วางแผนความตายแบบคนอีสาน เพราะงานศพราคาแพง และหน้าใหญ่ใจโตคือภาระ
ตุลาคม 30, 2023
ธีรศักดิ์ มณีวงษ์
The Isaan Record
เรื่องตายๆ เมื่อหลายพันปีก่อน ผู้คนในแผ่นดินอุษาคเนย์จะมีความเชื่อเรื่อง “ขวัญ” และการตายไม่ใช่เรื่องน่าเศร้า แต่เป็นเพียงการเดินทางของ “ผีขวัญ” จาก “เมืองลุ่ม” ที่หมายถึงโลกมนุษย์ เพื่อไปยัง “เมืองฟ้า” เมืองของแถน เมื่อมีการ “สู่ขวัญ” คือลูกหลานที่อยู่เมืองลุ่มเรียกเชิญผีขวัญไปปกป้องดูแล ผีขวัญจึงอยู่ในสถานะของ “ผีบรรพบุรุษ” สิ่งที่ชี้ชัดให้เห็นว่าพิธีกรรมเกี่ยวกับความตายจะเป็นการเฉลิมฉลองมากกว่าการโศกเศร้าอาลัย ปรากฏชัดในหลักฐานทางโบราณคดีอย่างภาพหน้ากลองมโหระทึก ภาพคนเป่าแคน แห่ศพ การร้องรำทำเพลง สิ่งนี้นักวิชาการวัฒนธรรมเรียกว่า “งันเฮือนดี”
นอกจากนั้นการขุดค้นหลักฐานทางโบราณคดียังชีชัดให้เห็นอีกว่า ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์มนุษย์มีการจัดการกับศพด้วยวิธีการปลงศพที่หลากหลาย ซึ่งลักษณะการฝังศพสามารถแบ่งได้ 3 รูปแบบคือ การฝังศพครั้งที่ 1 Primary Burial เป็นการฝังศพแบบดั้งเดิม พบทั่วไปในทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยจะนำศพวางนอนในหลุมในท่านอนตะแคงงอเข่า หรือนอนหงายเหยียดยาว การขุดค้นพบจะพบกระดูกครบทุกส่วนและหม้ออุทิศ (สมบัติของศพ) วางด้านข้าง
รูปแบบต่อมาคือ การฝังศพครั้งที่ 2 Secondary Burial เป็นการนำกระดูกจากการฝังศพครั้งที่ 1 ซึ่งฝังจนกระทั่งเนื้อเปื่อยหมดแล้ว บรรจุในภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ จากนั้นจึงนำมาทำพิธีอีกครั้ง การฝังศพลักษณะนี้จะพบกระดูกไม่ครบทุกส่วน มีเพียงกระดูกชิ้นใหญ่ หรือชิ้นที่มีความสำคัญเท่านั้น และรูปแบบสุดท้ายคือ การเผาศพ เป็นวิวัฒนาการที่สำคัญของชุมชนโบราณอีกระดับหนึ่ง ซึ่งบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของพิธีกรรมดั้งเดิม และแสดงให้เห็นวิวัฒนาการของคนสมัยก่อนต่อพิธีกรรมและการปลงศพในแต่ละยุคสมัยอย่างชัดเจน
ที่กล่าวไปนั้นเป็นหลักความเชื่อและพิธีกรรมความตายของศาสนาผี แต่ภายหลังการเข้ามาของพุทธศาสนา ศาสนาพราหมณ์ และศาสนาตะวันตก แนวคิดการตายที่หมายถึงการย้ายที่ทางของขวัญไปยังเมืองอื่น สู่ความเชื่อที่ว่าการตายเป็นการเวียนว่ายในวัฏสงสารตามผลกรรม หรือเชื่อว่าการตายหมายถึงการกลับสู่การดูแลของพระเจ้า ทำให้พิธีกรรมและการให้ความหมายต่อความตายเปลี่ยนแปลงไปเช่นเดียวกัน
พิธีกรรมหลังความตาย ฉากสุดท้ายของชีวิตที่สิ้นลม
