์ อดีตผู้เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกันเมื่อปี ๒๕๕๕ ว่า
“ขออวยชัยแก่ประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกแล้วอย่างเหมาะสม หวังว่าปาฐกถาฉลองชัยชนะของเขาจะเป็นแนวทางและรักษาสาธารณะรัฐเอาไว้ได้อย่างที่เขาหวัง”
มิใยที่ข้อความของผู้ใช้ทวิตเตอร์ในประเทศไทยรายหนึ่ง ‘Kaewmala @Thai_Talk’: “หลายต่อหลายคนพยายามที่จะอธิบายปรากฏการณ์ทรั้มพ์ชนะ ฮิลลารี่แพ้ เหมือนดั่งกลุ่มคนตาบอดคนแล้วคนเล่าพยายามจะชี้ให้เห็นว่าช้างรูปร่างอย่างไร”
สะท้อนถึงอาการงงงวยและฉงนของผู้สนับสนุนคลินตัน กระบวนการสิทธิสตรี (the Suffrage Movement) และสื่อมวลชนอเมริกันสายหลัก
หากจะวัดจากบทความของหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ในเช้าวันพุธ ที่บัดนี้ยอมรับกันว่า “บางทีพวกเราก็แก่อุดมการณ์กันมากไปหน่อย และยังทึนทึก เชยๆ บ้างบางครั้ง”
คงไม่มีใครในขณะนี้สามารถอธิบายสาเหตุแห่งชัยชนะของทรั้มพ์ได้จะแจ้งเท่า ไมเคิล มัวร์ นักกิจกรรมฝ่ายซ้ายเก่าแก่ของอเมริกา ผู้ที่สนับสนุน เบอร์นี่ย์ แซนเดอร์ ในการเลือกตัวแทนพรรคเดโมแครทไปเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคราวนี้
เป็นที่ยอมรับกันว่าการคาดหมาย ๕ ข้อของไมเคิล มัวร์ ที่ให้ไว้หลายอาทิตย์มาแล้ว ว่าดอแนลด์ ทรั้มพ์ จะต้องเป็นผู้ชนะ ได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ถูกต้องทั้งสิ้น
นี่เป็นใจความสำคัญจากการทำนายของไมเคิล มัวร์ ทั้ง ๕ ข้อ
(http://michaelmoore.com/trumpwillwin/)
๑.ปัจจัยคะแนนเสียงในภาคตะวันตกกลาง หรือที่เรียกว่า ‘Rust Belt’ แถบทะเลสาป Great Lakes ตอนเหนือ ซึ่งมัวร์ชี้ว่าจะเป็นแบบปรากฏการณ์อังกฤษแยกตัวจากอียู ‘เบร็กซิทสายพานฝุ่น’ โดยทรั้มพ์จะเน้นชิงคะแนนเสียงจากมลรัฐที่เคยเป็นของเดโมแครทสี่แห่ง ที่ตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ เป็นต้นมาเลือกผู้ว่าการรัฐจากพรรครีพับลิกัน ได้แก่ มิชิแกน โอไฮโอ เพ็นซิลเวเนีย และวิสคอนซิน
