วันพฤหัสบดี, มีนาคม 07, 2567

เพื่อไทยจะได้อะไร จากการเยือนกัมพูชาของ แพทองธาร ชินวัตร เธอจะได้อะไร ประชาชนคนไทย จะได้อะไร ?



คนไทย-เพื่อไทยได้อะไร จากการเยือนกัมพูชาของ แพทองธาร ชินวัตร

หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
6 มีนาคม 2024

แพทองธาร ชินวัตร หรือ “อุ๊งอิ๊ง” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) เตรียมนำแกนนำพรรค พท. เดินทางเยือนประเทศกัมพูชา ตามคำเชิญของสมเด็จอัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุน เซน ประธานคณะองคมนตรีกัมพูชา ในวันที่ 19-20 มี.ค. นี้

ทริปเยือนกัมพูชาของแกนนำพรรค พท. เกิดขึ้นภายหลังสมเด็จฮุน เซน เข้าเยี่ยม ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า ย่านจรัญสนิทวงศ์ 69 เมื่อ 21 ก.พ. หลังจากผู้ต้องขังวัย 74 ปี ได้รับการพักโทษเมื่อ 18 ก.พ.

สมเด็จฮุน เซน เป็นผู้เปิดเผยกำหนดการนี้ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊กของเขา โดยย้ำใน “ความเป็นพี่น้อง” และมิตรภาพกับ ทักษิณ

“เมื่อ 2 อดีตนายกฯ ได้พบกัน ไม่คุยเรื่องการเมือง แต่ชวนให้นึกถึง 32 ปีแห่งมิตรภาพที่อยู่มาด้วยกันตั้งแต่ปี 1992 (พ.ศ. 2535) ขอบคุณพี่ชายและหลานสาวที่ต้อนรับ” สมเด็จฮุน เซน ระบุผ่านเฟซบุ๊กซึ่งมีผู้ติดตาม 14 ล้านคน เมื่อ 21 ก.พ.

ขณะที่ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองวิเคราะห์ว่า เป็นความพยายามของ “ผู้นำตัวจริงของกัมพูชา” ในการช่วยฝึกฝนให้ แพทองธาร ขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญหลังจากนี้


สมเด็จฮุน เซน โพสต์ภาพถ่ายคู่กับ ทักษิณ ชินวัตร โดยระบุว่า “แม้ว่าท่านจะเจ็บป่วย แต่ยังมีความเป็นพี่น้อง” หลังมาเยี่ยมอดีตนายกฯ ไทยที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เมื่อ 21 ก.พ.

จะเกิดอะไรขึ้นในวันที่ อุ๊งอิ๊งและคณะ เหยียบแผ่นดินกัมพูชา และคนไทยจะได้อะไรจากบทบาทต่างประเทศของหัวหน้าพรรคแกนนำรัฐบาล บีบีซีไทยพูดคุยกับ สรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรค พท. และ สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี นักเขียนอิสระด้านอุษาคเนย์

ใครคือผู้ร่วมคณะของ อุ๊งอิ๊ง

แรกเริ่มเดิมที สมเด็จฮุน เซน เชิญหัวหน้าพรรค พท. ซึ่งเขาเรียกว่า “หลานสาว” ไปเยือนกัมพูชา 14-15 มี.ค. แต่เนื่องจาก สส. ติดภารกิจเข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ในวาระ 2 และ 3 จึงเลื่อนไปเป็นวันที่ 18-19 มี.ค.

จากการตรวจสอบข้อมูลของบีบีซีไทยพบว่า ผู้ร่วมคณะของ แพทองธาร มีทั้งหมด 10-12 คน ประกอบด้วย
  • แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรค
  • สรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรค
  • พงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ รองหัวหัวหน้าพรรค
  • เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองหัวหน้าพรรค
  • พลนชชา จักรเพ็ชร กรรมการบริหารพรรค
  • สรัสนันท์ อรรณนพพร กรรมการบริหารพรรค
  • ดนุพร ปุณณกันต์ โฆษกพรรค
  • ขัตติยา สวัสดิผล รองโฆษกพรรค
  • ชญาภา สินธุไพร รองโฆษกพรรค
  • จิราภรณ์ สินธุไพร สส.ร้อยเอ็ด
จะได้พบใครบ้าง

