วันเสาร์, มีนาคม 02, 2567

ทุนต่างชาติไหลออกจากจีนไม่มาไทย “มงลง” ที่เวียดนาม อินโดนีเซีย



ทุนต่างชาติไหลออกจากจีนไม่มาไทย แล้ว “มงลง” ประเทศไหนบ้าง ?

1 มีนาคม 2567
ประชาชาติธุรกิจ

สงครามการค้าและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มชะลอตัวลง ประเทศจีนที่เป็น “โรงงานของโลก” และเป็นใจกลางของการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

นักลงทุนต่างชาติถอยออกห่างจีนจนทำให้มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในจีนในปี 2023 “ต่ำ” ที่สุดในรอบ 30 ปี นับตั้งแต่ปี 1993 และเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันที่มูลค่า FDI ของจีนลดลงจากปีก่อนหน้า

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า มีการปิดโรงงานในจีนของบริษัทข้ามชาติในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก โดยมีบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการผลิตชิปในจีนกว่า 10,900 บริษัทที่ต้องปิดตัวลงในปี 2023

FDI ในปี 2023 ที่ต่ำสุดในรอบ 30 ปีของจีน เกิดขึ้นสวนทางกับภาพรวม FDI ทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย (+3%) เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่า FDI ในยุโรป ขณะที่ในภูมิภาคอื่น ๆ มูลค่า FDI ยังคงหดตัว

นับตั้งแต่สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2018 บริษัทต่างชาติ โดยเฉพาะบริษัทสหรัฐก็ถูกผลักดันให้ย้ายฐานการผลิตออกจากจีนไปยังหาฐานการผลิตอื่น ซึ่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ถูกจับจ้องว่าจะเป็นผู้ได้ได้รับอานิสงส์หลัก เนื่องจากอยู่ใกล้จีน

แต่จากสถิติหลายปีที่ผ่านมา พบว่ามีเพียง 2 ประเทศในอาเซียนที่เป็น “ผู้ได้รับอานิสงส์หลัก” จากการที่บริษัทต่างชาติกระจายฐานการผลิตออกจากจีน นั่นคือ เวียดนาม และอินโดนีเซีย เห็นได้จากมูลค่า FDI ไหลเข้าสุทธิสะสมในช่วง 6 ปีล่าสุด (2018-ไตรมาส 3 ปี 2023) ของเวียดนามเพิ่มขึ้น 44.1% ส่วนของอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น 21.4% เมื่อเทียบกับช่วง 6 ปีก่อนหน้านั้น (2012-2017) ขณะที่มูลค่า FDI ไหลเข้าสุทธิสะสมของไทยและมาเลเซียเมื่อเทียบในช่วงเวลาเดียวกันนั้นลดลง 20.3% และ 15.3% ตามลำดับ



ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า การลดลงของมูลค่า FDI ในอาเซียนในปี 2023 เป็นผลพวงจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและการขึ้นดอกเบี้ยที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติชะลอการลงทุนออกไปก่อน

แต่สำหรับเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับอานิสงส์หลักจากการกระจายฐานการผลิตออกจากจีน เม็ดเงินลงทุน FDI ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2023 โดยการเพิ่มขึ้นของ FDI ในภาคอุตสาหกรรมของเวียดนามนั้นมากกว่าการลดลงของ FDI ในภาคธุรกิจอื่น ๆ จนส่งผลให้เม็ดเงิน FDI โดยรวมของเวียดนามเพิ่มขึ้น 3.2% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2023

ส่วนอินโดนีเซีย การลดลงของ FDI ในภาคธุรกิจอื่น ๆ มีมากกว่า จนส่งผลให้เม็ดเงิน FDI โดยรวมลดลง 18.8% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2023

สำหรับประเทศไทย การลดลงของมูลค่า FDI ไหลเข้าสุทธิในปี 2023 กระจุกตัวอยู่ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผลมาจากการปิดกิจการของธุรกิจต่างชาติ เช่น การขายกิจการของปั๊ม ESSO รวมทั้งการปิดโรงงานของบริษัทต่างชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีเข้าสู่รถยนต์ไฟฟ้า

“เวียดนามและอินโดนีเซียยังคงเป็นแหล่งดึงดูดเม็ดเงิน FDI ในภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญของอาเซียน ในขณะที่ไทยก็ยังพอมีศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตอยู่บ้าง จึงควรเร่งนโยบายที่เอื้อแก่การลงทุนมากขึ้น เช่น การลดขั้นตอนและความซ้ำซ้อนของเอกสารในการขอใบอนุญาตต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขั้นตอนในการส่งออก-นำเข้าสินค้า รวมทั้งการเร่งความคืบหน้าการเจรจาความตกลงทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสหภาพยุโรป (EU)” ศูนย์วิจัยกสิกรไทยกล่าว

เมื่อตะวันตกแห่ย้ายหนี การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) เข้าจีนต่ำสุดในรอบ 30 ปี

https://www.prachachat.net/world-news/news-1513921