ในสังคมอีสานประเพณีพิธีกรรมหลังความตายจะถูกจัดโดยยึดโยงกับมิติความสัมพันธ์ของคนในชุมชน เมื่อชุมชนมีการตายเกิดขึ้นสมาชิกในชุมชนจะต้องเดินทางมาแสดงความอาลัยและช่วยเหลือครอบครัวผู้ตายอย่างสมเกียรติ ส่วนประเพณีการบำเพ็ญกุศลศพจะมีการปรับเปลี่ยนขั้นตอนให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น แต่ยังคงไว้ซึ่งปริศนาธรรมและคติธรรมแฝงอยู่ แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจนคือการบำเพ็ญกุศลไม่นิยมฝังศพไว้ก่อนเหมือนในอดีต แต่จะบำเพ็ญกุศลศพด้วยการเผาในครั้งเดียว และประกอบพิธีกรรมเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตายไปพร้อมกัน หลังจากเสร็จสิ้นพิธีกรรมฌาปนกิจก็จะนำเถ้ากระดูกไปบำเพ็ญอุทิศส่วนกุศลอีกครั้ง จากนั้นอาจจะนำเถ้ากระดูกเก็บไว้ที่บ้าน นำไปบรรจุไว้ที่วัดหรือลอยอังคารก็ได้
ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์ ได้อธิบาย พิธีศพของชาวอีสานในอดีต ผ่านการอธิบายรูปแบบพิธีศพของผู้คนท้องถิ่นในแถบ อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด โดยมีรายละเอียด ความเชื่ออย่างน่าสนใจว่า เมื่อมีคนตายญาติจะต้องอาบน้ำศพ แต่งตัวให้ศพ และตราสังตามประเพณี จากนั้นจึงนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธี “ชักอนิจจา” ซึ่งเหมือนกับพิธีบังสุกุลของพิธีกรรมทางภาคกลาง ระหว่างนั้นต้องหาไม้มาทำโลงศพและต้องทำพิธีเซ่นโลงด้วยหัวปลาและเครื่องเลี้ยงผีอื่นๆ ภายลังจากการทำโลงเสร็จก็ให้คนถามว่าโลงนี้เป็นของใคร แล้วก็มีคนตอบว่าเป็นของคนตายโดยขานชื่อผู้ตายด้วย จากนั้นจึงใช้มีดฟันโลงให้มีเสียงดังโป๊ก ถามตอบอีกสองสามข้อก็เอามีดฟันโลงอย่างเดิมซ้ำ จึงจะนำศพบรรจุในโลงและนิมนต์พระสงฆ์มาชักอนิจจาอีกครั้ง
ในระหว่างที่เก็บศพไว้ที่บ้าน จะมีการ “งันเฮือนดี” ตลอดทั้งคืน เพราะชาวบ้านจะมาอยู่เป็นเพื่อนเจ้าของบ้าน ทำการละเล่นสนุกสนาน เจ้าของบ้านก็จะทำอาหารเลี้ยงดูให้อิ่มหนำสำราญ พอพระสงฆ์สวดมนต์เสร็จก็จะต้องงันเฮือนดีไปจนถึงสว่าง โดยจะทำอย่างนี้ไปตลอดจนกว่าจะถึงวันเผา เมื่อพิธีศพดำเนินมาถึงเกือบช่วงท้ายหรือภายหลังจากการเผาศพ ต่อไปคือขั้นตอนการเก็บเถ้ากระดูก (อัฐิ) จะนิมนต์พระสงฆ์ไปชักอนิจจา และใช้ไม้เขี่ยเถ้ากระดูกให้เป็นรูปคน หันศีรษะไปทางทิศตะวันตกก่อนแล้วจึงเซ่นไหว้ เวลาเขี่ยเถ้ากระดูกต้องระมัดระวังไม่ให้มือสัมผัสเถ้ากระดูกโดยตรง เพราะเชื่อว่าถ้าโดนเข้าไปจะกลายเป็นคนมือร้อน ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น หลังจากนั้นจะใช้ไม้เขี่ยเถ้ากระดูกให้เป็นรูปคนดังเดิมแต่หันศีรษะไปทางทิศตะวันออก ทำการเซ่นไหว้อีกครั้งแล้วจึงเอาเถ้ากระดูกใส่ในหม้อดิน นำไปฝากไว้ที่วัด ฝั่งดิน หรือวางไหว้ตามโคนต้นโพธิ์ตามแต่ญาติประสงค์
แผนชีวิตหลังความตาย คนเป็นสบาย คนตายขึ้นสวรรค์?