นอกจากหารือกับ “คุณอาฮุน เซน” แพทองธาร มีกำหนดเข้าเยี่ยมคารวะสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา, สมเด็จวิบุลเสนาภักดี ซาย ชุม ประธานวุฒิสภากัมพูชา และสมเด็จมหารัฐสภาธิการธิบดี ควน โซะดารี ประธานรัฐสภากัมพูชา ด้วย

กัมพูชาเป็นชาติแรกในอาเซียนที่ เศรษฐา ทวีสิน เดินทางไปเยือนภายหลังเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย พร้อมประกาศ “เปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์” ของ 2 ประเทศ

“สมเด็จมหาบวรธิบดีฮุน มาเนต เป็นผู้นำท่านแรกที่ โทร. มาแสดงความยินดีกับผม” เศรษฐา เคยเปิดเผยเอาไว้

ในครั้งนั้น เศรษฐา มีโอกาสพบปะและหารือ 4 บุคคลสำคัญของกัมพูชา


นายกฯ เศรษฐา กับนายกฯ ฮุน มาเนต เมื่อ 28 ก.ย. 2566

6 เดือนผ่านไป แพทองธาร กำลังจะเดินตามรอยเท้าของประมุขฝ่ายบริหารของไทย

เศรษฐา ให้ความเห็นว่า เรื่องของรัฐบาล เขากับนายกฯ กัมพูชามีความสัมพันธ์ที่ดี มีการพูดคุยยกหูโทรศัพท์ถึงกันได้อยู่ตลอด ซึ่งในระดับพรรคการเมือง ทั้งพรรค CPP กับพรรค พท. หากได้พบปะกันเป็นเรื่องน่ายินดีที่ได้เชิญหัวหน้าพรรค พท. ไปพูดคุย ถือเป็นการกระชับความสัมพันธ์ที่ดี

“ก็ดีใจที่คุณแพทองธารได้ไปเยือนกัมพูชา” เศรษฐา กล่าวเมื่อ 3 มี.ค.

จะคุยอะไรกันบ้าง

สรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรค พท. กล่าวกับบีบีซีไทยว่า การไปเยือนกัมพูชาครั้งนี้เป็นการที่พรรคการเมืองเชิญพรรคการเมือง ไม่ใช่เชิญฝ่ายบริหาร ดังนั้นประเด็นหลักที่จะหารือแลกเปลี่ยนกันจึงเป็นเรื่องการทำงานของพรรค พท. กับพรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People's Party: CPP)

“ในการสนทนาที่บ้านจันทร์ส่องหล้า สมเด็จฮุน เซน บอกว่า ตอนนี้ในพรรคของเขามีลูกเขาคนเดียวที่เป็นคนรุ่นใหม่ นอกนั้นในสภาจะมีแต่คนรุ่นเก๋า ๆ จึงอยากแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องการบริหารพรรคเพื่อไทยซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงโดยเอาคนรุ่นใหม่ขึ้นมาทำงานมากขึ้น มากกว่าหารือเรื่องการทำงานของรัฐบาล” สรวงศ์ ถ่ายทอดคำบอกเล่าของ แพทองธาร ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการยกคณะไปเยือนกัมพูชา

ไม่มีหัวข้อพิเศษที่แกนนำพรรค พท. เตรียมหยิบยกขึ้นหารือเป็นการเฉพาะ โดย สรวงศ์ บอกว่า อาจพูดถึงการถอดบทเรียนในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา และยุทธศาสตร์ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ในการเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 พรรค พท. ซึ่งเป็นพรรคทายาทอันดับ 3 ของฝ่ายทักษิณ ประสบความพ่ายแพ้เป็นครั้งแรกในรอบ 22 ปี ให้แก่พรรคก้าวไกล (ก.ก.) โดยได้ สส. 141 ที่นั่ง ต่อ 151 ที่นั่ง จากเก้าอี้ในสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 500 ที่นั่ง อย่างไรก็ตามพรรค พท. พลิกมารับบทแกนนำจัดตั้งรัฐบาล-ส่ง เศรษฐา เข้าทำเนียบรัฐบาลได้สำเร็จ ส่วน แพทองธาร บุตรสาวคนเล็กของ ทักษิณ ซึ่งเป็นแคนดิเดตนายกฯ เบอร์ 1 ของพรรค ก็ขึ้นรั้งเก้าอี้หัวหน้าพรรค พท. คนใหม่

