วันจันทร์, มีนาคม 04, 2567

ปรากฏการณ์ฝรั่งเตะหมอ ณ ชายหาดหน้าวิลล่าหรูบ้านยามู ภูเก็ตตั้งแต่ปลายเดือนที่ผ่านมา ที่นำมาสู่ความไม่พออกพอใจของคนท้องถิ่น ส่งผลมาจนมาถึงนัดกันรวมตัวกันในวันนี้ จริงๆแล้วมีที่มาที่ไป ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการของการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตและปริมณฑล

https://www.facebook.com/itfreefish/posts/10229555793832080?ref=embed_post

Pichet Pandam
13h·

ปรากฏการณ์ฝรั่งเตะหมอ ณ ชายหาดหน้าวิลล่าหรูบ้านยามู ภูเก็ตตั้งแต่ปลายเดือนที่ผ่านมา ที่นำมาสู่ความไม่พออกพอใจของคนท้องถิ่น ส่งผลมาจนมาถึงนัดกันรวมตัวกันในวันนี้ ที่มีคนไหลเวียนตลอดทั้งวันจำนวนหลายพันคน ณ จุดเกิดเหตุ ที่กลายเป็นจุด check in ใหม่ของภูเก็ต เพื่อแสดงตัวและแสดงเจตจำนงร่วมกัน เพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์นี้ จึงอยากแลกเปลี่ยนและชวนสนทนาในมุมมองของคนท้องถิ่น(Indigenous People) โดยมองย้อนกลับไปถึงต้นทางและพัฒนาการของการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตและปริมณฑล ว่าสัมพันธ์และเชื่อมโยงกันอย่างไร
การเริ่มต้นการท่องเที่ยวในภูเก็ต เกิดขึ้นราวปี พ.ศ. 2522 ที่เริ่มจากกลุ่มคนหนุ่มสาว และกลุ่มฮิปปี้(hippy) คล้ายเป็นนักแสวงหาและนักผจญภัย มาเที่ยวและหาที่พัก ซึ่งเป็นเพียงบังกะโลขนาดเล็กของคนท้องถิ่น บริเวณหาดป่าตอง กะตะ กะรน ราไวย์ กลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ได้ให้ความหมายของสถานที่ท่องเที่ยวว่า “สวรรค์ของคนพลัดถิ่น”(maginal paradises)
หลักหมายของการเริ่มต้นการท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2529 มีปฏิบัติการปฏิเสธโรงงานแทนทาลั่มของคนท้องถิ่นภูเก็ตและปริมณฑลด้วยวิธีการแบบเปิดเผย เป็นการตัดสินใจร่วมกัน อาจนับได้ว่าเป็นฉันทามติภูเก็ต(Phuket Consensus) ที่คนภูเก็ตยินยอมพร้อมใจ และคาดหวังร่วมกันว่า การท่องเที่ยว คือความหวังใหม่ของการพัฒนาเศรษฐกิจภูเก็ตแทนอุตสาหกรรมดีบุก โดยมี ฝรั่งชาติตะวันตก หรือ “โหม้ผลั้ง” เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก เพราะฐานะทางเศรษฐกิจ มีกำลังซื้อ จุดขายคือความสวยงามและความรุ่มรวยของทรัพยากรธรรมชาติ
การท่องเที่ยวในภูเก็ตได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีการลงทุนจากนักลงทุนต่างถิ่นทั้งในประเทศและทุนข้ามชาติ ด้านหนึ่งการท่องเที่ยวได้สร้างรายได้ในภาพรวมให้จังหวัดภูเก็ตเป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาล
แต่อีกด้านหนึ่งก็ได้สร้างปัญหาที่เกิดขึ้นคู่ขนานไปพร้อมๆกัน โดยเฉพาะการรุกล้ำหรือแย่งชิงพื้นที่สาธารณะ ที่ชุมชนและคนภูเก็ตเคยใช้ประโยชน์ ได้ถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่หรือกิจกรรมการท่องเที่ยว ปรากฏการณ์สำคัญและ”ของแปลกๆ(ตามสำนวนคนภูเก็ต)”เริ่มเกิดขึ้น ได้แก่ พื้นที่ชายหาดบางแห่งถูกกันกลายเป็นพื้นที่ส่วนตัว การย้ายโรงเรียนเพื่อสร้างเป็นที่พัก ถนนสาธารณะต้องลอดผ่านโรงแรม เป็นต้น และรูปธรรมนี้ยังมีจนอยู่ปัจจุบัน (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในหนังสือ ข้างหลังโปสการ์ด: ที่เขียนโดย(นามแฝง) หลานเสรีไทย/ สารคดีเรื่อง Thailand for Sale ที่สร้างโดยนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม นำไปฉายทางช่อง BBC ) การท่องเที่ยวเริ่มเข้าไปรุกล้ำวิถีชีวิตและประเพณี มองคนไม่เท่ากัน เป็นวัตถุท่องเที่ยว เช่น การที่นักท่องเที่ยวโยนเหรียญให้เด็กชาวเล ดำน้ำเพื่อเก็บเหรียญหรือเศษเงินเป็นรายได้ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ในหนังสือ เวทีผู้ถูกท่องเที่ยว ที่จัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อ ปี พ.ศ. 2538 )
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นเพราะ “ระบบการท่องเที่ยว” ที่เราออกแบบเน้นการขายทุกอย่างในนามคำว่า การบริการ (service) มากกว่า การเคารพ(respect)หรือคุ้มครอง(protect) คน ทรัพยากร วัฒนธรรม
“ระบบการท่องเที่ยว” แบบนี้ยังคงดำรงอยู่และเป็นกรอบคิดหลักในการขยายการท่องเที่ยวออกไป โดยมีรัฐเป็นคนขับเคลื่อนหลัก การสูญเสียพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ทางวัฒนธรรมเพิ่มจำนวนมากขึ้น พื้นที่ชายหาดที่เคยเป็นพื้นที่ของครอบครัวในฐานะ “พื้นที่กินข้าวห่อ”ของคนท้องถิ่นที่พาลูก พ่อแม่ และสมาชิกในครอบครัวไปพักผ่อนในวันหยุดเริ่มหดหายไป โดยเฉพาะพื้นที่ชายหาดที่เป็นพื้นที่“เดินเต่า” พื้นที่ทางวัฒนธรรมร่วมของคนท้องถิ่น ได้ถูกเปลี่ยนเป็นชุมชนของนักท่องเที่ยวระดับกำลังซื้อสูง แน่นอนว่ากระบวนการแย่งชิงพื้นที่สาธารณะ มีความแนบเนียนและถูกต้องตามกฏหมายในที่สุด ทั้งการออกเอกสารสิทธิ์ หรือการให้เช่าในราคาถูก แต่ในแง่ความรู้สึกชาวบ้านร้านถิ่นแล้ว รู้สึกถูกหยามหมิ่นศักดิ์ศรีอย่างรุนแรง นี่คือ “กุ้งปลาฉ้อ” แต่ทำอะไรเจ้ามือไม่ได้ วัฒนธรรมการเดินเต่าได้ถูกจางหายและหมดไปแล้วในปัจจุบันเนื่องจากไม่มีพื้นที่
ความเจ็บช้ำน้ำใจมากกว่านั้น ปัจจุบันโรงแรมหรือผู้ที่บุกรุกพื้นที่เดินเต่าในอดีต ได้ทำหน้าที่เป็นผู้รู้ เป็นศูนย์กลางในการรณรงค์ให้คนท้องถิ่นและสาธารณชน ตระหนักในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมและพื้นทีอนุรักษ์เต่าทะเล (นั่นหมายถึงการลดทอนเจ้าของบ้านเดิมว่า เป็นผู้ไม่รู้ ไม่มีจิตสำนึก)