จากบทความเรื่อง กระสวนวัฒนธรรมทางสังคมอีสาน “เตรียมชีวิตหลังความตายเพื่อลูกหลาน” โดย ธงชัย สีโสภณ และ สุนันท์ เสนารัตน์ ได้อธิบายว่า ครั้งหนึ่งในยุคที่ประเทศกำลังก้าวสู่สังคมโลกาภิวัตน์ ในช่วงนั้นสังคมอีสานเกิดค่านิยมทางสังคมที่เรียกว่า “หน้าใหญ่ ใจโต” และวางแผนชีวิตหลังความตายผ่านการตระเตรียมให้ลูกหลานขายทรัพย์สมบัติ เตรียมจัดงานศพใหญ่โต เมื่อฝังศพไว้ครบ 3–5 ปี มีการจ้างมหรสพเสพงันในพิธีอย่างยิ่งใหญ่ ภายหลังที่ยุคสมัยเปลี่ยนไป ค่านิยมเหล่านี้ก็หมดไปด้วยเช่นกัน ผู้คนในสังคมปัจจุบันเริ่มตื่นตัวเรื่องชีวิตกับการสร้างบุญกุศลหลังความตายมากขึ้น ประกอบกับสังคมที่อยู่ในสภาวะการพึ่งพิงซึ่งกันและกันมากขึ้น การช่วยเหลือดูแลกันจึงกลายเป็นค่านิยมต่อการเตรียมตัวก่อนตายรูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า “ประกันชีวิตชาวบ้าน” ข้อตกลงและธรรมนูญชีวิตของคนในชุมชนในเรื่องการช่วยเหลือดูแลเพื่อซับน้ำตาในคราทุกข์
เมื่อพิธีกรรมศพกลายเป็นพิธีกรรมที่ถูกผลิตซ้ำจำเจไปด้วยขั้นตอนหลายอย่างสร้างความสิ้นเปลืองจนเกินเหตุ นำไปสู่ความเบื่อหน่ายในอุดมการณ์และรูปแบบของพิธีกรรมเหล่านั้น นี่เองจึงเป็นมูลเหตุให้คนเป็นต้องวางแผนชีวิตหลังความตายก่อนการตายจะมาเยือน เพื่อสำเร็จสู่ภพภูมิที่ตนปรารถนาในความเชื่อเรื่องสวรรค์-นรก
กระทั่งความเจริญเข้ามากล้ำกรายและกระแสวัตถุนิยมเข้ามาครอบงำ จารีตประเพณีแบบสังคมอีสานก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย หลายครอบครัวกลายเป็นครอบครัวเดี่ยว และค่านิยมในการเลี้ยงดูพ่อแม่ลดน้อยลง การวางแผนชีวิตหลังความตายจึงเกิดขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงชีวิต “ไม้ใกล้ฝั่ง นั่งใกล้หนอง” โดยเฉพาะพ่อแม่หรือผู้สูงอายุ จะมีการเตรียมตัวให้พร้อมก่อนวันนั้นจะมาถึงเพื่อไม่ให้รบกวนทรัพย์สินของลูกหลานและหลีกเว้นจากการถูกประณามจากสังคมรอบข้าง สิ่งนี้ถือเป็นคำตอบเชิงสังคมวัฒนธรรมสมัยใหม่เพื่อไม่ให้ลูกหลานต้องมาลำบากกับพิธีกรรมหลังความตายของตนเอง
เหตุผลสำคัญที่นำไปสู่การเตรียมตัวก่อนตายมีหลายประการด้วยกัน อย่างแรกคือ ต้นทุนการจัดงานศพมีราคาที่ต้องจ่ายค่อนข้างสูง ค่าใช้จ่ายในงานศพแต่ละครั้งต้องใช้เงินจำนวนมากโดยเฉพาะการบำเพ็ญกุศลศพ แม้ในสังคมอีสานที่ลูกหลานผู้ตาย ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนบ้านมาจะช่วยกันจัดงานก็ตาม แต่ภาระค่าใช้จ่ายภายในงานก็ยังคงสูงอยู่ ทั้งจากค่าสิ่งของเครื่องใช้ประกอบพิธีกรรม อาหารเลี้ยงดูแขก การถวายพระสงฆ์ ไปจนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่มีความจำเป็นต่อขั้นตอนพิธีอย่างค่ามัคนายก ค่าสัปเหร่อ ค่าเมรุ