ปีเดียวกัน พรรค CPP ชนะการเลือกตั้ง 23 ก.ค. 2566 อย่างท่วมท้นถึง 83.2% โดยกวาด 120 จาก 125 ที่นั่งในสภาแห่งชาติ ก่อนที่สมเด็จฮุน เซน วัย 70 ปี (ขณะนั้น ปัจจุบันอายุ 71 ปี) จะประกาศลงจากเก้าอี้นายกฯ ที่ยึดครองมายาวนานถึง 38 ปี แล้วผลักดัน ฮุน มาเนต บุตรชายคนโต วัย 45 ปี ขึ้นเป็นผู้นำคนใหม่ของกัมพูชา


3 แคนดิเดตนายกฯ เพื่อไทยบนเวทีหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 2566

อย่างไรก็ตาม สรวงศ์ ปฏิเสธว่า การไปเยือนกัมพูชาของหัวหน้าพรรค พท. ไม่เกี่ยวข้องกับเสียงวิจารณ์เรื่องประเทศไทยมีนายกฯ 2-3 คน

“ที่พูดกันว่าคุณอิ๊งจะเป็นนายกฯ คนต่อไป ไม่ได้เกี่ยวอะไรกันเลย แต่สมเด็จฮุน เซน อยากจะรู้ว่าการทำงานของการเมืองไทยเป็นอย่างไร ทำไมก้าวไกลถึงมาแบบถล่มทลาย ทำไมถึงเปลี่ยนหน้าเป็นคนรุ่นใหม่กันหมด” เขาอธิบาย

ทำไม ฮุน เซน ต้องเชิญ “หลานสาว” ไปกัมพูชา

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี นักเขียนอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านอุษาคเนย์ วิเคราะห์ว่า การเชื้อเชิญ แพทองธาร ไปกัมพูชา “เป็นความพยายามของ ฮุน เซน ในการช่วย train (ฝึกฝน/เตรียมความพร้อม) ให้อุ๊งอิ๊งขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญ เหมือนที่ train ลูกชายตัวเองจนขึ้นเป็นนายกฯ มาแล้ว ตอนนี้ก็มา train หลานสาว อย่างน้อยก็ให้อยู่ในสถานะที่ดีลกับ ฮุน มาเน็ต ได้ในอนาคต”

บทบาทด้านต่างประเทศที่ “ผู้นำรุ่นลูก” ได้รับ เป็นผลสืบเนื่องจากความสัมพันธ์ส่วนตัวของ “ผู้นำรุ่นพ่อ” ในตระกูลฮุนและตระกูลชินฯ ตั้งแต่สมัย ทักษิณ เป็นนักธุรกิจที่เข้าไปลงทุนด้านการสื่อสารและดาวเทียมในกัมพูชาเมื่อปี 2535 และช่วงที่ ทักษิณ เป็นนายกฯ นาน 6 ปี (2544-2549) ก็เป็นช่วงที่สมเด็จฮุน เซน ปกครองกัมพูชา (2528-2566)

“ด้วยความที่ครอบครัวสนิทกันมาก มีบุญคุณกันมากว่า 30 ปี ฮุน เซน ก็มองอุ๊งอิ๊งเหมือนลูกหลาน” สุภลักษณ์ กล่าว