หลังสึนามิ(หลังปีพ.ศ.2547) การท่องเที่ยวได้ขยายตัวมาทางฝั่งตะวันออกของภูเก็ต ซึ่งเป็นพื้นที่หลักในการทำประมงชายฝั่ง และเคยทำหน้าที่ในฐานะแหล่งผลิตอาหารเพื่อการท่องเที่ยวทางฝั่งตะวันตก โดยมีจุดขายคือเป็นพื้นที่ปลอดภัยจากสึนามิและเป็นพื้นที่ส่วนตัว กลุ่มเป้าหมายหลักกลายเป็น กลุ่มระดับไฮ เอนด์ ในรูปแบบ วิลล่าหรู การท่องเที่ยวเรือยอชท์ โรงแรมระดับ 5-7 ดาว พื้นที่ที่เคยเป็นกำลังหลักในการผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงเมืองภูเก็ตและกลุ่มคนท้องถิ่นที่จัดวางตนเองเป็นเป็นชาวประมงพื้นบ้าน ถูกแย่งชิงกลายเป็นพื้นที่เพื่อตอบสนองการท่องเที่ยว และเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน คนท้องถิ่นยิ่งถูกผลักไสและไม่ให้”คุณค่าที่สมคุณค่า” กลายเป็นพลเมืองชั้นสอง เป็นคนอื่น(the others) ในบ้านเกิดตนเอง ในพื้นที่การพัฒนาการท่องเที่ยวของภูเก็ตที่ปัจจุบันเป็นพื้นที่การท่องเที่ยวโลก
การออกแบบการท่องเที่ยวในฐานะ”งานบริการทุกระดับ ประทับใจ” โดยรัฐที่เป็นกลไกหลักในการบริหารจัดการ ส่งผลให้ “นักท่องเที่ยว” กลายเป็นศูนย์กลาง และต้องออกแบบการท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวเกิด”ความพอใจ ประทับใจ” และความรู้สึกนี้จะได้รับมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเม็ดเงิน ที่นักท่องเที่ยวจ่ายเพื่อ”ซื้อบริการ” ดังกล่าว สิ่งนี้จึงเกิดความรู้สึกเป็น”อภิสิทธิ์ชน” ที่ระบบการท่องเที่ยวบ้านเราได้สร้างขึ้น ผสมผสานกับต้นทุนความคิดเดิมของนักท่องเที่ยวฝั่งตะวันตก ที่มีชุดความคิด ในฐานะผู้เจริญกว่า ที่ตกทอดมาจากยุคอาณานิคม(colonial) จึงกลายเป็นทัศนคติและชุดความคิด ของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ในการท่องเที่ยวภูเก็ตและปริมณฑล
ปรากฏการณ์ของฝรั่งเตะหมอ จึงเป็นอาการที่แสดงออกมา ถึงความตึงเครียดและการปะทะของนักท่องเที่ยวในฐานะอภิสิทธิ์ชนกับคนท้องถิ่นที่รู้สึกเกินทนและถูกล้ำเส้นของความอดทน จากความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันของระบบการท่องเที่ยวที่ออกแบบมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
การไล่นักเตะและภรรยา ออกไปจากประเทศ และการพิพากษาถึงพฤติกรรมที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของ ทั้งสองคน จำเป็นต้องทำหรือดำเนินการตามกระบวนการ แต่ไม่ใช่การแก้ไขที่รากปัญหาที่เกิดขึ้น แต่เราเข้าใจว่า มีคนต้องการให้”นักเตะและภรรยา”เป็นเหยื่อและเป็นคำตอบสุดท้าย ทั้งนี้เพื่อต้องการหลบซ่อนระบบหรือโครงสร้างการท่องเที่ยวที่เห็นคนไม่เท่ากัน และการหากินกับระบบนี้ในฐานะผู้ได้เปรียบ ให้ดำรงอยู่ต่อไป
จุด ckeck in ริมแหลมยามู ภูเก็ต
3 มีนาคม 2567