ทรั้มพ์หาเสียงโจมตีคลินตันอย่างได้ผลในสี่รัฐนี้ว่า การสนับสนุน NAFTA หรือข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือที่เธอสนับสนุน ทำลายกิจการอุตสาหกรรมของมลรัฐในภาคตะวันตกกลางตอนเหนือ มัวร์เปรียบย่านอุตสาหกรรมแถบนี้จากเมืองกรีนเบย์ถึงพิตสเบิร์ก เทียบได้กับภาคกลางของอังกฤษที่ตกอยู่ในสภาพ “แตกระแหง เก็บกด และกระเสือกกระสน” เต็มไปด้วยคนทำงาน หรือตกงาน อดีตชนชั้นกลางที่ “โกรธขึ้ง คั่งแค้น จากผลของนโยบายเศรษฐกิจ ‘trickle-down’ สมัยประธานาธิบดีเรแกน และถูกทอดทิ้งโดยพรรคเดโมแครทที่ “รับเช็คล่ำซัมจากโกลด์แมนแซ็ค” (ฉายา ‘ยักษ์ใหญ่แห่งวอลสตรีท’)
นี่เป็นที่มาของตัวเลขคำนวณสำหรับภาคตะวันตกกลาง ที่ในปี ๒๕๕๕ มิตต์ รอมนี่ย์ แพ้ด้วยคะแนนอีเล็คทอรอลโหวตขาดไป ๖๔ เท่ากับคะแนนรวมอีเล็คทอรอลโหวตของสี่รัฐนี้พอดี ทรั้มพ์จะเอาชนะได้เพียงแค่รักษาฐานคะแนนเสียงที่ไม่โหวตให้คลินตันในถิ่นรีพับลิกันตั้งแต่ไอดาโฮถึงจอร์เจีย แล้วเก็บคะแนนจากสี่รัฐฐานเสียงเดโมแครทเก่า โดยไม่ต้องพึ่งฟลอริด้า โคโรราโด และเวอร์จิเนีย เลยก็ได้ (แต่ทรั้มพ์ก็คว้าฟลอริด้าไปกินในที่สุด)
๒.ที่ยืนสุดท้ายของชนผิวขาวเพศชายผู้เกรี้ยวกราด แนวคิดตลอด ๒๕๐ ปีที่ว่าชายเป็นเพศเหนือกว่า กำลังจะถึงจุดจบ ผู้หญิงกำลังจะเข้ามายึดครอง ภาพการแสดงของบิยอนเซ่ตอนพักครึ่งของการแข่งขันฟุตบอลซูเปอร์โบวล์ สตรีผิวดำชูกำปั้นประกาศการสิ้นสุดของผู้ชายเป็นใหญ่ ความคิดเหล่านี้เข้าไปจี้ต่อมศักดิ์ศรีของเพศพันธุ์อนุรักษ์ของชายผิวขาว
สิทธิสตรีนาซี ‘Feminazi’ ดั่งที่ทรั้มพ์บอกกับเมกิน เคลลี่ ผู้ประกาศหญิงจากฟ็อกซ์นิวส์ ซึ่งทำหน้าที่ตั้งคำถามในการโต้วาทีครั้งแรกว่า “เลือดไหลออกมาทางสายตา หรือเมื่อใดก็ตามที่เธอมีประจำเดือน” จะทำให้ต้องทนกับการมีผู้หญิงเป็นนายใหญ่อีกอย่างน้อยสี่ปี เหมือนที่ต้องทรมานกับการมีชายผิวดำสั่งให้ทำโน่นทำนี่มาแปดปีน่ะหรือ ไหนจะพวกข้ามเพศ อีกหน่อยก็จะต้องให้สิทธิมนุษยชนกับพวกแฮมสเตอร์หนูหริ่ง
เหล่านี้มัวร์บอกว่าในความรู้สึกของเพศชายผิวขาวอเมริกัน มันจะต้องยุติเสียที ซึ่งผลที่เกิดขึ้นเมื่อวันอังคารชี้ว่ามันเป็นเช่นนั้น คนอเมริกันผิวขาว ไม่ผ่านมหาวิทยาลัย ที่เคยเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ออกมาลงคะแนนให้ทรั้มพ์จนได้ชัยชนะขาด
๓.ปัญหาของฮิลลารี่ มัวร์ชี้ว่าการออกเสียงสนับสนุนประธานาธิบดีจ๊อร์จ ดับเบิ้ลยู บุสช์ ทำสงครามอิรักของฮิลลารี่ ทำให้เขาไม่อยากโหวตให้เธอต่อไป แม้เดี๋ยวนี้เปลี่ยนใจแล้ว แต่การเป็น ‘สายเหยี่ยว’ ของฮิลลารี่ยังดีเสียกว่าปล่อยให้พวกฟาสซิสต์จิตหลอนมีอำนาจกดปุ่มระเบิดปรมาณู