เขาชี้ว่า แพทองธาร จะได้เรียนรู้พิธีการ-พิธีกรรมทั้งหมด และจัดให้พบกับบุคคลสำคัญของกัมพูชา ขณะเดียวกัน สมเด็จฮุน เซน พยายามจะสร้างการเมืองเชิงสถาบัน จากเดิมที่เป็นการเมืองอีลีทของครอบครัว “ฮุน เซน เป็นหัวหน้าพรรค CPP อุ๊งอิ๊งเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย มันก็แมตช์กันพอดี เพราะประเทศที่เป็นมิตรที่สุดในวันนี้ก็คือกัมพูชา”

“ดังนั้นมันกลับกันเลย ไม่ใช่ ฮุน เซน จะเรียนรู้อะไรจากเพื่อไทย แต่คือเพื่อไทยจะไปเรียนรู้อะไรจาก CPP ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่แข็งแกร่งมาก มีอำนาจเป็น ruling party (พรรคแกนนำรัฐบาล) อย่างแท้จริง คือครอบครองระบอบการเมืองกัมพูชา” สุภลักษณ์ กล่าว

ในสายตาของ สุภลักษณ์ กลไกของ CPP กับเพื่อไทยนั้นแตกต่างกัน เนื่องจากพรรคประชาชนกัมพูชาไม่เคยถูกยุบพรรค กลไกรัฐกับพรรคจึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดังนั้นพรรค พท. จึงไม่สามารถเรียนรู้ได้ในประเด็นนี้ แต่สามารถเรียนรู้ได้ว่า “คนรุ่นใหม่เข้ามากุมชะตากรรมพรรคอย่างแท้จริงได้อย่างไร”


ฮุน มาเนต ร่วมหาเสียงเลือกตั้งกับพรรค CPP เมื่อ ก.ค. 2566

CPP ที่เริ่มต้นจากการเป็นพรรคปฏิวัติ เข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านหลังผ่านมากว่า 7 ทศวรรษ จากการสังเกตการณ์ของ สุภลักษณ์ พบว่า กระบวนการถ่ายโอนอำนาจสู่คนรุ่นที่ 2-3 มีระยะเวลาดำเนินการตามสมควรไม่ต่ำกว่า 4-5 ปี โดยคนรุ่นพ่อต้องฝึกฝน-ฝึกอบรมคนรุ่นลูกก่อน ไม่ใช่จู่ ๆ มอบตำแหน่งให้เลย ทำให้การถ่ายโอนอำนาจค่อนข้างรื่นไหล

ดังจะเห็นได้ว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ของรัฐบาลฮุน มาเนต คือลูกหลานคีย์แมนคนสำคัญของ CPP ที่เคยดำรงตำแหน่งในรัฐบาลฮุน เซน มาก่อน

ไม่ว่าจะเป็น ซาร์ โสขะ บุตรชายของ ซาร์ เข่ง เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย ตำแหน่งเดิมของบิดา

เตีย เซยฮา บุตรชายของ พล.อ.เตีย บัญ สืบทอดตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมต่อจากบิดา หลังเคยมาเป็นหน้าห้องให้พ่อ และผ่านการทำงานในฐานะผู้ว่าฯ สส. และทำงานเยาวชนใน จ.เสียมเรียบ ให้พรรค CPP มาก่อน

เช่นเดียวกับ ฮุน มานี บุตรชายคนเล็กของสมเด็จ ฮุน เซน ที่นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีกิจการพลเรือน ก็ได้รับมอบหมายให้ทำงานเยาวชนให้พรรคมาก่อน

“คนในระบอบการเมืองกัมพูชา คือคนอายุประมาณ 40 ปีกลาง ๆ เป็นเจเนอเรชันใหม่ที่มีการศึกษาดีในประเทศตะวันตก หากพูดถึงความใหม่ในความหมายนั้น พรรค CPP มีมากกว่าเพื่อไทย เพราะเรายังไม่เห็นคนเจเนอเรชันเดียวกับอุ๊งอิ๊งมีปากเสียงในพรรค มีแต่คนแก่ คนเจเนอเรชัน 60 ขึ้นไปที่มีอิทธิพล ทั้งที่ในวงการเมืองเกือบจะเป็นภารกิจสุดท้ายของพวกเขาแล้ว” สุภลักษณ์ อดีตบรรณาธิการบริหาร The Nation ให้ความเห็น

