เชียงใหม่รวมตัว เรียกร้องอิสราเอลยุติการโจมตี ปกป้องชีวิตชาวปาเลสไตน์ จับตาการโจมตีพื้นที่ราฟาห์
2024-03-03
ประชาไท
กลุ่ม chiangmai for Palestine รวมตัวอย่างสันติเรียกร้องอิสราเอลยุติการโจมตีในกาซา เพื่อปกป้องชีวิตชาวปาเลสไตน์ หลังอิสราเอลมีแผนโจมตีครั้งใหม่ในพื้นที่ราฟาห์ทางตอนใต้ของฉนวนกาซา วันที่ 9 มี.ค. นี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตชาวปาเลสไตน์กว่า 2 ล้านคน ภายในงานมีการอ่านบทกวี “If I Must Die” ของ Refaat Alareer กวีและนักวิชาการชาวปาเลสไตน์ ซึ่งเสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศของกองทัพอิสราเอล เพื่อส่งเสียงแทนชาวปาเลสไตน์ที่กำลังเผชิญกับภัยสงครามในขณะนี้
3 มี.ค. 2567 เมื่อวันที่ 2 มี.ค. ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 17.30 – 19.30 น. ที่ลานประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ กลุ่ม chiangmai for Palestine จัดกิจกรรมรวมตัวอย่างสันติ เรียกร้องอิสราเอลยุติการโจมตีในกาซา เพื่อปกป้องชีวิตชาวปาเลสไตน์ที่กำลังตกอยู่ในความอดอยากและยากลำบากจากภัยสงครามในขณะนี้ มีชาวต่างชาติและชาวไทยที่สนใจมาร่วมกิจกรรมจำนวนมาก ภายในงานมีการแสดงนิทรรศการภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นในกาซา การอ่านบทกวีชื่อ “If I Must Die” ของ Refaat Alareer กวีและนักวิชาการชาวปาเลสไตน์ ซึ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2566 ระหว่างการโจมตีทางอากาศของกองทัพอิสราเอลทางเหนือของฉนวนกาซา เป็นการอ่านบทกวีโดยผู้ที่มาร่วมงานในภาษาต่างๆ มีการชูธงชาติปาเลสไตน์และเรียกร้องให้ปลดปล่อยปาเลสไตน์
ปุณยนุช มหารักษิต (เสื้อสีเหลือง)
ปุณยนุช มหารักษิต ตัวแทนผู้จัดกิจกรรมในครั้งนี้ระบุว่า เชียงใหม่เป็นพื้นที่ที่คนหลายเชื้อชาติในโลกในรวมตัวกัน และปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในปาเลสไตน์เป็นปัญหาใหญ่ของโลก วันนี้ (2 มี.ค. 2567) มีการเคลื่อนไหวทั่วโลก เนื่องจากในสัปดาห์หน้าวันที่ 9 มี.ค. นี้ อิสราเอลมีแผนโจมตีครั้งใหม่ในพื้นที่ราฟาห์ทางตอนใต้ของฉนวนกาซาซึ่งจะทำให้ประชาชนในปาเลสไตน์ถูกต้อนออกจากพื้นที่ด้วยภัยสงคราม ผู้คนในฉนวนกาซากำลังอดอยากรถขนส่งเสมียงในยามสงครามเข้าได้เพียงครั้งละ 10 คัน ขณะที่ประชาชนที่รองรับความช่วยเหลือมีมากกว่า 500,000 คน หากเกิดการโจมตีในพื้นที่ราฟาห์ขึ้นอีกย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชนราว 1.5 – 2 ล้านคน จึงจำเป็นที่โลกจะต้องออกมายุติการโจมตีของอิสราเอลที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อปกป้องชีวิตของชาวปาเลสไตน์
นอกจากนี้ ส่วนตัวตนปุณยนุชเป็นอดีตนักศึกษาคณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้รับผลกระทบทางความคิดและการเคลื่อนไหวจากเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 ซึ่งตนเองเลือกที่จะอยู่ข้างผู้ที่ถูกกดขี่และร่วมส่งเสียงเพื่อพวกเขา ชาวปาเลสไตน์พยายามขอความช่วยเหลือจากโลก แต่กลับมีสื่อหรือผู้ที่มีอำนาจมากกว่าบอกว่าพวกเขาเป็นผู้ก่อการร้าย ในแง่ของการสื่อสารมีการใช้คำว่า “ผู้เยาว์” แทนคำว่า “เด็ก” หรือคำว่า “ตาย” แทนคำว่า “ถูกฆ่า” ประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญมากในจริยธรรมสื่อและทำให้คนจำนวนมากที่รับข่าวสารให้แง่มุมแค่เพียงที่สื่อกำหนด ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ยังเป็นเรื่องของมโนธรรมสำนึกที่เห็นเพื่อนมนุษย์ร่วม 2 ล้านคนจะถูกฆ่าในปาเลสไตน์
ทั่วโลกมีข้อเสนอ 2 ประการที่ต้องการสื่อสารให้ทุกคนตื่นตัวต่อเหตุการณ์ครั้งนี้คือ หนึ่งขอให้ทั่วโลกจับตาความรุนแรงของการโจมตีในปาเลสไตน์ที่กำลังจะเกิดในวันที่ 9 มี.ค. นี้ และร่วมกันกดดันผู้นำโลกกดดันอิสราเอลให้ยุติสงครามที่กระทำต่อปาเลสไตน์ สองขอเรียกร้องให้มีการดูแลปัญหาความอดอยากในกาซาตอนเหนืออย่างมีมนุษยธรรมมากกว่านี้
ทั้งนี้ในระหว่างการจัดกิจกรรมได้ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่ อส. และเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่มาสอบถามและร่วมสังเกตการณ์ตลอดการจัดกิจกรรม