แต่ต้องยอมรับว่าปัญหาครั้งนี้ไม่ได้อยู่ที่ทรั้มพ์ ในเมื่อผู้ออกเสียงถึง ๗๐ เปอร์เซ็นต์ยังคิดว่าฮิลลารี่ไม่น่าไว้ใจ และไม่ซื่อสัตย์ จากการที่เธอต่อต้านเกย์แล้วเปลี่ยนใจมาให้การสนับสนุน (หรือเห็บชอบกับภาคีการค้าแปซิฟิค TPP แล้วกลับใจมาค้านตามอย่าง/เอาใจแซนเดอร์) เป็นประเด็นหนึ่งที่พวกคนหนุ่มสาว millennials ไม่ค่อยจะซู่ซ่ากับเธอเหมือนที่เป็นกับเบอร์นี่
พลังหนุ่มสาวที่เคยทำให้บารัค โอบาม่า ชนะท่วมท้น ไม่ได้เป็นพลังสำคัญเช่นกันเสียเลย ที่จะขับเคลื่อนให้แก่ฮิลลารี่ คลินตัน
๔.ขาดแรงดันหนักจากคนหนุ่มสาว ทั้งที่เบอร์นี่ แซนเดอร์ ปาวารณาตัวและออกหาเสียงช่วยฮิลลารี่ และผู้สนับสนุนของเบอร์นี่ก็ตกลงที่จะไปโหวตให้แก่คลินตัน แต่พวกเขาเหล่านี้มีความเครียดจากความผิดหวังเสียจนไม่ได้กระตือรือร้นที่จะชักนำคนใกล้ชิดไปโหวตร่วมกับตนอีกรายละ ๕ คน หรือส่วนหนึ่งก็ยอมนอนหลับทับสิทธิดื้อๆ
ประการสำคัญที่มัวร์เอ่ยถึงกรณีเสียงของพวก millennials ก็คือการเลือกตัวคู่สมัครในตำแหน่งรองประธานาธิบดี ฮิลลารี่ ‘played safe’ ในการเลือกชายผิวขาวสูงอายุ อุดมการณ์สายกลาง จืดชืด แทนที่จะเป็นคู่หญิง วุฒิสมาชิกหัวก้าวหน้า กล้าแลกหมัดกับทรั้มพ์ทางทวิตเตอร์จนเป็นขวัญใจวัยรุ่น อันจะทำให้การรรรงค์หาเสียงกระชุ่มกระชวย ชนิดที่คนอเมริกันเรียกว่า ‘pumped up’ ได้
๕.ผลกระทบแบบเจสซี่ เว็นทูร่า มัวร์ชี้ว่าเมื่อเข้าคูหาแล้วผู้ออกเสียงจะโหวตอย่างไรก็ได้ ทุกคนเป็นตัวของตัวเองไม่มีอะไรมาบงการ แม้กระทั่งสังกัดพรรค ด้วยเหตุนี้คนที่เหลือระอากับระบบการเมืองที่หักพัง ความอัดอั้นกับการที่วอชิงตันงัดข้อกันเสียจนหลายสิ่งหลายอย่างติดชะงัก คนจำนวนมากตัดสินใจเลือกทรั้มพ์เพื่อลองของ ‘คนวงนอก’ เข้าไปรื้อระบบ เปลี่ยนแปลงการเมืองแบบเซม เซม กันเสียที
อีกข้อที่ขอเพิ่มเติมปิดท้ายนี้ว่า ในการเลือกตั้งอเมริกันยุคใหม่ตั้งแต่ศตวรรษที่ ๒๐ เป็นต้นมา จะมีการสลับเปลี่ยนระหว่างสองขั้วพรรคการเมืองอยู่เสมอมา ไม่ว่าในตำแหน่งประธานาธิบดี หรือว่ารัฐสภาทั้งสอง
การปฏิเสธฮิลลารี่ครั้งนี้อาจเป็นเพราะประชาชนอิ่มตัวกับยุคโอบาม่าแล้วก็ได้ เช่นเดียวกับอีกสองปีข้างหน้าอาจมีการสลับฉากยกเครื่องสภาทั้งสองได้ด้วยเช่นกัน