จุดเหมือน-จุดต่างของการเมืองตระกูลฮุนกับตระกูลชิน

ความพยายามสืบทอดอำนาจ-สานสายสัมพันธ์ของผู้นำการเมือง 2 ตระกูล จาก 2 ประเทศ เกิดขึ้นในช่วงที่พรรค พท. ภายใต้การนำของ แพทองธาร ไม่ได้แข็งแกร่งเหมือนยุคพรรคไทยรักไทย (ทรท.) ที่มี ทักษิณ เป็นผู้นำ เนื่องจากเพื่อไทยต้องเผชิญกับฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง และยังต้องแชร์อำนาจกับชนชั้นนำเดิมที่ครองอำนาจอยู่

“ในไทย ทักษิณ ไม่ใช่อำนาจหนึ่งเดียว ยังต้องต่อรองกับอีลีทหลาย ๆ กลุ่ม ขณะที่ในกัมพูชา CPP และ ฮุน เซน เป็นอำนาจหนึ่งเดียวของกัมพูชา” สุภลักษณ์ ระบุ

ทว่าสิ่งที่ 2 “ผู้นำตัวจริง” มีเหมือนกันตามความเห็นของ สุภลักษณ์ คือ การเผชิญกับกระแสตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง เพราะสมเด็จฮุน เซน อยู่ในอำนาจมายาวนานกว่าอายุของโหวตเตอร์เสียอีก ชาวกัมพูชามีโอกาสใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรกก็อยู่ใน “ระบอบฮุนเซน” แล้ว เช่นเดียวกับคนรุ่นใหม่ของไทยที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง

“แต่ ฮุน เซน ยังไม่สามารถทำให้คนรุ่นใหม่โดดเด่นนอกเงาตัวเองได้ เหมือนที่อุ๊งอิ๊งไม่มีทางป๊อบ (ได้รับความนิยมสูง) แบบ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (แคนดิเดตนายกฯ พรรค ก.ก.) เพราะอุ๊งอิ๊งออกจากเงาพ่อไม่ได้ ดังนั้นถ้าจะทำพรรค ต้องให้คนรุ่นใหม่ทำ เพราะทักษะคนรุ่นเก่ามันไม่ได้แล้ว ที่พรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกล โดดเด่นขึ้นมาเพราะไม่มีคนแก่เลย ขณะที่ CPP คนแก่นั่งหน้า คนใหม่นั่งหลัง แต่ตอนนี้คนแก่ ๆ ก็เริ่มเฟสไปบ้างแล้ว”

“การเมืองในเอเชีย ยังคำนึงถึงเรื่องอาวุโส ยิ่งไม่นับว่าเป็นบุพการี จะพูดอะไรโดยไม่เกรงใจกันคงยาก ถ้าอุ๊งอิ๊งจะไปพูดอะไรเกี่ยวกับความสัมพันธ์กัมพูชา เขาพระวิหาร ก็ต้องถามพ่อก่อนว่าควรพูดไหม ไม่สามารถพูดได้เองเลย” ผู้สังเกตการณ์การเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

สุภลักษณ์ ระบุว่า สิ่งที่สมเด็จ ฮุน เซน ทำ คือการทำให้อำนาจที่เป็นทางการกับไม่เป็นทางการมาอยู่ด้วยกันพอดี หัวหน้าพรรคคุยกับหัวหน้าพรรค เพราะวันนี้สมเด็จฮุน เซน ยังเป็น สส. ในสภา ต่างจาก ทักษิณ ตรงที่เขามีบทบาทที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ และยังใช้อำนาจตามกฎหมายได้หลายกรณี


สมเด็จฮุน เซน (ซ้าย) สวมกอด ทักษิณ ชินวัตร ที่บ้านพักนายกฯ กัมพูชา วันที่ 14 ธ.ค. 2552

ผู้นำกัมพูชาได้อะไรจากการฝึกฝน อุ๊งอิ๊ง


แล้วสมเด็จ ฮุน เซน จะได้อะไรจากการช่วยฝึกฝน-เปิดบ้านให้ แพทองธาร วัย 37 ปี แสดงบทบาทในต่างประเทศ?