อาจกล่าวได้ว่า ความตายนั้นเป็นดั่งธุรกิจ ผ่านอุดมคติที่ว่า “ผู้ตายจะไปสวรรค์ หรือนรกขึ้นอยู่กับลูกหลานของตน” ซึ่งหมายถึงหน้าที่ของลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่จะต้องช่วยกันทำพิธีบำเพ็ญกุศลศพไปให้แก่พ่อแม่ที่ตายไปแล้ว หากครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งมีจำนวนลูกหลานมาก มีความเป็นครอบครัว และมีทรัพย์สมบัติมากพอ จึงเป็นโอกาสอันดีแก่ผู้ตายและไม่ต้องทุกข์ใจว่าเมื่อตายไปแล้วลูกหลานจะทำบุญไปให้หรือไม่ หรือไม่ทุกข์ใจที่จะต้องเตรียมการหาเงินไว้ใช้จ่ายสำหรับพิธีบำเพ็ญกุศลศพของตนก่อนตาย
“ประกันภัยไทบ้าน” กรมธรรม์ที่ครอบคลุมชีวิตในโลกนี้และโลกหน้า
วัฒนธรรมการทำประกันชีวิตเพื่อความตายหรือการจัดงานศพแบบใหม่ ถือเป็นการเตรียมชีวิตหลังความตายที่ชาวอีสานนิยมทำกันมาก เช่น ประกันชีวิตหมู่บ้านประกันชีวิตกลุ่ม ธกส. ประกันชีวิตบริษัทเอกชน ประกันชีวิตกองทุนหมู่บ้าน ประกันชีวิตกำนันผู้ใหญ่บ้าน ประกันชีวิตกลุ่มสตรี ประกันชีวิตเงินออมวันละบาท ประกันภัยเหล่านี้ถือเป็นทางเลือกสำคัญเพื่อให้ความช่วยเหลือเรื่องภาระค่าใช้จ่ายเมื่อวันนั้นมาถึง
ส่วนหลักประกันที่นิยมไปไม่แพ้กว่าประกันชีวิตที่กล่าวไปนั้น “การฌาปนกิจสงเคราะห์” เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเข้าร่วมเพื่อรองรับเป็นหลักประกันชัดเจนเมื่อตนตายจะได้รับเงินสงเคราะห์ในการจัดการศพและสงเคราะห์ครอบครัว นอกจากนั้นประโยชน์ของการฌาปนกิจสงเคราะห์ สมาชิกจะได้รับการช่วยเหลือโดยมีเงินจัดการศพให้ครอบครัวผู้เสียชีวิต เมื่อเงินเหลือจากการจัดการศพเงินส่วนที่เหลือก็จะกลายเป็นเงินใช้จ่ายในครอบครัว เป็นเงินทุนในการประกอบอาชีพหรือเป็นทุนการศึกษาบุตรต่อไป ถือเป็นเงินก้อนสุดท้ายที่หลงเหลือจากผู้ตายเพื่อรากฐานให้ครอบครัวโดยเฉพาะครอบครัวของผู้มีรายได้ไม่มาก เงินก้อนนี้จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้เป็นอย่างดี และถือเป็นการทำบุญร่วมกันของคนในชุมชน
ท้ายที่สุดการเตรียมตัวก่อนตายที่ไม่ขัดต่อหลักความเชื่อทางศาสนาหรือจารีตพิธีกรรมที่ถูกสั่งสมมานานนับ อย่างการทำประกันเพื่อชีวิตหลังความตาย สิ่งนี้จึงกลายเป็นทางเลือกสำคัญที่จะสามารถการันตรีได้ว่า ภายหลังจากสิ้นลมหายใจลูกหลานจะสามารถนำเงินเหล่านั้นมาบำเพ็ญกุศลเพื่อให้ตนสำเร็จสู่ภพภูมิในโลกหน้าดังที่ใจหวัง และเหลือจากนั้นจะเป็นมรดกก้อนสุดท้ายเพื่อลูกหลานได้สร้างฐานชีวิต สิ่งนี้จึงกลายเป็น “อุดมการณ์ชีวิตหลังความตาย” อุดมการณ์ที่เกิดขึ้นมาในวันที่คนในสังคมมองการตายเปลี่ยนไป
อ้างอิง:
ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์.(2563). พิธีศพของชาวอีสานในอดีต วิธีรักษาศพ-เก็บกระดูก เขาทำกันอย่างไร. เว็บไซต์ SILPA-MAG.com.
ธงชัย สีโสภณ และสุนันท์ เสนารัตน์. (2561). กระสวนวัฒนธรรมทางสังคมอีสาน “เตรียมชีวิตหลังความตายเพื่อลูกหลาน”. วารสารวนัมฎองแหรกพุทธศาสตรปริทรรศน์. 5(2). 47-56.
ผสุดี รอดเจริญ. (2551). พิธีกรรมการฝังศพในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ : ความเชื่อและสถานภาพทางสังคม. เว็บไซต์ ดำรงวิชาการ
https://theisaanrecord.co/2023/10/30/prepare-to-die/