คำตอบของ สุภลักษณ์ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างสมเด็จฮุน เซน กับชนชั้นนำเก่าของไทยไม่ค่อยดี เพราะสมเด็จฮุน เซน สนิทกับเวียดนาม ส่วนชนชั้นนำเก่าไทยแทรกแซงการเมืองผ่านเขมรสามฝ่าย แต่ปัจจุบันตระกูลเจ้าของกัมพูชาไม่ได้เข้มแข็งอีกต่อไป ทำให้ชนชั้นนำไทยไม่มีทางเลือกและเข้าไม่ถึงฝั่งสมเด็จ ฮุน เซน เมื่ออีลีทกลุ่มประยุทธ์-ประวิตรขึ้นมาบริหารประเทศ ปัญหาไทย-กัมพูชายังคาราคาซังและยังเถียงกันไม่จบ โดยเฉพาะปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล 26,000 ตร.กม.

ไทย-กัมพูชาลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ในยุครัฐบาล “ทักษิณ 1” เมื่อ 18 มิ.ย. 2001 (พ.ศ. 2544) ว่าต้องเจรจา “แบ่งเขตแดนทางทะเลไปพร้อม ๆ กับการร่วมกันพัฒนาแหล่งทรัพยากรปิโตรเลียม” แต่ผ่านมา 9 รัฐบาลจนถึงชุดปัจจุบัน การเจรจาตกลงปักปันเขตแดนก็ยังไม่มีความชัดเจน

พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทย เชื่อกันว่าอาจมีก๊าซธรรมชาติอยู่ในปริมาณ 11 ล้านล้านคิวบิกฟุต หรือคิดเป็นมูลค่า 3.5 ล้านล้านบาท และน้ำมันอีก 500 ล้านบาร์เรล คิดเป็นมูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท

“ถ้า ฮุน เซน ไม่ช่วยทักษิณ ก็จบเรื่องที่ค้างมา 22 ปีนี้ไม่ได้ เขามีทางเลือกเดียว ถ้าทักษิณยังเข้มแข็ง อุ๊งอิ๊งขึ้นมาได้ เขาก็สบาย ดีลกันง่ายกว่า ก็ต้องช่วยกันประคับประคองรัฐบาลเพื่อไทยให้มันรอด และหวังว่า ทักษิณ จะไปโน้มน้าวอีลีทเดิมได้” สุภลักษณ์ วิเคราะห์

เขาชี้ว่า กรณีพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลแตกต่างจากกรณีเขาพระวิหาร เพราะมีมูลค่าและผลประโยชน์ร่วมที่สามารถแบ่งปันได้ทุกฝ่าย ในฝั่งกัมพูชา ฮุน มาเนต ก็ถูกฝ่ายค้านกล่าวหาว่าเป็น “ผู้ทรยศ” “คนขายชาติ” หลังเดินทางมาพบและเจรจาเรื่องนี้กับนายกฯ เศรษฐา ที่ประเทศไทยเมื่อ 7 ก.พ. แต่ยังคุมได้ ส่วนฝั่งไทยมี สว. ที่ยังมีอำนาจจนถึงเดือน พ.ค. รัฐบาลก็ต้องหาทางอธิบายให้ได้ว่าไม่มีเรื่องผลประโยชน์

อย่างไรก็ตาม สุภลักษณ์ เชื่อว่า ในการเดินทางเยือนกับพูชาของหัวหน้าพรรค พท. จะไม่มีการหยิบยกประเด็นพื้นที่ทับซ้อนขึ้นมาหารือ เพราะคนที่ต้องทำในทางเทคนิคคือรัฐบาล นายกฯ เศรษฐา และ ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ

“อุ๊งอิ๊งเพียงแต่ไปทำ formality (พิธีกรรม) ในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพรรคกับพรรคให้แนบแน่น ทำให้อุ๊งอิ๊งเป็น somebody (คนสำคัญ) ในการเมืองระหว่างประเทศ จากเดิมบทบาทอาจไม่ชัดเจนว่าเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง หรือเป็นลูกสาวทักษิณ”


ในทัศนะของ สุภลักษณ์ 2 ครอบครัวสนิทสนมกันมากและมีบุญคุณกันมากว่า 30 ปี ทำให้สมเด็จฮุน เซน มอง แพทองธาร เหมือนลูกหลาน

ส่วนมุมมองของ สรวงศ์ ซึ่งออกตัวว่าพูดในฐานะอดีต “สส.ชายแดน” ไม่ใช่เลขาธิการพรรค ยืนยันว่า พื้นที่ทับซ้อนต่าง ๆ ถ้าปรับมาใช้ให้เป็นพื้นที่ส่วนกลาง โดยที่ประชาชนของทั้ง 2 ประเทศได้ประโยชน์น่าจะดีกว่า

“การเถียงกันเรื่องเขตแดน ไม่มีประโยชน์ เพราะไม่รู้ว่าไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน เรามาคุยกันแค่เรื่องอธิปไตย และความเป็นอยู่ของประชาชนดีกว่า”

อดีต สส.สระแก้ว บอกด้วยว่า ถ้าดูชายแดนกัมพูชา จะพบว่าแทบไม่มีทหารอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น บ้านพนมมาลัย อ.พนมมาลัย จ.บันเตียเมียนเจย หรือ อ.ปอยเปต จ.พระตะบอง โดยเขาให้ประชาชนมาอยู่ แต่ฝั่งไทยยังมีทหารเฝ้าอยู่

“ผมมองว่าพี่ ๆ ทหารก็ไม่ได้อยากยืนตรงนั้น ถ้าปล่อยให้มีการทำมาหากินได้ ไปมาหาสู่กันได้เป็นปกติ ก็จะกลายเป็นบ้านพี่เมืองน้องจริงๆ ไม่ใช่พูดว่าอันนี้ของกู อันนั้นของมึง” สรวงศ์ กล่าว

คนไทยจะได้อะไรจากทริปกัมพูชาของหัวหน้าพรรค พท.

ถ้าเช่นนั้นคนไทยจะได้อะไรจาก 2 วันในกัมพูชาของแกนนำเพื่อไทย

เลขาธิการพรรค พท. บอกว่า คงไม่ใช่เรื่องขนาดว่าประชาชนคนไทยจะได้อะไร เพราะไปในนามพรรคและคนรุ่นใหม่ของพรรค เพื่อรับเอาประสบการณ์จากสมเด็จฮุน เซน และพรรค CPP หากเก็บเกี่ยวประสบการณ์ดี ๆ เชื่อว่าจะนำมาประยุกต์ใช้ได้และเกิดผลดีต่อทั้งพรรคและโหวตเตอร์

ขณะที่ สุภลักษณ์ ไม่คาดหวังว่าคนไทยจะได้อะไร จนกว่า แพทองธาร จะพิสูจน์ได้ว่านี่เป็นผลดีของความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา เช่น คนทำมาหากินตามแนวชายแดนได้ ประชาชน 2 ประเทศไปมาหาสู่กันได้มากขึ้น หรือปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ ซึ่งนั่นเป็นบทบาทของรัฐบาลมากกว่าหัวหน้าพรรค

“ประชาชนที่จะได้ประโยชน์จากการเมืองแบบอีลีทมีน้อยมากหรือไม่ได้อะไรเลย เพราะการเมืองของอีลีท ไม่ใช่การเมืองของมวลชน” เขากล่าว

ข้อสรุปของ สุภลักษณ์ คือ ผู้ที่จะได้รับประโยชน์ในการเยือนกัมพูชาก็คือ แพทองธาร ซึ่งจะได้ทั้งประสบการณ์ในพิธีการต่าง ๆ และถ้ามีที่ปรึกษาดี ๆ อาจทำให้เกิดภาพลักษณ์โดดเด่นขึ้นมาได้

https://www.bbc.com/thai/articles/c720jnjp25do